Skip to main content

 

 

แม้ว่าการแพร่ระบาดของลัทธิอาณานิคม (Colonialism) จะนำมาซึ่งฝันร้ายของชาวพื้นเมืองโดยเฉพาะการถูกกดขี่ทางชนชั้นและการถูกขูดรีดทางทรัพยากร หากแต่การสร้างความทันสมัยของเจ้าอาณานิคม กลับเสริมความแข็งแกร่งให้กับชนชั้นนำเอเชียอาคเนย์ในบางแง่มุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาแผนใหม่ที่ถือเป็นแหล่งผลิตชนชั้นนำแนวชาตินิยมจนกลายเป็นพลังโค่นล้มเจ้าอาณานิคมในเวลาต่อมา

สำหรับกรณีพม่านั้น มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ถือเป็นแหล่งบ่มเพาะปัญญาชนและนักต่อสู้ชาวพม่า โดยนักศึกษาคนสำคัญอย่างอองซานและอูนุ ล้วนมีบทบาทในการก่อตั้ง “สมาคมเราชาวพม่า” (Doh Bama Asi-ayone) และเรียกตัวเองหรือพรรคพวกว่า “ทะขิ่น” ที่แปลว่า “เจ้านาย” เพื่อเป็นการประชดประชันชนชั้นนำอังกฤษ ส่วนในกัมพูชา วิทยาลัยสีสวัสดิ์ ได้กลายเป็นแหล่งผลิตปัญญาชนชาตินิยมอย่าง เขน วันนาสัก ซึ่งมีโอกาสไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศสและสนใจในงานปรัชญาของรุสโซ ขณะที่สถาบันศึกษาพุทธธรรมในเขมร ก็ได้ผลิตผู้พิพากษาหนุ่มอย่าง ซันง็อก ทันห์ ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ นคราวัต

ในเวียดนาม นักศึกษาจากหลายสถาบันทั้งในฮานอยและไซ่ง่อน ล้วนมีบทบาทในการก่อตั้งขบวนการชาตินิยม หากแต่ในลาวนั้น ฝรั่งเศสกลับไม่ยอมพัฒนาระบบการศึกษาสมัยใหม่ และไม่มีแม้กระทั่งโรงเรียนมัธยม ดังนั้นปัญญาชนชาตินิยมอย่าง ไกรสร พรหมวิหาร จึงต้องไปศึกษาวิชากฎหมายที่ฮานอยและเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการเวียดมินห์ในระยะแรก

สำหรับในกรณีของอินโดนีเซีย วิทยาลัยเทคนิคบันดุง ถือเป็นแหล่งผลิตนักชาตินิยมและนักโวหารฝีปากกล้าอย่างซูการ์โน ส่วนในฟิลิปปินส์ มหาวิทยาลัยซานโต โทมัส ถือเป็นแหล่งการศึกษาชั้นนำที่ผลิตนักชาตินิยมที่เจนจัดช่ำชองในการต่อสู้ทางการเมืองหลากหลายรูปแบบ ขณะที่ในมลายู วิทยาลัยฝีกหัดครูสุลต่านอิดริส (Sultan Idris Teachers Training College) กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะชนชั้นนำและปัญญาชนชาตินิยมจำนวนมากซึ่งมีบทบาทในการเจรจาต่อรองเอกราชกับอังกฤษ

แม้กระทั่งในประเทศไทย ปัญญาชนรุ่นใหม่ที่ขึ้นมานำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็เติบโตมาจากโรงเรียนที่กษัตริย์ทรงสร้างขึ้นเพื่อฝึกหัดข้าราชการผ่านกระบวนการเกล่าเกลาทางความคิดที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาการเมืองตะวันตก และทั้งๆ ที่ฝ่ายกษัตริย์อาจทรงหวังว่าจะเป็นโรงเรียนสำหรับลูกหลานราชวงศ์ แต่กลับปรากฏว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์คือสามัญชนและชนชั้นกลาง ซึ่งท้ายที่สุด ได้แปลงสภาพเป็นชนชั้นนำรุ่นใหม่ที่มีบทบาทในการพัฒนาประชาธิปไตยและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมการเมืองไทย

ในช่วงกลางและปลายสมัยอาณานิคม เราอาจพบเห็นการเคลื่อนไหวของชนชั้นนำแนวชาตินิยมเป็นจำนวนมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จในการโค่นล้มอำนาจของผู้ปกครองต่างชาติ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นหน่ออ่อนๆ ของขบวนการปฏิวัติอันทรงฤทธานุภาพ รวมถึงช่วยบำรุงเลี้ยงให้กระบวนการสร้างรัฐสร้างชาติของชนชั้นนำพื้นเมือง เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างเด่นชัดและมีผลอย่างยิ่งต่อฉากทัศน์ทางการเมืองของเอเชียอาคเนย์ช่วงหลังได้รับเอกราช

ขณะเดียวกัน ชนชั้นนำพื้นเมือง ยังพยายามหาสูตรทางการเมือง (Political Formula) หรือผลิตเทคนิคการต่อสู้ที่มีความโดดเด่นแตกต่างกันออกไป เช่น ในฟิลิปปินส์ ขบวนการชาตินิยมถือว่ามีความก้าวหน้าและมีประวัติการต่อสู้อันโชกโชนกับอำนาจที่กดขี่ของสเปน โดยปรากฏทั้งผู้นำชนชั้นสูงและปัญญาชนอย่าง โอเซ่ ริซาล (Jose Rizal) นายแพทย์ผู้เคยคลุกคลีอยู่กับฝ่ายซ้ายในยุโรปและเจ้าของวรรณกรรมเรื่อง “Noli Me Tangere” (อันล่วงละเมิดไม่ได้) ซึ่งแสดงถึงการกดขี่ข่มเหงของสเปนที่กระทำต่อชาวฟิลิปปินส์ หรือผู้นำชนชั้นล่างและแกนนำสมาคมกาติปูนัน (Katipunan) อย่างอันเดยส์ บอนนี่ฟาซิโอ (Andres Bonifacio) ซึ่งเน้นหนักในการเรียกร้องเอกราชผ่านสงครามกองโจรและสงครามปฏิวัติ

ในอินโดนีเซียนั้น กลุ่มนักศึกษารุ่นใหม่ โดยการนำของซูการ์โนและอัตตา ได้ตั้งพรรคชาตินิยม (Partai National Indonesia) เพื่อต่อต้านการปกครองของฮอลันดา ซึ่งถึงแม้จะถูกฮอลันดาปราบปรามลง แต่ซูการ์โนก็ค่อยๆ รื้อฟื้นพละกำลังขึ้นมาใหม่จนสามารถต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น กระนั้นก็ตาม ในอินโดนีเซีย เราอาจพบเห็นการก่อตัวของชนชั้นนำคอมมิวนิสต์ที่ได้รับอิทธิพลจากการปฏิวัติรัสเซียช่วงปี ค.ศ.1917 รวมถึงการก่อตัวของชนชั้นนำทหารที่ได้รับการถ่ายทอดยุทธศาสตร์ผ่านระเบียบวินัยที่เข็มแข็งดุดันจากกองทัพญี่ปุ่น จนกลายเป็นกระดูกสันหลังในการต่อสู้ขับไล่เจ้าอาณานิคมฮอลันดา โดยไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของซูการ์โน กลุ่มคอมมิวนิสต์ และกองทัพ ล้วนถือเป็นกลุ่มการเมืองที่มีบทบาทโดดเด่นในการเรียกร้องเอกราชและกลายเป็นขั้วอำนาจสำคัญของระบบการเมืองอินโดนีเซียยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ในการสถาปนารัฐเวียดนาม โฮจิมินห์ ได้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมหนุ่มปฏิวัติชาวเวียดนาม หรือ Thanh Nien เพื่อปลุกเร้าความรักชาติในหมู่หนุ่มสาวโดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การโคมินเทอร์น ตลอดจนประสบความสำเร็จในการสร้างฐานมวลชนท่ามกลางการก่อกบฏของชาวนาและการนัดหยุดงานของกรรมกรเพื่อประท้วงการกดขี่ของฝรั่งเศส จนท้ายที่สุด ได้แปลงสภาพไปสู่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดจีน ซึ่งถือเป็นฐานปฏิวัติต่อต้านเจ้าอาณานิคมที่ทรงกำลังที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนั้น การเรียกร้องเอกราชผ่านสงครามปฏิวัติ ยังเป็นส่วนหนึ่งของคำอธิบายการก้าวขึ้นสู่อำนาจของสุดยอดชนชั้นนำทหารอย่างนายพลเกี๊ยบ ผู้ซึ่งสั่งสมประสบการณ์ทางการทหารอย่างช่ำชอง จนสามารถนำอัจฉริยภาพอันสูงส่ง มาสำแดงต่อหน้ากองทหารฝรั่งเศสในการยุทธ์อันลือเลื่องที่เดียนเบียนฟู

สำหรับการเมืองลาว ความน่าสนใจอยู่ตรงที่การปรากฏตัวของชนชั้นนำชาตินิยมที่หลากหลายทั้งในแง่ของสถานภาพและอุดมการณ์แห่งการต่อสู้ โดยมีทั้งชนชั้นสูงหัวอนุรักษ์นิยม อย่างเจ้าสุวรรณภูมา ชนชั้นสูงหัวก้าวหน้า อย่างเจ้าสุพานุวง หรือผู้นำที่มาจากสามัญชน อย่างไกรสร พรหมวิหาร และหนูฮัก พูมสะหวัน ส่วนในกรณีของกัมพูชานั้น แม้จะประกอบด้วยกลุ่มชาตินิยมที่หลากหลาย แต่ท้ายที่สุดแล้ว ความโดดเด่นในการเรียกร้องเอกราชกลับตกอยู่กับการเดินเกมการเมืองของพระราชาและผู้นำแบบจารีตประเพณีกึ่งก้าวหน้าอย่างสมเด็จเจ้านโรดมสีหนุ

สำหรับสังคมมลายู แม้ชนชั้นนำชาตินิยม จะมีองค์ประกอบอันหลากหลาย ทั้งกลุ่มที่ได้รับการศึกษาแบบอิสลาม อย่างนักศึกษามาเลย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยในไคโร และมุ่งเน้นไปที่กระบวนการปฏิรูปศาสนา กลุ่มหัวรุนแรงที่จัดตั้งขบวนการ Greater Malay ซึ่งได้รับอิทธิพลจากฝ่ายซ้ายในอินโดนีเซีย และกลุ่มชนชั้นปกครองเชื้อพระวงศ์ที่ได้รับการศึกษาตามแบบอังกฤษ รวมถึงกลุ่มนักชาตินิยมเชื้อสายจีนและอินเดีย หากแต่ในท้ายที่สุดแล้ว ความโดดเด่นกลับตกอยู่กับ ตนกู อับดุล ราห์มาน ผู้มีเชื้อสายตระกูลเก่าแก่และมีบทบาททางการเมืองอย่างแข็งขันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (ผ่านการดำเนินกิจกรรมทางการทูตอย่างจริงจังกับอังกฤษ)

ในกรณีของพม่านั้น ได้ปรากฏชนชั้นนำที่เป็นทั้งปัญญาชน นักชาตินิยม นักการทูต และนักการทหาร อย่างเช่นนายพล อองซาน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ อย่างไรก็ตาม พม่าถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการสะท้อนให้เห็นถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของพระสงฆ์ที่ออกมาเดินขบวนต่อต้านอังกฤษนับตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของยุคอาณานิคม ในขณะที่กองทัพพม่านั้น ล้วนมีชะตากรรมการถือกำเนิดที่คล้ายคลึงกับกองทัพอินโดนีเซียโดยได้รับอิทธิพลทางยุทธศาสตร์บางประการจากกองทัพญี่ปุ่น โดยกองทัพได้กลายเป็นกระดูกสันหลังของการสร้างรัฐสร้างชาติในประวัติศาสตร์พม่าสมัยใหม่ และจากเหตุการณ์ดังกล่าว ชนชั้นนำทหารพม่าจึงมักพยายามเรียกร้องความจงรักภักดีจากประชาชนผ่านการสร้างวาทกรรมว่าทหารเป็นทั้งบุตรของนายพลอองซาน ผู้เป็นบิดาเอกราชและบิดาแห่งกองทัพพม่า รวมถึงทหารคือสถาปนิกผู้สร้างรัฐและเป็นอัศวินผู้กล้าหาญที่นำเอกราชมาสู่ชาวพม่าอย่างแท้จริง

สำหรับประเทศไทย ประสบการณ์ที่รอดพ้นจากการถูกปกครองโดยตรงจากเจ้าอาณานิคม ได้ช่วยให้ดินแดนแห่งนี้ มีวิวัฒนาการการก่อเกิดชนชั้นนำที่มีแบบแผนเฉพาะตัว โดยความเปลี่ยนแปลงของวิถีโลกและอิทธิพลของแนวคิดประชาธิปไตยตะวันตกได้ทำให้สามัญชน (บางกลุ่ม) เริ่มตื่นตัวเกี่ยวกับการพัฒนาการเมือง จนก่อเกิดเป็นกลุ่มอำนาจใหม่ที่เคลื่อนไหวโยกคลอนอำนาจของพระราชาผ่านการปฏิวัติ 2475 และหลังจากกลุ่มอำนาจใหม่ประกาศสถาปนารูปแบบการปกครองใหม่ได้ไม่นาน ความรุนแรงของสงครามโลกครั้งที่สองก็ได้ถาโถมเข้าสู่สยาม จนทำให้สถานการณ์ช่วยเพิ่มความโดดเด่นให้กับชนชั้นนำทหารแนวชาตินิยมอย่างจอมพล ป.พิบูลสงคราม หรือชนชั้นนำปัญญาชนเอนซ้ายอย่างปรีดี พนมยงค์ ในขณะที่บทบาทกษัตริย์ในโลกราชาธิปไตยกลับจางหายไปจากฉากเวทีการเมือง หากแต่ได้ค่อยๆ ถูกบ่มเพาะฟื้นฟูพระราชอำนาจจนกลายเป็นสถาบันที่ทรงอิทธิพลต่อการเมืองไทยในเวลาต่อมา

จากข้อมูลที่นำแสดงมา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงปลายอาณานิคมและสงครามโลกครั้งที่สอง คือภูมิภาคที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองซึ่งเป็นการต่อสู้ต่อรองอิทธิพลระหว่างเครือข่ายอำนาจชนชั้นนำอันหลากหลาย ทั้งกลุ่มของเจ้าอาณานิคมยุโรป กลุ่มกองกำลังต่างชาติ และกลุ่มชาวพื้นเมืองชาตินิยม โดยท้ายที่สุดแล้ว เกมการต่อสู้ผสมผสานกับการประนีประนอมและการมอดดับของไฟสงคราม ได้ช่วยกระตุ้นให้ชาวพื้นเมืองที่ได้รับการติดอาวุธทางภูมิปัญญา (ผ่านกระบวนการกล่อมเกลาในสถาบันการศึกษาแผนใหม่) ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ปกครองบนเวทีการเมืองเอเชียอาคเนย์ซึ่งเต็มไปด้วยมุ้งการเมืองที่ถูกครอบงำโดยชนชั้นนำที่หลากหลาย ทั้งนักปฏิวัติ นักการเมือง นักการทหาร ปัญญาชน และพระราชา รวมถึงผู้นำที่มีคุณลักษณะทั้งแบบนักประชาธิปไตย นักสังคมนิยม นักชาตินิยม และนักอนุรักษ์นิยม

จนกล่าวได้ว่า การเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งระหว่างการศึกษา โครงข่ายอำนาจ วิถีชนชั้นนำและกระแสปฏิวัติชาตินิยม ได้ทำให้ภูมิทัศน์การเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เต็มไปด้วยฉากสีสันและศิลปะการครองอำนาจของชนชั้นนำอันน่าระทึกใจ!

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

หมายเหตุ: บทความนี้ตัดตอนและเรียบเรียงจากเอกสารประกอบการสอนวิชา อศ 417 ชนชั้นนำและอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขียนโดย ดุลยภาค ปรีชารัชช ภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2555 โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เอกสารอ้างอิงเพิ่มเติม

จอห์น แบสติน และ แฮรี่ เจ. เบ็นดา แปลโดย ชื่นจิตต์ อำไพพรรณ และ ภรณี กาญจนัษฐิติ บรรณาธิการโดย ไชยยุทธ ตรงกมลธรรม และ พัชรี สิโรรส. ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยใหม่ : ลัทธิอาณานิคม ลัทธิชาตินิยม และการสลายตัวของลัทธิอาณานิคม.กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2529.

นิโคลัส ทาร์ลิ่ง (มัทนา เกษกมล ผู้แปล). ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับเคมบริดจ์ (เล่ม 1-4), กรุงเทพ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว), 2552.

มิลตัน ออสบอร์น แปลโดย มัทนา เกษกมลและคณะ. เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สังเขปประวัติศาสตร์. เชียงใหม่, ซิลค์เวอร์มบุคส์, 2544.

ที่มาภาพประกอบ  www.asiapacificedcrossings.org

 

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค