Skip to main content

 

ราว 9 ปีมาแล้ว นับแต่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2005 ที่รัฐบาลพม่าประกาศย้ายเมืองหลวงจากกรุงย่างกุ้งมายังกรุงเนปิดอว์ ซึ่งว่ากันว่า ตำแหน่งภูมิศาสตร์ของเมืองหลวงใหม่ที่ตั้งอยู่ตรงย่านใจกลาง (Core) อาจส่งผลดีต่อการจัดวางยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ

ขณะเดียวกัน การถอยหลีกจากมหานครที่เต็มไปด้วยกลุ่มต่อต้านอำนาจรัฐบาลอย่างกรุงย่างกุ้ง แล้วหันมาวางผังเมืองใหม่ที่มีการแบ่งโซนบริหารอย่างเป็นระบบระเบียบ พร้อมการประดิษฐ์ปราการเหล็กเพื่อเตรียมตั้งรับการถูกรุกรานทางทะเลจากกองกำลังต่างชาติ โดยอาศัยภูมิประเทศแบบป่าเขาที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากชานกรุงเนปิดอว์เป็นฐานยุทธศาสตร์ในการป้องกันตีตอบโต้ข้าศึก ก็นับเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สัมพันธ์กับระบบคิดด้านความมั่นคงของกลุ่มผู้นำพม่า รวมถึงสอดรับกับมรดกประวัติศาสตร์ว่าด้วยเรื่องพม่าเสียเมือง

ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ เหตุการณ์เมื่อกองทัพอาณานิคมอังกฤษเข้ายึดหัวหาดย่างกุ้ง พร้อมส่งเรือรบล่องทวนกระแสน้ำอิระวดีเข้าจู่โจมราชธานีมัณฑะเลย์ (ของพระเจ้าสีป่อ) จนส่งผลให้ระบอบราชันพม่าต้องสิ้นสูญ ซึ่งก็ส่งผลให้เมืองหลวงใหม่พม่าตามมุมมองของอดีตผู้นำทหารอย่างพลเอกอาวุโสตานฉ่วย มิควรจะตั้งประชิดอยู่ติดลำน้ำใหญ่ที่เต็มไปด้วยเรือสัญจรต่างชาติอย่างแม่น้ำอิระวดีที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น "The Road to Mandalay"

ขณะเดียวกัน การโยกย้ายราชธานีของกษัตริย์พม่าในยุคราชวงศ์คองบอง เช่น จากอังวะมาอมรปุระ หรือจากอมรปุระมามัณฑะเลย์ ส่วนหนึ่งแล้ว ก็มักจะมาจากการปัดรังควานเพื่อสลัดหนีออกจากกลฉ้อฉลทางการเมืองของคู่ปฏิปักษ์ในเขตเมืองหลวงเก่า เพราะฉะนั้นเบื้องลึกเบื้องหลังของการตั้งกรุงเนปิดอว์ จึงอาจมีนัยสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ทหารและประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง ไม่มากก็น้อย

แต่กระนั้น เมื่อวันเวลาได้ผ่านเลยมาถึง 9 ปีเศษ เหตุผลเกี่ยวกับการย้ายเมืองหลวงเพื่อพัฒนาประเทศ กลับเริ่มได้รับการสานต่ออย่างแข็งขันจากรัฐบาลเต็งเส่งเพื่อฉายภาพอนาคตรัฐพม่าในสหัสวรรษใหม่ อาทิ การขยายเมืองบริวารในเขตหุบเขาสะโตงตอนบนอันเป็นที่ตั้งของกรุงเนปิดอว์ การพัฒนาสิ่งปลูกสร้างและห้างสรรพสินค้าตามโซนการค้าบางจุดภายในกรุงเนปิดอว์ หรือการสถาปนากรุงเนปิดอว์ให้เป็นเขตบริหารปกครองพิเศษ ที่เรียกกันว่า "Union Territory" ซึ่งถือเป็นตัวแบบที่น่าสนใจในมิติของการบริหารนครและการปกครองท้องถิ่น

นอกจากนั้น อนาคตรัฐพม่าที่เตรียมกระจายสัมพันธภาพเชิงอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางที่กรุงเนปิดอว์กับรัฐบาลประจำภูมิภาค (ที่ประกอบด้วย 14 หน่วยบริหารราชการแผ่นดินหลัก อย่างเช่น รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง ภาคมัณฑะเลย์ ภาคย่างกุ้ง ฯลฯ) ก็อาจทำให้รูปของรัฐพม่าเริ่มปรับโยกเข้าหากลิ่นอายการปกครองแบบสหพันธรัฐนิยม (Federalism) มากขึ้น ซึ่งเน้นไปที่ภารกิจการสร้างประเทศใหม่ท่ามกลางการดำรงอยู่ของอัตลักษณ์และผลประโยชน์ของเขตภูมิประชากรศาสตร์อันหลากหลาย

จนทำให้อดคิดต่อมิได้ว่า การสถาปนากรุงเนปิดอว์ที่ถูกออกแบบให้เชื่อมโยงกับเขตบริหารภูมิภาคอื่นๆ อย่างเหนียวแน่น จะทำให้เมืองหลวงใหม่พม่ากลายเป็นแกนกลางสถาปัตยกรรมการรวมประเทศที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีตมากน้อยเพียงไร โดยอาจพอนำไปเทียบเคียงกับภาพเมืองหลวงประเทศสหพันธรัฐนิยมอื่นๆ ในแอฟริกาหรือเอเชีย-แปซิฟิก เช่น การตั้งกรุงอาบูจาของรัฐบาลไนจีเรีย การสร้างกรุงแคนเบอราของออสเตรเลีย หรือการพัฒนากรุงนิวเดลี และอิสลามาบัดในอินเดียและปากีสถาน

ท้ายที่สุด กล่าวได้ว่า 9 ปีที่ผ่านมา รัฐพม่าได้ฉายภาพวิวัฒนาการทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ค่อนข้างน่าประทับใจ จาก "พม่าเสียเมือง" สู่ "พม่าสร้างเมือง" โดยการปั้นราชธานีใหม่ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า "พม่าโฉมใหม่" ใต้เงา "ตานฉ่วย-เต็งเส่งนฤมิตร" อาจกำลังค่อยๆ แปลงสภาพเป็นรัฐที่มีความเข้มแข็งและความเจริญรุ่งเรือง เฉกเช่นจักรวรรดิพม่ายุคทองช่วงก่อนเสียเมืองให้อังกฤษ ที่พม่าเคยดำรงตำแหน่งเป็นมหาอำนาจบนภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค