Skip to main content

 

นานมาแล้วที่กระแสการผลิตละครและภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ไทย ถูกขับเคลื่อนด้วยตำนานมหาสงครามกับพม่าข้าศึก โดยมีมหาวีรกษัตริย์อย่างสมเด็จพระนเรศวร หรือเหล่าวีรชนสามัญอย่างชาวบ้านบางระจัน และแม้แต่บรรดาตัวละครสมมติที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นในช่วงการล่มของพระนครศรีอยุธยา เป็นฟันเฟืองหลักที่คอยขับเคลื่อนให้กระบวนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของคนไทยมักเสพเอาแต่สารัตถะเกี่ยวกับการรณรงค์สงครามและปฏิสัมพันธ์กับดินแดนพม่าข้าศึก จนทำให้ วีรบุรุษ สามัญชน และเพื่อนบ้านฟากอื่นๆ ถูกตีตกขอบออกไปจากการรับรู้ของสังคมไทย

หนึ่งในนั้น คือ สมเด็จพระนารายณ์ กษัตริย์มหาราช ผู้เปี่ยมไปด้วยพระราชกรณียกิจทางการทูตและการต่างประเทศ หากแต่ก็กลับถูกเบียดขับ บดบัง และถูกข่มให้มัวจนตกขอบไปจากแวดวงภาพยนตร์ไทย

สำหรับสาเหตุสำคัญ อาจมีหลายประการ อาทิ
1. พระนามของพระองค์อาจทับซ้อนกับพระนารายณ์ เทพเจ้าตรีมูรติในศาสนาฮินดู ซึ่งประเด็นเช่นว่า อาจทำให้ชาวบ้านจำนวนมิน้อย ที่ขาดการติดตามประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยในวงกว้าง เกิดความสับสนในการรับรู้เรียกขาน

2. ภารกิจทางการทูต อาจจะทำรายได้หรือถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์ที่มีความคึกคักระห่ำมันส์และถูกอรรถรส มิเท่ากับฉากรณรงค์สงคราม อย่างสงครามกู้อิสรภาพของสมเด็จพระนเรศวรและสงครามเก้าทัพ (หากจะพิจารณาจากคอหนังที่ชมชอบการรบทัพจับศึกหรือการชมบทต่อสู้แบบคิวบู๊) ประกอบกับเครื่องรางของขลังเกี่ยวกับพระนารายณ์ ก็ไม่เป็นที่นิยมมากนักในหมู่เซียนพระ นักเลงประวัติศาสตร์ หรือพวกนักรบ นักมวย นักการทหาร เมื่อจะนำไปเทียบกับกรณีของสมเด็จพระนเรศวร

3. ประวัติศาสตร์การสร้างรัฐรวมศูนย์เพื่อประดิษฐ์ความเป็นไทยโดยมีอยุธยา กรุงเทพ หรือแกนสยามทางแถบลุ่มเจ้าพระยาเป็นศูนย์กลาง ย่อมต้องเรียกหาเหล่ากษัตริย์และขุนศึกยอดนักรบเพื่อเร้าความรู้สึกตามแบบฉบับชาตินิยม ซึ่งมีผลทำให้งานวรรณกรรมจำนวนมากเกี่ยวกับสงคราม ได้รับความนิยมจนกลายเป็นตลาดกระแสหลักในโลกบันเทิงไทย

4. หากจะมีภาพยนตร์หรือละครเวทีเกี่ยวกับการทูต ผู้ผลิตมักหันเหไปทำเรื่องราวในสมัยรัชกาลที่สี่และห้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อันสัมพันธ์กับวาทกรรมการเสียดินแดนกันมากกว่า

5. กระทรวงการต่างประเทศไทย มักพรรณนาประวัติศาสตร์การทูตขององค์กร โดยเริ่มต้นไปที่ยุคปฏิรูปกิจการต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ห้า มากกว่าสมัยสมเด็จพระนารายณ์ พร้อมกันนั้น ในช่วงการขยายตัวของลัทธิชาตินิยมไทย จนถึงปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศเอง ก็มิได้มีบทบาทหรือขีดกำลังในการร่วมผลิตภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ เมื่อเทียบกับทางฟากกองทัพและกระทรวงกลาโห

6. พระนารายณ์เป็นกษัตริย์ที่มักแปรพระราชฐานไปยังเมืองลพบุรี จนทิ้งมรดกทางประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาไว้ในเมืองนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้พระองค์ถูกบูชายกย่องจนกลายเป็นกษัตริย์ท้องถิ่นมากกว่ากษัตริย์อยุธยาที่ถูกใช้เป็นโครงเรื่องหลักในประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม ขณะที่การสร้างเมืองใหม่ลพบุรีสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งตัดแยกออกจากเมืองเก่าสมัยอยุธยาอย่างชัดเจน ก็ทำให้ภาพพระนารายณ์เกิดความลักลั่นและถูกแบ่งปันควบคุมโดยท่านผู้นำทหาร จนขาดความโดดเด่นอย่างมีเอกเทศ

7. พระนารายณ์ทรงมีฐานกำลังและน้ำพระทัยที่โน้มเอียงมาทางขุนนางต่างชาติและประชาคมคริสตจักร-มุสลิม จนทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่พระสงฆ์ ขุนนางและไพร่ฟ้าสยามสายอนุรักษ์นิยม ประกอบกับกิจการด้านนโยบายต่างประเทศในรัชกาลของพระองค์มักถูกกลบทับด้วยวาทกรรมการขายชาติให้กับมหาอำนาจฝรั่ง จนทำให้ยุคทองทางการทูตและการพัฒนาถูกบดบังราวประหนึ่งว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีโลกทัศน์แบบหลงยุคหลงสมัย โดยการตีความดังกล่าว มักเป็นคำอธิบายที่ช่วยเสริมความชอบธรรมให้กับการทำรัฐประหารโดยออกญาพระเพทราชา อันเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากราชวงศ์ปราสาททองไปสู่ราชวงศ์บ้านพลูหลวง

จากเหตุผลคร่าวๆ 7 ประการ คงพอจับกระแสได้ว่าทำไมสมเด็จพระนารายณ์ถึงไม่เป็นที่นิยมหรือถูกมองข้ามในอุตสาหกรรมผลิตภาพยนต์ประวัติศาสตร์ในเมืองไทย ทั้งๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการก็เคยป้อนแบบเรียนสังคมศึกษาระดับมัธยม ซึ่งมีอยู่มิน้อยที่ว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์การทูตในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ (หากแต่ว่าเนื้อที่และความเข้มข้นในการนำเสนอ ยังมิอาจเทียบชั้นได้กับบทนิพนธ์ทางด้านประวัติศาสตร์สงคราม) ขณะเดียวกัน งานของนักวิชาการจำนวนมาก อย่าง นิธิ เอียวศรีวงศ์ และภูธร ภูธะมน ที่ว่าด้วยเรื่องการเมืองและการทูตไทยสมัยพระนารายณ์ หรืองานแปลของบาทหลวงตาร์ชาร์ด ลาลูแบร์ และนิโคลัส แซร์แวส ที่เคยบรรยายภูมิสถาน ขนบจารีตประเพณีและการเมืองสยามสมัยสมเด็จพระนารายณ์อย่างละเอียด แม้จะเคยออกวางขายตามท้องตลาดในรูปแบบของบทความ หนังสือ และสื่อการศึกษาสารพัดชนิด หากแต่มิเคยมีผู้จัดภาพยนตร์คนใดหยิบขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือในการผลิตเรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระนารายณ์กันอย่างจริงจัง

น่าขบคิดต่อว่า ทำไมผู้ทำหนังหรือผู้เสพภาพยนตร์ไทย จึงมิค่อยแสดงเสียงเพรียกหาถึงจุดเด่นหรืออรรถประโยชน์ในการทำละครภาพยนตร์เรื่องสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งนอกจากเรื่องราวปฏิสัมพันธ์ทางการทูตทั้งที่มีต่อชาติตะวันตกอย่างฝรั่งเศส อังกฤษ ฮอลันดา ชาติเอเชียอย่างเปอร์เซีย ญี่ปุ่น จีน และชาติเพื่อนบ้านทั้งมอญ พม่า ลาว กัมพูชา และอินโดนีเซีย (ในกรณีการลุกฮือของแขกมักกะสัน-มาร์กัสซาร์) ย่อมทำให้แก่นเรื่องของสมเด็จพระนารายณ์อาจแปลงสภาพไปสู่หนังไทยระดับนานาชาติที่ตีตลาดหนังสากลได้มากกว่าการยึดโครงเรื่องไว้ที่สนามสงครามที่มักจำกัดวงอยู่แต่กับพม่าข้าศึก ซึ่งแม้จะทำให้เกิดกระแสรักชาติ แต่กลับวางจุดสนใจไปที่พม่าเพียงอย่างเดียว พร้อมกลายเป็นเชื้อไฟที่ก่อให้เกิดอคติแง่ลบต่อเพื่อนบ้านตามมาอยู่เสมอ

นอกเหนือจากมุมการเมืองระหว่างประเทศ การเชื่อมโยงเข้าหาการเมืองภายในประเทศ ทั้งศึกชิงบัลลังก์ในราชวงศ์ปราสาททอง กลยุทธ์กลศาสตร์ทางการเมืองการปกครองของเหล่าเชื้อพระวงศ์ ขุนนางพื้นเมือง ขุนนางต่างชาติ หรือบุรุษผู้เปรียบประดุจดั่งองคมนตรีกึ่งรัฐมนตรีอย่างฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ รวมถึงการทำรัฐประหารโดยพระเพทราชา อาจนำมาซึ่งอรรถรสและบทเรียนทางการเมืองที่สอดคล้องกับวงจรอำนาจการเมืองไทยได้อย่างแจ่มชัด

ทั้งนี้ ยังมินับฉากละครที่งดงามและเร้าอารมณ์ประโลมโลกแบบอื่นๆ อีกมาก เช่น บทเกี้ยวพาราสีระหว่างฟอลคอนกับหญิงลูกครึ่งญี่ปุ่น-โปรตุเกส อย่างท้าวทองกีบม้า หรือความงดงามของสตรีล้านนาผู้ให้กำเนิดเจ้าดอกเดื่อ หรือพระเจ้าเสือ ซึ่งว่ากันว่าเป็นโอรสลับของพระนารายณ์เมื่อครั้งเสด็จทำศึกเชียงใหม่

ภาพจาก บลอกของ 'ปลาทองสยองเมือง'

ภาพจาก บลอกของ 'ปลาทองสยองเมือง'

ขณะเดียวกัน การเนรมิตหมู่พระที่นั่งและพระตำหนักแห่งพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เมืองลพบุรี อดีตศูนย์อำนาจแห่งที่สองของสมเด็จพระนารายณ์ อาจเต็มไปด้วยความคึกคักและมีสีสันทางประวัติศาสตร์โบราณคดีมากขึ้น ทั้งพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญมหาปราสาทและสิบสองท้องพระคลังอันงดงาม รวมถึงเครือข่ายหลักฐานทางวิศวกรรมชลประทานและนวัตกรรมดาราศาสตร์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในเมืองลพบุรี อาจได้รับการฟื้นฟูและบูรณะปฏิสังขรณ์ให้มีคุณค่ามากขึ้น ทั้งนี้ ยังมินับแม่น้ำลำคลอง คูเมือง และ โบราณสถานตามรายทางจากลพบุรี ไป สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี หรือ อยุธยา ซึ่งปัจจุบัน อยู่ในสภาพทรุดโทรมหรือจางหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไทยไปเกือบหมด เช่น ทุ่งพรหมมาสตร์และแม่น้ำลพบุรี เป็นอาทิ

ท้ายที่สุด แม้ข้อเรียกร้องของข้าพเจ้าอาจจะดูพร่ำเพ้อ และมิรู้ว่าจะได้รับการยอมรับพิจารณาซักเพียงไร หากแต่ความพยายามที่จะส่งเสริมให้มีการผลิตหรือวิจัยเกี่ยวกับโครงการภาพยนตร์สมเด็จพระนารายณ์ อาจเป็นการสร้างโอกาสให้สังคมไทยได้มีตัวเลือกที่หลากหลาย ท้าทาย และเข้าสู่กลิ่นอายระดับสากลขึ้น

โดยนักทำหนังที่ชื่นชอบเรื่องราชสำนักหรือการต่อสู้สัประยุทธ์โรมรัน อาจทดลองเพิ่มสัดส่วนเพลงยุทธ์หรือบทเชือดเฉือนวาจาทางการทูต เข้าไปในโครงเรื่อง พร้อมคงฉากสงครามไว้บางส่วน เช่น ศึกรัฐประหารหรือศึกกับอาณาจักรรอบข้าง เพียงแต่อาจเปลี่ยนมาทำในอัตราส่วนแบบพอประมาณเพื่อรักษาอรรถรส แต่พยายามลดทอนความรุนแรงโหดร้ายของฉากสงครามลงเพื่อให้ล้อรับกับบรรยากาศการปรองดองและประชาคมอาเซียนที่กำลังจะมาถึง

ส่วนใครก็ตามที่สนใจเรื่องมิตรภาพข้ามชาติและโลกาภิวัฒน์ หนังเรื่องสมเด็จพระนารายณ์ อาจเป็นสนามทดลองให้ผู้กำกับภาพยตร์หรือผู้เขียนบท ได้ลองประดิษฐ์ฉากปฏิสัมพันธ์ที่อยู่นอกเหนือพรมแดนรัฐชาติ จนกลายเป็นความสัมพันธ์ข้ามชาติที่เชื่อมโยงถักทอตัวแสดงหลากหลายระดับทั้งในโลกการเมืองสยามและการเมืองเอเชีย-ยุโรป (ครอบคลุมทั้งกษัตริย์ ขุนนาง นักบวช พ่อค้า ชาวบ้าน และประชาคมนานาชาติ)

สำหรับใครที่อยากผลิตฉากและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ทั้งพระราชวัง วัดวาอาราม ตลาดการค้าและบ้านเรือนสามัญชน งานค้นคว้าโบราณคดีที่ลพบุรีและหัวเมืองข้างเคียง ล้วนเป็นสนามปฏิบัติการที่ชวนหลงใหลและเต็มไปด้วยข้ออภิปรายถกเถียงเชิงประวัติศาสตร์อีกมากที่จะนำมาสู่การงอกงามทางภูมิปัญญาของสังคมไทย


ดุลยภาค ปรีชารัชช

สนใจเข้าไปดูการจำลองแบบพระราชวังละโว้อันงดงามของสมเด็จพระนารายณ์ได้ที่ บลอกของ 'ปลาทองสยองเมือง'

 

 

 


 

บล็อกของ ดุลยภาค