กษัตริย์ คือ สถาบันการเมืองที่เก่าแก่ของรัฐพม่า พร้อมเป็นรากฐานแห่งอารยธรรมพม่าโบราณ โดยแม้ราชบัลลังก์พม่าจะถูกโค่นลงเมื่อปี ค.ศ.1885 ซึ่งนำไปสู่ขับพระเจ้าสีป่อออกจากมัณฑะเลย์ จนทำให้พระองค์ต้องไปสวรรคตอยู่ที่เมืองรัตนคีรีของอินเดีย หากแต่มรดกแห่งจารีตราชสำนัก กลับมิเคยจางหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์พม่า รวมถึงยังส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อท่วงทำนองการใช้อำนาจของชนชั้นนำพม่ายุคหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ
หนึ่งในสัญลักษณ์เชิงอำนาจของรัฐนาฏกรรมพม่า ซึ่งมุ่งสำแดงพลานุภาพขององค์ราชันผ่านท้องพระโรงอันงดงาม คงหนีไม่พ้น หมู่บัลลังก์อันทรงเกียรติของกษัตริย์พม่า โดยในสมัยราชวงศ์คองบอง (ค.ศ.1752-1885) ได้เคยจำแนกหมู่พระราชอาสน์ออกเป็น 8 ประเภทหลัก ได้แก่ บัลลังก์รูปราชสีห์ หงส์ฟ้า คชสาร บุหรง (นกยูง) รังผึ้ง ปทุมมาศ (ดอกบัว) สังข์ทอง และมฤค (กวาง-เนื้อทราย) สำหรับพระราชอาสน์ที่ทรงกำลังอำนาจและได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด คือ สีหนาทบัลลังก์ ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนถึงแสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่ของจอมราชันพม่าที่เปล่งประกายเกรียงไกรดุจการแผ่คำรามของพญาราชสีห์
ปัจจุบัน แม้วันเวลาจะผ่านไปนานกว่า 1 ศตวรรษ หากแต่อิทธิพลของโลกราชาธิปไตยพม่า กลับยังคงดำรงอยู่พร้อมถูกรื้อฟื้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในสร้างความชอบธรรมทางการเมืองของชนชั้นนำพม่า พร้อมๆ กับถูกใช้เป็นมนตราศักดิ์สิทธิ์เพื่อเบิกโรงโหมกลิ่นอายแห่งความสง่างามของรัฐจักรวรรดิพม่าโบราณ
ตัวอย่างเด่นชัด คือ ท่าทีอันฮึกห้าวของนายพลเนวินเมื่อครั้งได้รับมอบเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของอดีตกษัตริย์พม่าคืนจากอังกฤษ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การชูพระแสงกริชอันแวววาวของพระเจ้าอลองพญา ผู้เป็นต้นวงศ์แห่งจักรวรรดิคองบอง หรือการฟื้นฟูเนรมิตพระราชวังหลวงที่มัณฑะเลย์ หงสาวดี พุกามและชเวโบ ในสมัยของรัฐบาลทหารนายพลตานฉ่วย และการจำลองสีหนาทบัลลังก์เข้าชะรอไว้ที่ทำเนียบประธานาธิบดีพม่า ณ กรุงเนปิดอว์ โดยมีการตกแต่งฉากหลังเพื่อต้อนรับอาคันตุกะ ที่ดูจะละม้ายคล้ายคลึงกับท้องพระโรงของอดีตกษัตริย์พม่า
ฉะนั้น จึงมิผิดนัก หากกล่าวว่า รัฐท้องพระโรงยุคก่อนอาณานิคมที่เน้นการเสกสรรปั้นแต่งหมู่อาคารอันทรงเกียรติที่แผ่ปกคลุมเหนือหมู่พระที่นั่งอันวิจิตรพิสดาร ได้ถูกประยุกต์จำลองไว้ ณ ทำเนียบประธานาธิบดีและอาคารรัฐสภากรุงเนปิดอว์ จนกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์พม่า
นอกจากนั้น ท่วงทำนองการใช้อำนาจของกษัตริย์พม่าบางพระองค์ ที่มีทั้งคุณสมบัติแห่งความเป็นนักรบบนหลังอาชาไนย จนมีชัยชนะในทั่วทุกทศทิศอย่างพระเจ้าบุเรงนอง หรือความเป็นกษัตริย์นักปฏิรูปนิยมผสมนักอนุรักษ์นิยมอย่างพระเจ้ามินดง และแม้แต่กษัตริย์ธรรมราชาผู้เปี่ยมไปด้วยบุญญาบารมีอันแรงกล้าอย่างพระเจ้าอโนรธาหรืออลองสิทธู ต่างล้วนแล้วแต่เป็นพระราชจริยวัตรต้นแบบ ที่มีผลต่อการดำเนินกุศโลบายทางการเมืองหรือการปรับใช้ทฤษฏีการปกครองของชนชั้นนำพม่า ในปัจจุบัน ไม่มากก็น้อย
ซึ่งก็ทำให้ รัศมีแห่งราชบัลลังก์พม่า ยังคงฉายแสงแห่งกฤษฎาภินิหารสืบต่อไป ท่ามกลางการทาบทับอย่างหนักอึ้งของเงาจักรวรรดินิยมโลกาภิวัตน์
ดุลยภาค ปรีชารัชช