Skip to main content

 

ในปี ค.ศ.1864 Alvin Jewett Johnson นักภูมิศาสตร์อเมริกัน ได้ตีพิมพ์แผนที่ที่ใช้ชื่อว่า 'Johnson's Hindostan or British India' โดยถือเป็นกระดานภูมิศาสตร์ที่แสดงหน่วยดินแดนในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถูกตัดแบ่งออกเป็น 17 เขตหลัก ได้แก่ 9 หน่วยดินแดนในชมพูทวีป และ อีก 8 หน่วยดินแดนในสุวรรณภูมิพื้นทวีป

สำหรับแผ่นดินใหญ่อินเดีย จอห์นสัน ได้ขึงแนวแม่น้ำคงคาและแม่น้ำพรหมบุตรซึ่งครอบคลุมกลุ่มบ้านเมืองที่แน่นขนัดเบียดเสียดไปตามลำลุ่มน้ำ แล้วแปลงสภาพขึ้นเป็นเขตภูมิศาสตร์หัวใจที่เรียกว่า 'ฮินดูสถาน' ถัดมาจึงมีการแบ่งกลุ่มรัฐอินเดียที่เหลือออกเป็นบอมเบย์และมัทราส ซึ่งทำให้แดนภารตะถูกตัดออกเป็นสามดินแดนหลัก คือ ฮินดูสถาน บอมเบย์ และมัทราส ขณะที่อีกหกดินแดนที่เหลือ จอห์นสันยึดการจัดกลุ่มตามสภาพภูมิศาสตร์การเมือง ซึ่งได้แก่ รัฐทะเลซีลอน (ศรีลังกา) รัฐหิมาลัยเนปาล-ภูฏาน-อัสสัม ที่ถูกจัดออกเป็นสามเขตตามแนวตะวันตก-ตะวันออก และรัฐสินธุปัญจาบ-ชินดิ์ ที่ถูกแบ่งเป็นสองเขตตามแกนภูมิศาสตร์เหนือ-ใต้ของแม่น้ำสินธุ

ส่วนในโซนอุษาคเนย์พื้นทวีป ผู้ร่างแผนที่ได้ใช้ลำแม่น้ำอิระวดีบางจุด (เช่น แถวเมืองแปร) เขยิบไปจนถึงแนวเทือกเขาอาระกันเป็นตัวแบ่งอาณาเขตออกจากอินเดีย จากนั้นจึงไล่ระเบียงเขตแดนขึ้นเหนือไปที่รัฐกะฉิ่นแล้วลากต่ำลงเลียบแผ่นดินลาวตอนบนและแคว้นเวียดนาม โดยมีเขตแดนบางส่วนที่แตะคลุมไปถึงชายทะเลตอนใต้ของมณฑลกวางสี

ตามขอบเขตภูมิรัฐศาสตร์เช่นนี้ จอห์นสันได้สะบั้นภูมิกายาอุษาคเนย์ออกเป็น 8 ภูมิภพหลัก ได้แก่

1. เขตพม่าตอนบนอันมีเมืองสำคัญอย่างอังวะ-มัณฑะเลย์
2. เขตพม่าตอนล่างที่ครอบคลุมเมืองพะโคและทวาย
3. เขตสยามตอนเหนือที่ควบรวมแผ่นดินกัมพูชาบางส่วน
4. เขตสยามตอนใต้ซึ่งไล่ต่ำจากเมืองชุมพรไปจนถึงภาคเหนือและภาคกลางบางส่วนของมลายู
5. เขตมะละกา ซึ่งผู้เขียนระบุให้ครอบทับแดนมลายูที่เหลือจนถึงเกาะสิงคโปร์
6. เขตลาว ที่ผนวกรัฐไทใหญ่เข้าไปอยู่ในแผ่นดินล้านช้าง
7. เขตเวียดตังเกี๋ยแถบลุ่มแม่น้ำดำ-แดง และ
8. เขตเวียดโคชินไชนาแถบภาคกลางและภาคใต้ของเวียดนาม ซึ่งผนวกแผ่นดินบางส่วนของกัมพูชา

จุดเด่นหรือมนต์เสน่ห์ของแผนที่วิทยาจอห์นสัน คือ การแต่งแต้มเส้นสีเขตแดนที่ทรงพลังอำนาจพร้อมสะท้อนระเบียบภูมิศาสตร์การเมืองของเจ้าอาณานิคมอังกฤษที่มักใช้สันเขา สันปันน้ำ หรือ ร่องน้ำลึก เป็นตัวแบ่งขอบเขตอธิปไตยแห่งรัฐ เช่น การถือเอาเทือกเขาตะนาวศรีและร่องแม่น้ำสาละวิน เป็นตัวกั้นแดนสยามออกจากพม่าของอังกฤษ หรือการขึงแนวขุนเขาอันนามเพื่อกั้นแดนระหว่างลาวกับเวียด

ขณะเดียวกัน การพรรณนาภูมิสถาน เช่น ลำน้ำ และเมืองยุทธศาสตร์รายทาง ที่แม้จะคลาดเคลื่อนไปหลายตำแหน่ง แต่ก็สะท้อนโลกทัศน์ของนักแผนที่อเมริกันไว้อย่างน่าสนใจ อาทิ การเขียนคำว่า 'Menam' เพื่อใช้เรียกชื่อแม่น้ำเจ้าพระยาที่เชื่อมต่อกับแนวแม่น้ำปิงไปจนถึงเชียงใหม่ โดยเรียกเมืองเชียงใหม่ว่า 'Zimmeh' แต่กลับเขียนคำว่า 'Chiangmai/Changmai' บนตำแหน่งเมืองหมอกใหม่ ตรงเขตรัฐฉานของพม่าที่อยู่เหนือแผ่นดินล้านนาขึ้นไป

ขณะที่รัฐสยามทางใต้ซึ่งผู้เขียนใช้คำว่า 'Lower Siam' ได้แสดงชื่อและตำแหน่งของคอคอดกระไว้ชัดเจน พร้อมคำเรียกขานหัวเมืองปักษ์ใต้สำคัญ อย่าง 'Jank Seylon' (ภูเก็ต) 'Putao' (ตะกั่วป่า) และ 'Ligor' (นครศรีธรรมราช) ส่วนทางฟากพม่า จอห์นสันได้ลงชื่อกลุ่มเมืองที่แน่นขนัดแถบราชสำนักพม่าตอนบน พร้อมลากเส้นกั้นระหว่างรัฐพม่าภาคเหนือกับรัฐพม่าภาคใต้ให้อยู่แถวๆ เขตลุ่มน้ำสะโตงตอนบน ทางแถบกรุงเนปิดอว์ในปัจจุบัน

ขณะที่ทางกลุ่มรัฐเวียดนาม จอห์นสัน ได้ปั้นให้เมืองวินห์แถบจังหวัดแหงะอันเป็นจุดแบ่งระหว่างรัฐทางเหนือกับรัฐทางใต้ ซึ่งผิดกับการแบ่งเขตตามอนุสัญญาเจนีวาและสมัยสงครามเย็นในเวลาต่อมาที่ใช้แนวแม่น้ำเบนไห่ตรงเส้นขนานที่ 17 ที่อยู่ต่ำจากเมืองวินห์ลงมาเป็นเส้นกั้นอาณาเขต

สำหรับจินตนาการของปรมาจารย์แผนที่วิทยาอย่างจอห์นสัน ซึ่งร่างและตีพิมพ์แผนที่นี้ในปี ค.ศ. 1864 คาดว่าประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์และการเมืองอเมริกันช่วง 70-80 ปีก่อนหน้า คงมีอิทธิพลต่อจิตรกรรมภูมิศาสตร์ของเขา ไม่มากก็น้อย

นับจากสหรัฐอเมริกาประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ ในปี ค.ศ.1776 สหรัฐได้สลัดสถานภาพจากดินแดนอาณานิคมอังกฤษ เข้าสู่ระบบสมาพันธรัฐ (Confederation) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวทางดินแดนแบบหลวมๆ ของรัฐบาลประจำมลรัฐต่างๆ  จากนั้นจึงค่อยแปลงเข้าสู่ระบบสหพันธรัฐ (Federation) ที่เน้นการรวมตัวและจัดสรรผลประโยชน์ทางภูมิศาสตร์การเมืองที่เหนียวแน่นและชัดเจนมากขึ้นตามกรอบรัฐธรรมนูญ พร้อมกันนั้น สหรัฐยังได้สัมผัสกับกิจกรรมการขยายดินแดนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการรุกจากเขตชายฝั่งแอตแลนติกผ่านแนวแม่น้ำมิสสิสซิปปีไปจนสุดแนวเทือกเขาร๊อกกี้ประชิดมหาสมุทรแปซิฟิก และการทำสงครามกลางเมืองที่มีการแบ่งแนวอาณาเขตระหว่างรัฐทางเหนือกับรัฐทางใต้

ฉะนั้น จึงมิแปลก หากกล่าวว่า บริบทแวดล้อมของการรบพุ่งชิงดินแดนในแผ่นดินสหรัฐ ซึ่งกำลังเริ่มทะยานเข้าสู่ตำแหน่งอภิมหาอำนาจทางการเมืองโลก พร้อมประสบการณ์ส่วนตัวของจอห์นสัน ที่เคยผลิตแผนที่จำนวนมากเกี่ยวกับเขตแดนของรัฐต่างๆ ในสหรัฐ รวมถึงรัฐอื่นๆ ในยุโรปและเอเชีย คงส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อโลกทัศน์และแบบแผนลีลาการผลิตแผนที่อินเดีย-อุษาคเนย์ฉบับนี้ ทั้งในแง่ของการจัดวางกลุ่มบ้านเมืองตามลำน้ำ การระบุแนวเทือกเขาและมหาสมุทรที่คมชัด และรูปแบบการตัดแบ่งดินแดนอุษาคเนย์ตามแนวดิ่งถึงสามส่วนหลัก คือ พม่าบน-พม่าล่าง สยามบน- สยามล่าง และเวียดบนกับเวียดล่าง ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของแผนที่วิทยาอันสัมพันธ์กับจินตภาพเชิงภูมิกายาของนักยุทธศาสตร์สหรัฐโดยแท้

สำหรับข้อมูลเชิงลึกของตัวแผนที่ โปรดดู Johnson, A. J., Johnson's New Illustrated Family Atlas of The World with Physical Geography, and with Descriptions Geographical, Statistical, and Historic including The Latest Federal Census, A Geographical Index, and a Chronological History of the Civil War in America, 1864.

ส่วนงานทฤษฏีที่ให้ภาพสากลเกี่ยวกับการจัดการดินแดนเชิงภูมิศาสตร์การเมือง โปรดดู Ivo D. Duchacek. Comparative Federalism: The Territorial Dimension of Politics. New York: Holt, Rinehart and
Winston, Inc, 1970.

ขณะที่งานที่ให้ภาพพัฒนาการแผนที่วิทยาในสยามและอุษาคเนย์ พร้อมศัพท์เทคนิคว่าด้วย 'ภูมิกายา' หรือ 'geo-body' โปรดดู Thongchai Winichakul. Siam Mapped: A History of the Geo-body of a Nation. University of Hawaii Press, 1994.


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค