Skip to main content

 

ช่วงต้นปี ค.ศ.2014 Thomas B. Pepinsky นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ผู้สนใจเรื่องการเมืองอินโดนีเซียและการเมืองเปรียบเทียบเอเชียอาคเนย์ ได้เสนอกรอบวิเคราะห์ที่เรียกว่า 'Subnational Peripheries' โดยเขาให้นิยามว่าหมายถึงกลุ่มดินแดนชายขอบที่มีขีดอำนาจในระดับต่ำกว่ารัฐบาลกลาง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นหน่วยการเมืองระดับมลรัฐ

Pepinsky ได้ชี้ให้เห็นว่า วิธีวิทยาการเมืองเปรียบเทียบมีทั้งการวิเคราะห์แบบข้ามประเทศ (Cross-National Comparison) ที่เน้นการจับรัฐต่างๆ มาเทียบจุดเด่นจุดต่างเป็นรายประเด็น เช่น ไทย พม่า อินโดนีเซีย ในประเด็นของทหารกับการเมือง และการเปรียบเทียบแบบข้ามมลรัฐ (Cross-Subnational Comparison) ที่เลือกภูมิภาคภายในรัฐมาเปรียบเทียบตามรายประเด็น เช่น จังหวัดภาคใต้ของไทยกับจังหวัดอาเจะห์ของอินโดนีเซียในประเด็นของการก่อความไม่สงบและลัทธิแบ่งแยกดินแดน

Pepinsky ได้ระบุลักษณะเด่นของกลุ่มชายขอบมลรัฐหลายประการ อาทิ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่แตกต่างจากส่วนกลาง ความล้าหลังในระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และลักษณะพิเศษทางศาสนาชาติพันธุ์ที่มักสวนทางกับคนกลุ่มใหญ่ โดยเขาได้เลือกภูมิภาคที่ซ่อนตัวอยู่ในหกรัฐของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้แก่ พม่า ไทย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย พร้อมทำ 'Mapping' โดยผลที่ได้รับ คือ การปรากฏตัวของหน่วยดินแดนพหุมลรัฐที่ยังประโยชน์ต่อการศึกษาวิชาการเมืองเปรียบเทียบในเอเชียอาคเนย์ อาทิ รัฐกะฉิ่น รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง รัฐยะไข่ ของพม่า กลุ่มจังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือและภาคอีสาน ของไทย หรือ กลุ่มดินแดนโมโรทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์

กระนั้น ชายขอบมลรัฐเหล่านี้ อาจมีสถานะแตกต่างกันตามคำถามวิจัยและประเด็นการศึกษา เช่น รัฐกะฉิ่น รัฐยะไข่ ของพม่า และดินแดนตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ซึ่งหากพิจารณาในแง่ความล้าหลังทางเศรษฐกิจ ทั้งสามดินแดนถือเป็นหน่วยวิเคราะห์ที่คู่ควรแก่การศึกษา แต่หากคำถามเป็นเรื่องของศาสนาอิสลาม รัฐกะฉิ่น อาจไม่อยู่ในข่ายวิเคราะห์ของงานวิจัย

พร้อมกันนั้น ชายขอบเช่นว่านี้ อาจมิได้เกิดจากการทิ้งระยะห่างในแนวระนาบ (Horizontal Space) ระหว่างโซนหัวใจกับโซนชายแดน เพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นผลผลิตที่ทับซ้อนกับการแบ่งพื้นที่ในแนวดิ่ง (Vertical Space) เช่น งานของ Schendel (2002) และ Scott (2009) เกี่ยวกับดินแดนโซเมีย (Zomia) ที่ใช้ความสูงของภูเขาเป็นตัวกั้นชายขอบออกจากที่ราบ จนก่อเกิดเป็นวงโค้งมลรัฐภูเขาที่แตะคลุมจากอุษาคเนย์พื้นทวีปจนถึงตะเข็บชายแดนจีน-อินเดีย พร้อมคงลักษณะสังคมวัฒนธรรมที่พิเศษแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในรัฐแกนกลาง

นอกจากนั้น ตามความเห็นของ Pepinsky ฐานคะแนนเลือกตั้งหรืองานบริการสาธารณะของรัฐบาลกลาง อาจมีผลบางประการต่อการคัดเลือกหน่วยศึกษาชายขอบ เช่น ภูมิภาคตอนเหนือของมาเลเซียที่ค่อยๆ กลายสภาพเป็นฐานคะแนนของพรรคการเมืองตรงข้ามรัฐบาล ขณะที่ปาปัวตะวันตกกลับขาดแคลนไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานที่ต่างชั้นกับหลายดินแดนในเกาะชวา ส่วนกรณีเวียดนาม Pepinsky ได้วางจุดสนใจไปที่ฐานอารยธรรมฮินดู-อิสลามของดินแดนทางใต้ ที่ต่างจากอารยธรรมไดเวียดในรัฐทางเหนือ รวมถึงมรดกการแบ่งแยกดินแดนในยุคอาณานิคมและสงครามเย็น ที่อาจซ่อนรูปชายขอบให้ประทับตราอยู่ในดินแดนทางใต้ต่อไป

ท้ายที่สุด แม้งานของ Pepinsky อาจมิได้นำเสนอประเด็นที่แปลกใหม่มากนักในวงวิชาการ เนื่องจากการเปรียบเทียบแบบข้ามภูมิภาคภายในรัฐเดียว หรือการเปรียบเทียบหลากภูมิภาคแบบข้ามรัฐ ถือเป็นประเพณีที่กระทำกันเป็นปกติอยู่แล้วในทางสังคมศาสตร์ แต่กระนั้น การขับภาพหน่วยดินแดนชายขอบที่ชัดเจนพร้อมให้อรรถาธิบายอย่างมีระบบระเบียบ กลับช่วยให้การศึกษาการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขยับเข้าใกล้ความเป็นศาสตร์ (Science) ที่หนักแน่นรัดกุมขึ้น

ฉะนั้น คงหวังว่าบทความเรื่อง 'Subnational Peripheries and the Comparative Method' (January 6, 2014) ของ Pepinsky ที่หยิบยกกลุ่มชายขอบมลรัฐเอเชียอาคเนย์เป็นกรณีศึกษาหลัก คงยังประโยชน์ต่อการเปิดแนวมองเชิงวิธีวิทยาซึ่งช่วยเสริมจุดแข็งให้กับการศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์ (การเมืองเปรียบเทียบ) ตลอดจนวิเทศคดีและอาณาบริเวณศึกษา (International and Area Studies)


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค