Skip to main content

 

เมื่อพลิกดูประวัติศาสตร์การเมืองและภูมิวัฒนธรรมบาหลี บรรดาคออุษาคเนย์ศึกษา อาจคุ้นเคยกับงานคลาสสิกของนักมานุษยวิทยาชื่อดังอย่าง Clifford Geertz ที่ว่าด้วยเรื่อง "Negara: The Theatre State in Nineteenth-Century Bali" ซึ่งเป็นงานที่มุ่งอธิบายคุณลักษณะของรัฐโบราณบาหลี ในฐานะ "รัฐนาฏกรรม" โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงพิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์ผ่านท้องพระโรงอันศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าเหนือหัว

รากฐานของนคระ ตามคำอธิบายของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ มักประกอบด้วย 1. ศิวลึงค์ ที่สื่อถึงพลังเหนือธรรมชาติของพระราชา 2. ปัทมาสน์ หรือ บัลลังก์ดอกบัว ที่หมายถึงพระราชวังอันเป็นศูนย์กลางแห่งโลกนคระ และ 3. ศักติ หรือ อาญาสิทธิ์และความเคารพนบนอบ โดยทั้งสามสิ่งย่อมกลืนกันไปกับสภาพที่แท้จริงของสังคมบาหลี จนกล่าวได้ว่า แนวคิดเรื่องรัฐนาฏกรรมหรือรัฐโรงละคร ได้กลายมาเป็นชุดคำอธิบายหลักที่ว่าด้วยเรื่องรูปของรัฐ ตลอดจนความรุ่งเรืองเสื่อมทรุดล่มสลายของรัฐโบราณต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กระนั้น จุดเด่นของอาณาจักรคลาสสิกอุษาคเนย์ อาจสามารถวิเคราะห์ได้ผ่านแนวคิดการบริหารจัดการน้ำและนวัตกรรมทางการเกษตรซึ่งผูกติดอยู่กับโลกกายภาพและโลกจิตวิญญาณของบรรพชนคนอุษาคเนย์อย่างลึกซึ้ง รวมถึงเป็นรากฐานสำคัญของจุดกำเนิดรัฐกสิกรรมหรืออุทกอาณาจักร (Agricultural State/Hydraulic Kingdom) ในสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคก่อนอาณานิคม

ต่อข้อกรณีดังกล่าว หนังสือเรื่อง "Perfect Order: Recognizing Complexity in Bali" (Princeton University Press: 2006) ของ J. Stephen Lansing นักมานุษยวิทยาและนักชลประทานวิทยาจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา ได้ช่วยเปิดประเด็นวิเคราะห์เกี่ยวกับรากฐานความรุ่งเรืองของรัฐจารีตอุษาคเนย์ ผ่านแง่มุมทางภูมิศาสตร์วัฒนธรรม ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการวางระบบจัดการน้ำให้เข้าไปอยู่ในวงจรสัมพันธ์ของระบบการเมืองและระบบเพาะปลูก โดยใช้พื้นที่บาหลีเป็นกรณีศึกษาหลัก

แรงบันดาลใจของ Lansing เกิดจากข้อสงสัยเกี่ยวกับความล้มเหลวของนโยบายเกษตรกรรมภายใต้แผนพัฒนาห้าปี ซึ่งถูกผลักดันในช่วงปลายทศวรรษ 1960 อันเป็นช่วงจังหวะที่นายพลซูฮาร์โตเถลิงอำนาจขึ้นหมาดๆ

ยุทธศาสตร์การทำให้เป็นสมัยใหม่ (Modernization) ของรัฐบาลอินโดนีเซีย ได้เน้นหนักไปที่การปรับภูมิทัศน์เกษตรผ่านการสร้างข่ายชลประทานขนาดใหญ่พร้อมการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งผลิตผลทางการเกษตร โดยในเกาะบาหลี พบว่านโยบายภาครัฐที่มุ่งตอบสนองการส่งออกสู่ตลาดระหว่างประเทศ ได้ทำลายระบบจัดการน้ำที่มีอยู่แต่ดั้งเดิมของสังคมบาหลี พร้อมหักล้างถางป่าและทลายชุมชนเกษตรตามต้นน้ำต่างๆในวงกว้าง จนนำมาสู่การเคลื่อนไหวของชาวนาเพื่อหวนกลับไปสู่ภูมิปัญญาจัดการน้ำแบบดั้งเดิมของบาหลี

จุดเด่นของนวัตกรรมชลประทานบาหลี ได้แก่ ภูมิทัศน์วัฒนธรรมของระบบนาข้าวแบบขั้นบันได โดยมีวัดทำหน้าที่ควบคุมและบริหารแจกจ่ายน้ำผ่านคลองชลประทานและคันกั้นน้ำ (ฝาย) ซึ่งสามารถทำการบริหารจัดการน้ำครอบคลุมพื้นที่ได้ถึง 195 ตารางกิโลเมตร โดยนอกจาก "วัดน้ำ" หรือ "อุทกอาราม" ซึ่งเป็นการสร้างศาสนสถานที่แวดล้อมไปด้วยสระน้ำและระบบคูคลอง อันเป็นการประสานโลกธรรมชาติให้เข้ากับโลกเหนือธรรมชาติได้อย่างลงตัวแล้ว กลุ่มชุมชนริมน้ำ (Subak/สุบัก) หรือสมาคมชาวนาที่ตั้งอยู่รายรอบองค์อุทกอาราม ก็นับเป็นหน่วยวิเคราะห์ที่มีผลต่อความสำเร็จของระบบชลประทานบาหลี

ระบบ 'สุบัก' เปรียบเหมือน วงชุมชนหมู่บ้านที่เน้นการบริหารจัดการน้ำแบบกระจายอำนาจเชิงสมดุล ซึ่ง Lanzing มองว่า เป็นคุณลักษณะแบบประชาธิปไตยบนลัทธิเสมอภาคนิยม (Egalitarianism) โดยการกำหนดนโยบายเกษตรของชาวนา จะมาจากการมีส่วนร่วมของผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งในเขตต้นน้ำและปลายน้ำ ซึ่งมีการให้สิทธิ์ออกเสียงสูงสุดแก่เจ้าของนาที่อยู่บนภูมิประเทศขั้นต่ำสุด เนื่องจากเป็นผู้ได้รับผลกระทบสูงสุดจากการตัดสินใจผลิตนโยบายเกษตรของสมาชิก

อนึ่ง Lansing ยังได้ตั้งกรอบวิเคราะห์แบบ "ทวิภาวะต้นน้ำ-ปลายน้ำ" หรือ "Upstream-Downstream Duality" เพื่อหาจุดสมดุลของการเจรจาต่อรองแบ่งสรรทรัพยากรน้ำระหว่างสองเขตภูมิศาสตร์หลัก โดยเขามองว่ากิจกรรมดังกล่าวถือเป็นเกมแห่งความร่วมมือ หรือ "Game of Cooperation" ซึ่งเต็มไปด้วยหลักประสานผลประโยชน์แบบถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ

ตามปกติ แม้ชุมชนต้นน้ำจะมีความได้เปรียบในการบริหารทรัพยากรน้ำเนื่องจากมีทำเลตั้งอยู่ตรงขั้นบันไดชั้นบน จึงทำให้เป็นผู้ควบคุมน้ำไปโดยปริยาย หากทว่า อัตราการใช้น้ำที่สูงไปจนส่งผลต่อการผลิดอกออกผลอย่างดกดื่นของต้นข้าวในเขตชุมชนตอนบน ได้ยั่วเย้าให้เหล่าศัตรูพืช เช่น หนู กระต่าย และ ตั๊กแตน ที่ขาดแคลนอาหารในเขตชุมชนปลายน้ำ ทำการอพยพขึ้นเหนือเพื่อกัดกินทำลายรวงข้าวของกลุ่มเกษตรกรต้นน้ำ ซึ่งสภาพเงื่อนไขเช่นว่านี้ ได้บีบบังคับให้ชาวนาตอนบนยอมจ่ายน้ำเข้าสู่นาขั้้นบันไดชั้นล่างเพื่อรักษาสภาวะสมดุลเชิงนิเวศน์

นอกจากนั้น Lansing ยังได้ประดิษฐ์สมการพื้นฐาน ภายใต้สูตรคำนวณที่ว่า หากชุมชนต้นน้ำบนแควหรือลำธารสายหนึ่ง ปลูกข้าวในระยะเวลาเดียวกันกับชุมชนปลายน้ำในเขตเดียวกัน ผลผลิตของชุมชนแรกย่อมสูงกว่าชุมชนหลัง ซึ่งเขียนเป็นสมการได้ว่า ผลผลิต A มีค่าเท่ากับ 1 แต่ผลผลิต B มีค่าเท่ากับ 1-W (Water) ทั้งนี้เนื่องจากชุมชนปลายน้ำมักมีข้อจำกัดในการใช้น้ำที่เหลือมาจากชุมชนตอนบน แต่กระนั้น กลุ่มศัตรูพืชในเขตชุมชน B ก็อาจทำการเคลื่อนย้ายเข้าหานาข้าวของ A จนสร้างความเสียหายให้กับชุมชนต้นน้ำได้เช่นกัน

ต่อกรณีดังกล่าว หากชุมชนทั้งสองทำการปลูกข้าวในระยะเวลาต่างกัน ก็ย่อมส่งผลให้ปัญหาขาดแคลนน้ำในชุมชน B ชะลอเบาบางลง พร้อมกระตุ้นให้ศัตรูพืชเคลื่อนย้ายกระจายไปตามเขตต้นน้ำและปลายน้ำได้อย่างมีสมดุล จนไม่สร้างความเสียหายให้กับชุมชนใดชุมชนหนึ่งอย่างใหญ่หลวง

งานศึกษาของ Lansing ถือเป็นความพยายามที่จะสร้างแบบสถานการณ์จำลอง (Simulation Model) เพื่ออธิบายระบบจัดการน้ำเชิงสมดุลระหว่างขั้วภูมิศาสตร์ต้นน้ำ-ปลายน้ำ อย่างเป็นระบบระเบียบ จนสามารถมองเห็นถึงความสลับซับซ้อนของชุมชนธรรมชาติ หรือ สุบักและอุทกอาราม ที่ประกอบด้วยเครือข่ายชุมชนใช้น้ำที่ตั้งเรียงรายไปตามแบบแผนของระบบนาขั้นบันได ซึ่งแผนผังการจัดการน้ำเช่นนี้นี่เอง ที่ Lansing มองว่า เป็นต้นทุนอันวิเศษสุดซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ในโครงสร้างสังคมบาหลีมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ ในความเป็นจริง องค์ราชา นคระ หรือ รัฐนาฏกรรมบาหลีแต่เก่าก่อน ได้ล่มสลายไปนานแล้ว นับตั้งแต่การค่อยๆถูกกลืนกลายทางอารยธรรมโดยอาณาจักรมัชปาหิตและจักรวรรดินิยมเนเธอแลนด์

กระนั้น ความอยู่รอดของระบบสุบักและอุทกอาราม ที่เต็มไปด้วยเครือข่ายส่งน้ำอันซับซ้อน ทั้งแนวคันคลองหรือแนวอุโมงค์ที่สร้างด้วยการเจาะหินและต่อไม้ไผ่เพื่อแจกจ่ายน้ำตามชุมชนขั้นบันไดตามไหล่เขา คงมิสามารถอธิบายได้ด้วยแบบสมการของ Lansing เพียงอย่างเดียว หากแต่โลกวิเคราะห์แนววิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ของ Lansing อาจจะมีความเชื่อมโยงกับโลกวิเคราะห์แนวเหนือธรรมชาติที่อยู่เคียงคู่กับระบบคิดของคนอุษาคเนย์มาเป็นเวลาช้านาน

การหาคำอธิบายเกี่ยวกับการจัดการน้ำแบบมีสมดุลในบาหลี อาจสามารถตั้งประเด็นไปที่แนวคิดทางปรัชญาที่เรียกกันว่า "ไตรหิตครณะ" ซึ่งเป็นรากฐานความเชื่อแบบฮินดูที่แพร่หลายอยู่ในอาณาจักรบาหลีนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 9 โดยมีต้นกำเนิดจากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเชิงภารตภิวัฒน์ (Indianization) ระหว่างบาหลีกับอินเดีย โดยแกนกลางของหลักปรัชญาเช่นว่า ตั้งอยู่บนหลักความสมดุลกลมกลืน 3 ประการ อันเป็นหลักในการสร้างความสงบสุขแก่ชีวิต ซึ่งได้แก่ ความสมดุลระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า มนุษย์กับมนุษย์และมนุษย์กับธรรมชาติ

ซึ่งคงเป็นประเด็นที่ตื่นตาตื่นใจมิใช่น้อย หากมีการนำกรอบค้นคว้าของ Lansing เข้าไปอธิบายหรือตั้งประเด็นอภิปรายร่วมกันกับปรัชญาแบบไตรหิตครณะ โดยแนวทางดังกล่าว อาจสะท้อนให้เห็นว่า วิวัฒนาการของรัฐบาหลีหรือรัฐอุษาคเนย์อื่นๆ ที่มักถูกอธิบายกันว่าเกิดจากความเชื่อในเวทมนต์ศักดิ์สิทธิ์ของจอมเทวะหรือโลกวิญญาณเหนือธรรมชาติอื่นๆ อาจถือกำเนิดหรือมีพัฒนาการร่วมกันกับหลักคิดเชิงวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ได้อย่างแนบเนียนและมีสมดุล ซึ่งการค้นคว้าวิจัยว่าด้วยเรื่องชุมชนอุทกอารามในบาหลี อาจกลายมาเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ช่วยไขปริศนาของโลกลี้ลับแห่งรัฐจารีตอุษาคเนย์ได้อยู่อีกมาก

ท้ายที่สุด คงหวังว่า การเปิดประเด็นเรื่องความซับซ้อนสมดุลของระบบจัดการน้ำในบาหลี คงเป็นประโยชน์มิใช่น้อย ต่อการขยายแนววิเคราะห์ทางด้านอินโดนีเซียและบาหลีศึกษา หรือแม้กระทั่งเรื่องเศรษฐกิจการเมืองของอาณาจักรหรือรัฐกำลังพัฒนาต่างๆ ในโลกที่สาม เช่น ความรุ่งเรืองของรัฐกสิกรรมแบบรวมศูนย์ อย่าง ความรุ่งเรืองของจักรวรรดิอียิปต์ จักรวรรดิพระนครของกัมพูชา หรือแม้แต่อาณาจักรชวา ที่มักถูกอธิบายว่าพลังการผลิตอันยิ่งใหญ่ของระบบจัดการน้ำอันซับซ้อนในรัฐเหล่านี้ มักเชื่อมโยงผูกติดอยู่กับแนวคิดเทวราชาแบบรวมศูนย์

หากแต่ กรณีของบาหลี กลับแสดงให้เห็นถึงพลังการผลิตแบบมีสมดุลบนฐานของการกระจายอำนาจและการจัดการปกครองแบบมีส่วนร่วม (Collaborative Governance) จน Lansing เอง ก็ถึงกลับเอ่ยยกย่องว่าบาหลีเปรียบประดุจดั่งสาธารณรัฐแบบกึ่งอิสระ หรือ "Quasi-Autonomous Republics" ซึ่งการก่อตัวของหน่วยการเมืองเหล่านี้ มักมาจากความเป็นอิสระของชุมชนนาขั้นบันไดตามย่านต่างๆ โดยชุมชนเกษตร มักมีอำนาจจัดการปัญหาท้องถิ่นที่เป็นอิสระและค่อนข้างแยกห่างจากระบบควบคุมของราชสำนัก

ขณะเดียวกัน ยุทธศาสตร์การพัฒนากระแสหลักที่ถูกนำมาปรับใช้ในรัฐอินโดนีเซียหรือรัฐโลกที่สามอื่นๆ ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งส่งผลต่อการสูญเสียพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมาก การสร้างโครงข่ายชลประทานครอบทับข่ายกสิกรรมโบราณ (โดยไม่คำนึงถึงระบบความสัมพันธ์เชิงนิเวศน์ที่เคยเป็นมาในอดีต) หรือการดึงท้องถิ่นให้ละทิ้งภูมิปัญญาชาวบ้านแล้วหันมาเสพนโยบายรัฐส่วนกลางตามคำแนะนำของประเทศมหาอำนาจอย่างเต็มที่ ล้วนแล้วแต่เป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงข้อบกพร่องของยุทธศาสตร์การพัฒนาของรัฐโลกที่สามในระบบการเมืองโลก

ฉะนั้น จึงหวังว่า ความพยายามที่จะฟื้นคืนระบบสัมพันธ์เชิงสมดุลของบรรพชนโบราณ (หากแต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยีสมัยใหม่เสียทีเดียว) โดยมีการนำรากฐานในอดีตเข้ามาหลอมรวมกับนวัตกรรมโลกาภิวัฒน์ในอัตราจังหวะที่เหมาะสม คงจะเป็นตัวแบบที่รัฐและสังคมไทย (ซึ่งมีความล้มเหลวหลายๆจุดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนา หรือ นโยบายกระตุ้นผลผลิตข้าว) ควรหันมาใส่ใจและเตรียมแก้ไขปัญหากันอย่างจริงจัง

โดยประสบการณ์จัดการน้ำในบาหลี อาจช่วยเปิดโลกทัศน์และไขปริศนาให้กับการพัฒนารัฐและสังคมไทย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 


 

บล็อกของ ดุลยภาค