มองจักรวรรดินิยมผ่านภาพล้อเลียนทางการเมือง

 

 

การแผ่ขยายอิทธิพลของรัฐมหาอำนาจบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ มักจะสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อความเปลี่ยนแปลงของรัฐและสังคมเสมอ ไม่เว้นแม้กระทั่งงานศิลปะ จนในบางครั้งนักวิเคราะห์ทางการทูตหรือวิเทศคดีศึกษา อาจสามารถเพ่งเล็งพฤติกรรมหรือปฏิกิริยาของรัฐมหาอำนาจผ่านภาพลายศิลป์หรือภาพการ์ตูนล้อเลียนทางการเมืองได้อย่างแจ่มชัด

ยกตัวอย่างเช่น การ์ตูนอเมริกัน ในช่วงปี ค.ศ.1888 ที่เย้ยหยันการกระหายอำนาจของอังกฤษ โดยเปรียบเปรยการแผ่แสนยานุภาพอังกฤษว่าเป็นเหมือนดั่ง "Imperial Octopus" หรือ "หมึกจักรวรรดิ" ที่พยายามแตะคลุมยึดหัวหาดในลักษณะแผ่กว้างโบกสะบัดไปรอบโลก (คล้ายการแผ่ของหนวดปลาหมึก) ทั้งในเขตอาณานิคมเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาเหนือ

ในขณะที่ภาพการ์ตูนบางชุดในช่วงสงครามเย็นได้แสดงการสัประยุทธ์ทางยุทธศาสตร์ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ซึ่งสะท้อนถึงหลักวิชาทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่อยู่เบื้องหลังการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสองมหาอำนาจ อันได้แก่ ทฤษฏีดินแดนหัวใจ (Heartland) ของแมคคินเดอร์ ที่คอยส่งเสริมให้หมีโซเวียตผลิตวิถีการแผ่อำนาจที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากพื้นทวีปยูเรเซียผ่านการแผ่แสนยานุภาพทางบก โดยเฉพาะกองพลรถถังอันเกรียงไกรเพื่อเกลี่ยไล่ลุงแซมมะกันให้ตกขอบโลก จนหมดสิ้นรัศมีที่จะแข็งขืนกับจักรวรรดิโซเวียต

แต่ถึงอย่างนั้น นักยุทธศาสตร์สหรัฐก็ได้ใช้ทฤษฎีริมขอบ (Rimland) ของสปีคแมน ตีโต้การรุกคืบของโซเวียตอย่างเผ็ดร้อนด้วยการส่งกองเรือยุทธการเข้าไปประจำการยังรัฐริมทะเล โดยเชื่อว่าความเข้มแข็งทางนาวิกานุภาพของสหรัฐและการยึดหัวหาดในเขตปริมณฑลยุทธศาสตร์ชายทะเล จะสามารถสกัดกั้นการเติบโตของคอมมิวนิสต์โซเวียตได้อย่างชะงักงัน โดยการตีโต้ตบขั้วสลับกันบี้โลกของสองมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อภูมิทัศน์ความมั่นคงในโลกยุคสงครามเย็นอย่างล้ำลึกและเต็มพิกัด

ขณะที่รูปสุดท้ายนั้น เราอาจเห็นเส้นสายการแผ่อำนาจลงใต้ของจีนผ่านโครงการรถไฟความเร็วสูงที่เบื้องหน้านั้น คือความน่ารักจ้ำม่ำของหมีแพนด้า (สัญลักษณ์ทางสันถวไมตรีจีน) หากแต่เบื้องหลังกลับเต็มไปด้วยฝูงพญาเสือโคร่งผู้หิวโหยพร้อมเตรียมตะครุบเหยื่อผู้อ่อนแอได้ทุกขณะ โดยวิถีการเคลื่อนไหวของสายรถไฟ มักแตะคลุมทั้งในเขตลุ่มน้ำอิระวดีของเมียนมาร์และเขตลุ่มน้ำโขงในอินโดจีน

พร้อมกันนั้น ภาพดังกล่าวยังแสดงการเจาะอุโมงค์ผ่านซอกเขาและป่าทึบซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของระบบโลจิสติกต์จีนที่มักจะเน้นความรวดเร็ว เพื่อย่นเวลาเดินทางโดยมิจำเป็นต้องอ้อมไปตามรางที่คดเคี้ยวตามแนวสันเขาเหมือนดั่งการสร้างถนนหรือทางรถไฟทั่วไปในรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ท้ายที่สุด หวังว่าภาพการ์ตูนที่นำแสดงมาคงจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะการใส่ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์เข้าไปอยู่ในวงขับเคี่ยวเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจ ซึ่งคงมิผิดนักหากจะกล่าวว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงเป็นเขตอิทธิพลของเหล่ามหาอำนาจทางการเมืองโลกนับตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคเออีซีที่มีทั้งอาเซียนบวกสาม บวกหก หรือ บวกแปด จนทำให้อาเซียนในสหัสวรรษใหม่หนีไม่พ้นที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจอย่างลึกซึ้งจนยากจะยากถอน หรือหากจะกล่าวให้ไพเราะยิ่งขึ้น คงอาจพูดได้ว่า "อุษาคเนย์ภิวัฒน์" ย่อมมีชะตะชีวิตที่แตะสัมผัสหรือยังคงอยู่ใต้เงื้อมเงาของ "อัสดงค์ภิวัฒน์" "อเมริกันภิวัฒน์" และ "เอเชียภิวัฒน์" สืบต่อไป

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช