Skip to main content

 

เร็วๆ นี้ ผมได้เดินทางมาทำธุระทางวิชาการ ณ มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง สถาบันอุดมศึกษาที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดของเมียนมาร์

ย้อนไปในช่วงปี ค.ศ.1878 หลังจากที่อังกฤษได้ยึดครองดินแดนพม่าตอนล่าง (Lower Burma) มาได้ซักระยะ วิทยาลัยย่างกุ้ง (Rangoon College) ได้ถูกสถาปนาขึ้นในฐานะหน่วยการศึกษาที่แยกสาขาออกมาจากมหาวิทยาลัยกัลกัตตา ทางแถบเบงกอลตะวันตกของอินเดีย พร้อมรับโมเดลหลักสูตรการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในเมืองแม่ อย่างเช่น มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด และเคมบริดจ์ของอังกฤษ

โดยเวลาต่อมา จึงค่อยเปลี่ยนชื่อมาเป็นมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ซึ่งว่ากันว่า สถาบันแห่งนี้คือแหล่งผลิตปัญญาชนชาตินิยมพม่าที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวต่อต้านเจ้าอาณานิคมอังกฤษในเวลาต่อมา อย่างเช่น อองซาน เนวิน และอูนุ

ด้วยชื่อเสียงทางการศึกษาดังที่กล่าวมา ราวๆ ช่วงทศวรรษ 1940-1950 มหาวิทยาลัยย่างกุ้งจึงมักได้รับการขนานนามว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (แซงหน้าจุฬาและธรรมศาสตร์ในเมืองไทย) รวมถึงถูกจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของเอเชีย (เทียบชั้นได้กับมหาวิทยาลัยฮ่องกงและอาจจะล้ำหน้ากว่ามหาวิทยาลัยกัลกัตตาในช่วงเวลาเดียวกัน)

กระนั้นก็ตาม หลังรัฐประหารโดยนายพลเนวินเมื่อปี ค.ศ.1962 เสรีภาพทางการศึกษาได้ถูกปิดกั้นอย่างสิ้นเชิงด้วยอำนาจรัฐ พร้อมๆ กับสภาวะหยุดนิ่งของโลกวิชาการพม่า โดยมีการระงับสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงรัฐ ประกอบกับมีการเปลี่ยนภาษาการเรียนการสอนจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาพม่าในแทบทุกหลักสูตรและช่วงชั้นการศึกษา ซึ่งอาจเป็นหนึ่งเหตุผลหลักที่ทำให้มหาวิทยาลัยย่างกุ้งขาดลักษณะของความเป็นชุมชนนานาชาติ (International Communities) จนถูกลดชั้นและตกอันดับลงอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน หลังการประท้วงเมื่อปี ค.ศ.1988 คณะทหารชุดใหม่ได้ทลายโครงสร้างมหาวิทยาลัยย่างกุ้งด้วยการโอนหลักสูตรปริญญาตรีหลากหลายสาขาไปขึ้นกับมหาวิทยาลัยที่ถูกจัดตั้งขึ้นใหม่ อย่างเช่น มหาวิทยาลัยดาโกง มหาวิทยาลัยย่างกุ้งตะวันออก ฯลฯ จนทำให้มหาวิทยาลัยย่างกุ้งขาดเอกภาพในทางวิชาการ โดยมีการเปิดสอนเพียงแค่ระดับบัณฑิตศึกษาและหลักสูตรประกาศนียบัตร ซึ่งน่าเชื่อว่า ยุทธศาสตร์การทลายโครงสร้างมหาวิทยาลัยเช่นนี้ จะทำให้คณะทหารสามารถสะบั้นการรวมตัวของนักศึกษาปัญญาชน จนมิอาจจะแข็งขืนต่อต้านอำนาจรัฐเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยได้อีกต่อไป


ทักทายกับบรรดานักศึกษาจากภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง โดยก่อนที่ข้าพเจ้าจะเข้าห้องบรรยาย เด็กๆ ต่างนอนหลับพักผ่อนบนโต๊ะไม้อย่างมีความสุข แต่เมื่อซายา (อาจารย์) เดินเข้ามา เขาเหล่านั้นก็ตื่นขึ้นพร้อมกับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอันน่าประทับใจ สำหรับวิชาว่าด้วยประวัติศาสตร์พม่านั้น เด็กๆ ที่นี่ ถูกแนะนำให้อ่าน text ภาษาพม่า พร้อม text ภาษาอังกฤษ บางเล่ม ซึ่งก็หนีไม่พ้น งานประพันธ์ของบรมครูสายประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม (Monarchical Nationalism) อย่างเช่น หม่อง ทิน อ่อง หรือ บรมครูสายประวัติศาสตร์อาณานิคม อย่างเช่น D.G.E.Hall นักวิชาการผู้มีบทบาทในการพัฒนาการเรียนการสอนด้านประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง พร้อมมีชื่อเสียงจากผลงานประพันธ์ชิ้นคลาสสิกเรื่อง "A History of South-East Asia"


หอรับปริญญาบัตรของนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันกับการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีโอบามาของสหรัฐอเมริกา เมื่อตอนที่เดินทางเยือนเมียนมาร์หลังช่วงเปิดประเทศใหม่ๆ


ห้องสมุดมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ซึ่งระบบการค้นคว้าจะมีลักษณะเป็นการบรรจุบัตรคำตามตู้ต่างๆ ที่เรียงลำดับตามตัวอักษร โดยเมื่อเปิดลิ้นชักไม้ออกมา จะพบเห็นบัตรคำเป็นจำนวนมากที่เขียนด้วยลายมือพร้อมพรรณาชื่อและเลขเรียกหนังสือ โดยผู้ค้นคว้าจะต้องจดเลขเรียกหนังสือเพื่อนำไปยื่นกับบรรณารักษ์ซึ่งจะเข้าไปค้นหนังสือตามเลขเรียกอีกทีหนึ่ง ซึ่งก็นับเป็นวิธีการค้นคว้าแบบโบราณ แต่ก็มีเสน่ห์และน่าประทับใจมิใช่น้อย


อย่างไรก็ตาม หลังการเปลี่ยนรูปการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี เต็ง เซ่ง เมียนมาร์ได้เตรียมวางยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาขนานใหญ่ โดยปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการได้เผยตัวเลขสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมดในประเทศ ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 154 แห่ง โดยแบ่งออกเป็นมหาวิทยาลัยจำนวน 63 แห่ง ส่วนที่เหลือได้แก่หน่วยงานระดับวิทยาลัยหรือสถาบันที่เทียบเท่าอื่นๆ ซึ่งก็นับว่าเมียนมาร์ประกอบไปด้วยสถาบันอุดมศึกษาที่รองรับตลาดประชากรภายในประเทศได้อย่างพอเพียง ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยประจำรัฐและภาคต่างๆ ทั้งในเขตส่วนกลางและในรัฐชนชาติพันธุ์ตามเขตภูเขาที่ทุรกันดาร

แต่กระนั้น อุปสรรคสำคัญของการปฏิรูป คงหนีไม่พ้น ความล้าหลังทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาของเมียนมาร์ อย่างเช่น ระบบคอมพิวเตอร์และระบบการตรวจข้อสอบที่ยังคงเต็มไปด้วยความล่าช้า พร้อมนำมาซึ่งการขาดประสิทธิภาพของสิ่งที่เรียกว่า e-learning และ distance-learning หรือ ลักษณะการเรียนการสอนที่ไม่เน้นการวิพากษ์โต้ตอบอภิปรายตามแบบตะวันตก หากแต่จะเน้นแต่การอ่านตำราและการเคารพไม่โต้เถียงท้าทายครูบาอาจารย์ หรือแม้กระทั่ง ทรัพยากรภายในห้องสมุด ซึ่งพบว่าเมียนมาร์มีการสะสมปริมาณหนังสือตามหอสมุดต่างๆ ในอัตราส่วนที่ค่อนข้างต่ำหากจะนำไปเทียบกับเพื่อนบ้านเช่นไทยหรือมาเลเซีย รวมถึงยังเต็มไปด้วยกฎระเบียบบางประการที่ทำให้การลงนามทำสัญญาตกลงกับมหาวิทยาลัยแม่ข่ายอื่นๆ ในต่างประเทศเกิดอาการติดขัดรวนเรอยู่เป็นระยะ


นางอองซาน ซูจี ณ บ้านพักในกรุงเนปิดอว์ พร้อมด้วยคณาจารย์จาก The University of Hong Kong โดยเธอได้รับปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางด้านกฎหมายและการเมืองจากมหาวิทยาลัยดังกล่าว ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจ คือ หลังจากรับใบปริญญาพร้อมสวมเสื้อครุยที่ดูสวยสดงดงาม เธอกลับประกาศยืนยันอย่างหนักแน่นว่าจะทำให้มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง กลายเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของเอเชียอีกครั้ง

ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ปณิธานอันแน่วแน่ของซูจี คือ การทำให้มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง แซงหน้ามหาวิทยาลัยในอาเซียน อย่าง จุฬา ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งมาลายา ฯลฯ พร้อมก้าวเข้ามายืนแถวหน้าเทียบชั้นกับมหาวิทยาลัยระดับโลก ในทวีปเอเชีย อย่างเช่น มหาวิทยาลัยฮ่องกง มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว หรือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (หากจะรวมเข้ามาอยู่ในโซนเอเชียแปซิฟิก) ซึ่งก็นับเป็นความใฝ่ฝันอันเรืองรองที่จะต้องเฝ้าดูและจับตามองกันต่อไป


จากที่นำแสดงมาเบื้องต้น การปฏิรูปการศึกษาในเมียนมาร์ แม้จะมีเส้นทางที่เปิดกว้างมากขึ้นกว่าในอดีต แต่ก็ยังคงเต็มไปด้วยอุปสรรคที่ต้องแก้ไขอีกนานาประการ โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยย่างกุ้งนั้น วิสัยทัศน์ของนางอองซาน ซูจี ที่เคยประกาศไว้ว่าจะร่วมมือกับประธานาธิบดี เต็ง เซ่ง เพื่อผลักดันให้มหาวิทยาลัยย่างกุ้งกลับมาครองตำแหน่งเป็นสถาบันชั้นนำของเอเชียเฉกเช่นดั่งในอดีต จึงอาจจะยังคงเป็นทั้ง "Myth" and "Reality" ที่คงต้องรอลุ้นและจับตามองกันต่อไป!


ดุลยภาค ปรีชารัชช


 

บล็อกของ ดุลยภาค