Skip to main content

ดุลยภาค ปรีชารัชช


กองทัพ คือ สถาบันที่ยึดมั่นในหลักเอกภาพ (Unity) หากแต่ด้วยสถานะทหารซึ่งเป็นผลผลิตส่วนหนึ่งของสังคม จึงทำให้น่าคิดต่อว่าสภาพพื้นฐานทางชาติพันธุ์ ถิ่นฐาน หรือ ศาสนาที่หลากหลาย (Diversity) จะมีผลต่อเอกภาพกองทัพหรือการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองของทหาร มากน้อยเพียงไร

ในรัฐพหุสังคมหรือรัฐพหุวัฒนธรรม โดยเฉพาะหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราอาจเห็นความเกี่ยวพันบางประการ


กองทัพอินโดนีเซีย (AP)

สำหรับอินโดนีเซียยุคเรียกร้องเอกราช ทหารส่วนใหญ่ คือ พวก "อาบังงัน" (Abangan) หรือ พวก "มุสลิมไม่เคร่ง" ส่วน พวก "สันตรี" (Santri) หรือ พวก "มุสลิมเคร่ง" นับว่ามีอยู่จำนวนหนึ่งหากแต่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเภทแรก ขณะที่พวกโปรเตสแตนท์และคาทอลิกถือว่ามีจำนวนลดหลั่นรองลงไป

ในทางชาติพันธุ์หรือถิ่นฐาน ชนชั้นนำทหารและกำลังพลของกองทัพอินโดนีเซียมักประกอบด้วยคนชวา หากแต่ก็มีผู้นำทหาร อย่าง นายพลนาซูติออนที่มาจากเผ่าบาตัก และมีนายทหารอีกส่วนหนึ่งที่มาจากหมู่เกาะรอบนอก อาทิ สุลาเวสี กาลิมันตันและอัมบน ฉะนั้น การก่อรูปของกองทัพอินโดนีเซียจึงเปรียบกับกระจกสีที่สะท้อนโครงสร้างสังคมวัฒนธรรมที่หลากหลาย

ส่วนกรณีเมียนมา พบเห็นกองทหารชาติพันธุ์ในฐานะหน่วยประกอบสร้างหลักของกองทัพแห่งชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการตั้งหน่วยทหารของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ อาทิ กองไรเฟิลซุ่มยิงกะเหรี่ยงและกะฉิ่น โดยการบูรณาการกองทัพระหว่างชนเผ่าพม่าแท้กับชนชาติพันธุ์ชายแดนภูเขา ถือเป็นปัญหาหลักของการสร้างเอกภาพเมียนมายุคหลังเอกราช ซึ่งจบลงด้วยนโยบายกวาดล้างลดทอนอำนาจทหารชาติพันธุ์ของนายพลเนวิน


กองทัพเมียนมา ณ กรุงเนปิดอว์ (The Irrawaddy)

ในอีกทางหนึ่ง เมียนมายังเผชิญกับปัญหาที่มีนัยสำคัญอื่นๆ อาทิ บทบาททางการเมืองของทหารมุสลิมหรือทหารคริสต์ที่มีไม่มากเท่ากับทหารพุทธ นอกจากนั้น ยังมีการกระจัดกระจายของทหารมาเฟียท้องถิ่นหรือกลุ่มติดอาวุธชายแดนจำนวนมาก ตลอดจน ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการสถาปนากองกำลังตำรวจและกองทัพสหพันธ์ (Federal Army) เพื่อบูรณาการกลุ่มติดอาวุธให้เข้าไปอยู่ในโครงสร้างกองทัพแห่งชาติแบบถูกกฎหมาย

สำหรับทหารไทย ซึ่งแม้จะไม่มีความแตกต่างทางสังคมวัฒนธรรมเท่ากับทหารเมียนมาหรืออินโดนีเซีย หากแต่ภูมิหลังของกำลังพลตามกองทัพภาคต่างๆ ถือเป็นตัวแปรที่อาจส่งผลต่อเอกภาพกองทัพ โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัฒน์ที่ลัทธิท้องถิ่นนิยม ลัทธิพหุนิยม ตลอดจนแนวคิดพหุวัฒนธรรม เริ่มทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ


กองทัพสยามราวปี ค.ศ. 1893 วาดโดยชาวฝรั่งเศส (Partyforumseasia / Le Petit Journal)

ตัวอย่างสำคัญ คือ ความแตกต่างระหว่างทหารที่มีฐานเติบโตหลักมาจากกองทัพภาคที่หนึ่ง ซึ่งมักมีความก้าวหน้าในการเถลิงอำนาจทางการเมืองมากกว่าทหารที่มีภูมิหลังเป็นคนล้านนาจากทัพภาคสามหรือทหารอีสานจากทัพภาคสอง หรือ ข้อแตกต่างเชิงชาติพันธุ์ ถิ่นฐานและศาสนาบางประการในจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะระหว่างทหารหลักที่มาจากภูมิภาคอื่นกับทหารพรานหรือทหารถิ่นที่เป็นคนมุสลิม

ท้ายที่สุด แม้การลากความเชื่อมโยงระหว่างกระจกสีทางสังคมวัฒนธรรมกับเอกภาพกองทัพเอเชียอาคเนย์ จะดูเป็นการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่เรียบง่ายในทางสังคมศาสตร์ หากแต่ประเด็นนี้ กลับเกี่ยวข้องกับกองทัพซึ่งเป็นผู้เล่นหลัก (Main Actor) บนเวทีการเมืองระดับชาติ พร้อมส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของรัฐและสังคมหลากหลายแง่มุม

ขณะเดียวกัน เรื่องดังว่า ยังอาจโยงใยกับปรัชญาการเมือง หรือ normative thinking ที่ซับซ้อน เช่น ข้อถกเถียงว่าด้วยเรื่องคุณค่าประชาธิปไตย (Democracy) การปรองดอง (Reconciliation) รัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) สหพันธรัฐนิยม (Federalism) พหุนิยม (Pluralism) พหุวัฒนธรรม (Multi-Culturalism) หรือ เรื่องความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice)

ฉะนั้นแล้ว จึงเป็นโจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมือง (Political Reform) ของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหาร (Military Reform) ของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคม (Social Reform) ที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร รวมถึงจะมีความสัมพันธ์กับสโลแกนอาเซียนที่ว่าด้วยเรื่องเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย (Unity in Diversity) ในแง่มุมใด

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค