Skip to main content

 

นับย้อนไปตั้งแต่สมัยอาณานิคมอังกฤษ กิจการรถไฟในเมียนมาร์ได้รับการปฏิรูปอย่างแข็งขันจนทำให้เมียนมาร์ยุคปัจจุบันมีชุมทางและความยาวของทางรถไฟมากกว่ารัฐเพื่อนบ้านทั้งหลายในย่านอินโดจีน (หากจะนำไปเปรียบเป็นรายประเทศ)

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะความสลับซับซ้อนทางภูมิรัฐศาสตร์ของเมียนมาร์ จนทำให้ข้าราชการอาณานิคมอังกฤษ ต้องแบ่งแยกหน่วยบริหารปกครองออกเป็น 2 โซนหลัก ได้แก่ 1) เขตพม่าแท้-Burma Proper ทางตอนกลางของประเทศ และ 2) เขตบริหารชายแดน-Frontier Areas Administration/FAA ที่ผนวกรวมเอากลุ่มนครรัฐเทือกเขาของชนชาติพันธุ์ต่างๆ โดยมีการตัดแบ่งออกเป็นเขตรัฐภูเขาแยกย่อย อย่างเช่น Kachin Hill Tracts, Chin Hill Tracts และ Federated Shan State

จากภูมิทัศน์ทางรัฐประศาสนศาสตร์ดังว่า คณะผู้ปกครองอังกฤษจึงจินตนาการถึงการผนวกรวมเอาหน่วยการเมืองชายแดนให้เข้ามากระชับแน่นอยู่ใต้เงื้อมเงาของศูนย์อำนาจหลักที่ย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ โดยผลจากจินตภาพดังกล่าว ได้ทำให้เกิดการพัฒนาเส้นทางและขบวนรถไฟในแผ่นดินพม่าของอังกฤษ (British Burma) ไม่ว่าจะเป็น เส้นทางยุทธศาสตร์เลียบแม่น้ำสะโตงจากย่างกุ้งไปตองอู เส้นทางการค้าเลียบแม่น้ำอิระวดีจากย่างกุ้งไปแปร และ เส้นทางควบคุมพัฒนาชายแดนจากย่างกุ้งทะลุเข้าตองจีในเขตรัฐฉาน

นวัตกรรมการสร้างทางรถไฟเพื่อสร้างรัฐรวมศูนย์ ได้ถูกถ่ายทอดส่งผ่านมายังคณะผู้จัดการรัฐเมียนมาร์ยุคหลังอาณานิคม โดยเฉพาะชนชั้นปกครองที่เป็นทหารอย่างนายพลเนวินและนายพลตานฉ่วย ซึ่งว่ากันว่า ในยุคของรัฐบาลทหารช่วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ.2010 เมียนมาร์ได้เร่งเร้าระดับการปฏิรูปกิจการรถไฟครั้งใหญ่ ทั้งการเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ การปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยและการขยายเส้นทางรถไฟให้เป็นระบบรางคู่ ซึ่งมีการตั้งเมืองเนปิดอว์ ขึ้นเป็นชุมสายรถไฟแห่งใหม่ที่มีสภาพเป็นแกนกลางหลักของโครงข่ายคมนาคมทั้งหมดภายในประเทศ นอกจากนั้น รัฐบาลเมียนมาร์ยังเตรียมฟื้นฟูสภาพเส้นทางรถไฟไปยังเขตภูเขาชายแดนอย่างต่อเนื่อง ดังเห็นได้จาก การปรับผิวรางรถไฟจากมัณฑะเลย์ไปมิตจิน่าในรัฐคะฉิ่น หรือจากเนปิดอว์เข้าตองจีแล้วเชื่อมต่อกับเมืองนายจนไปออกสถานีปลายทางที่เชียงตุงตรงแถบสามเหลี่ยมทองคำของรัฐฉาน

จากกรณีดังกล่าว หากสืบค้นจากสื่อสิ่งพิมพ์ของรัฐบาลเมียนมาร์ อย่างเช่น หนังสือพิมพ์ New Light of Myanmar ฉบับวันที่ 21ธันวาคม 2010 (หลังเลือกตั้งล่าสุดมาเล็กน้อย) จะเห็นการส่งสาส์นจากทางการเมียนมาร์ในลักษณะที่ว่าการก่อสร้างและปรับปรุงทางรถไฟนั้น ถือเป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาพื้นที่ชายแดน พร้อมเป็นการเชื่อมร้อยศูนย์การค้าในเขตเมืองและแปลงเกษตรป่าเขาในเขตชนบท เพื่อให้เกิดการขยายตัวของความเจริญและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครอบคลุมทุกส่วนภาคของประเทศ โดยจากการรณรงค์ของรัฐบาล ก็ทำให้เห็นภาพวิสัยทัศน์การสร้างรัฐให้ทันสมัยของคณะผู้นำพร้อมอาจถือเป็นการเบิกยุคใหม่เพื่อสนับสนุนการจัดดินแดนตามพื้นที่ต่างๆ ให้มีลักษณะกระจายอำนาจหรือมีการเกลี่ยระดับความเจริญในอัตราที่ใกล้เคียงและมีสมดุลกันมากขึ้น

กระนั้น การสร้างทางรถไฟที่พาดผ่านพื้นที่ของชนชาติพันธุ์หรืออยู่ไม่ไกลจากฐานที่มั่นของฝ่ายปฏิปักษ์ของรัฐบาล ก็มักจะถูกมองว่าเป็นการสนับสนุนการเคลื่อนกำลังทหารและยุทธปัจจัยของกองทัพพม่าในการพิชิตดินแดนที่แข็งขืนต่อส่วนกลาง ซึ่งก็นับเป็นส่วนขยายที่แตกแขนงออกมาจากนวัตกรรมการรวมศูนย์อำนาจเพื่อตบให้หน่วยการเมืองต่างๆ ที่มักจะสะบั้นหนีห่างออกจากส่วนกลาง ได้ค่อยๆ เคลื่อนคล้อยเข้ามาอยู่ใต้อุ้งอำนาจของรัฐบาลกลางในวิถีลีลาที่กระชับแน่นมากขึ้น

โดยแนวคิดดังกล่าว นับว่าสอดคล้องกับเอกสารรณรงค์ของเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทยใหญ่ (Shan Women's Action Network/SWAN) ที่เคยรายงานโครงการทางรถไฟของรัฐบาลเมียนมาร์จากเมืองนายเข้าไปยังเชียงตุงทางรัฐฉานภาคตะวันออกเฉียงใต้ ในลักษณะที่ว่า เป้าหมายที่แท้จริงของโครงการ คือ การขนทหารพม่าจากกองทัพภาคตองจีและกองทัพภาคสามเหลี่ยมเข้าโอบล้อมกดดันมิให้กองกำลังชนชาติพันธุ์ต่างๆ สามารถส่งเสบียงหรือรวมกำลังต่อต้านส่วนกลางได้โดยสะดวก โดยเฉพาะ กลุ่มกองกำลังว้า หรือ กองกำลังไทใหญ่ภาคเหนือ-ภาคใต้ ขณะเดียวกัน เอกสารชิ้นนี้ ยังรายงานพฤติกรรมรีดนาทาเร้นชาวบ้านของทหารพม่า ซึ่งมักจะมีการเกณฑ์ชาวไทใหญ่ให้เข้ามาสร้างสายรถไฟ พร้อมผลักดันหมู่บ้านไทใหญ่หลายแห่งออกจากพื้นที่การก่อสร้างทางรถไฟ โดยมิมีการจ่ายค่าชดเชยในอัตราที่โปร่งใสและเป็นธรรม

จากตัวอย่างกิจการรถไฟในเมียนมาร์ อาจทำให้เราพอมองเห็นเหรียญสองด้านที่ซุกซ่อนอยู่ในวาทกรรมการรวมอำนาจและกระจายอำนาจ จนทำให้เกิดการตีความวิพากษ์วิจารณ์ที่แตกต่างกันออกไปของประชากรในหลายภาคส่วนของสังคม อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโลจิสติกซ์บนพื้นฐานของหลักบริหารปกครองที่ดี (Good Governance) และประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Deliberative Democracy) ก็นับเป็นจิตสำนึกที่มักจะถูกทำให้เจือจางหรือขาดหายไปในระบบบริหารรัฐกิจของรัฐส่วนใหญ่ในเอเชียอาคเนย์

ต่อข้อกรณีดังกล่าว แม้รัฐบาลเมียนมาร์จะพยายามแสดงนาฏกรรมแห่งรัฐที่โหนเกี่ยวไปตามขบวนรถไฟอย่างสมสมัย เช่น การรณรงค์ให้ชนชาติพันธุ์สวมใส่ชุดแต่งกายประจำเผ่าแล้วเข้ามานั่งในขบวนรถด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้มและชื่นบาน แต่ถึงอย่างนั้น คนเหล่านั้นคงมิอาจจะยิ้มแก้มปริได้โดยสนิทใจ หากพวกเขายังขาดการมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารโครงการที่โปร่งใสและเปิดกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซนเส้นทางที่ตัดผ่านชุมชนและส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตของพวกเขา ในขณะเดียวกัน กลุ่มที่ค้านการสร้างทางรถไฟผ่านการยกเหตุผลทางการทหารหรือการครอบงำจากรัฐบาลกลาง ก็คงมิอาจจะแสดงอาการคัดค้านได้อย่างรุนแรงและโจ่งแจ้งสืบต่อไป อันเป็นผลจากคุณประโยชน์บางประการในทางเศรษฐศาสตร์ของเส้นทางรถไฟที่ย่อมนำพาความเจริญมาสู่ถิ่นฐานชนบทที่ล้าหลังของพวกเขา แม้ว่าจะทับซ้อนกับเงื่อนไขทางยุทธศาสตร์ก็ตามที

ฉะนั้นแล้ว การประนีประนอมในประเด็นด้านความเจริญกับความมั่งคง หรือ การประสานหลักการกระจายอำนาจกับหลักการรวมอำนาจ ให้สามารถโยกตัวเข้าหากันได้ในอัตราจังหวะที่พอเหมาะพอดี รวมถึงการรังสรรค์ระบอบประชาธิปไตยให้อยู่ภายใต้กรอบธรรมาภิบาลที่โปร่งใสตรวจสอบได้ จึงอาจจะเป็นยอดปรารถนาอันสูงสุดสำหรับกระบวนการสร้างรัฐสร้างชาติของเมียนมาร์ และหรือ สำหรับรัฐอำนาจนิยมอื่นๆ ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่นรัฐไทย!


ดุลยภาค ปรีชารัชช
 

 

บล็อกของ ดุลยภาค