การปฏิวัติชาวนาเพื่อโค่นล้มระบอบการปกครองที่กดขี่วิถีชีวิตชนพื้นเมือง ถือเป็นปรากฏการณ์ปกติในประวัติศาสตร์รัฐโลกที่สาม เช่น การลุกฮือของกบฏผีบุญในพม่า สยาม และชวาสมัยอาณานิคม กระนั้น ก็กลับมีคณะผู้ปกครองอำนาจนิยมจำนวนมิน้อยที่รอดพ้นจากการถาโถมของคลื่นปฏิวัติชาวนา พร้อมๆ กับได้รับความนิยมชมชอบจากกลุ่มเกษตรกรชนบท จนกลายเป็นฐานคะแนนที่ใช้ถ่วงดุลกับพลังปฏิวัติของคนในเมืองได้อย่างชะงัด
ต่อกรณีดังกล่าว งานศึกษาของ Ardeth Maung Thawnghmung นักรัฐศาสตร์พม่า ซึ่งมีชื่อว่า "Behind The Teak Curtain: Authoritarianism, Agricultural Policies and Political Legitimacy in Rural Burma/Myanmar" หรือที่อาจแปลเป็นภาษาไทยว่า "หลังม่านไม้สัก: อำนาจนิยม นโยบายเกษตร และความชอบธรรมทางการเมืองในชนบทพม่า" ถือเป็นงานวิเคราะห์ที่ทรงคุณค่าซึ่งช่วยฉายภาพปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างรัฐกับชาวนาได้ดีชิ้นหนึ่ง
ผู้เขียน ได้พยายามชี้ชวนให้เห็นว่า การเถลิงอำนาจของทหารพม่านับแต่การปฏิวัติโดยนายพลเนวินเมื่อปี ค.ศ.1962 จนถึงการครองอำนาจของสภาสันติภาพและพัฒนาแห่งรัฐ (SPDC) ที่แม้จะถูกกดดันคว่ำบาตรจากต่างประเทศหรือได้รับการโจมตีประท้วงก่อหวอดจากกลุ่มนักศึกษาและประชาชนในเขตเมืองใหญ่ๆ หากแต่ว่าคณะชนชั้นนำทหาร กลับสามารถยืนหยัดต่อกรกับแรงต้านทางการเมืองได้อย่างยาวนาน ซึ่งส่วนหนึ่งของความคงทนอาจเกิดจากการปฏิรูปนโยบายเกษตรของรัฐบาลเพื่อครองใจชาวนาชนบท จนทำให้เกิดแนวร่วมประชาชนทีมีขีดกำลังถ่วงดุลกับคู่ปรปักษ์ฝ่ายตรงข้าม
แต่กระนั้น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชาวนาก็เต็มไปด้วยกลไกความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ซับซ้อน โดยชาวนาพม่าแถบชนบทภาคกลาง กลับมิได้มองโครงสร้างการปกครองของรัฐทหารในฐานะองคาพยพที่มีเอกภาพ หากแต่มองว่าเป็นโครงข่ายที่แตกกระจายออกเป็นสองระดับใหญ่ๆ คือ ระดับเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง กับระดับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น รวมถึงเต็มไปด้วยพหุโครงสร้างแยกย่อย เช่น หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานของกองทัพภาคที่แผ่คลุมสายบังคับบัญชาจากบนลงล่างในลักษณะที่ตีคู่ขนานและทับซ้อนกันในหลายเขตงาน
โครงสร้างการปกครองเช่นนี้ ได้ทำให้ชาวนาพม่ามักดำเนินยุทธศาสตร์แบบตีประกบ (sandwich Strategy) เพื่อกดดันเรียกร้องให้กลไกรัฐระดับบนและระดับล่าง เคลื่อนตัวตีกระทบจนสามารถตอบสนองข้อเรียกร้องทางเศรษฐกิจของชาวนาได้ในบางระดับ อาทิ หากพบการฉ้อฉลของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจนทำให้สินค้าเกษตรมีราคาตกต่ำ กลุ่มชาวนาก็จะเข้าร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ส่วนกลางเพื่อกดดันลงโทษกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม แต่ทว่า การกระชับสัมพันธ์กับชนชั้นนำท้องถิ่น ยังคงมีปรากฏอยู่ต่อไปเพื่อสานผลประโยชน์ชาวนา เช่น การหนุนให้ญาติพี่น้องฝ่ายตนที่ได้รับเลือกให้เข้าไปอยู่ในกลไกปกครองท้องถิ่น เปิดประตูน้ำเพื่อผันน้ำจากคลองชลประทานเข้าแปลงนาตน
โครงข่ายความสัมพันธ์ที่พึ่งพากันเช่นนี้ ได้ช่วยพยุงให้รัฐพม่าใต้เงาเผด็จการทหารมีชีวิตยืนยาวอยู่ได้ถึงหลายสิบปี ซึ่งการหลอมรวมรั้วและกระดูกสันหลังชาติให้กระชับแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน ได้ส่งผลให้ชาวนารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณรัฐบาลทหารที่คอยยกระดับคุณภาพชีวิตตนผ่านการกระตุ้นนโยบายเกษตร เช่น การพยุงราคาสินค้าและรับซื้อข้าวจากชาวนา
ขณะที่ ฝ่ายรัฐบาลทหารก็คว้าคะแนนนิยมจากมวลชนชนบท ซึ่งนอกจากกลุ่มคนเหล่านี้จะตอบรับนโยบายเกษตรภาครัฐในระยะแรกแล้ว การฟื้นฟูประเพณีปลูกข้าวและพิธีไสยาศาสตร์โบราณเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองของคณะผู้ปกครองยังได้รับแรงหนุนมหาศาลจากกลุ่มชาวนา จนทำให้กองทัพกับชาวนาชนบท กลายเป็นฐานชนชั้นสายอนุรักษ์นิยม ที่ถ่วงดุลได้ดี กับกลุ่มนักคิดหัวก้าวหน้าในเขตเมืองที่มักจะได้รับความเห็นอกเห็นใจจากรัฐตะวันตกและองค์การระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายปิดประเทศ และความผิดพลาดหลายๆ ประการของระบอบสังคมนิยมวิถีพม่าของนายพลเนวิน ก็ไม่ได้ทำให้ชาวนาพม่ามีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนเมื่อเกิดการลุกฮือในปี ค.ศ.1988 ได้ปรากฏชาวนาพม่าส่วนหนึ่งแยกตัวออกมาเป็นแนวร่วมกับขบวนการปฏิวัติในเขตเมือง (แต่ก็ยังมีชาวนาอีกจำนวนหนึ่ง ที่ตัดสินใจสงวนท่าทีและไม่ต่อต้านรัฐบาลทหารอย่างรุนแรง)
กระนั้น เมื่อขบวนการนักศึกษา-ประชาชน ถูกโค่นล้มปราบปรามลงอย่างราบคาบ คณะทหารชุดใหม่ ยังคงสานต่อกุศโลบายเนวิน ด้วยการสร้างสัมพันธ์กับชาวนาผ่านเครือข่ายนโยบายเกษตร จนส่งผลให้ทั้งรัฐและชาวนายังคงกลายเป็นกลุ่มอำนาจที่มีอิทธิพลต่อการจัดวางยุทธศาสตร์พัฒนารัฐพม่า ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของโครงสร้างรัฐกสิกรรม
ท้ายที่สุด หวังว่าผลงานเรื่อง "หลังม่านไม้สัก" ของ Ardeth Maung Thawnghmung คงยังประโยชน์ต่อการวิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบในกลุ่มรัฐโลกที่สาม โดยในงานชิ้นนี้ ผู้เขียนได้เน้นย้ำอยู่หลายครั้งว่า ในสังคมของรัฐกำลังพัฒนาทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลที่ดีในสายตาของชนพื้นเมืองบางกลุ่ม ควรเป็นรัฐบาลที่สามารถตอบสนองความต้องการหรือสร้างผลประโยชน์ให้กับเครือข่ายท้องถิ่นต่างๆ โดยไม่เกี่ยงว่าจะต้องเป็นรัฐบาลทหาร รัฐบาลพลเรือน รัฐบาลอำนาจนิยม หรือรัฐบาลประชาธิปไตย
นอกจากนั้น ผู้เขียนยังได้เปรียบเทียบพฤติกรรมของผู้ปกครองและชาวนาภายใต้ระบอบทหารพม่า กับระบอบอำนาจนิยมหรือเบ็ดเสร็จนิยมของกลุ่มรัฐโลกที่สามอื่นๆ อาทิ โดมินิกันใต้นโยบายประชานิยมของรัฐบาลทหารตรูจิลโล (Trujillo) ฟิลิปปินส์ใต้นโยบายเอาใจเกษตรกรของเฟอร์ดินาน มาร์กอส และการปรับตัวของชาวนาเวียดนามเพื่อสร้างสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐผ่านยุทธศาสตร์ตีประกบ ซึ่งนับว่าเป็นมุมมองเปรียบเทียบที่สะท้อนถึงบทบาทและกลยุทธ์ทางการเมืองของกลุ่มชาวนาได้อย่างกว้างไกล
ขณะที่กรณีของรัฐไทย คงปฏิเสธมิได้ว่าชาวนาคือฐานคะแนนสำคัญของรัฐบาลพลเรือน ดังเห็นได้จากนโยบายประชานิยมและนโยบายจำนำข้าวของกลุ่มเครือข่ายรัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ แต่อีกมุมหนึ่ง ชาวนาเองก็กลับแปลงสภาพเป็นฐานอำนาจของกลุ่มรัฐบาลทหาร จนมีแนวโน้มว่าการรณรงค์เอาใจชาวนาพร้อมนโยบายปฏิรูปภาคเกษตร อาจกลายเป็นหนึ่งในจุดวิเคราะห์หลักของการเมืองไทยยุคหลังรัฐประหาร 2557
แต่ถึงอย่างนั้น ความซับซ้อนของสังคมชนบทชาวนาไทยซึ่งเริ่มเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับฐานอำนาจชนชั้นนำ ปัญญาชน นักธุรกิจ ตลอดจนสังคมเมืองและสังคมออนไลน์ รวมถึงระบบค่านิยมที่ระคนปะปนกันระหว่างโลกประเพณีนิยมกับสภาวะความเป็นสมัยใหม่หรือหลังสมัยใหม่ อาจทำให้ระบบความสัมพันธ์ระหว่างคณะทหารกับกลุ่มชาวนา มีความแปรปรวนลื่นไหลเป็นพัลวันจนยากที่จะทำนายทิศทางเครือข่ายอำนาจได้ในเร็ววัน
ทว่า แนวโน้มความสำเร็จหรือความล้มเหลวในนโยบายรับซื้อข้าวหรือนโยบายปฏิรูปภาคเกษตรของรัฐบาล คงเป็นตัวชี้วัดที่พอบ่งบอกถึงความทนทานทางการเมือง หรือแม้แต่ความรุ่งเรืองและความเสื่อมถอยของระบอบประยุทธ์ ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ดุลยภาค ปรีชารัชช