ทำไมราชวงศ์คองบองยุคต้นถึงเปี่ยมไปด้วยแสนยานุภาพทางทหาร

 

ผมเคยคิดสงสัยอยู่นานว่า ทำไมรัฐจารีตคองบองของพม่า ซึ่งมีพระเจ้าอลองพญาเป็นต้นวงศ์ และมีพระเจ้ามังระเป็นผู้พิชิตอยุธยา จึงมีความแข็งแกร่งทางทหารจนสามารถเปิดแนวรบได้กว้างไกลและครอบคลุมดินแดนส่วนใหญ่ในอุษาคเนย์พื้นทวีป

แน่นอน บทวิเคราะห์คงต้องมีการใส่ตัวแปรและเหตุปัจจัยนานาประการลงไป ทั้งเรื่องของยุทธศาสตร์ยุทธวิธีทางการทหาร หรือ เรื่องของสิ่งแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของรัฐคู่สงคราม

แต่ถึงอย่างนั้น ตัวแปรทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะการวัดขนาดที่ราบ แปลงเพาะปลูกทางการเกษตร หรือดุลประชากรในเขตพื้นที่ต่างๆ ย่อมมีผลต่อสมรรถนะทางการรบของรัฐมหาอำนาจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

จากเทคนิคการวิเคราะห์เช่นนี้ หากเรานำรัฐราชวงศ์คองบองของพม่า มาเป็นคู่เทียบกับรัฐราชวงศ์บ้านพลูหลวงของสยาม อาจพอเห็นความแตกต่างอยู่บ้างในเรื่องของฐานทรัพยากรและร่างกายทางภูมิศาสตร์

โดยหากรุกไปที่แผนที่กลุ่มเมืองโบราณในเขตลุ่มน้ำต่างๆ ของรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พื้นทวีป พร้อมขีดเส้นหาแนวแดนแกน (Core) หรือจุดภูมิศาสตร์จารีตที่สำคัญอื่นๆ เราอาจค้นพบได้ถึงขอบข่ายทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ค่อนข้างต่างกันระหว่างคองบองกับอยุธยา

ในแง่การขยายตัวของรัฐ คองบองได้ฟื้นฟูพละกำลังจากการยึดกุมเขตกสิกรรมทางแถบชเวโบและอังวะ แล้วค่อยมุ่งลงใต้เพื่อผนวกฐานการค้าในเขตปลายน้ำอิระวดี ซึ่งหากใช้กรอบวิเคราะห์ของไมเคิล อ่อง ทวิน นักประวัติศาสตร์พม่า อาจถือได้ว่า ทฤษฏีทวิขั้วระหว่างนครรัฐต้นน้ำ-ปลายน้ำ ที่เรียกว่า "Upstream-Downstream Dualism" ซึ่งมักจะแตกแยกและมีการประชันกำลังกันอยู่ระหว่างหัวเมืองตอนบนกับตอนล่างแม่น้ำอิระวดี อาจถือได้ว่ารัฐคองบองยุคต้นสามารถที่จะผนวกกระชับดินแดนเหล่านี้ได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ (โดยเฉพาะหลังการกุมชัยชนะเหนือมอญที่ย่างกุ้ง-หงสาวดี)

โดยแรงรวมดังกล่าว ได้ทำให้จักรวรรดิพม่ามีพลังสะสมจากเขตกสิกรรม "Dry Zone" ทางตอนเหนือกับเขตพาณิชยกรรม "Delta" ทางตอนใต้ ซึ่งส่งผลให้อาณาเขตรัฐแผ่ตัวยาวเหยียดไปตามลำแม่น้ำอิระวดี พร้อมแปลงสภาพเป็นปัจจัยสะสม ที่หนุนนำให้รัฐคองบองมีแกนดิ่งที่ตั้งแนวยาวครอบคลุมหัวเมืองต่างๆ ตามสายแม่น้ำอิระวดีที่วัดได้ไกลกว่า 700 กิโลเมตร (หากวัดแบบสังเขปจากเหนือเมืองชเวโบไปจนถึงเขตปากน้ำตอนใต้)

ขณะที่ทางฟากรัฐราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั้น แม้อยุธยาจะเป็นพระนครที่หลอมรวมเอาเขตกสิกรรมมาผสมกับเขตการค้าที่ลงตัวที่สุดในเขตพื้นทวีปอินโดจีน หากแต่วงปริมณฑลอำนาจของกษัตริย์บ้านพลูหลวงที่แผ่คลุมบรรดาหัวเมืองต่างๆ นับตั้งแต่ปลายน้ำไปจนถึงต้นน้ำเจ้าพระยาทางแถบพิษณุโลก สวางคบุรี หรือเมืองตาก จะมีปริมาณพื้นที่เพาะปลูก แหล่งบ่มเพาะกำลังพล และพื้นที่ปฏิบัติการทางทหารได้มากน้อยเพียงไรเมื่อเทียบกับทางรัฐราชวงศ์คองบอง ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่าหากพิเคราะห์ถึงแกนภูมิศาสตร์ริมน้ำ รัฐอยุธยาอาจมีความยาวที่วัดจากเขตปากน้ำไปจนถึงหัวเมืองต้นน้ำตอนในบางจุด เป็นระยะทางไม่เกินกว่า 500 กิโลเมตร

ซึ่งทั้งนี้ ยังมินับขนาดความกว้างและความยาวของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นคู่เทียบคนละ "Scale" กับแม่น้ำอิระวดี ซึ่งมักจะกว้างกว่า ยาวกว่า และมีปริมาณลำน้ำสาขาที่ไหลมาสมทบมากกว่า หรือ แม้กระทั่งพื้นที่ลุ่มน้ำข้างเคียง อย่างเขตลุ่มน้ำป่าสัก ที่อาจวัดปริมาณแปลงเกษตรและปริมาณครัวเรือนตามรายทางได้น้อยกว่าเขตลุ่มน้ำสะโตง ซึ่งมีเมืองสำคัญอย่างตองอู-เกตุมวดีในเขตดินแดนไชยวัฒนะ

ต่อข้อวิเคราะห์ดังกล่าว แม้แนวมองเช่นนี้จะเน้นแต่การวัดเขตภูมิศาสตร์แนวดิ่งแบบหยาบๆ โดยยังมิมีการพลิกทำเนียบประชากร กำลังพลและฐานทรัพยากรเพื่อตรวจสอบข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างแน่ชัด พร้อมยังมิมีการมองแนวระนาบที่ผนวกเอาดินแดนอื่นๆ ที่อยู่รายรอบ เช่น ล้านนา ล้านช้าง นครรัฐฉาน และแดนตะนาวศรี เข้าเป็นส่วนประกอบเสริมในการวิเคราะห์ หากแต่บรรดาหัวเมืองต่างๆ เหล่านั้น กลับตกอยู่ใต้อิทธิพลของราชวงศ์คองบองยุคต้นมากกว่ารัฐอยุธยาตอนปลาย

นอกจากนั้น สิ่งสำคัญที่สุด อาจหนีไม่พ้นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับดินแดนประเพณีทางภูมิศาสตร์ที่ว่า เขตหัวใจทาง Dry Zone ของพม่าที่เคลื่อนตัวมาประชิดแตะกับเขต Delta ตรงปากน้ำอิระวดี หรือบางส่วนของปากน้ำสะโตง-สาละวิน มักมีขนาดพื้นที่และปริมาณหัวเมือง ที่มากกว่าเขตแดนแกนตรงแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

โดยเมื่อใดก็ตามที่กษัตริย์พม่าทรงสามารถควบคุมแกนทวิขั้วเหล่านั้นได้อย่างมีเอกภาพ พลังพิเศษที่ผุดตัวขึ้นมาจากฐานกำลังทางภูมิรัฐศาสตร์เช่นนี้ ย่อมมีผลอย่างล้ำลึกต่อแสนยานุภาพทางการทหารของกองทัพพม่า

ในขณะที่ฝ่ายอยุธยานั้น ความลงตัวทางภูมิศาสตร์กลับถูกปั้นไว้ที่พระนครอยุธยาเพียงจุดเดียว ฉะนั้นผู้ปกครองสยามจึงมิต้องพะวักพะวงหรือกระวนกระวายกับการโยกย้ายราชธานี เพื่อหาจุดสมดุลทางการค้าและเกษตรกรรมเหมือนดั่งพฤติกรรมของกษัตริย์พม่า หากทว่า ความสมดุลเช่นว่านั้น อาจทำให้กำลังพลของอยุธยามีวัฒนธรรมการทำสงครามที่ตั้งรับอยู่แต่ในเขตพระนคร หรืออาจมีธรรมเนียมการรุกออกไปข้างนอกบ้างเพื่อพิชิตดินแดนชายขอบ เพียงแต่ว่าหัวเมืองเหล่านั้น ต้องมิไกลไปจากชานพระนครมากนัก (ยกเว้นในบางสมัย เช่น ยุคสมเด็จพระนเรศวร)

ซึ่งจุดนี้นี่เอง ที่อาจเป็นความแตกต่างทางภูมิศาสตร์เมื่อนำไปเทียบกับคณะผู้ปกครองพม่าสมัยราชวงศ์คองบองยุคต้นที่มักจะโรมรันข้าศึกแบบต่อเนื่องและบ้าระห่ำนับตั้งแต่เขตพม่าภาคเหนือไปจนถึงแดนพม่าตอนใต้ ซึ่งก็เป็นที่มาของวัฒนธรรมการรบเชิงรุกที่มีฐานกระโจนทางยุทธศาสตร์ที่มั่นคงอันเกิดจากการผนึกดินแดนที่ค่อนข้างมีเอกภาพระหว่างรัฐ "Downstream" กับ รัฐ "Upstream" ทางแถบลุ่มน้ำอิระวดี


ดุลยภาค ปรีชารัชช


(แนววิเคราะห์นี้อาจใช้กับยุคสมัยอื่นๆ ของสยามกับพม่า ได้ด้วย เช่น ราชวงศ์คองบองกับราชวงศ์จักรี หากแต่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขและบริบทเฉพาะในทางประวัติศาสตร์ ส่วนในที่นี้ ผมขออธิบายขอบเขตเชิงเปรียบเทียบเพียงแค่ช่วงใกล้เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เพื่อให้เห็นความคมชัดระหว่างรัฐราชวงศ์คองบองกับรัฐราชวงศ์บ้านพลูหลวง)