ผ่ารัฐกะเหรี่ยง: ประวัติศาสตร์และการปฏิวัติชิงดินแดน

 

 

ท่ามกลางการแพร่กระจายของกระบวนการสันติภาพและการเจรจาหยุดยิงที่โบกสะบัดไปทั่วดินแดนเมียนมาร์ยุคปัจจุบัน ดูเหมือนว่า ความไว้เนื้อเชื่อใจที่แท้จริงระหว่างชนชาติพม่าแท้กับเหล่าพหุชาติพันธุ์ต่างเผ่า หรือสภาวะลงรอยกันระหว่างการสร้าง "รัฐ" กับ การสร้าง "ชาติ" จะยังคงกลายเป็นสิ่งท้าทายที่มิอาจจะถืออุบัติขึ้นได้บนแผ่นดินเมียนมาร์ในเร็ววัน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การจัดงานรำลึกวีรชนของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2014 ณ ฐานบัญชาการริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งถือเป็นการรำลึกถึงเหล่าทหารกล้าและชาวกะเหรี่ยงผู้เสียชีวิตในการต่อสู้กับรัฐบาลพม่าพร้อมถือเป็นการชูเกียรติ "ซอว์ บาอูจี" นักปฏิวัติสงครามจรยุทธ์และผู้สถาปนาสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงในปี ค.ศ.1947 ซึ่งก็สะท้อนได้ดีถึงภารกิจกู้ชาติที่ยังคงคุกรุ่นและตราตรึงอยู่ในอุดมการณ์การต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงบางกลุ่ม ท่ามกลางกระแสการหยุดยิงและการถ่ายถอนแนวร่วมบางส่วนที่หันไปสวามิภักดิ์กับส่วนกลางด้วยการถ่ายโอนกองกำลังเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพพม่าภายใต้โครงการ "BGF" หรือ "Border Guard Force"


ประชากรเชื้อสายกะเหรี่ยงหลากเผ่าพันธุ์ เช่น กะเหรี่ยงโปว์ กะเหรี่ยงสะกอ ฯลฯ

ในมิติทางประวัติศาสตร์และการเมือง ความพยายามสถาปนารัฐกะเหรี่ยงใหม่ หรือ "กอทูเล/Kawthulay" ถือเป็นกระบวนการปฏิวัติผ่านสงครามจรยุทธ์ที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์เมียนมาร์ โดยหากย้อนไปถึงช่วงอาณานิคมอังกฤษอาจถือได้ว่า ปี ค.ศ.1927 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการบ่มเพาะทฤษฏีการปฏิวัติของเหล่าสหายผู้กล้าชาวกะเหรี่ยง ซึ่งในปีดังกล่าว Sir San C Po ปัญญาชนชื่อดังได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง "Burma and the Karens" โดยมีการอภิปรายเกี่ยวกับการสร้างรัฐกะเหรี่ยงอิสระผ่านการผนวกดินแดนตะนาวศรีทางตอนใต้เพื่อสร้างแอกเชื่อมต่อทางภูมิศาสตร์การเมือง โดยการตรึงให้เทือกเขาดาวนะผนึกติดกับแนวเทือกเขาตะนาวศรีที่กระชับแน่นมากขึ้น ขณะเดียวกัน ในปี ค.ศ.1943 เหล่านักรบกะเหรี่ยงที่เข้าร่วมในกองทัพสัมพันธมิตรยังได้พยายามเจรจากับตัวแทนรัฐบาลอังกฤษเพื่อขอรัฐกะเหรี่ยงอิสระหากแต่กลับมิได้รับคำตอบที่แน่ชัดจากฝ่ายอังกฤษ

สำหรับปัจจัยการสร้างรัฐใหม่ของขบวนการชาตินิยมกะเหรี่ยง อาจมีสาเหตุจากสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างกะเหรี่ยงกับอังกฤษผ่านการเผยแพร่ศาสนาคริสต์และการพัฒนาระบบการศึกษาตามแบบตะวันตก รวมถึงความจงรักภักดีของทหารกะเหรี่ยงที่มีต่อกองทัพอาณานิคม (ซึ่งแตกต่างจากทหารพม่าที่หันไปฝักใฝ่กองทัพญี่ปุ่นในช่วงแรก) และความไม่ลงรอยกันระหว่างชาวกะเหรี่ยงกับชาวพม่าแท้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงช่วงหลังได้รับเอกราชมาหมาดๆ โดยเฉพาะเรื่องอคติทางชาติพันธุ์และผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ที่นำไปสู่การสังหารหมู่ชาวกะเหรี่ยงโดยทหารพม่าซึ่งนับเป็นเชื้อไฟแห่งพลังปฏิวัติชาตินิยมกะเหรี่ยงอันรุนแรงและลุกโชน


กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army/KNLA) ซึ่งเป็นองค์กรทางการทหารของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union/KNU)

แต่กระนั้น การขอดินแดนเพื่อสร้างรัฐใหม่ซึ่งมีรากฐานมาจากเขตที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงที่แผ่คลุมไปทั้งโซนสามเหลี่ยมปากน้ำอิระวดี-สะโตง-สาละวิน และเขตป่าเขาหรือที่ราบชายทะเลที่ยาวเหยียดไปจนสุดแดนใต้ทางแถบตะนาวศรี กลับได้รับการต่อต้านอย่างแข็งขันจากรัฐบาลพม่าโดยอ้างว่าเป็นการขอดินแดนที่มากเกินความจำเป็น

โดยเฉพาะการประชุมที่มะละแหม่งเมื่อปี ค.ศ.1947 ที่ตัวแทนขบวนการปฏิวัติกะเหรี่ยง ได้ขอดินแดนรัฐใหม่ที่ต้องประกอบด้วยพื้นที่ภาคตะนาวศรี ภาคอิระวดี รวมถึงโซนอินเซ่งชานเมืองย่างกุ้ง และโซนยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองพะโค (หงสาวดี) และเมืองตองอู (ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสะโตง) จนทำให้ได้รับการตอบโต้ปฏิเสธจากขบวนการชาตินิยมพม่าโดยถือเป็นการวาดภาพดินแดนที่กินลึกทับซ้อนกับถิ่นฐานของชาวพม่าในหลายส่วน นอกจากนั้น จินตนาการทางภูมิสัณฐานของรัฐกะเหรี่ยงยังถือเป็นความพยายามที่จะกินทับหรือผนวกดินแดนรามัญเทศะของอาณาจักรหงสาวดีเดิม ซึ่งก็ทำให้กระบวนการสร้างรัฐกะเหรี่ยงได้รับการคัดค้านจากกลุ่มนักชาตินิยมมอญ


การร่างเขตภูมิศาสตร์การปกครองที่ไม่ลงรอยกันระหว่างกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงกับรัฐบาลพม่า โดยถึงแม้ว่ารัฐบาลพม่าในเวลาต่อมาจะได้อนุมัติการก่อตัวของรัฐกะเหรี่ยงซึ่งขยายแนวออกมาจากเขตสาละวิน แต่กระนั้น อุดมการณ์ด้านดินแดนของขบวนการปฏิวัติกะเหรี่ยงและการส่งทหารเข้าไปปราบชาวกะเหรี่ยงอย่างต่อเนื่องของฝั่งกองทัพพม่า ก็ยังคงกลายเป็นปัญญาพื้นฐานที่ทำให้สองกลุ่มอำนาจมีการขีดเขียนร่างกายทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไป

โดยขณะที่ KNU ได้วาดภาพดินแดนที่คลุมฝั่งขวาของแม่น้ำสะโตงเกือบทั้งหมด พร้อมกินลึกไปถึงรัฐมอญและกลุ่มเมืองมะริด-ทวายในภาคตะนาวศรีซึ่งยังคงมีฐานปฏิบัติการของทหาร KNU บางส่วน หากแต่ทางการพม่า ได้พยายามบีบอัดให้เขตบริหารรัฐกะเหรี่ยงมีขนาดเท่ากับโซนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมมีการตัดแบ่งพื้นที่หลักออกเป็นโซนบริหารแยกย่อย อย่างเช่น การผ่าเขตดูพลายาออกเป็นเมียวดี และกอกะเร็ก


ท้ายที่สุด คณะผู้ปกครองชาวพม่าได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1947 โดยมีการตัดหน่วยปกครองเทือกเขาในยุคอาณานิคมอังกฤษที่เรียกกันว่า "เขตสาละวิน" หรือ "Salween District" เข้าไปเป็นเขตปกครองสำหรับชนชาติกะเหรี่ยง หากทว่า พื้นที่ของเขตสาละวินที่ตั้งประชิดติดชายแดนสยามตรงข้ามเมืองแม่สะเรียงและบ้านแม่สามแลบ (เขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน) กลับเต็มไปด้วยป่าทึบซึ่งมีแต่ไข้ป่าและโรคร้ายสารพัดชนิด พร้อมไร้ซึ่งที่ราบทางการเกษตรขนาดใหญ่ ขณะเดียวกัน เขตสาละวินยังเป็นโซนภูมิรัฐศาสตร์ขนาดเล็กที่มีพื้นที่ประมาณ 2,666 ตารางไมล์ พร้อมมีประชากรดั้งเดิมไม่เกิน 60,000 คน โดยคณะนักชาตินิยมพม่าได้หมายมั่นที่จะให้ดินแดนแห่งนี้เป็นแหล่งบรรจุประชากรชาวกะเหรี่ยงอีกราวๆ 3-4 ล้านคนในอนาคตอันใกล้ (หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ)


แผนที่แสดงหน่วยบริหารอาณานิคมอังกฤษซึ่งมีทั้ง "Burma Proper" และ "Frontier Areas Administration/FAA" โดยมี Salween District" เป็นส่วนหนึ่งของรัฐปกครองชายแดนเทือกเขา ซึ่งเขตสาละวินจะมีอาณาเขตทางตอนเหนือติดกับดินแดนคะยา (กะยา) ทางตะวันออกติดกับประเทศสยาม และทางตะวันตกและทางใต้ติดกับเขตพม่าแท้ซึ่งรวมหัวเมืองในดินแดนมอญและตะนาวศรีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งทางการปกครอง


อย่างไรก็ตาม การอนุมัติเขตสาละวิน ก็ได้สร้างความไม่พอใจให้กับนักชาตินิยมกะเหรี่ยงเป็นอย่างมาก ซึ่งมองว่าข้อจำกัดอันทุรกันดารของพื้นที่และความแออัดของประชากรในอนาคต ถือเป็นการสกัดกั้นความเจริญของชาวกะเหรี่ยง พร้อมถือเป็นแผนการอันแยบยลของฝ่ายพม่าที่เพียงแต่อยากให้กะเหรี่ยงมีทิศทางการเติบโตที่ผูกติดอยู่กับดินแดนหลังเขาอันล้าหลังทุรกันดารพร้อมปราศจากท่าเรือชายทะเลและแปลงที่ราบทางการเกษตรอันอุดมสมบูรณ์

ในอีกประการหนึ่ง ฝ่ายนักปฏิวัติกะเหรี่ยงยังกล่าวโจมตีทางการพม่าที่มักจะอ้างแต่วาทกรรมที่ว่าแผ่นดินเมียนมาร์มักเล็กเกินกว่าจะแบ่งแยกหรือตัดแบ่ง โดยยกตัวอย่างการก่อตัวของรัฐขนาดเล็กอื่นๆ เช่น ลักเซมเบิร์ก ปานามา และซานมารีโน ซึ่งพัฒนาไปสู่ประเทศเอกราช ทั้งๆ ที่มีจำนวนประชากรน้อยกว่าชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง หากแต่สำหรับชาวกะเหรี่ยงเองนั้น แม้การขอดินแดนที่เหมาะสมกับดุลประชากรภายในสหภาพเดียวกัน ยังได้รับการกีดกันและต่อต้านอย่างรุนแรงจากฝ่ายผู้ปกครองพม่าแท้ ซึ่งถือเป็นความอยุติธรรมที่ต้องได้รับการปฏิวัติปลดปล่อยอย่างรวดเร็ว

จากกรณีดังกล่าว ความไม่ลงรอยกันในเรื่องการสถาปนาดินแดนเพื่อผลิตรัฐเอกราชสมัยใหม่หรือเขตบริหารพิเศษ จึงถือเป็นปฐมบทที่ส่งผลต่อการสร้างรัฐสร้างชาติในเมียนมาร์ พร้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังพลังปฏิวัติของชนชาติกะเหรี่ยงที่ยังคงยืดเยื้อยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

โดยการเจรจาสันติภาพในอนาคต ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องหาข้อยุติเกี่ยวกับการปักปันเขตแดนทางการเมือง หรือการร่างเขตปกครองพิเศษที่สอดคล้องกับความต้องการของชนชาติพันธุ์และอยู่ในขอบข่ายที่รัฐบาลพม่าสามารถยอมรับได้ ซึ่งถือเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่คาบเกี่ยวอย่างลึกซึ้งกับการออกแบบสถาปัตยกรรมทางการเมือง (Political Architecture) โดยเฉพาะการจัดการปกครองในรูปแบบสหพันธรัฐนิยม (Federalism) ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการบูรณาการแห่งชาติในสหภาพเมียนมาร์นับตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

 


ดุลยภาค ปรีชารัชช
อุษาคเนย์ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

แหล่งอ้างอิง Michael Lonsdale, The Karen Revolution in Burma, Sam Art (ไม่ระบุปีพิมพ์), Transnational Institute, Netherlands และ http://knla.wordpress.com/