Skip to main content

 

นายพลตานฉ่วย อดีตผู้นำเผด็จการแห่งรัฐเมียนมาร์ จัดเป็นทหารนักปกครองสายอนุรักษ์นิยม (Conservative Ruler) ซึ่งมีความช่ำชองในสงครามจิตวิทยาและผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชนในเรื่องการคุมกำลังรบเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

ในอดีต เขาเคยเป็นนายทหารผู้ใกล้ชิดจอมพลเนวิน พร้อมเรียนรู้ระเบียบความมั่นคงและเทคนิคการปกครองจากรัฐบาลสังคมนิยม แต่กระนั้น หลังเหตุการณ์ 8888 เขากลับเป็นหนึ่งในคณะนายพลที่กระทำการยึดอำนาจรัฐในนามของสภาฟื้นฟูกฎและระเบียบแห่งรัฐ หรือ SLORC พร้อมปราบดาภิเษกขึ้นเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ เมื่อปี ค.ศ.1992 จนกระทั่งตัดสินใจลงจากตำแหน่งด้วยการถ่ายโอนอำนาจให้กับรัฐบาลกึ่งพลเรือนหลังการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2010

นายพลตานฉ่วยในวัยหนุ่ม (นั่งคุกเข่าในเครื่องแบบสีขาว) ขณะกำลังปฏิบัติงานรับใช้นายพลเนวิน อดีต "นาย" ผู้เคยส่งเสริมความเจริญในหน้าที่การงาน หากแต่เมื่อตานฉ่วยได้เข้าคุมแผงอำนาจการปกครองในเวลาต่อมา เขากลับออกคำสั่งกักขังเครือญาติวงศ์วานของนายพลเนวินเป็นจำนวนมาก พร้อมลดพิธีงานศพของนายพลเนวิน ให้เป็นเพียงแค่งานวัดเล็กๆ ที่ไม่มีความสำคัญอะไรนักในประวัติศาสตร์การเมืองเมียนมาร์ (ภาพจาก Critical Asian Studies, 43:1)


ช่วงสมัยการปกครองของตานฉ่วย เขาได้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของชาวเมียนมาร์อย่างหนักหน่วง พร้อมขยายกำลังรบจนทำให้กองทัพเมียนมาร์แปลงสภาพจากกองกำลังขนาดกลางมาเป็นกองกำลังขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการทำสงครามตามแบบ (Conventional Warfare) ด้วยอัตรากำลังพลมากกว่าสี่แสนนาย ซึ่งหลายส่วนได้ถูกจัดส่งไปประจำการยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อกดดันปราบปรามประชาชนตามหัวเมืองสำคัญ

แต่กระนั้น เขาก็ได้ทำการผลักดันแนวยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สร้างความตกตะลึงให้กับประชาคมโลกหลายประการเช่นกัน อาทิ การปรับระบบเศรษฐกิจจากสังคมนิยมเข้าสู่ทุนนิยม การผลักดันให้เมียนมาร์เป็นสมาชิกองค์กรอาเซียน การเนรมิตเมืองหลวงใหม่เนปิดอว์ และการแปลงเขตแห้งทางตอนกลางของประเทศ (Dry Zone) ให้เป็นพื้นที่สีเขียวที่ชุ่มฉ่ำด้วยแปลงเกษตรและโครงข่ายชลประทานอันสลับซับซ้อน

นอกจากนั้น สิ่งที่ทำให้ตานฉ่วย ได้รับการยกย่องจากชาวเมียนมาร์บางกลุ่มบางพวก ก็คงหนีไม่พ้น การรังสรรค์ระบอบประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัยที่กำลังจะเบ่งบาน (Flourishing Discipline Democracy) โดยให้บรรดานักการเมือง หรือ กลุ่มพลังทางสังคมต่างๆ สามารถมีช่องทางการพัฒนาประชาธิปไตยที่หลากหลายมากขึ้นกว่าในอดีต หากแต่จะต้องมีลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป โดยมีกองทัพแทรกตัวเข้าไปอยู่ในโครงข่ายสถาบันการเมือง เช่น รัฐสภาและรัฐบาล เพื่อเป็นการธำรงไว้ซึ่งระเบียบการปกครองแบบกึ่งพลเรือนภายใต้การกำกับดูแลของกองทัพ

นายพลตานฉ่วยในวัยชรา ขณะกำลังโบกมือหน้าปรำพิธีสวนสนาม โดยมีสิงค์หรือราชสีห์สีทอง เป็นฉากหลัง ซึ่งตามคตินิยมของทหารเมียนมาร์ สิงค์ มักได้รับการเคารพในฐานะสัญลักษณ์เชิงอำนาจประจำกองทัพ ซึ่งผิดกับธรรมเนียมไทยที่มักใช้สิงค์เป็นสัญลักษณ์ของมหาดไทย และใช้คชสีห์เป็นสัญลักษณ์ของกลาโหม (ภาพจาก AP)

ซึ่งก็ทำให้ความเหนือกว่าของพลเรือน (Civilian Supremacy) ยังมิสามารถจะก่อตัวขึ้นได้อย่างจริงจังในสังคมเมียนมาร์ จนทำให้กองทัพยังคงกลายเป็นตัวแสดงหลักบนเวทีการเมือง พร้อมดำรงสภาพเป็นกระดูกสันหลังแห่งการสร้างรัฐสร้างชาติเมียนมาร์สืบต่อไป

 


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค