Skip to main content

 

 

เมื่อเอ่ยถึงแบบแผนการสำแดงอำนาจของรัฐโบราณบนแผ่นดินอุษาคเนย์แล้ว นอกเหนือจากการอธิบายผ่านทฤษฏีของ Clifford Geertz ว่าด้วยเรื่อง "Theatre State" หรือ "รัฐโรงละคร/รัฐนาฏกรรม" ที่สืบสวนการอ้างความเป็นใหญ่ของราชาเหนือไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ผ่านการแสดงพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาหรือการเบิกมหรสพภายในท้องพระโรงอันงดงาม รัฐโบราณเหล่านั้น ยังมีการยึดกุมท่วงทำนองการปลดปล่อยอำนาจผ่านการประดิษฐ์เขตวงแหวนแห่งราชันย์ หรือ ที่เรียกกันว่า "มณฑล"/"Mandala" ซึ่งถือเป็นลักษณะเด่นของระบบการเมืองในรัฐจารีตอุษาคเนย์ จนส่งผลให้เกิดความพยายามเชิงวิชาการที่จะอธิบายนิยามของความเป็นมณฑลกันอย่างแพร่หลายในแวดวงประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคก่อนอาณานิคม

ยกตัวอย่างเช่น O.W.Walters ที่วิเคราะห์แผนที่โบราณผ่านการก่อตัวของเครือข่ายนครรัฐที่มีการทับซ้อนหรือตัดสลับกันเป็นหย่อมๆ ของกลุ่มบ้านเมือง ในขณะที่ Stanley Tambiah ได้แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมร้อยมณฑลให้เข้าไปอยู่ในระบบการเมืองแบบแกแล็กซี่ "Galactic Polity" ซึ่งก็หมายถึงการจำลองเครือข่ายรัฐโบราณให้เป็นเหมือนดั่งอนุจักรวาลพื้นถิ่นที่มีราชธานีอันถูกห้อมล้อมด้วยเมืองบริวารหรือเมืองประเทศราช ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการประดับประดาให้ดาวนพเคราะห์เกิดการจัดกลุ่มระดะระดาเรียงรายไปตามดวงดาวอันเป็นศูนย์กลางของวงจักรวาลแต่ละแห่ง ส่วนทางด้าน Victor Lieberman ก็วาดภาพมณฑลให้ใกล้เคียงกับ "วงนครสุริยัน" หรือ "Solar Polity" โดยจัดวางให้ราชธานีมีพลังดึงดูดดาวบริวารต่างๆ พร้อมสามารถชักแสงตะวันเพื่อสำแดงพลังหล่อเลี้ยงเหนือสรรพสิ่งและองคาพยพทางการเมืองต่างๆ

หากทว่า นักวิชาการเหล่านั้น ก็มักมีความเห็นที่คล้ายคลึงกัน คือ การแผ่อำนาจจากศูนย์กลางราชธานี มักมีความเข้มข้นเจือจางไปตามระยะทาง โดยเฉพาะ หัวเมืองที่อยู่ห่างไกลจากเขตเมืองหลวง ซึ่งมักจะกระทำการแข็งข้อขัดขืนต่อส่วนกลางอันเป็นผลมาจากอำนาจการควบคุมที่อ่อนแอลงของกษัตริย์ประจำราชธานี จนทำให้นักวิชาการและนักศึกษาอุษาคเนย์จำนวนมาก คุ้ยเคยกับสิ่งที่เรียกกันว่า "รัฐแสงเทียน" ซึ่งดวงไฟแห่งอำนาจจะมีการสิงสถิตและปล่อยปล่อยแสงรัศมีอันโชติช่วงหากแต่ก็จะกระจุกตัวอยู่แต่ช่วงกลางแก่นเทียน ในขณะที่ อาณาบริเวณรอบๆ เปลวเทียน วงประกายไฟกลับมีความเบาบางและแปรผันลงไปตามระยะทาง


การตัดกันโดยสังเขประหว่างวงปริมณฑลแห่งอำนาจของราชาอุษาคเนย์ร่วมสมัย อย่างเช่น เขตวงพระเจ้าบุเรงนองอันมีลักษณะเป็นมณฑลขนาดใหญ่โดยมีหงสาวดีเป็นแกนกลาง หรือ เขตวงพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้าง ซึ่งเข้าข่ายมณฑลขนาดกลางอันมีเวียงจันทน์เป็นศูนย์กลาง โดยแผนภาพดังกล่าว ได้แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบสำคัญในมณฑล อย่างเช่น จอมกษัตริย์ ราชธานี เมืองออก และ ขอบขัณฑสีมา หาใช่ เส้นเขตแดนที่ชัดเจนหรือองค์กรบริหารบังคับบัญชาแบบข้าราชการเหมือนที่ปรากฏกันอยู่ในระบบรัฐสมัยใหม่

สำหรับรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับระบบเครือข่ายอำนาจที่ปรากฏกันอยู่ในแวดวงประวัติศาสตร์การเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคจารีต อาจกล่าวได้ว่า ภูมิทัศน์การเมืองที่เผยออกมาจากหลักฐานต่างๆ มักมีลักษณะเป็นการปะติดปะต่อเข้าด้วยกันของบรรดาหน่วยการเมืองที่เรียกว่า มณฑล (Mandala) หรือเขตวงของพระราชา (Circles of Kings) ซึ่งมณฑลเหล่านี้มักซ้อนทับกัน หรือมีการเหลื่อมล้ำกันของเขตวงอำนาจกษัตริย์ในแต่ละมณฑล โดยกษัตริย์อุษาคเนย์มักทำการสถาปนาแนวมณฑลอันเกิดจากการรวบรวมเอาเครือข่ายนครรัฐมาถักทอร้อยเรียงเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นเปลวรัศมีที่โบกสะบัดไปยังอาณาบริเวณข้างเคียงและมีราชธานีอันเป็นที่ประทับของกษัตริย์ทำหน้าที่เป็นแกนกลางหรือดุมล้อแห่งวงอำนาจ

ในแต่ละมณฑลจะมีกษัตริย์หรือเจ้าเหนือหัวพระองค์เดียวที่สิงสถิตอยู่ในฐานะอันหนึ่งอันเดียวกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นสากล พระองค์จะทรงประกาศความเป็นผู้นำเหนือบรรดาผู้ปกครองชุมชนหรือเมืองต่างๆ โดยบรรดาผู้ปกครองเหล่านี้ องค์พระมหากษัตริย์จะเปรียบประดุจกับชนชั้นนำแห่งอำนาจ (Power Elite) ในขณะที่ผู้ปกครองเมืองในเขตมณฑล จะต้องปฏิบัติตนเป็นพันธมิตรผู้เชื่อฟังหรือข้าราชบริพารที่จงรักภักดีขององค์พระมหากษัตริย์

หลักฐานที่ยืนยันถึงอำนาจพระราชาในเครือข่ายมณฑลแบบโบราณ ได้แก่ การยอพระเกียรติกษัตริย์เขมรในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 7 ซึ่งมีการกล่าวถึงเขตอำนาจปกครองของ “วงบริสุทธ์ของบรรดากษัตริย์และพราหมณ์แห่งอาณาจักรพระนคร” หรือ งานนิพนธ์ของประพันคะ กวีชวาในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ซึ่งได้กล่าวถึงกษัตริย์ผู้รุ่งโรจน์แห่งเกาะชวา โดยแต่ละองค์จะแบ่งแยกกันด้วยนครา หรือ นครรัฐ ที่ตกอยู่ใต้การครอบครองส่วนพระองค์


"การพระราชพิธีนำน้ำ” ของเจ้ามหาชีวิตหลวงพระบางประจำงานบุญเดือน 5 อันเป็นวันเถลิงศกโดยมีขบวนแห่ของเจ้ามหาชีวิตไปสรงน้ำพระ ซึ่งจะทรงเสด็จพระราชดำเนินไปที่ วัดวิชุลราชและวัดเชียงทอง โดยรัฐหลวงพระบางนั้น มักมีลักษณะเป็นรัฐสองหรือสามฝ่ายฟ้า เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตปลายวงแหวนของมณฑลที่ใหญ่กว่า อย่างเช่น หงสาวดี-อังวะ เว้ อยุธยา-ธนบุรี-กรุงเทพ และ เวียงจันทน์ จนทำให้ต้องสวามิภักดิ์หรือแข็งขืนในบางโอกาสต่อเจ้าอธิราชที่ทรงกำลังมากกว่าซึ่งก็ดำเนินไปตามแต่ช่วงจังหวะและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (ภาพจาก Southeast Asia Library Group/SEALG)

เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช กล่าวไว้ว่า ในทางปฏิบัติ มณฑล หรือวงอำนาจกษัตริย์ อาจเป็นตัวแทนของสถานการณ์การเมืองที่ไม่มั่นคงถาวรและมีความเฉพาะเจาะจงในบางบริบท โดยมีลักษณะเป็นภูมิทัศน์แห่งอำนาจที่คลุมเครือและปราศจากเขตแดนที่แน่นอนตายตัว ซึ่งศูนย์กลางหรือเมืองบริวารต่างๆ ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นเป็นมณฑลมักมีแนวโน้มที่จะมองออกไปทุกทิศทุกทางเพื่อความมั่นคงของตัวเอง โดยแต่ละมณฑลจะประกอบไปด้วยบรรดาผู้ปกครองชุมชน เมือง หรือศูนย์อำนาจย่อยๆ เป็นจำนวนมาก ที่จะต้องส่งบรรณาการให้กับเจ้าเหนือหัวที่เป็นผู้ปกครองสูงสุดในแต่ละมณฑล

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาผู้ปกครองเหล่านี้ มักมีกลุ่มอำนาจจำนวนหนึ่งที่อาจไม่ยอมรับในฐานะความเป็นข้าราชบริพารของเจ้าเหนือหัว และหากมีโอกาสก็จะพยายามสร้างเครือข่ายข้าราชบริพารของตัวเอง หรือแม้กระทั่งสะสมฐานอำนาจอันแข็งแกร่งเพื่อยกทัพเข้าต่อกรกับเจ้าเหนือหัว

จากกรณีดังกล่าว เพื่อเป็นการยับยั้งความผันผวนของอำนาจ เจ้าราชาธิราชในแต่ละมณฑลจึงมักเรียกร้องเครื่องราชบรรณาการจากเจ้าเมืองประเทศราช พร้อมกับส่งขุนนางราชสำนักเข้าไปประจำการตามศูนย์อำนาจแยกย่อยเพื่อเป็นการตรวจสอบควบคุมความประพฤติของบรรดาเจ้าเมือง รวมถึงเป็นการสำแดงอำนาจของพระองค์เหนือบรรดากษัตริย์เมืองออกที่ตกอยู่ใต้วงปริมณฑลทางการเมือง

สำหรับในแง่ขนาดของมณฑล บางครั้งมณฑลอาจมีขนาดไม่ใหญ่ไปกว่าตำบลหรือเมืองหรือเกาะขนาดเล็กเกาะหนึ่ง เช่น มณฑลบางมณฑลในเกาะชวา แต่ในบางครั้ง แต่ละมณฑล อาจสามารถขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง อาทิ มณฑลศรีวิชัย นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7-11 เป็นอย่างน้อย ซึ่งอาจมีอำนาจบางส่วนเหนือเกาะสุมาตราและคาบสมุทรมลายู หรือ มณฑลพระนคร ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11-12 ซึ่งมีอำนาจเหนือลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นต้น

สำหรับกระบวนการจัดตั้งและรักษามณฑล อาจกระทำได้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการกรีฑาทัพเพื่อทำศึกสงคราม หรือการเรียกร้องเอาเครื่องบรรณาการตามจารีตประเพณี หรือการใช้ทักษะทางการปกครอง ซึ่งเกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แบ่งทักษะของเจ้าเหนือหัวประจำมณฑลออกเป็นสองประการ ได้แก่ หนึ่ง ความสามารถในอันที่จะได้มาซึ่งความรอบรู้ทางการเมือง (Political Intelligence) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การทำข้อมูลต่างๆ ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นในชายขอบของมณฑล โดยทักษะเช่นนี้มักพัฒนามาจากความสามารถในการคาดการณ์ถึงภัยคุกคามหรือลางเตือนภัยล่วงหน้าที่อาจจะเกิดขึ้นกับมณฑลนั้นๆ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นที่ชายขอบอาจสำคัญเท่าๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงศูนย์กลาง และผู้ปกครองที่สามารถติดต่อสื่อสารกับสถานที่อันห่างไกล ก็จะสามารถขยับมุมมองให้กว้างไกลจนสามารถคาดคะเนเหตุการณ์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ปกครองมณฑลพระนครในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ที่พยายามติดต่อสื่อสารกับพ่อค้าชาวทมิฬในอินเดียใต้เพื่อหาข่าวเกี่ยวกับลักษณะของรัฐเมืองท่าและความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองในเขตมหาสมุทรอินเดีย หรือการที่กษัตริย์สยามแห่งราชสำนักรัตนโกสินทร์ พยายามติดต่อกับบรรดาครัวมอญและครัวกะเหรี่ยงในเขตชายขอบเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของกองทัพพม่าในเขตเทือกเขาตะนาวศรี

ความชำนาญหรือทักษะประการที่สอง ได้แก่ ความสามารถในการยับยั้งการอ้างสิทธิในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของบรรดาคู่แข่งทางการเมือง โดยต้องนำคู่ปรปักษ์เหล่านั้นให้เข้ามาอยู่ภายใต้อิทธิพลของพระองค์ และหาทางจัดหาตำแหน่งแหล่งที่อันใหม่ให้กับบรรดาผู้ปกครองเหล่านั้น ซึ่งตามปกติ แม้ว่าเจ้าผู้ครองนครจะอยู่ห่างไกลจากราชธานีของพระเจ้าอยู่หัว แต่การเรียกให้เข้ามาอยู่ในเขตหัวเมืองชั้นใน หรือเข้ามาประทับในเขตราชธานีในฐานะองค์ประกัน ก็นับเป็นกุศโลบายทางการเมืองที่เจ้าอธิราชในแต่ละมณฑลมักกระทำกันจนเป็นแนวประเพณีนิยม อาทิ การเชิญเจ้าฟ้าสยามอย่างเช่นสมเด็จพระนเรศวร หรือ บรรดาเจ้าฟ้าไทใหญ่ เข้ามาประทับในพระราชวังหงสาวดีในฐานะองค์ประกันของสมเด็จพระเจ้าบุเรงนอง หรือการเข้ามาประทับในพระราชวังกรุงเทพของบรรดาเจ้าชายเขมรหรือเจ้าชายเวียงจันทร์อย่างเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น


การฝึกซ้อมและล้อมช้างเผือกในราชสำนักคองบองของพม่า (ศตวรรษที่ 19) ด้วยเชื่อกันว่าการครอบครองปริมาณช้างเผือกจำนวนมาก ย่อมเผยให้เห็นถึงแสนยานุภาพและบุญญาบารมีของความเป็นราชาเหนือราชาบนแผ่นดินอุษาคเนย์ ซึ่งก็ถือเป็นคตินิยมปกติของเจ้าเหนือหัวประจำรัฐพุทธ-ฮินดูแห่งโลกอุษาคเนย์โบราณ โดยเฉพาะรัฐพม่าและรัฐสยามยุคจารีต (ภาพจาก Southeast Asia Library Group/SEALG)

ในอีกประการหนึ่ง เจ้าเหนือหัวของแต่ละมณฑลอาจทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างเจ้าผู้ครองนครตามท้องถิ่นต่างๆ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและดึงดูดเหล่าบรรดาผู้ที่จงรักภักดีให้เข้ามาอยู่ในวงพระบรมโพธิสมภาร และเพื่อตอบสนองความต้องการในเกียรติยศชื่อเสียงของข้าราชบริพารเหล่านั้น เจ้าเหนือหัวอาจสถาปนาราชสำนักอันทรงเกียรติขึ้นมา เพื่อเร้าให้เกิดความรู้สึกว่าราชสำนักเปรียบประดุจกับสมาคมอันทรงเกียรติของผู้ที่ซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อเจ้าเหนือหัว

ตัวอย่างเช่น ในมณฑลพระนครที่จอมกษัตริย์ได้สร้างตำแหน่งพิเศษและความคาดหวังเกี่ยวกับผลประโยชน์ในอนาคตเพื่อที่จะดึงดูดให้บรรดาผู้นำทั้งหลายเข้ามาอยู่เคียงข้างกับพระองค์ หรือการก่อสร้างหมู่พระตำหนักอันงดงาม พร้อมข้าทาสบริวารและนางระบำรำฟ้อนจำนวนมาก เพื่อเอาใจลูกหลานของเจ้าประเทศราชที่ถูกส่งเข้ามาเป็นนางสนมหรือข้าราชบริพารขององค์พระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเห็นได้ชัดในราชสำนักหงสาวดีหรือราชสำนักคองบองของกษัตริย์พม่า

นอกจากนั้น เออร์แรนด์ นักประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ ยังได้เสนอเพิ่มเติมว่ากษัตริย์ที่มีท่วงทำนองการใช้อำนาจอันชาญฉลาด ควรประกอบด้วยคุณสมบัติห้าประการ ได้แก่
1.ต้องมีการสร้างพันธมิตรที่เกิดจากการแต่งงาน (กับสตรีที่อยู่ในตระกูลของข้าราชการที่ทรงอิทธิพล)
2.การแสดงบารมีโดยการอุทิศทางศาสนา เช่น บูรณปฏิสังขรณ์และสร้างศาสนสถาน
3.สามารถตรวจสอบและได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับการต่อต้านและการร้องทุกข์หรือการแสดงความคับข้องใจของข้าราชบริพารและประชาชน
4.สามารถเรียกเก็บบรรณาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ
5.สามารถสร้างความโอ่อ่าอลังการภูมิฐานของเมืองหลวงอันเป็นที่ประทับโดยอุปกรณ์ทั้งหลายเหล่านี้คือพลังขับเคลื่อนที่จะทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชอำนาจอันแข็งแกร่งและโบกสะบัดไปทั่วเขตพระราชมณฑล

จากการสอบทานโครงร่างทางประวัติศาสตร์ ทำให้พอมองเห็นภาพการใช้อำนาจของกษัตริย์อันสัมพันธ์กับวงจรของมณฑลซึ่งมีทั้งการขยายตัวและการหดตัวสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามแต่สถานการณ์และทักษะการใช้อำนาจขององค์พระราชา โดยอาจกล่าวได้ว่า การเติบโตของเขตมณฑลถือเป็นผลสืบเนื่องจากการจัดวางยุทธศาสตร์และการปรับแต่งยุทธศิลป์ทางการปกครองของเจ้าเหนือหัว ซึ่งถือเป็นชนชั้นนำแห่งอำนาจในระบบการเมืองโบราณ แต่อย่างไรก็ตาม แบบแผนของมณฑลได้ถูกทลายจนค่อยๆ หดตัวลงไป เมื่อลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกประสบความสำเร็จในการขยายแสนยานุภาพเข้าปกคลุมเอเชียอาคเนย์ และทำการโค่นล้มหรือลดทอนอำนาจของเจ้าเหนือหัว จนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบแผนทางการเมืองและสังคมในวงกว้าง

แต่กระนั้น มรดกตกทอดหรือธรรมชาติสุดคลาสสิกของมณฑล ก็อาจยังคงหลงเหลือคุณลักษณะบางอย่างที่พอใช้ในการวิเคราะห์วิถีการเมืองการปกครองในเอเชียอาคเนย์ได้บางมิติ อาทิ อัตราการรวมอำนาจ-กระจายอำนาจระหว่างเมืองหลวงกับจังหวัด หรือระหว่างเขตแกนกลางจังหวัดกับกลุ่มอำเภอบริวาร หรือในกรณีของรัฐสมัยใหม่ที่ยังคงหลงเหลือราชประเพณีแบบโบราณ ตลอดจนยังรักษาไว้ซึ่งระบอบกษัตริย์และราชบัลลังก์ โดยคงมิผิดนัก หากจะกล่าวว่า เจ้าเหนือหัวหรือคณะผู้ปกครองที่ศรัทธาต่อองค์พระราชาในรัฐนั้นๆ อาจจะมีวิสัยทัศน์หรือระบบความคิดทางบริหารรัฐกิจที่ได้รับอิทธิพลจากทฤษฏีการเมืองหรือทักษะการปกครองแบบมณฑลโบราณ ไม่มากก็น้อย

 


ดุลยภาค ปรีชารัชช
อุษาคเนย์ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

เอกสารประกอบการเรียงเรียง

เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช. ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงยุคโบราณจากมุมมองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ตำราเรียนวิชารัฐและสังคมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2553).

ดุลยภาค ปรีชารัชช. ชนชั้นนำและอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เอกสารประกอบการสอนวิชา อศ. 417 ชนชั้นนำและอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษาที่ 2/2555).

บังอร ปิยะพันธุ์. ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2537.

ไฮน์-เกลเดิร์น, รอเบิต. (2525, เมษายน-กันยายน). “แนวคิดเกี่ยวกับรัฐและสถาบันกษัตริย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”. แปลโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์. ใน สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 6(1):21.

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค