Skip to main content

 

ผลโหวตเลือกประธานาธิบดีจากที่ประชุมรัฐสภาแห่งสหภาพ เผยให้เห็นถึงชัยชนะของนางซูจีในการผลักดัน 'ถิ่นจ่อ' สหายผู้จงรักภักดีทางการเมือง ขึ้นเถลิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่แห่งเมียนมา กระนั้น ผมกลับมองว่า ส.ส. NLD และพรรคพันธมิตรอื่นๆ ยังคงแสดงบทบาทที่ไม่สมบูรณ์นักในการโหวตเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีคนใหม่

ในแง่เทคนิคการเมือง เสถียรภาพรัฐบาลใหม่จะแข็งแกร่งมั่นคงหากนายเฮนรี แวน เทียว อีกหนึ่ง candidate จากพรรค NLD รั้งตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนที่หนึ่ง และนายมิ้นส่วย candidate จากกองทัพรั้งตำแหน่งรองประธานาธิบดีเบอร์สอง


ภาพจาก Irrawaddy
 

ทว่า ขณะที่คะแนนโหวตเลือกนายมิ้นส่วย มีอยู่ราว 213 คะแนน (จากสมาชิกสภากองทัพ 166 ท่าน บวก USDP อีกสี่สิบกว่าและพรรคอื่นๆ อีกราวๆ พรรคอื่นๆ อีกราวๆ 6-7 เสียง) นายเฮนรี แวน เทียว กลับได้เสียงเพียงแค่ 79 คะแนน ทั้งๆ ที่ สมาชิกสภาชนชาติสายพลเรือน ก็มีอยู่ถึงราวๆ 168 ท่าน ซึ่งสภาวะเช่นนี้ย่อมสะท้อนความสับสนคลุมเครือทั้งในกลุ่มสมาชิกสภาชนชาติและสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องตัดสินใจเลือกประธานาธิบดีเพียงหนึ่งคนเท่านั้นระหว่างนายถิ่นจ่อกับนายเฮนรี แวน เทียว ซึ่งแม้นายถิ่นจ่อจะได้ตำแหน่งประธานาธิบดีไปครองสมใจตามคาด หากแต่กองทัพและกลุ่มอำนาจเก่า ก็กลับแสดงถึงพลังที่มีเอกภาพในการชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเบอร์หนึ่งให้กับนายมิ้นส่วย พร้อมเขี่ยนายเฮนรี แวน เทียว ตกลงไปรั้งตำแหน่งรองเบอร์สองแทน

ความสำเร็จในเกมลงคะแนนล่าสุด มีนัยสำคัญต่อกองทัพเมียนมา อย่างน้อย 2 ประการ

1. ตามรัฐธรรมนูญ 2008 เมียนมามีกระบวนการ 'Impeachment' ถอดถอนประธานาธิบดี หากพบว่ามีความประพฤติมิชอบ ทรยศต่อชาติบ้านเมือง หรือมีข้อมูลที่ถูกเปิดโปงในภายหลังว่ามีคุณสมบัติที่ขัดต่อข้อบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น นับจากนี้ต่อไป นายถิ่นจ่อ คงต้องระมัดระวังพฤติกรรมทางการเมืองเป็นพิเศษพร้อมเตรียมรับมือต่อข้อโจมตีครหาจากฝ่ายปฏิปักษ์ เพราะหากประธานาธิบดีถูกถอดถอนหรือต้องเสียชีวิตลง รองประธานาธิบดีคนที่หนึ่ง ซึ่งก็คือนายมิ้นส่วย จะขึ้นมารักษาการณ์แทนประธานาธิบดีคนเก่าโดยอัตโนมัติ จนทำให้กลุ่มกองทัพสามารถกระตุกอำนาจกลับในช่วงเปลี่ยนผ่านประมุขรัฐคนใหม่

อย่างไรก็ตาม การถอดถอนก็มิใช่เรื่องง่าย เพราะในการยื่นมูลความผิด รัฐสภาแห่งสหภาพจะต้องได้รับเสียงร้องเรียนจากสมาชิกสภาเป็นจำนวนราวหนึ่งในสี่ ซึ่งในขั้นนี้ เสียงของกองทัพที่มีอยู่ถึงหนึ่งในสี่ของรัฐสภา อาจถือว่าเพียงพอต่อการยื่นเรื่องถอดถอน ทว่า สำหรับกระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานสภาแห่งสหภาพจะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับกลุ่มอำนาจเก่าในช่วงระยะเริ่มแรกของรัฐบาลชุดใหม่ เพราะ พรรค NLD ยังคงครองพื้นที่ในสภาอย่างเหนียวแน่น แต่กระนั้นก็ตาม สูตรนี้อาจถือว่าเพียงพอต่อกดดันนายถิ่นจ่อและนางซูจี ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะบางชุดเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางและผลประโยชน์ที่กองทัพต้องการ

2. ไม้เด็ดของกองทัพ คือ การพิจารณาร่วมกับประธานาธิบดีในการประกาศสภาวะฉุกเฉินในบางพื้นที่หรือทั่วประเทศ หากเกิดการสู้รบหรือมีความขัดแย้งทางการเมืองความมั่นคงที่รุนแรง ต่อกรณีดังกล่าว สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ คือ องค์กรสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจจากรัฐบาลกึ่งพลเรือนไปสู่รัฐบาลทหาร และจากรัฐบาลทหารคืนกลับสู่รัฐบาลกึ่งพลเรือน หรือพูดง่ายๆ คือ การถ่ายโอนอำนาจระหว่างสถานการณ์ปกติกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งถ้าหากพิจารณาจำนวนสมาชิกสภากลาโหมฯ ซึ่งประกอบด้วยคณะรัฐบุคคลทั้งหมด 11 ท่าน พบว่า กองทัพเมียนมายังมีครองอิทธิพลเหนือกลุ่มพลเรือนถิ่นจ่อ-ซูจี ในอัตราส่วน 6:5 ซึ่งยังคงถือว่าพอเพียงในการงัดข้อกับขั้วอำนาจใหม่

โดยรัฐบุคคลทั้ง 6 ท่าน จะต้องอยู่ใต้พลังของกองทัพแห่งชาติ ซึ่งได้แก่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐมนตรีกลาโหม รัฐมนตรีกิจการชายแดน รัฐมนตรีมหาดไทย (ทั้งสามตำแหน่งถูกแต่งตั้งโดย ผบ.สส.) และรองประธานาธิบดีคนที่หนึ่งที่เป็นตัวแทนทหาร ซึ่งก็คือ นายมิ้นส่วย ขณะที่ กลุ่มถิ่นจ่อ-ซูจี จะคุม 5 ตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ ประธานาธิบดี (ถิ่นจ่อ) รองประธานาธิบดีคนที่สอง (เฮนรี แวน เทียว) ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานสภาชนชาติ และรัฐมนตรีต่างประเทศ

ฉะนั้นแล้ว คงมิผิดนัก หากกล่าวว่ากองทัพเมียนมายังคงสามารถรักษาพลังอำนาจเพื่อถ่วงดุลกับฝ่ายประชาธิปไตยต่อไปอีกซักระยะ ซึ่งเราคงมิเห็นทหารเมียนมารีบร้อนถอนตัวกลับเข้ากรมกองแบบเต็มรูปในช่วง 5 ปีหลังจากนี้

แต่หากถามผมว่า เมียนมามีพัฒนาการทางการเมืองที่ก้าวหน้ากว่าแต่ก่อนหรือไม่ ผมก็เชื่อมั่นว่า เมียนมา ได้แปรรูปเปลี่ยนสัณฐานจากรัฐเผด็จการจำแลงในคราบประชาธิปไตยสมัยรัฐบาลเต็งเส่ง เข้าสู่รัฐที่วิ่งไล่กวดประชาธิปไตยตามกระแสโลกมากขึ้น ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า แม้จะมีอุปสรรคจากระบอบอำนาจนิยมเก่า หากแต่ศักราชใหม่ของการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในเมียนมาได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

บล็อกของ ดุลยภาค