Skip to main content

 

ปักกิ่งและคุนหมิงมีแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวที่จะหาทางออกลงทะเลโดยมิต้องอ้อมช่องแคบมะละกา ด้วยเชื่อว่า ตำแหน่งภูมิรัฐศาสตร์ของพม่า รวมถึงรัฐพื้นทวีปที่ตั้งประกบอย่างไทยและลาว จะสามารถเร่งระบายให้สินค้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน สามารถตีตลาดอาเซียนได้อย่างจุใจ พร้อมช่วยขับเคลื่อนให้ทุนจีนก้าวไกลไปถึงเอเชียใต้และตะวันออกกลาง

ล่าสุด ได้เริ่มมีการเผยแพร่แผนที่สายรถไฟที่รัฐบาลจีนเตรียมปั้นให้เป็นเส้นทางสายไหมยุคใหม่ โดยมีจุดหัวใจอยู่ที่พม่า สำหรับในพม่า จีนได้เนรมิตตัวเชื่อม 8 ชุมทาง ซึ่งมีบางเส้นที่โยงเข้าสู่หัวเมืองภาคเหนือและภาคตะวันตกของไทย อาทิ เส้นทางจากสิบสองปันนาตัดลงใต้ผ่านเมืองลาในตะเข็บรัฐฉานแล้วทะลุเข้าสู่เชียงราย หรือ เส้นทางจากมะเกว ผ่านเนปิดอว์ ลอยก่อ (เมืองเอกของรัฐกะยา) แล้วตัดตรงเข้าสู่พื้นที่แม่ฮ่องสอน จนไปสุดปลายทางที่เชียงใหม่

นอกจากนั้น ยังมีเส้นทางจากเมืองพะโค ซึ่งกำลังเตรียมก่อสร้างสนามบินนานาชาติ ส่วนหนึ่งสินค้าจะถูกลำเลียงกระจายเข้าสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วโยงเข้าสู่สถานีรถไฟและท่าอากาศยานเชียงใหม่ ส่วนเส้นทางจากย่างกุ้ง จะมีการเชื่อมสายรถไฟข้ามแม่น้ำสาละวินเข้าสู่เมืองเมาะละแหม่ง แล้วหักเข้าเมืองเย พร้อมมีทางแยกจากตานบูซายัตเชื่อมเข้าสู่สถานีพญาตองซูที่ประชิดด่านพระเจดีย์สามองค์ ซึ่งแม้ทำเลดังกล่าว จะยังคงเป็น "Missing Link" หากแต่การเตรียมพัฒนาอดีตทางรถไฟสายมรณะของทางการไทยเพื่อเชื่อมสถานีน้ำตกให้โยงกับเขตชายแดนไทย-พม่า แถบสังขละบุรี ก็อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ช่วยเติมฝันของรัฐบาลจีนในการสร้าง "Hub" ระหว่างเมืองท่าเมาะละแหม่งกับทวาย

จากแผนที่เส้นทางรถไฟจีน อาจพอทำนายได้ว่า จังหวัดเชียงใหม่จะถูกตอกย้ำให้เป็นจุดยุทธศาสตร์ของทางรถไฟสายเหนือไทย พร้อมแปลงสภาพเป็นขั้วทางแยกอนุภูมิภาคที่เชื่อมได้ทั้งกรุงเนปิดอว์ กรุงย่างกุ้ง และกรุงเชียงรุ่ง-คุนหมิง ส่วนแนวพรมแดนป่าเขาตอนในทางแถบแม่ฮ่องสอนหรือสังขละบุรี จะถูกเปิดตัวสู่พื้นทะเลภายนอก พร้อมท้าทายจุดเปลี่ยนชะตาเมืองทั้งในแง่ของยุทธศาสตร์ความมั่นคงและยุทธศาสตร์การพัฒนา ขณะที่ทางฟากพม่า กระทรวงรถไฟที่แบ่งภาคการบริหารจัดการเส้นทาง ออกเป็น 8 ภาค ครอบคลุมระยะทางมากกว่า 4,000 ไมล์ ก็กำลังอยู่ในช่วงการยกระดับตัวราง ซึ่งมีอยู่หลายส่วน ที่เริ่มถูกเปลี่ยนจากระบบรางเดี่ยวเข้าสู่ระบบรางคู่

เพราะฉะนั้น หากรัฐเอเชียอาคเนย์ต่างประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนทางรถไฟจนแตกแขนงเข้าไปบรรจบกับสายรถไฟจีน น่าเชื่อว่า ภูมิทัศน์ขนส่งในระดับภูมิภาคจะแปรเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล แต่กระนั้น การรุกที่รวดเร็วของทุนจีน รวมถึงบทบาทจีนในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองโลก ก็ย่อมสร้างความกังวลใจให้กับรัฐและสังคมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มิใช่น้อย โดยเฉพาะ สายรถไฟที่เปรียบประดุจกับการเลื้อยคืบคลานของพญามังกรเพื่อตีตวัดโอบเอารัฐบริวารให้เข้าไปอยู่ใต้อาณัติได้อย่างมั่นคง !

น่าส่งเสริมและน่ากังวลไม่แพ้กัน

ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

 

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค