อุษาคเนย์: ว่าด้วยนคราภิวัฒน์ใต้ลม

 

Anthony Reid ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การค้าอุษาคเนย์ได้พยายามฉายภาพการขยายตัวของเมืองและประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างช่วงปี ค.ศ.1490-1640 โดยเขาเชื่อว่าช่วงเวลาดังกล่าวเปรียบประดุจดั่งยุคทองของดินแดนใต้ลม (The Lands below the Winds) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ลมมรสุมที่นำพาสายฝนอันชุ่มฉ่ำพร้อมชักนำพ่อค้าวาณิชจากทั่วทุกสารทิศได้ช่วยกระตุ้นให้เมืองต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นชุมทางวัฒนธรรมและพาณิชยกรรมที่เต็มไปด้วยพลวัตหลากสีสันจนทำให้อุษาคเนย์กลายเป็นสนามศึกษาทางนคราภิวัฒน์ที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์โลก


แผนที่แสดงความหนาแน่นของประชากรตามเมืองต่างๆในแถบอุษาคเนย์

ต่อข้อสมมุติฐานดังกล่าว Reid ได้ประดิษฐ์แผนที่นคราภิวัฒน์เพื่อบ่งชี้ถึงขนาดประชากรและรูปแบบผังเมือง โดยเฉพาะระหว่างช่วงคริสตศตวรรษที่ 16-17 ซึ่ง Reid เชื่อว่าเป็นยุครุ่งเรืองถึงขีดสุดของชุมชนเมืองต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น 3 ประเภทหลัก ดังนี้

1. เมืองที่มีประชากรประมาณหรือเกินหนึ่งแสนคน อาทิ อยุธยา พะโค (หงสาวดี ) ธังลอง (ฮานอย) กิมลอง (เว้) มะละกา ปัตตาเวีย (จาร์กาต้า) มะทารัม มากัสซาร์ (มักกะสัน)

2. เมืองที่มีประชากรประมาณห้าหมื่นคน อาทิ อังวะ เวียงจันทน์ พนมเปญ ปัตตานี มะนิลา เซมารัง

3. เมืองที่มีประชากรราวหรือเกินหนึ่งหมื่นคน อาทิ พุกาม แปร สิเรียม เชียงใหม่ ลพบุรี ละแวก หลวงพระบาง ปะหัง ยะโฮร์ ปาเล็มบัง สุราบายา

ในอีกมิติหนึ่ง เมืองในอุษาคเนย์ยุคใต้ลมยังสามารถจัดประเภทได้ตามรูปแบบผังเมือง โดยนคราพื้นทวีปอย่าง อังวะ เชียงใหม่ หรือแม้แต่อดีตนครหลวง (อังกอร์/ศรียโสธรปุระ) มักมีลักษณะเป็นเมืองที่ถูกโอบล้อมด้วยกำแพงขนาดใหญ่ซึ่งจะมีพระราชวังเป็นแกนกลางพร้อมมีเครือข่ายถนนตัดโยงใยกันทั่วเมือง ขณะที่ย่านตลาดและหมู่บ้านชาวต่างประเทศมักถูกวางไว้นอกเขตกำแพงเมือง

ส่วนนคราพื้นสมุทรหรือแม้แต่เมืองในเวียดนาม มักพบแต่เพียงการก่อกำแพงล้อมวัง ขณะที่ขอบเขตนคราจะถูกปล่อยให้โล่งเพื่อบรรเทาความหนาแน่นแออัดของประชากร นอกจากนั้น ราชธานีหรือเมืองการค้าบางแห่งทั้งในเขตพื้นทวีปและพื้นสมุทร ยังปรากฏแบบแผนเฉพาะของสถาปัตยกรรมผังเมือง อาทิ เมืองประชาคมมุสลิม เช่น บันเต็น เดมัก และอาเจะห์ มักมีการสร้างลานจตุรัสนครตรงย่านใจกลาง พร้อมวางวังสุลต่านไว้ทางทิศใต้ มัสยิด ไว้ทางทิศตะวันตก (หันหน้าเข้าหานครเมคกะ) และตลาดไว้ทางทิศตะวันออก ขณะที่พระนครศรีอยุธยา พบเห็นพระบรมมหาราชวังและวัดหลวงตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะเมือง ส่วนย่านใจกลางถูกปั้นให้เป็นเขตถนนคนเดินที่ตั้งขนานเคียงไปกับชุมชนห้างร้านและคลังสินค้า


ภาพวาดกรุงศรีอยุธยาแสดงลักษณะภูมิศาสตร์และผังเมือง


ภาพวาดตลาดเมืองบันเต็นแสดงตำแหน่งร้านสรรพสินค้าซึ่งประกอบด้วยผลผลิตหลากหลายชนิด

ในอีกทางหนึ่ง ราชธานีละแวกของกัมพูชายุคหลังพระนคร ยังถูกห้อมล้อมไปด้วยป่าไผ่ซึ่งถือเป็นเทคนิคการเพิ่มปราการเหล็กของกษัตริย์เขมรในการชะรอการบุกตีของข้าศึก ส่วนราชธานีอังวะ-อมรปุระของเมียนมา พบเห็นการตั้งหมู่บ้านช่างศิลปะ อาทิ ช่างเหล็ก ช่างเงิน ช่างทอง ฯลฯ เรียงรายกันไปตามชายฝั่งแม่น้ำเอยาวดีและเวิ้งหาดลำแควสาขา ซึ่งสะท้อนโครงสร้างสังคมและพลังรังสรรค์ศิลปะที่สัมพันธ์กับรูปแบบนคราภิวัฒน์

นอกจากนั้น การก่อรูปของเมืองอุษาคเนย์ยุคการค้า ยังบ่งบอกถึงลักษณะการวางสมดุลประชากร รวมถึงปฏิสัมพันธ์อำนาจรูปแบบต่างๆ อาทิ การไล่ระดับของศูนย์ประชากรในเมียนมาที่มีนครยักษ์ขนาดมหึมาอย่างพะโควางประจัญหน้าลงสู่อ่าวเมาะตะมะ และนครขนาดใหญ่อย่างอังวะหันหน้าเข้าหาเขตแห้งตอนใน (Dry Zone) โดยมีเมืองประชากรขนาดกลางอย่างแปรและตองอู ตั้งก้ำกึ่งขนาบกลางระหว่างสองศูนย์อำนาจ

ส่วนกรณีของสยามและกัมพูชา กลับพบเห็นราชธานีเอกกับราชธานีรองร่วมสมัย อย่างอยุธยากับลพบุรีในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ที่มีส่วนกระตุ้นให้ลุ่มเจ้าพระยากลายเป็นทำเลทองที่เกิดจากการประกอบชิดของสองศูนย์ประชากรที่ไล่ระดับตั้งแต่ราวๆ หนึ่งแสนคน (อยุธยา) ลงไปจนถึงหนึ่งหมื่นคน (ลพบุรี) ขณะที่นคราภิวัฒน์ในกัมพูชา ได้แสดงให้เห็นถึงสองราชธานีต่างสมัยอย่างละแวกกับพนมเปญ ที่ช่วยแปลงสภาพพื้นที่ด้านใต้ของลุ่มทะเลสาบเขมรให้กลายเป็นแหล่งถิ่นฐานประชากรชั้นเยี่ยม โดยมีมิติด้านชัยภูมิประชิดและปฏิสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองนคราเป็นปัจจัยหนุนเสริม

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคใต้ลม ถือเป็นแผ่นดินทองที่เต็มไปด้วยการเติบโตเปลี่ยนผ่านของชุมชนเมืองและประชากรอันเป็นผลสืบเนื่องจากกิจกรรมการค้าและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่คึกคัก ทว่า ในปัจจุบัน ราชธานีและเมืองการค้าครั้งวันวาน กลับมีทั้งเมืองที่เต็มไปด้วยการเจริญเติบโตอันเป็นผลจากรากฐานความรุ่งเรืองในอดีต กับ เมืองที่ร่วงโรยล่มสลายจนยากจะฟื้นคืน หรือไม่ก็กลับกลายเป็นเพียงแค่แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น ฮานอย มะนิลา ปัตตาเวีย ที่พัฒนาขึ้นเป็นเมืองหลวงของรัฐเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียในเวลาต่อมา หากแต่อังวะ พะโค อยุธยา กลับกลายเป็นเพียงแค่เมืองร้างหรือแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์

ขณะที่ เมืองยุคก่อนอาณานิคมบางแห่ง เช่น เมืองตอนในพื้นทวีปอย่าง เชียงใหม่ เวียงจันทน์ และเมืองการค้าริมทะเลอย่างมะริด ทวาย สิเรียม กลับมีทั้งการแปลงสภาพเป็นเมืองยุทธศาสตร์ภูมิภาค เมืองหลวง และเมืองท่าที่มีความสำคัญในระดับระหว่างประเทศ ส่วนเมืองการค้าที่เคยเป็นศูนย์กลางอาณาจักรกึ่งอิสระอย่างอาเจะห์และปัตตานี นับเป็นนคราที่ต้องเผชิญกับปัญหาการกระจายอำนาจทางการปกครองและสัมพันธภาพระหว่างศูนย์กลางกับชายขอบใต้บรรยากาศของรัฐประชาชาติสมัยใหม่

ท้ายที่สุด อาจกล่าวได้ว่า แม้วิวัฒนาการชุมชนเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีการเปลี่ยนแปลงคลี่คลายไปตามลำดับ หากแต่ภาพความรุ่งเรืองทางการค้าและขนาดประชากรตามกรอบวิเคราะห์ของ Reid อาจช่วยสร้างความกระจ่างชัดพร้อมชี้ชวนให้ผู้อ่านได้เห็นความเชื่อมโยงเกี่ยวพันระหว่างนคราภิวัฒน์ในอดีตกับปัจจุบันได้อย่างลุ่มลึก รอบด้านและมีพลวัต


ดุลยภาค ปรีชารัชช


เอกสารอ้างอิงและที่มาภาพประกอบ

Anthony Reid. Southeast Asia in the Age of Commerce. Vol I: The Lands Below the Winds. New Haven: Yale University Press, 1988.
___________. A History of Southeast Asia: Critical Crossroads. West Sussex: John Wiley & Sons, 2015.