เบื้องหลัง 'โอบามา' กระชับเวียดนาม มหายุทธศาสตร์ตอกลิ่มจีน-ปักหมุดเอเชีย

 

หากมองแบบ realpolitik กันจริงๆ อันสะท้อนถึงธรรมชาติทั่วไปของรัฐมหาอำนาจบนเวทีการเมืองโลก ภาพประธานาธิบดีโอบามา นั่งรับประทานอาหารพื้นเมืองที่กรุงฮานอย ถือเป็นฉากละครการทูตที่ซ่อนพรางมหายุทธศาสตร์ (Grand Strategy) ของสหรัฐซึ่งหมายมั่นที่จะตีตรอกจีนพร้อมสร้าง 'Solid Pillar' สำหรับปักหมุดเอเชีย โดยใช้เวียดนามเป็นฐานกระโจนยุทธศาสตร์

เอาเข้าจริง โอบามา ไม่ใช่ผู้นำที่ไร้ซึ่งทักษะทางการทูต แต่ในทางกลับกัน เขาคือผู้ที่เคร่งครัดในวิชาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และกำลังเดินตามรอยปรมาจารย์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือแกรนด์มาสเตอร์ภูมิยุทธศาสตร์อย่าง ซบิกนิว เบรซซินสกี้ (Zbigniew Brzezinski) อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงในสมัยประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ และเป็นบุคคลซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้ทำลายล้างจักรวรรดิโซเวียต

แผนแยบคายของเบรซซินสกี้ คือ การปลุกนักรบอิสลามเพื่อต่อล่อให้โซเวียตติดหล่มสงครามอัฟกานิสถาน จนพลังโซเวียตถูกดึงลากเข้ามาตกลงที่รอยต่อระหว่างเอเชียกลางกับเอเชียใต้ ซึ่งทำให้กำลังโซเวียตในการผดุงดินแดนใต้อาณัติอื่นๆ เริ่มระส่ำระส่ายอ่อนแรงลง โดยในกรอบภูมิรัฐศาสตร์ ถือว่า สหรัฐอเมริกาสามารถปักหมุดตอกลิ่มเข้าไปบนฐานยูเรเซีย ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลโซเวียตได้อย่างชะงัด จนทำให้โครงสร้างอำนาจโซเวียตเกิดอาการเอนเอียงเสียสมดุลพร้อมผลักให้สหรัฐมีชัยเหนือโซเวียดในสมรภูมิสงครามเย็น

สำหรับในสนามเอเชีย-แปซิฟิกยุคหลังสงครามเย็น ปฏิปักษ์ที่คุกคามความเป็นหนึ่งของสหรัฐ คงหนีไม่พ้น จีนแผ่นดินใหญ่ ฉะนั้น การหาทำเลทองเพื่อล็อกเป้าตอกลิ่มจีนพร้อมลงเสาเข็มรองรับยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชีย จึงเป็นแนวนโยบายต่างประเทศที่โอบามามุ่งทิ้งทวนก่อนหมดวาระประธานาธิบดี ทั้งนี้ก็เพื่อวางฐานอำนาจสหรัฐสำหรับแข่งขันปะลองกำลังกับจีนในอนาคต

แผนที่นี้นำมาจากหนังสือเรื่อง Strategic Vision: America and the Crisis of Global Power ของ Zbigniew Brzezinski นักสัจนิยมแนวยุทธศาสตร์ผู้โด่งดัง (ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2012/2013) โดยในแผนที่ ผู้เขียนได้วิเคราะห์แผนปิดล้อมจีนของสหรัฐ โดยมีการระบุให้เวียดนามเป็นดินแดนที่มีความเปราะบางในทางยุทธศาสตร์ ซึ่งแผนที่ดังกล่าว อาจสะท้อนอิทธิพลแนวคิดภูมิรัฐศาสตร์ของเบรซซินสกี้ที่ส่งผลต่อโลกทัศน์การทูตของประธานาธิบดีสหรัฐหลายท่าน ไม่เว้นแม้แต่ประธานาธิบดีโอบามา

ตัวเลือกที่น่าสนใจในยุทธการปักหมุดตีตรอก คือ เวียดนาม ซึ่งมีนัยสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่

1. ชายแดนตอนเหนือของเวียดนามตั้งประชิดกองทัพภาคพื้นทักษิณของจีน (Southern Command) อันมีกองบัญชาการหลักอยู่ที่กวางโจว โดยจัดเป็นภูมิภาคทหารที่จีนวางกำลังไว้มากกว่าหนึ่งแสนแปดหมื่นนาย ซึ่งมีทั้งหน่วยกองทัพบก กองทัพเรือและฐานยิงขีปนาวุธยุทธศาสตร์ กอปรกับ ยุทธบริเวณดังกล่าว ได้ครอบคลุมเมืองเศรษฐกิจและเมืองยุทธศาสตร์สำคัญจำนวนมาก อาทิ กวางโจว เซินเจิ้น จูไห่ ซัวเถา ฮ่องกง มาเก๊า และเกาะแก่งต่างๆ ในทะเลจีนใต้

ดังนั้น การกระชับสัมพันธ์กับเวียดนาม ย่อมส่งผลให้สหรัฐสามารถกุมชัยภูมิที่ทรงอานุภาพในการตีตรอกจีน พร้อมต่อล่อให้จีนเผชิญกับความระส่ำระส่ายนับแต่เขตทะเลจีนใต้ และชายฝั่งกวางตุ้ง ไปจนถึงเขตพื้นทวีปยูนนานและเสฉวน ซึ่งหากการตอกหมุดครั้งนี้สัมฤทธิผล ก็เท่ากับว่า พลังยุทธศาสตร์จากปักกิ่งจะถูกลากเข้ามาหมดกำลังลงที่ชายแดนเวียดนามจนทำให้จีนเกิดอาการย่นระย่อและมิสามารถที่จะรั้งตำแหน่งมหาอำนาจอันดับหนึ่งบนเวทีการเมืองเอเชีย

2. สหรัฐสามารถใช้เวียดนามเป็นตัวต่อประชิดลาว/กัมพูชา ซึ่งเป็นสองรัฐอินโดจีนที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับเวียดนาม จนทำให้สหรัฐมีฐานกำลังถ่วงดุลคัดคานจีนในเขตลุ่มน้ำโขงพร้อมเจาะทะลุอาเซียนเพื่อตัดสะบั้นการรุกกะหน่ำลงใต้ของจีนทั้งในทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ ขณะเดียวกัน รัฐเวียดนามยังเป็นไพ่ใบสำคัญที่มีผลต่อความก้าวหน้าของแผนความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ TPP (Trans-Pacific Partnership) ซึ่งเป็นหนึ่งในมหายุทธศาสตร์สหรัฐเพื่อโยกให้จุดศูนย์ดุลภูมิเศรษฐศาสตร์โลกค่อยๆ เคลื่อนตัวจากเขตมหาสมุทรแอตแลนติกเข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิก


 

โดยในทางภูมิรัฐศาสตร์ พฤติกรรมระหว่างประเทศเช่นนี้ ถือเป็นการสร้างวงคีมหนีบบนรัฐริมขอบชายทะเล (Pincer Ring on Rimland) เพื่อบีบรัดทอนกำลังจีนและเบิกทางให้สหรัฐสามารถปักหมุดลงบนกระดานเอเชีย-แปซิฟิกได้อย่างมั่นคง ซึ่งหากโครงการ TPP ประสบความสำเร็จ พร้อมกับการขยายสมุทรานุภาพของกองเรือสหรัฐที่ลากแนวปิดล้อมยุทธศาสตร์จากฮาวาย กวม แล้วแผ่เข้าไปประกบกับญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ฯลฯ ก็เท่ากับว่า ภูมิทัศน์การเมืองเอเชียในศตวรรษที่ 21 ย่อมตกอยู่ใต้กงล้อสหรัฐโดยมีเวียดนามเป็นจั่วภูมิศาสตร์ที่คอยเชื่อมร้อยถ่ายโยงอำนาจทั้งเขตพื้นทวีปเอเชียและพื้นสมุทรแปซิฟิก

สรุปแล้ว หากเชื่อในวิถีสัจนิยม หรือ Realpolitik/Realism การเยือนเวียดนามของประธานาธิบดีโอบามาในครั้งนี้ นับเป็นการเติมเต็มภารกิจทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่เพื่อสร้างฐานกระโจนยุทธศาสตร์ (Strategic Springboard) ในการตีตรอกจีน-ปักหมุดเอเชีย ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนผ่านระหว่างประเทศที่มีผลอย่างยิ่งยวดต่อทั้งโครงสร้างอำนาจโลกและสถาปัตยกรรมการเมืองความมั่นคงในย่านเอเชีย-แปซิฟิก


ดุลยภาค ปรีชารัชช