บทเรียนจากเลือกตั้งไต้หวัน

 

ผ่านไปแล้วสำหรับกระแสร้อนการเมืองไต้หวัน ซึ่งจบลงด้วยการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งของนางไซ่ อิง เหวิน (หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านประชาธิปไตยก้าวหน้า) ในฐานะประธานาธิบดีคนใหม่และประมุขหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ไต้หวัน จากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากโลกการเมืองไต้หวัน คำตอบอาจมีหลากหลาย อาทิ

1. ไต้หวัน แสดงให้เห็นถึงกระแสผู้นำสตรี (Female Leader) ที่กำลังโลดแล่นอยู่บนภูมิทัศน์การเมืองเอเชีย โดยนับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจหากจะนำไปเทียบกับสถานการณ์ในปากีสถาน ศรีลังกา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา และไทย ซึ่งเคยมีผู้นำสตรีมาแล้วในประวัติศาสตร์สมัยใหม่

2. ไต้หวัน แสดงให้เห็นว่านักวิชาการ/อาจารย์มหาวิทยาลัย ก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารหรือเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศได้ โดยภูมิหลังของนางไซ่ อิง เหวิน ที่เคยดำรงตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยพร้อมจบการศึกษาระดับปริญญาเอก ถือเป็นตัวอย่างที่เด่นชัด

3. ไต้หวัน แสดงให้เห็นว่าทัศนคติทางการเมืองของเยาวชนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ พร้อมการรับรู้ซึมซับวัฒนธรรมการเมืองผ่าน Social Media ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการโหวตของเยาวชนไต้หวันที่เทคะแนนไปที่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (จนนำมาสู่ความปราชัยของพรรคชาตินิยมก๊กมินตั๋ง)

4. ไต้หวันเป็นประเทศที่มีระบอบการเมืองการปกครองที่น่าสนใจ โดยเป็นประชาธิปไตยแบบกึ่งประธานาธิบดีคล้ายฝรั่งเศส พร้อมมีความแตกต่างจากหลายๆ รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ เมียนมา/อินโดนีเซีย ที่ใช้ระบบประธานาธิบดี (Presidential System) หรือ ไทยในหลายช่วงสมัยที่ใช้ระบบรัฐสภา (Parliamentary System) ขณะเดียวกัน ไต้หวัน ได้ใช้ระบบเลือกตั้งทั้งแบบเสียงข้างมาก (Majoritarian System) และแบบสัดส่วน (Proportional System) แถมมีโครงสร้างพรรคการเมืองเป็นแบบพหุพรรคที่ถูกครอบด้วยระบบสองหรือสามพรรคเด่นเดียวอีกทีหนึ่ง

5. ไต้หวันใช้สูตรการแบ่งอำนาจบริหารปกครองที่มีเอกลักษณ์ คือ แทนที่จะแบ่งเป็นสามฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ไต้หวันกลับสร้างจุดพิเศษโดยแบ่งอำนาจออกเป็น 5 ส่วนที่เป็นอิสระไม่ก้าวก่ายกันพร้อมคานอำนาจซึ่งกันและกัน ซึ่งเรียกโดยทั่วไปว่าสภา (ได้แก่ สภานิติบัญญัติ สภาบริหาร สภาศาล สภาสอบรับข้าราชการ และสภาตรวจสอบการทำงานข้าราชการ)

6. การเลือกตั้งไต้หวัน มักเกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ (Cross Strait Relations) ซึ่งหมายถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งสะท้อนทั้งแนวโน้มการบูรณาการชาติและการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึง การตีความเกี่ยวกับสถานภาพของไต้หวันทั้งในเรื่องอธิปไตย (Sovereignty) และดุลอาณา (Jurisdiction)

นี่คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของกระแสการเมืองเอเชีย ไต้หวัน คือ ดินแดนที่ปักกิ่งมักอ้างอยู่เสมอว่าเป็นส่วนหนึ่งของอธิปไตย หากแต่อีกมุมหนึ่ง ไต้หวันเองกลับเคยเป็นอาณานิคมใต้แอกกองทัพญี่ปุ่น คนไทยภาคเหนือหรือคนพม่าบางกลุ่ม เคยคุ้นชินกับกองกำลังก๊กมินตั๋งในอดีตซึ่งเข้ามาตั้งฐานที่มั่นตามตะเข็บชายแดน อันถือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สงครามกลางเมืองระหว่างเจียง ไค เช็ค กับเหมาเจ๋อตุง หรือแม้กระทั่งสงครามปฏิวัติปลดปล่อยรัฐฉาน

กระนั้นก็ตาม สำหรับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไต้หวันปัจจุบัน โดยเฉพาะในบริบทของ Democratization in Asia น่าเชื่อว่า คงมีคนไทยหรือชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนไม่มากนัก ที่เข้าใจไต้หวันทั้งในแง่โครงสร้างการปกครองและโลกการเมืองของเยาวชนหนุ่มสาว


ดุลยภาค ปรีชารัชช