Skip to main content

 

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้มีโอกาสเดินทางมาเยี่ยมชมกลุ่มเมืองสะดืออีสานทางแถบลุ่มน้ำชี อันได้แก่ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และ มหาสารคาม ซึ่งแม้จะเป็นย่านจังหวัดที่ไม่มีทางรถไฟพาดผ่าน หากแต่ก็เป็น "แกนไตรนคร" ที่มีนัยสำคัญต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคอีสาน โดยมีมหาสารคามทำหน้าที่เป็นตักศิลานคร หรือ เมืองการศึกษา อันเป็นผลจากการก่อตัวของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (และสถาบันการศึกษาอื่นๆ) พร้อมมีเมืองกาฬสินธุ์เป็นประดุจดั่งโซนเกษตรกรรมและแหล่งโครงข่ายชลประทานเขื่อนลำปาว ขณะที่เมืองร้อยเอ็ดได้ทำหน้าที่เป็นชุมทางการค้าและยุทธศาสตร์ เนื่องจากเป็นจุดตัดของการขนส่งที่เชื่อมโยงไปยังขอนแก่น สุรินทร์ อุบลราชธานี และชายแดนลาว-กัมพูชา รวมถึงเป็นที่ตั้งของค่ายทหารสำคัญถึงสองแห่ง อันได้แก่ ค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ และค่ายประเสริฐสงคราม (ซึ่งเป็นหน่วยทหารที่ใช้ในการสัประยุทธ์กับทหารกัมพูชาในช่วงพิพาทปราสาทพระวิหาร)

ในบรรดาสามนคราอีสานเหล่านี้ ร้อยเอ็ด ถือเป็นเมืองเอกที่คุมจังหวัดปริมณฑลรอบข้างอีกต่อหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นผลจากประวัติศาสตร์การสร้างบ้านแปลงเมืองในอดีต โดยหนังสือเล่มคลาสสิกเรื่อง "ประวัติศาสตร์อีสาน" ของ เติม วิภาคย์พจนกิจ ได้มีการกล่าวถึงจุดกำเนิดและความโดดเด่นของนครร้อยเอ็ดซึ่งมีสถานภาพเป็นเมืองแม่ที่มีอาณัติอยู่เหนือเมืองบริวารอื่นๆ ในเขตลุ่มน้ำชี อย่างเช่น กาฬสินธุ์ กุสินารายณ์ มหาสารคาม กันทรวิชัย จตุรพักษ์พิมาน ธวัชบุรี เสลภูมิ ฯลฯ


หนังสือประวัติศาสตร์อีสาน ของ เติม วิภาคย์พจนกิจ พิมพ์ครั้งที่สี่โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

หากจะอธิบายผ่านทฤษฎีการเมืองของ Tambiah ว่าด้วยเรื่อง Galactic Polity ก็อาจกล่าวได้ว่า โครงข่ายความสัมพันธ์ของรัฐจารีตอีสานล้วนตกอยู่ใต้แบบแผนของหน่วยบ้านเมืองอนุจักรวาลที่หัวเมืองต่างๆ มักยอมศิโรราบต่อศูนย์อำนาจที่ทรงกำลังมากกว่า อย่างเช่น เวียงจันทน์ ธนบุรี และกรุงเทพฯ แต่ขณะเดียวกัน ในขอบข่ายระดับท้องถิ่นนั้น นครรัฐบางแห่ง ก็อาจจะดึงดูดอนุบริวารให้เข้ามายอมจำนนสวามิภักดิ์จนกลายเป็นกลุ่มสโมสรหรือกลุ่มอนุจักรวาลท้องถิ่นยิบย่อย อย่างเช่น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเมืองร้อยเอ็ด กับเมืองบริวารข้างเคียง เป็นอาทิ


ประติมากรรมรูปสิงห์หน้าบึงพลาญชัย เมืองร้อยเอ็ด ซึ่งจากการสัมผัสเยี่ยมชมของผม ร้อยเอ็ด ถือ เป็นเมืองที่มีบึงน้ำอันถูกโอบล้อมด้วยวัดวาอาราม ซึ่งดูๆ ไปแล้ว ก็ละม้ายกับโซนหนองน้ำในเมืองเชียงตุงของรัฐฉาน นอกจากนั้น ร้อยเอ็ด ยังถือเป็นเมืองเดียวในภาคอีสานตอนกลางที่พบเห็นแนวคูเมืองอันกว้างขวาง พร้อมฐานมูลดินของกำแพงเมืองเดิม จนทำให้ได้ภาพระบบป้อมปราการที่คล้ายคลึงกับเมืองนครราชสีมาหรือเมืองเชียงใหม่


ภาพวิถีชีวิตชาวร้อยเอ็ดสมัยโบราณ (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

สำหรับจุดเปลี่ยนของชุดระบอบการเมืองยุคจารีตร้อยเอ็ด ได้ถูกทำให้สลายตัวไปผ่านการประกาศพระราชบัญญัติการปกครองท้องที่ของรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2440 ซึ่งส่งผลให้มีการยกเลิกการปกครองร้อยเอ็ดโบราณที่เรียกว่า "อาญาสี่" อันเป็นแบบแผนการบริหารหัวเมืองอีสานตามขนบธรรมเนียมล้านช้าง ซึ่งประกอบด้วย 4 ตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ เจ้าเมือง อุปราช ราชวงศ์และราชบุตร โดยคณะผู้ปกครองกรุงเทพฯ ได้ทำการสถาปนาตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองและปลัดเมืองขึ้นมาแทนที่ พร้อมส่งออกแบบแผนการปกครองใหม่ที่เรียกกันว่า "มณฑลเทศาภิบาล" โดยมีการผนวกรวมหัวเมืองโบราณเพื่อแปลงสภาพให้เป็นเขตปกครองรวมศูนย์ที่เรียกว่า "มณฑล" ซึ่งมีการปรับโยกเปลี่ยนแปลงแนวอาณาเขตอยู่เป็นระยะ จนกระทั่งเข้าสู่ปี พ.ศ. 2465 ที่ได้มีการรวมเอามณฑลร้อยเอ็ด มณฑลอุบล และมณฑลอุดร ขึ้นเป็นหน่วยการเมืองใหม่ที่เรียกว่า ภาคอีสาน ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงนัยสำคัญทางยุทธศาสตร์ของเมืองร้อยเอ็ดในฐานะขั้วอำนาจระดับ 1 ใน 3 ของระบบภูมิศาสตร์การเมืองอีสาน

จากภาพเหตุการณ์ที่นำแสดงมา การศึกษาประวัติศาสตร์เมืองร้อยเอ็ดและเมืองบริวารข้างเคียง จึงถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำความเข้าใจพลวัตพื้นที่ใจกลางของภาคอีสานซึ่งเต็มไปด้วยระบบการเมืองแบบอนุจักรวาลพื้นถิ่น พร้อมเต็มไปด้วยการปะทะขับหน่วงระหว่างโลกจารีตประเพณีล้านช้างกับโลกยุทธศาสตร์การพัฒนาอันมีกรุงเทพฯและนครราชสีมาเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ขณะเดียวกัน การวิเคราะห์ในรายประเด็นดังกล่าวอาจช่วยเผยให้เห็นถึงแบบแผนปฏิสัมพันธ์ระหว่างดินแดนสองฝั่งโขงนับตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันซึ่งถือเป็นแก่นกลางหลักสำหรับการวิเคราะห์ค้นคว้าทางด้าน "ลาวศึกษา" และ "อีสานศึกษา" อันถือเป็นอนุสาขาของสิ่งที่เรียกว่า "อุษาคเนย์ศึกษา"


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

บล็อกของ ดุลยภาค