โครงสร้างรัฐยุคหลังเอกราชกับการสยายปีกของชนชั้นนำเอเชียอาคเนย์

 

 

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคหลังเอกราชจนถึงช่วงปลายสงครามเย็น จัดเป็นเขตภูมิศาสตร์การเมืองที่เร่งเร้าบีบบังคับให้บรรดาชนชั้นนำต่างปรับตัวตามสภาพแวดล้อมพื้นฐานซึ่งมักจะผันแปรไปตามลักษณะโครงสร้างอำนาจรัฐ อาทิ การออกแบบรูปของรัฐเพื่อรองรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ หรือการปฏิวัติเพื่อตีทลายระเบียบการเมืองเก่าแล้วหันมาสถาปนาอุดมการณ์ใหม่ซึ่งมีผลอย่างยิ่งยวดต่อการเปลี่ยนแปลงของรัฐและสังคม

สำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ผ่านแนววิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบ (Comparative Politics) อาจสามารถพรรณนารายละเอียดหรือจำแนกประเภทโครงสร้างรัฐได้หลายรูปแบบ

ในกรณีของรัฐอินโดจีนอย่างเวียดนาม การแข่งขันทางการเมืองโลกระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ได้ทำให้ดินแดนแห่งนี้ถูกตัดแบ่งสะบั้นออกเป็น “รัฐเวียดนามเหนือ” กับ “รัฐเวียดนามใต้”

ในรัฐทางเหนือ อำนาจการปกครองสูงสุดถูกผูกขาดโดยพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีทั้งการกระจายอำนาจเพื่อครอบครองมวลชนในเขตชนบทโดยมีหมู่บ้านเป็นหน่วยการเมืองพื้นฐาน หรือการที่พรรคเป็นทั้งองค์กรจัดตั้งรัฐบาลในการบริหารประเทศและเป็นทั้งผู้ทรงอิทธิพลในการสรรหาแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพ

ส่วนในแง่ของชนชั้นนำ การปฏิวัติส่งแรงกระทบถึงโครงสร้างการเมืองจนทำให้นักชาตินิยมและนักปฏิวัติผู้ช่ำชองอย่างโฮจิมินห์กลายเป็นวีรบุรุษผู้ทรงอิทธิพลต่อกระบวนการสร้างชาติ กระนั้น การครองอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำอื่นๆ ที่มาจากพรรคคอมมิวนิสต์และกองทัพ ได้ทำให้การบริหารบ้านเมืองเป็นอันมากต้องกระทำผ่านการต่อรองผลประโยชน์ภายในคณะกรรมาธิการต่างๆ

ในกรณีของรัฐทางใต้ แม้การลงจากอำนาจของจักรพรรดิเบาได๋ จะนำมาซึ่งจุดจบของโลกราชาธิปไตยในเวียดนาม หากแต่การเรืองอำนาจของโง ดินห์ เดียม ได้เผยให้เห็นถึงการสยายปีกของลัทธิอัตตาธิปไตยที่ได้รับการโอบอุ้มจากสหรัฐอเมริกา จนอาจกล่าวได้ว่า การทำสงครามของสหรัฐโดยมีเวียดนามใต้เป็นฐานยุทธศาสตร์ ได้ทำให้ดินแดนแห่งนี้ กลายเป็นรัฐที่ตกอยู่ใต้ระบอบคณาธิปไตยทหารมาอย่างต่อเนื่อง ดังเห็นได้จากการเถลิงอำนาจของเหล่าชนชั้นนำในไซ่ง่อนหลังการถึงแก่อสัญกรรมของโง ดินห์ เดียม ซึ่งล้วนเต็มไปด้วยนักการทหารผู้ฝักใฝ่สหรัฐอเมริกา อย่าง เดือง เหงียน คานห์ และเหงียน วัน เทียว

ในกรณีของลาว โครงสร้างอำนาจเก่าในยุคก่อนอาณานิคมซึ่งเต็มไปด้วยการแตกกระจายของศูนย์อำนาจแยกย่อย บวกกับปฏิสัมพันธ์ที่มีต่ออิทธิพลต่างชาติอย่างไทย เวียดนาม ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต ได้ช่วยขัดแต่งให้ภูมิทัศน์การเมืองลาวเต็มไปด้วยความซับซ้อน หากแต่ก็มีเอกลักษณ์อย่างน่าประหลาดใจ โดยเป็นที่แน่นอนว่า ชนชั้นสูงชาวลาวส่วนใหญ่มักเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลเจ้าอันเก่าแก่และข้าราชสำนักจำปาศักดิ์ เวียงจันทน์ เชียงของ และหลวงพระบาง และหลังจากได้รับเอกราชแล้ว กลุ่มอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้ก็ได้ครอบครองตำแหน่งสำคัญๆ ในคณะรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม สงครามกลางเมืองอันเกิดจากการแย่งชิงอำนาจของชนชั้นนำและการแทรกแซงจากกองกำลังต่างชาติในช่วงสงครามเย็น ได้ส่งผลให้เกิดการก่อตัวของผู้นำคนอื่นๆ ที่มีพื้นเพมาจากสามัญชน โดยเฉพาะไกรสร พรหมวิหาร แกนนำขบวนการปะเทดลาว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามเหนือและสหภาพโซเวียต จนท้ายที่สุด การขับเคี่ยวแย่งชิงอิทธิพลระหว่างมุ้งการเมืองต่างๆ ได้ปิดฉากลงในปี ค.ศ.1975 เมื่อชนชั้นนำจากขบวนการคอมมิวนิสต์ประเทดลาว สามารถยึดอำนาจ พร้อมสถาปนา “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” และเข้าปกครองสาธารณรัฐแห่งนี้อย่างสมบูรณ์

ในกัมพูชา เจ้านโรดมสีหนุทรงตระหนักว่า เมื่อมีเอกราชแล้ว จำเป็นที่ต้องมีโครงสร้างการเมืองใหม่ โดยต้องเป็นโครงสร้างที่สามารถธำรงรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ พร้อมเปิดช่องให้มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อทำให้กษัตริย์สามารถเชื่อมประสานกับประชาชนได้แนบสนิท ผลที่ตามมา คือ การประกาศสละราชสมบัติของเจ้าสีหนุในปี ค.ศ.1955 เพื่อสร้างความมั่นใจว่าพระองค์จะสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเมืองผ่านการจัดตั้งพรรค “สังคมราษฏร์นิยม” เพื่อเป็นสะพานให้พระองค์เข้าไปสัมผัสกับมวลชนผ่านวิถีการเมืองภาคสนามอย่างแท้จริง

กระนั้น การแทรกแซงจากมหาอำนาจเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในกัมพูชา กลับส่งผลให้การดำเนินนโยบายทางการเมืองและการต่างประเทศของกษัตริย์สีหนุต้องสะดุดหยุดลงเป็นห้วงๆ พร้อมเปิดโอกาสให้เหล่าบรรดาผู้นำที่มีพื้นเพมาจากสามัญชน ก้าวทะยานขึ้นสู่ตำแหน่งชนชั้นนำแห่งอำนาจ ดังกรณีของนายพลลอนนอลที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาในการทำปฏิวัติโค่นล้มอำนาจเจ้าสีหนุ หรือกรณีของพอลพตที่ประสบความสำเร็จในการสถาปนาระบอบเขมรแดง

ในอินโดนีเซีย การปฏิวัติปลดปล่อยเอกราชจากฮอลันดา ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้คณะผู้ปกครองสามารถใช้พลังชาตินิยมเพื่อรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางได้พอสมควร หากแต่การแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มซูการ์โน กลุ่มคอมมิวนิสต์ และกองทัพ บวกกับสภาพรัฐหมู่เกาะที่เต็มไปด้วยการกระจัดกระจายของขั้วอำนาจ ได้ช่วยกระตุ้นให้ประธานาธิบดีซูการ์โนพยายามผลิตสูตรการเมืองเพื่อกระชับอำนาจทางการปกครอง ผลที่ตามมา คือ การนำระบอบประชาธิปไตยแบบชี้นำ (Guided Democracy) เข้ามาใช้เป็นแกนกลางในการบริหารประเทศ โดยเน้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง ในลักษณะของบิดาปกครองบุตร และการเก็บรวบสถาบันการเมืองต่างๆ เช่น รัฐสภาและรัฐบาล เข้าไว้ใต้อาณัติของประธานาธิบดีและพวกพ้องวงศ์วาน

อย่างไรก็ตาม ความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อระบอบชี้นำของซูการ์โน และลางบอกเหตุอันเกิดจากการเกาะเกี่ยวผลประโยชน์ที่มากเกินไประหว่างซูการ์โนกับแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดนีเซีย ได้เร่งเร้าให้กองทัพภายใต้การนำของนายพลซูฮาร์โต ถือโอกาสทำรัฐประหารปลดซูการ์โนออกจากตำแหน่ง พร้อมกับปราบคอมมิวนิสต์อย่างถอนรากถอนโคน จนทำให้การเถลิงอำนาจของซูฮาร์โตช่วยเบิกยุคใหม่ให้กับประวัติศาสตร์อินโดนีเซียโดยมีกองทัพเป็นผู้ทรงบทบาทในการป้องกันและพัฒนาประเทศ

ส่วนการเคลื่อนทัพเข้าผนวกติมอร์ตะวันออก แม้จะทำให้ซูฮาร์โตมีอำนาจอย่างล้นพ้นในการแย่งชิงอดีตอาณานิคมโปรตุเกสแห่งนี้ แต่ความทารุณโหดร้ายที่มีต่อชาวติมอร์ ได้ช่วยหล่อหลอมให้เกิดชนชั้นนำปฏิวัติอย่าง ซานานา กุสเมา และโอเซ่ รามอส ฮอตา ซึ่งในเวลาต่อมา ได้แปลงสภาพเป็นวีรบุรุษกู้ชาติที่ปลดแอกติมอร์ตะวันออกจากอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ

สำหรับในกรณีมลายู เราอาจวิเคราะห์ได้ว่า หน่วยการปกครองที่เชื่อมต่อกันหลวมๆ ในสมัยอาณานิคม ซึ่งได้แก่ อาณานิคมย่านช่องแคบ หรือ Straits Settlements (ปีนัง มะละกา ลาบวน สิงคโปร์ กับเกาะเล็กเกาะน้อยอีกจำนวนหนึ่ง) รัฐมลายูภายในสหพันธรัฐ เช่น ปะหัง เประ สลังงอ และรัฐมลายูภายนอกสหพันธรัฐ เช่น เคดาห์ กลันตัน รวมถึงซาราวัก ซาบาห์และบรูไน ได้ถูกนำมาหล่อหลอมเข้าเป็นโครงสร้างการเมืองใหม่ช่วงหลังเอกราช เพื่อก่อตั้งเป็นสหพันธรัฐมาเลเซียโดยมีลัทธิชาตินิยมมลายู และการประสานประโยชน์ระหว่างหน่วยการเมืองต่างๆ เป็นแกนกลางสำหรับการสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับประเทศ

อย่างไรก็ตาม ลักษณะพหุสังคมและโครงสร้างชาติพันธุ์ที่หลากหลาย กลับเป็นสิ่งท้าทายต่อการผลิตสูตรการเมืองของชนชั้นนำเพื่อสร้างความปรองดองแห่งชาติ ดังเห็นได้จากการผลิตอุดมการณ์ของ ตนกู อับดุล ราซัค ที่เน้นหลักการสามประการ คือ เชื่อถือในพระเจ้า จงรักภักดีต่อชาติต่อกษัตริย์ และยอมรับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว สูตรนี้กลับได้รับการต่อต้านจากชาวจีนและอินเดียที่มองว่าเป็นการเรียกร้องความภักดีต่อศาสนาอิสลามและองค์สุลต่านมลายู ที่มากจนเกินไป

กระนั้น วิวัฒนาการของสูตรการเมืองก็เคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยการตั้งพรรคการเมืองเพื่อเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของเหล่าพหุเชื้อชาติ ได้ช่วยให้เกิดการรวมตัวของแนวร่วมพันธมิตร อันประกอบด้วยพรรคของชาวจีน ชาวอินเดีย และชาวมลายู ซึ่งถึงแม้ว่าพรรคอัมโนของมลายูจะครองบทบาทนำในการเมืองระดับชาติ แต่ก็ถือเป็นการเปิดพื้นที่ต่อรองให้กับชนเชื้อชาติอื่นได้พอสมควร

แต่ท้ายที่สุด ปัญหาอีกประการที่บั่นทอนเสถียรภาพทางการเมืองของมาเลเซียได้ปะทุขึ้นอย่างรุนแรง นั่นก็คือ ความพยายามของสิงคโปร์และบรูไนในการแยกตัวออกจากสหพันธรัฐมาเลเซีย โดยความกังวลใจเกี่ยวกับการถ่ายเทความมั่งคั่งของสิงคโปร์และบรูไนไปสู่พื้นที่ส่วนกลางของมาเลเซียที่มากเกินไป พร้อมกับความขัดแย้งทางการเมืองบางประการระหว่างชาวมลายูกับชาวจีนสิงคโปร์ หรือสัมปทานทับซ้อนเพื่อครอบครองบ่อน้ำมันในบรูไน ได้ช่วยเร่งเร้าให้ชนชั้นนำที่ได้รับการศึกษาจากอังกฤษ อย่างลีกวนยู และกษัตริย์ที่เป็นทั้งนักธุรกิจและนักการทหารอย่างองค์สุลต่านบรูไน ตัดสินใจเคลื่อนไหวแยกตัวออกจากมาเลเซีย และประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการผลิตรัฐเอกราชขึ้นอีกสองรัฐในเอเชียอาคเนย์ภาคพื้นสมุทร

สำหรับในพม่า นายพลอองซาน วีรบุรุษผู้เรียกร้องเอกราช ได้วางวิสัยทัศน์ว่าพม่าจะเป็นสังคมแบบพหุภาพ โดยโครงสร้างการเมืองที่แตกต่างกัน จะดำรงอยู่ร่วมกันได้สันติ และหากเราย้อนกลับไปดูรากฐานของเอกราชพม่า เราย่อมตระหนักรับรู้ว่าเอกราชพม่าถือกำเนิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างชนชั้นนำชาวพม่ากับชนชั้นนำกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะพวกไทใหญ่ ฉิ่น และคะฉิ่น ซึ่งได้ร่วมลงนามกันในข้อตกลงปางหลวง

ซึ่งว่ากันว่า นายพล อองซาน ได้พยายามหาสูตรการเมืองเพื่อให้เหล่าพหุชนชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้ในรูปพหุรัฐ โดยที่ชนชั้นนำพม่ายังคงกุมกลไกการปกครองสืบต่อไป หากแต่ต้องผ่อนอำนาจเพื่อประกาศจัดตั้งเขตปกครองตนเอง หรือมอบสิทธิบริหารพิเศษให้กับกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อรักษาอัตลักษณ์และกำหนดชะตาชีวิตในการพัฒนาเผ่าชน แต่อย่างไรก็ตาม นายพลอองซาน กลับถูกลอบสังหารอย่างฉับพลัน และส่งผลให้อูนุ ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหภาพพม่า

กระนั้น สถานการณ์กลับเลวร้ายลง อันเป็นผลจากความลังเลใจของอูนุที่จะมอบสิทธิพิเศษให้กับชนชาติบางกลุ่ม ผสมผสานกับความล้มเหลวของรัฐบาลพลเรือนในการพัฒนาสังคม ผลที่ตามมา คือความโกลาหลและสงครามกลางเมืองระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กับกองกำลังรัฐบาล ซึ่งท้ายที่สุด ความรุนแรงที่ยืดเยื้อได้เบิกทางให้นายพลเนวิน ผู้บัญชาการทหารบก ทำการปฏิวัติโค่นล้มอำนาจอูนุ และสถาปนาระบอบทหารขึ้นปกครองประเทศ พร้อมออกแบบให้พม่ามีโครงสร้างแบบเอกรัฐ ซึ่งถือเป็นการปฏิเสธสิทธิการแยกตัวหรือรูปการปกครองแบบสหพันธรัฐอย่างสิ้นเชิง

กล่าวได้ว่า การครองอำนาจของนายพลเนวิน ได้ทำให้ดินแดนแห่งนี้ ตกอยู่ใต้เผด็จการอำนาจนิยมที่ถือศักดาในการใช้ความรุนแรงเพื่ออำพรางการดำรงอยู่ของพหุสังคม โดยแรงบีบคั้นทางการเมือง ได้ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของขุนศึกชายแดนที่จับอาวุธขึ้นต่อสู้กับกองทัพรัฐบาลพม่ามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 จนดูเหมือนว่า พม่าจะยังคงอยู่ในกระบวนการสร้างรัฐสร้างชาติที่อาจต้องดำเนินต่อไป ควบคู่กับสภาวะตีบตันในการหาสูตรทางการเมืองเพื่อปรับสมดุลระหว่างแนวทางเอกรัฐนิยม (รัฐเดี่ยว) กับพหุรัฐ/สหพันธรัฐนิยม (รัฐรวม) ซึ่งถือเป็นปัญหาทางการปกครองที่ท้าทายความสามารถของผู้นำพม่า มาจนถึงปัจจุบัน

ในกรณีของรัฐเอกราชฟิลิปปินส์ ลักษณะเฉพาะอยู่ตรงที่การต่อสู้ทางการเมืองอย่างต่อเนื่องระหว่างชนชั้นสูงต่างตระกูล ซึ่งต่างมีตัวแทนอยู่ในพรรคการเมืองที่ควบคุมคะแนนเสียงจากหมู่บ้านผ่านระบบอุปถัมภ์ รวมถึงการผงาดขึ้นมาของชนชั้นนำแห่งคริสตจักรคาทอลิกซึ่งทำให้เหล่าบาทหลวงสามารถเก็บเกี่ยวความมั่งคั่งจากพลังศรัทธาประชาชนและมีบทบาทในการต่อรองประสานประโยชน์กับนักการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

นอกจากนั้น พื้นฐานประชาธิปไตยและวัฒนธรรมการเมืองแบบตะวันตกที่ถูกปูพื้นโดยสหรัฐอเมริกา ผสมผสานกับรากฐานการเมืองแบบจารีตที่อิงแอบอยู่กับระบบอุปถัมภ์และเครือข่ายพวกพ้องวงศ์วาน ได้ทำให้รัฐเอกราชแห่งนี้ เต็มไปด้วยการพัฒนาประชาธิปไตยที่เดินทางคู่ขนานไปกับการทุจริตคอรัปชั่นของเหล่าผู้นำ ประกอบกับต้นกำเนิดของตระกูลผู้นำที่มักจัดโครงสร้างตามลำดับชั้นและมีวัฒนธรรมเกื้อหนุนพรรคพวกเดียวกัน ก็ได้ทำให้แผงการเมืองของฟิลิปปินส์ตกอยู่ใต้อาณัติของเหล่าชนชั้นนำ โดยเฉพาะ การแผ่อิทธิพลของทายาทตระกูลโลเปซ ตระกูลอาควิโน-โคจองโก ตระกูลออสมีนา และตระกูลโรมูอัลเดช

แต่ขณะเดียวกัน ความหลากหลายของสังคมฟิลิปปินส์ กลับส่งผลให้เกิดการผลิตชนชั้นนำที่มีคุณลักษณะพิเศษหลากหลายแง่มุม เช่น รามอน แมกไซไซ ผู้สมัครประธานาธิบดีคนแรกที่ใช้วิธีเข้าไปเก็บคะแนนเสียงจากประชาชนในระดับรากหญ้า และเคยเป็นถึงอดีตรัฐมนตรีกลาโหมผู้มีความสามารถในการปราบปรามคอมมิวนิสต์และกวาดล้างข้าราชการที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือ การเถลิงอำนาจของเฟอร์ดินาน มาร์กอส ที่มีชื่อเสียงในฐานะจอมเผด็จการผู้ปกครองรัฐผ่านกฎอัยการศึก และเต็มไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่อีกแง่มุมหนึ่ง มาร์กอส ก็เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชาวฟิลิปปินส์โดยเฉพาะความเป็นอัจฉริยะทางด้านกฎหมายและความกล้าหาญจากการเป็นอดีตนายทหารผู้เคยสัประยุทธ์กับกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งภาพทวิลักษณ์ดังกล่าว ได้ส่งผลให้มาร์กอสเป็นได้ทั้งวีรบุรุษและทรราช ในสายตาของคนฟิลิปปินส์

สำหรับประเทศไทย กษัตริย์ได้ถูกแทนที่ด้วยระบบราชการซึ่งประกอบด้วยทหารและพลเรือนที่มีความทะยานใฝ่สูงทางการเมือง โดยการขยายอำนาจของบุคคลเหล่านี้ ได้ช่วยผลิตชนชั้นนำที่เป็นทหารนักชาตินิยมอย่างจอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้ถือตนเองเป็นสถาปนิกผู้สร้างชาติภายใต้แรงบีบคั้นทางยุทธศาสตร์ของสงครามโลกครั้งที่สอง

ทว่า สิ่งที่น่าสนใจตลอดช่วงสมัยของจอมพล ป. คือการลดความโดดเด่นของสถาบันกษัตริย์ในทางการเมือง พร้อมกับการขยายอำนาจโดยดึงเอาตำรวจและทหารบกเข้าเป็นองค์ประกอบของพลังทางการเมืองภายใต้การนำของกลุ่มซอยราชครู (นำโดยพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์) และกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ (นำโดยนายพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อจอมพลสฤษดิ์ทำการปฏิวัติโค่นล้มอำนาจจอมพล ป. และกวาดล้างกองกำลังของเผ่าจนสิ้นซาก

การเรืองอำนาจของสฤษดิ์ได้ทำให้เกิดการผลิตนวัตกรรมทางการเมืองเพื่อสร้างลัทธิของชนชั้นปกครอง โดยเขาเชื่อว่าโครงสร้างการเมืองควรประกอบด้วยรัฐบาล ระบบราชการ และประชาชน ซึ่งต้องมีลำดับการปกครองที่ลดหลั่นกันลงมาโดยมีรัฐบาลเป็นศูนย์รวมและเป็นที่สิงสถิตของชนชั้นนำแห่งอำนาจ นอกจากนั้น สฤษดิ์ยังได้นำเอากลิ่นอายแบบไทยๆ มาเสริมแต่งทฤษฎีการปกครองเพื่อให้มีความเรียบง่าย หากแต่แฝงไปด้วยอำนาจอันทรงอานุภาพ โดยเฉพาะ การให้ความสำคัญกับพระเดชพระคุณเพื่อฉายภาพให้ชนชั้นนำมีทั้งคุณลักษณะของการเป็นผู้ลงโทษและผู้อุปถัมภ์ประชาชนในเวลาเดียวกัน หรือการรื้อฟื้นประเพณีราชสำนักแบบสยามโบราณ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลและฟื้นฟูความศักดิ์สิทธิ์ให้กับกษัตริย์ซึ่งถือเป็นพันธมิตรทางการเมืองในมุมมองของสฤษดิ์

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงหลังได้รับเอกราช คือ ภูมิภาคที่อยู่ในกระบวนการสร้างรัฐสร้างชาติให้เข้มแข็งอันเกิดจากการถาโถมของปัญหานานาประการ อาทิ โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่เปราะบาง การเรียกร้องสิทธิทางการเมืองของชนเชื้อชาติต่างๆ หรือการแทรกแซงจากมหาอำนาจทางการเมืองโลก ซึ่งเหตุปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลให้ชนชั้นนำกระทำการประดิษฐ์ชุดนโยบายหรือยุทธวิธีการปกครองที่มักผันแปรไปตามโครงสร้างอำนาจรัฐที่หลากหลาย อาทิ โครงสร้างแบบปฏิวัติในเวียดนามเหนือและอินโดนีเซียยุคซูการ์โน โครงสร้างแบบพหุภาพในมาเลเซียและพม่าช่วงสมัยนายพลอองซานและอูนุ หรือโครงสร้างของรัฐบาลที่ใช้อำนาจแบบเต็มพิกัด (Maximum Government) ในฟิลิปปินส์สมัยมาร์กอส อินโดนีเซียสมัยซูฮาร์โต หรือไทยสมัยสฤษดิ์และพม่าสมัยเนวิน

ขณะเดียวกัน เราอาจพบเห็นชนชั้นนำที่มาจากหลายแวดวงและมีคุณลักษณะเฉพาะตัว เช่น กษัตริย์ที่ลงมาสัมผัสการเมืองภาคสนามแบบเต็มตัวอย่างเจ้านโรดมสีหนุ นักชาตินิยมและนักการเมืองฝีปากกล้าอย่างซูการ์โน หรือผู้นำทหารที่เป็นนักประยุกต์นิยมทางการเมืองอย่างจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งนับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองอุษาคเนย์ อย่างไรก็ตาม การเล่นเกมการเมืองของชนชั้นนำที่ยาวนาน บวกกับความเปลี่ยนแปลงของรัฐและสังคมที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ได้ทำให้รัฐต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์ ตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกระหว่างการก้าวไปข้างหน้าเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสังคมกับการถอยกลับไปข้างหลังเพื่อฟื้นฟูความบอบช้ำจากการประหัตประหารทางการเมือง

ปรากฏการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้รัฐเอเชียอาคเนย์ต้องเผชิญกับชะตาชีวิตที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ความสำเร็จในการรวมชาติของเวียดนาม การพยายามต่อรองอำนาจของพันธมิตรพหุเชื้อชาติในมาเลเซีย วังวนแห่งความโกลาหลทางการเมืองในกัมพูชา และการพังทลายของรัฐบาลที่ใช้อำนาจแบบเต็มพิกัดในไทย พม่า อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งสะท้อนถึงความน่าสะพรึงกลัวของพลังประชาชน ที่มีศักยภาพในการเขย่าและบีบคั้นชนชั้นนำให้ตกลงจากอำนาจอย่างหมดรูป

 


ดุลยภาค ปรีชารัชช
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์/
ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ (การเมืองเปรียบเทียบ)
The University of Hong Kong


เอกสารประกอบการเรียบเรียง

ดุลยภาค ปรีชารัชช. เอกสารประกอบการสอนวิชา อศ 417 ชนชั้นนำและอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. ภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2555 โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะ ศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ชูศักดิ์ เที่ยงตรง. การเมืองและการบริหารของประเทศในกลุ่มอาเซี่ยน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2522.

หย่ง มุน ฉง. “โครงสร้างทางการเมืองของรัฐเอกราช” ใน นิโคลาส ทาร์ลิ่ง (บรรณาธิการ). ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับเคมบริดจ์ เล่มสี่ จากสงครามโลกครั้งที่สองถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2552.

หมายเหตุ: สำหรับตารางการเมืองเปรียบเทียบ ผู้อ่านอาจเข้าถึงวิธีการวิเคราะห์เชิงลึก เช่น ขนาดของสัญลักษณ์เครื่องหมายถูก จะแสดงคะแนนค่าน้ำหนักของเหตุปัจจัยต่างๆ เช่น ในรัฐพม่าหรือมาเลเซีย ที่มีปัญหาอย่างหนักหน่วงเกี่ยวกับความซับซ้อนของหน่วยการเมืองและชาติพันธุ์ (จึงถูกใส่ด้วยเครื่องหมายขนาดใหญ่) ส่วนเรื่องรูปแบบโครงสร้างรัฐ อาจตรวจตารางในแนวดิ่งแล้วใส่ค่าสรุปเกี่ยวกับประเภทโครงสร้าง เช่น รัฐไทยที่มีค่าอิทธิพลของสถาบันและวัฒนธรรมเก่าในระดับสูงมาก พร้อมมีค่าของบางปัจจัยในอัตราส่วนที่ค่อนข้างสูง จึงได้ผลลัพท์เป็นโครงสร้างรัฐเผด็จการอำนาจนิยม หรือ โครงสร้างที่รัฐบาลมักใช้อำนาจอย่างเต็มพิกัดในหลายช่วงสมัย