Skip to main content

 

ผมมีความเชื่อว่า การเปิดศึกโจมตีกองกำลังรัฐฉานภาคเหนือของทัพทหารเมียนมา มีความสัมพันธ์กับเกมต่อรองอำนาจระหว่างทหารเมียนมากับรัฐบาลใหม่หลังศึกเลือกตั้ง พร้อมเป็นแผนยุทธศาสตร์ทหารที่มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้ามาพอสมควร

ทว่า แรงบีบคั้นจากภัยสงครามที่ส่งผลให้เกิดการแตกกระเจิงระหกระเหินไร้ที่ทำกินของชาวบ้านจำนวนมาก อาจทำให้ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ระหว่างชนชาติพม่าแท้กับชนชาติไทใหญ่หรือพหุชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ร้าวลึกจนมีผลให้กระบวนการสร้างรัฐสร้างชาติของเมียนมายุคใหม่ ต้องสั่นคลอนและติดขัดอีกคำรบ

ต่อกรณีดังกล่าว ผมให้สัมภาษณ์กับ คุณอุรชัย ศรแก้ว นักข่าวที่มากด้วยคุณภาพจากไทยพีบีเอส โดยเบื้องล่าง คือ บทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม ว่าด้วยเรื่องสถานการณ์การสู้รบในรัฐฉานรอบล่าสุด (ถอดบทสัมภาษณ์โดยอุรชัย)


บทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม

"มหายุทธศาสตร์กองทัพเมียนมา กับอำนาจต่อรองในรัฐบาล NLD"
โดย ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเอเชียอาคเนย์ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
.......................................

จริงๆ แล้วมันเป็นแผนยุทธศาสตร์ของทหารเมียนมาตั้งแต่การตั้งรัฐบาลเต็งเส่งเมื่อปี 2554 ว่าจะโจมตีกลุ่มไหนบ้าง ไม่ว่าจะเป็นคะฉิ่น โกก้าง ล่าสุดคือกองทัพรัฐฉานภาคเหนือ เพียงแต่เค้าดูทิศทางเวลาอย่างช่วงเวลานี้หลังการเลือกตั้ง มันเป็นสุญญากาศ และหลายคนให้ความสนใจประเด็นเลือกตั้ง ใครจะมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ คณะรัฐมนตรีใหม่ มันจะเป็นสุญญากาศที่ทำให้ทหารเมียนมาโจมตียุทธศาสตร์สำคัญของกองกำลังรัฐฉานภาคเหนือ

สงครามรัฐฉานเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกวางแผนไว้ล่วงหน้าของทัพเมียนมา ซึ่งสัมพันธ์กับการลดสลายพลังต่อรองของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่บะหม่า หรือพม่าแท้ โดยมีการไล่ลำดับเข้าตีแต่ละกลุ่มตามวงรอบสถานการณ์ เช่น กลุ่มคะฉิ่นในช่วงต้นรัฐบาลเต็งเส่ง กลุ่มโกก้างในช่วงปลายรัฐบาลเต็งเส่ง และกลุ่มรัฐฉานเหนือในช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาลเต็งเส่งกับรัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงกลุ่มกองทัพสหรัฐว้าและกองทัพรัฐฉานภาคใต้ ราวช่วงปีหน้าหรือหลังจากนั้น

ขณะเดียวกัน ทหารเมียนมา มักเชื่อว่าการสร้างรัฐให้มีเสถียรภาพจะต้องทำผ่านสงครามเพื่อกวาดล้างขั้วปฏิปักษ์เท่านั้น กอปรกับ ความพยายามของทหารเมียนมาที่จะเพิ่มบทบาทแม่ทัพภาคเพื่อคานอำนาจกับมุขมนตรี และ ครม. ประจำมลรัฐที่อาจแต่งตั้งมาจากคนของพรรค NLD การคงสงครามในรัฐชาติพันธุ์จึงเป็นสิ่งจำเป็น

ในรัฐฉาน มีกองทัพภาคสี่แห่ง คือ ที่ลาเสี้ยว เชียงตุง ตองจี และขัวหลำ ในส่วนขัวหลำ-เกซี เรียกว่าภาคทหารบกตะวันออกกลาง เป็นกองทัพภาคแห่งใหม่ มีพื้นที่ปฏิบัติการครอบทับฐานกำลังกองทัพรัฐฉานภาคเหนือ หากแต่สถานภาพที่เป็นหน่วยจัดตั้งใหม่ จึงเป็นการเดินเกมที่สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์หน่วยเหนือของแม่ทัพภาคขัวหลำ ที่จะแสดงผลงานของกำลังพลประจำหน่วยพร้อมเสริมอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าหน่วยให้มากขึ้น

ฉะนั้น สนามรบในรัฐฉานภาคกลางที่ซ้อนทับกับ Command and Control Operational Line ของกองทัพภาคแห่งใหม่ จึงถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม

 Helicopter รุ่นล่าสุดที่กองทัพเมียนมามี คาดว่าอาจใช้ในการรบที่รัฐฉานในอีกไม่ช้า

การโจมตีกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉานครั้งนี้ มันสำคัญกับอิทธิพลและอำนาจต่อรองของกองทัพเมียนมาหลังจากนี้ เพราะมุขมนตรีที่จะขึ้นมาในรัฐฉานอาจจะต้องมาจากพรรค NLD และ ครม. ประจำรัฐฉานหรือรัฐชาติพันธุ์ต่างๆ จะมาจากพรรค NLD เป็นส่วนใหญ่ยกเว้นบางกระทรวงเท่านั้น

ดังนั้น มันจำเป็นต้องมีสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เพื่อให้กองทัพเมียนมามีอำนาจต่อรอง และโฟกัสไปที่ภูมิภาครัฐฉาน แม่ทัพภาคจะได้มีโอกาสแสดงฝีมือ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว เสนาธิการทหารเมียนมาเค้าจะมีแผนอยู่แล้วว่าจะโจมตีกลุ่มไหน ช่วงไหน ปีไหนบ้าง

ผมอยากให้จับตาดูพลวัตไตรภาคีระบบการเมืองเมียนมา ซึ่งเมื่อก่อนมีกลุ่มรัฐบาลเมียนมา กลุ่มอองซาน ซูจี และกลุ่มชาติพันธุ์ แต่คราวนี้มันเริ่มเปลี่ยนไป กลุ่มที่คัดค้านรัฐบาลเมียนมาสมัยก่อน อย่างกลุ่มซูจี หันไปเตรียมตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งอาจทำให้กลุ่มชาติพันธุ์บะหม่าหรือเมียนมา/พม่าแท้ มีอิทธิพลสูงในการจัดสรรทรัพยากรภายในประเทศ และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อาจเริ่มถูกโดดเดี่ยว ซึ่งทำให้ต้องจับตาดูต่อไปว่าเหตุการณ์ในรัฐฉาน จะทำให้คนที่ไม่ใช่เมียนมา/พม่าแท้ ลุกฮือหรือเข้าเรียกร้องผลประโยชน์ในโครงสร้างการปกครองใหม่ได้แค่ไหน


แสดงว่าการลงนามในสัญญาหยุดยิงไม่การันตีความสงบได้เลย ?

เมื่อพลิกดูประวัติการยิงแต่ละกลุ่มที่ผ่านมา รัฐบาลเมียนมาก็เจรจาหยุดยิง แต่สักพักก็ส่งกำลังไปชิงกองบัญชาการยุทธศาสตร์ของกลุ่มนั้นๆ เสียเอง เหมือนเจรจาไปพลางรบไปพลาง ต้องดูเอกภาพหรือมุมคิดของรัฐบาลเมียนมา ที่ผ่านมาก็คือ USDP และกองทัพเมียนมาจะมีท่าทีต่อกลุ่มชาติพันธุ์แตกต่างกันออกไป

เราจะเห็นว่าแม้รัฐบาลเจรจาสันติภาพ แต่กองทัพก็มีมหายุทธศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นที่ นายพลตานฉ่วย เคยฝากมา หรือนายพลมิน อ่อง ลาย ที่สั่งให้ส่งกำลังไปล้อมปราบกลุ่มกำลังชาติพันธุ์ที่สำคัญ

ผมคิดจริงๆ ว่า มันเป็นสัจนิยม (Realism) สุดท้ายอำนาจต้องชิงไหวชิงพริบกัน และกองทัพเมียนมาก็ใช้นโยบายแบ่งแยกและปกครองแบบนี้อยู่ร่ำไปเพื่อไม่ให้กลุ่มชาติพันธุ์มีอำนาจต่อรองมากนัก หลักสันตินิยมเป็นแค่ภาพพจน์เฉพาะกาล และช่วงนี้ก็เป็นสุญญากาศทางการเมืองที่รอการตั้งรัฐบาลใหม่

แม้รัฐบาลของ อองซาน ซูจี จะขึ้นมามีอำนาจ ก็อาจมีความท้าทาย 2 ประการ คือ รัฐบาลจะใช้ความเป็น บะหม่า เข้าจัดการต่อรองกับกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดและสร้างสมดุลอย่างเป็นธรรมได้หรือไม่อย่างไร เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ก็มองว่า พม่าก็คือพม่า วันนี้คนไทใหญ่พูดถึงการโจมตีครั้งนี้เยอะว่าอย่างไรเสีย รัฐบาลซูจี คงคุยเรื่องสันติภาพได้ดีขึ้น แต่ผลประโยชน์ก็เป็นของคนเมียนมาส่วนใหญ่อยู่ดี นี่คือความท้าทาย

และสุดท้ายตัวกองทัพเองจะใช้สถานการณ์ความไม่มั่นคงในรัฐชายแดน เช่น รัฐคะฉิ่นและรัฐฉาน เข้าเป็นอำนาจต่อรองได้มากน้อยแค่ไหน

จริงอยู่ครับ ซูจี เป็นประธานาธิบดีไม่ได้ จริงอยู่กระทรวงมหาดไทย กลาโหม กิจการชายแดน ยังเป็นคนของ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่อิทธิพลที่ทำให้มีสถานการณ์ปั่นป่วนเกิดขึ้นและทำให้กองทัพมีพลังมากกว่าหรือใกล้เคียงกับกลุ่มการเมืองของ ซูจี มุขมนตรี หรือ ครม. ที่จะมาจากพรรค NLD สถานการณ์ที่ไม่มั่นคงจะทำให้การเจรจาสันติยืดยาวไม่จบสิ้น


การยุบหน่วยเลือกตั้งในรัฐฉานจะส่งผลอะไรในอนาคตมั้ยครับ ?

ถ้าเราดูสนามเลือกตั้งของพี่น้องฉานเค้าก็อยากให้มี แต่ระดับมหภาค รัฐบาลไม่แคร์ตรงนี้มาก สิ่งที่เค้าแคร์คือใช้การค้างเติ่งไม่มีการเลือกตั้งตรงนี้ เป็นอำนาจต่อรอง จัดการกลุ่มที่ยังเป็นปฏิปักษ์

กลุ่มกองทัพรัฐฉานภาคเหนือมีสัมพันธ์กับเครือข่ายคอมมิวนิสต์เมียนมาเก่า และกลุ่มกองทัพสหรัฐว้า กลุ่มเหล่านี้ไม่ได้ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศเมื่อ 15 ต.ค. เลยใช้ข้อนี้เป็นบันไดสำคัญในการกดปราบจัดการ และใช้สถานการณ์ไม่มั่นคงมาต่อรองอำนาจสำหรับกองทัพ ว่าอย่างไรเสีย กองทัพก็มีบทบาทรักษาความมั่นคงแห่งชาติ และภูมิทัศน์ชายแดน และเป็นเรื่องผลประโยชน์ของ บะหม่า ชนชาติเมียนมา/พม่าแท้และชาติพันธุ์ ซึ่งกลุ่มหลังเริ่มจะเสียเปรียบ

เครดิตของ อองซาน ซูจี ก็ได้จากพ่อของเธอ นายพลอองซาน ว่าด้วยเรื่องสัญญาปางโหลง และร่างรัฐธรรมนูญ 1947 ที่มอบหลักให้เมียนมาปกครองแบบสหพันธรัฐนิยม มีการกระจายอำนาจค่อนข้างเท่าเทียมกัน กลุ่มชาติพันธุ์สามารถรักษาอัตลักษณ์และจัดสรรทรัพยากรได้

ปัจจุบัน การจัดการตรงนี้มันเปลี่ยนไป อย่างที่ผมเรียนไว้แล้วว่า พลวัตรไตรภาคีของประวัติศาสตร์การเมืองเมียนมา ที่ผ่านมา มันเป็นการต่อรองระหว่างรัฐบาลที่ปกครอง USDP NLD และกลุ่มชาติพันธุ์ที่มียิบย่อยมาก คราวนี้เกมพลิก ในเมื่อ NLD ไปตั้งรัฐบาล แม้จะเป็นรัฐบาลที่ขัดแย้งกับรัฐบาลเมียนมาเดิมอยู่บ้าง แต่สุดท้ายเค้าจะกลายเป็นกลุ่มอำนาจสำคัญที่เป็นตัวแทนเจรจากับชนกลุ่มน้อย

ชนกลุ่มน้อยก็มีหลายกลุ่ม บางกลุ่มเชื่อมั่นในตัว ซูจี ว่าอย่างไรเสียบุคลิกเธอน่าจะดีกว่าชนชั้นนำทหารแน่ แต่อีกกลุ่มก็บอกว่า ไม่ว่า ซูจี หรือใครจะขึ้นมา พม่าก็คือพม่า ไม่ใช่ชนชาติพันธุ์ ฉะนั้นกลุ่มชาติพันธุ์ต้องเพิ่มแนวร่วม หรือเข้าไปเล่นการเมืองระดับชาติในเมียนมาให้มากขึ้น

ผมพูดแบบนี้หมายความว่า ตัวกลุ่มชาติพันธุ์เองก็มีกองกำลังติดอาวุธ มีภาคประชาสังคม และมีกลุ่มพรรคการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้ง 3 กลุ่มเห็นพ้องต้องกันว่ารัฐบาลใหม่เข้ามา ก็จะมีการผลักดันสหพันธรัฐ กระจายอำนาจที่แท้จริง แต่ทุกกลุ่มจะมียุทธศาสตร์การต่อสู้ให้ได้อำนาจที่ไม่เหมือนกัน

ขณะที่กลุ่มกองทัพรัฐฉานภาคเหนืออาจจะคิดเหมือนกองทัพรัฐฉานภาคใต้ว่า อยากจะให้มีสหพันธรัฐแท้จริง แต่เค้าเองก็มีสายสัมพันธุ์กับกองทัพสหรัฐว้า ซึ่งแคร์การตั้งรัฐว้าที่ฉีกออกมาจากรัฐฉานมากกว่า ซึ่งทำให้ผลประโยชน์มันอึมครึมและขัดแย้งกันอยู่ มีเป้าหมายและยุทธศาสตร์แตกต่างกัน ฉะนั้นปัญหาคือการแตกความสามัคคี และสภาวะกระจัดกระจายของขั้วพันธมิตร

ส่วนหนึ่งผู้เจรจามีความสำคัญ ในอดีต คือ อู อ่อง มิน เข้าไปสานสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ได้เร็วมาก มีการเจรจาหยุดยิง แต่มาวันนี้ทุกอย่างเกียร์ว่างเป็นสุญญากาศชั่ววูบ เพราะต้องรอหน้าตาของ ครม. ชุดใหม่ทั้งหมด และรอตั้งผู้แทนเจรจาสันติภาพ เราตอบไม่ได้ว่าเขาจะตั้งใคร

ซูจี เข้ามาจะลดความเป็น บะหม่า หรือเมียนมา/พม่าแท้ แล้วจัดการทรัพยากรส่วนใหญ่กระจายให้ชนชาติพันธุ์ได้เท่าเทียมแค่ไหนอย่างไร เป็นประเด็นท้าทาย เพราะชนชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ก็คิดว่า ซูจี น่าจะมีทักษะที่ดีในการเจรจา แต่ ซูจี ก็คือ พม่า อย่างไรซะชนชาติพันธุ์ก็คงต้องเล่นเกมต่อรองอื่นๆให้มากขึ้น ตรงนี้คือความท้าทายครับ


ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 


สำหรับผู้อ่านท่านใดสนอยากชมคลิปไทยพีบีเอส ว่าด้วยเรื่องความเดือนร้อนของชาวบ้านในพื้นที่สู้รบ พร้อมบทวิเคราะห์เกี่ยวกับเหตุปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการเข้าตีของทหารพม่า ติดตามการรายงานของคุณอุรชัย ศรชัย ตั้งแต่นาทีที่ 14.10 เป็นต้นไป

ส่วนรายงานข่าวรัฐฉานหรือประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาจติดตามได้จากเพจของคุณอุรชัย ศรแก้ว ครับ
 

 

บล็อกของ ดุลยภาค