Skip to main content

 

วันนี้ รัฐพม่ากำลังครึกครื้นดื่มด่ำไปกับนาฏกรรมพหุชนชาติ เนื่องด้วยการสถาปนาสหภาพพม่านั้น ถือกำเนิดขึ้นมาจากการควบรวมดินแดนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จนกลายมาเป็นรัฐอิสรภาพพม่าเช่นในปัจจุบัน

กระนั้น เอกราชพม่ามักแสดงความย้อนแย้งในตนเองเสมอ โดยคำศัพท์ที่ว่าด้วยรัฐในพม่า ซึ่งอาจแปลเป็นไทยว่า "สหภาพ" หรือที่มักออกเสียงกันในภาษาพม่าว่า "ปีดองซู" มักหมายถึง การบูรณาการรัฐหรือดินแดนต่างๆ จนหลอมรวมขึ้นเป็นประเทศใหม่ จนทำให้อธิปไตยแห่งสาธารณรัฐพม่ามีรากฐานมาจากการตัดสินใจของชนชาติพันธุ์เพื่อดำรงเอกราชร่วมกับชาวพม่าใต้ร่มธงสหภาพเดียวกัน

เพียงแต่ว่า ท่ามกลางการผนึกดินแดนอันเป็นมรดกสืบเนื่องจากยุคอาณานิคม ดุลประชากรของชาวพม่าแท้ (ที่มีสัดส่วนมากกว่าพหุชาติพันธุ์อื่นๆ) มักเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรภายในสหภาพ ประกอบกับการก่อเกิดของรัฐพม่าสมัยใหม่ ล้วนแต่ถูกค้ำชูด้วยสถาบันกองทัพที่มักถือตนว่าเป็นกระดูกสันหลังแห่งการสร้างรัฐสร้างชาติ ซึ่งก็ส่งผลให้ทหารพม่าที่มีธรรมเนียมการสร้างรัฐผ่านการทำสงคราม มักพยายามก้าวเข้ามาเป็นแกนนำในการบริหารประเทศเหนือกองกำลังชนชาติพันธุ์ต่างๆ

โดยความไม่ลงรอยกันในเรื่องการสร้างรัฐ ได้เผยโฉมอีกครั้งในวันประกาศเอกราชพม่าครั้งล่าสุด (4 มกราคม 2015) ที่ตัวแทนหลากเชื้อชาติต่างถูกเชิญให้มาร่วมร้องเพลงหรือแสดงระบำรำฟ้อน อันสื่อให้เห็นถึงการดำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในพม่า หากแต่นาฏกรรมชาติพันธุ์เหล่านั้น กลับถูกแสดงคู่ขนานไปกับการอวดแสนยานุภาพของกองทัพพม่า ซึ่งเต็มไปด้วยการเคลื่อนรถถังและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย จนทำให้พอเห็นมโนทัศน์ชนชั้นนำพม่าในอนาคต ว่าอย่างไรเสีย ความแตกต่างหลากหลายทางสังคม คงหนีมิพ้นที่จะต้องเปิดโอกาสให้กองทัพดำรงสภาพเป็นจุดศูนย์ดุลแห่งรัฐเพื่อค้ำยันอำนาจและจัดระเบียบทางการเมืองต่อไป


นาฏกรรมแห่งรัฐในวันเอกราชพม่าครั้งที่ 67 ณ ลานราชธานีใหม่ "เนปิดอว์"


 

พิธีประกาศเอกราชพม่า ซึ่งส่วนหนึ่งถูกจัดขึ้นที่อินเดีย โดยมีลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเทน อดีตผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดียและผู้บัญชาการกองทัพภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia Command) เป็นประธาน พร้อมมีบัณฑิตเนรู อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย เป็นตัวแทนเข้าร่วม โดยว่ากันว่า เมื่อครั้งที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1948 ได้มีพิธีเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา อินเดียและปากีสถาน


 

อารัมภบทรัฐธรรมนูญพม่าฉบับ 1947 ที่ถูกร่างขึ้นก่อนการประกาศเอกราช พร้อมถูกใช้เป็นเครื่องมือบริหารราชการแผ่นดินมาจนถึงปี ค.ศ.1974 โดยจะสังเกตเห็นสารัตถะในการปั้นรัฐอธิปไตยพม่าที่เกิดจากการควบรวมดินแดนพม่าแท้ ดินแดนบริหารชายแดน (ครอบคลุมกลุ่มชาติพันธุ์หลายๆส่วน) และดินแดนกะยา (ของพวกกะเหรี่ยงยางแดง ซึ่งเคยถูกประกันสถานภาพให้เป็นกลางในทางการเมือง) นอกจากนั้น ยังอาจพบเห็นกลิ่นอายแห่งรัฐเสรีนิยม ที่ประกันไว้ซึ่งหลักเสรีภาพ เสมอภาคและความยุติธรรม เพียงแต่ว่า การสถาปนารัฐพม่าที่แฝงเร้นไปด้วยอคติทางเชื้อชาติ ศาสนา หรือ การใช้ความรุนแรงในการสร้างรัฐสร้างชาติ ก็ถือเป็นอุปสรรถที่ทำให้หลักพื้นฐานแห่งรัฐ ถูกแปรเปลี่ยนเบี่ยงเบนไปจนยากที่จะฟื้นคืน

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค