Skip to main content

 

 

ท่ามกลางกระแสการรวมกลุ่มเออีซี มิเพียงแต่รัฐอิสระเอเชียอาคเนย์ที่จะต้องมีการเชื่อมร้อยความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น หากแต่การกระชับความร่วมมือกับรัฐนอกกลุ่มในอนุภูมิภาคข้างเคียง ก็นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยกรุยทางให้การบูรณาการเศรษฐกิจมีความกลมเกลียวหลากหลายมากขึ้น โดยในบรรดาโซนภูมิศาสตร์การลงทุนที่อยู่รายรอบอาเซียน ดูเหมือนว่า พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียซึ่งมีพรมแดนสวนใหญ่ติดกับเมียนมาร์ จีนและบังคลาเทศ กำลังกลายเป็นทำเลการค้าที่มีความน่าสนใจอยู่มิใช่น้อย

นับตั้งแต่ห้วงทศวรรษ 1990 รัฐบาลอินเดียได้ผลิตนโยบายมุ่งสู่ตะวันออก หรือ "Look East Policy” ซึ่งมีลักษณะเป็นแนวนโยบายต่างประเทศที่มุ่งเน้นการสานปฏิสัมพันธ์ทางการค้าและยุทธศาสตร์กับชาติสมาชิกในองค์กรอาเซียน โดยแรงขับเคลื่อนของนโยบายดังกล่าว ได้ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมความร่วมมือบางประการ อาทิ การตั้งสภาธุรกิจอินเดีย-อาเซียน (ASEAN-India Business Council / AIBC) ตลอดจนการจัดทำกรอบตกลงร่วมเพื่อสถาปนาเขตการค้าการลงทุนอินเดีย-อาเซียน หรือที่เรียกกันว่า Regional Trade and Investment Agreement (RTIA) ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างจริงจังในปี ค.ศ.2016

สำหรับในบริบททางยุทธศาสตร์ อินเดียมักมองอาเซียนในฐานะฐานทรัพยากรและสะพานโลจิสติกส์ที่เชื่อมร้อยอินเดียเข้ากับแหล่งการค้าในเอเชียตะวันออก พร้อมเป็นกระดานหมากรุกที่คอยเอื้อหนุนให้อินเดียสามารถแข่งขันกับอิทธิพลของจีนที่แผ่ลงมาอย่างไม่หยุดยั้งทั้งในเขตภาคพื้นอินโดจีนและน่านทะเลเบงกอล โดยรัฐบาลกลางที่นิวเดลีมักพยายามพุ่งความสนใจไปที่โครงการพัฒนามลรัฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทางแถบลุ่มน้ำพรหมบุตร ซึ่งกำลังเตรียมแปลงสภาพเป็นสะพานบกแห่งใหม่เพื่อรองรับปฏิสัมพันธ์ทางการค้าที่พุ่งสูงขึ้นระหว่างอินเดียกับอาเซียน

กระนั้นก็ตาม หากพิจารณาศักยภาพโดยรวม อาณาบริเวณดังกล่าวซึ่งประกอบด้วย 7 มลรัฐทางแถบเทือกเขาหิมาลัย ได้แก่ อรุณาจัลประเทศ นากาแลนด์ มณีปุระ ไมโซรัม อัสสัม เมกฮาลายา และตรีปุระ มักมีลักษณะเป็นพื้นที่ล้าหลังห่างไกลความเจริญ พร้อมเต็มไปด้วยกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอินเดีย รวมถึงเป็นดินแดนที่ถูกตัดขาดออกจากแกนกลางอินเดียโดยมีเพียงแค่คอคอดศิลิกุริ (Siliguri Strategic Neck) เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างลุ่มแม่น้ำคงคงกับเขตอีสานหิมาลัย

ผลที่ตามมา คือ ความล่าช้าของการตัดถนนมิตรภาพซึ่งเคลื่อนจากภาคอีสานของอินเดียที่เมืองโมเรห์ในรัฐมณีปุระ เข้าไปยังเมืองกาเลวาซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำฉิ่นวินทางฟากตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมาร์ จนทำให้แนวสะพานบกที่เชื่อมร้อยชมพูทวีปเข้ากับสุวรรณทวีปอันเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายถนนเอเชีย (Asian Highway) ยังคงเต็มไปด้วยอุปสรรคและมิได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม แม้การโยงชายแดนอินเดีย-อาเซียน จะสะดุดติดขัดอยู่เป็นระยะ อันเป็นผลจากความล่าช้าและข้อจำกัดด้านงบประมาณของระบบราชการอินเดีย รวมถึงความไม่สงบทั้งในเขตภาคอีสานอินเดียและในรัฐชาติพันธุ์ตอนบนของเมียนมาร์ หากแต่ฝ่ายรัฐบาลอินเดียเอง ก็ตระหนักถึงข้อจำกัดดังกล่าว โดยพยายามเร่งผลักดันโครงการเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ ควบคู่กันไป พร้อมเตรียมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างอนุภูมิภาคโดยมีพื้นที่การลงทุนหลักอยู่ที่เมียนมาร์

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ โครงการแม่น้ำกาลาดัน (Kaladan) ในรัฐยะไข่และรัฐฉิ่นของเมียนมาร์ เพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกตรงปากแม่น้ำพร้อมพัฒนาเส้นทางเดินเรือต่อไปยังรัฐไมโซรัม อันจะยังผลให้รัฐในภาคอีสานของอินเดียทั้งหมดสามารถออกลงทะเลสู่อ่าวเบงกอลได้เป็นผลสำเร็จ หรือการฟื้นฟูถนนเลโด (Ledo Road) ที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ถนนสติลเวลล์ (Stilwell Road) ซึ่งเป็นอดีตเส้นทางยุทธศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่สองที่เชื่อมชายแดนอินเดียเข้ากับชายแดนเมียนมาร์และมณฑลยูนนานของจีน

โดยการเปิดเส้นทางดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐมณีปุระ รัฐอัสสัม และรัฐอรุณาจัลประเทศ ซึ่งมีอาณาเขตไม่ไกลจากรัฐฉิ่น รัฐคะฉิ่นและภาคสะกายของเมียนมาร์ ซึ่งหากประสบความสำเร็จ ภาคธุรกิจอินเดียจะสามารถใช้เส้นทางเพื่อส่งออกอุปกรณ์รถยนต์ คอมพิวเตอร์ พืชผักผลไม้ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและผ้าฝ้าย ไปยังเขตประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงสามารถนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ผ้าใยสังเคราะห์ ไม้สักและอัญมณีรัตนชาติจากเมียนมาร์และจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

ฉะนั้นแล้ว แม้จะมีอุปสรรคในเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนา แต่ก็น่าเชื่อว่าแผ่นดินภาคอีสานของแดนภารตะ (ซึ่งเป็นระเบียงบกเพียงแห่งเดียวที่เชื่อมร้อยภาคพื้นทวีปอินเดียเข้ากับอาเซียน) จะสามารถแปลงสภาพเป็นบัญชรตะวันตกที่ช่วยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเออีซีสามารถเจาะตลาดเอเชียใต้ รวมถึงเอเชียกลางและตะวันออกกลางได้มากกว่าในอดีตอย่างแน่นอน


ดุลยภาค ปรีชารัชช

ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 19 พฤษภาคม 2557

 

บล็อกของ ดุลยภาค