ไม่ล้ม ไม่โกง และไม่อายพม่า ‘ความไม่รู้ซึ้งเรื่องการเมืองพม่าในหมู่ นปช.’

 

ผมไม่รู้จริงๆ ว่า นปช. มีการกลั่นกรองข้อมูลเรื่องการลงประชามติในพม่ามากน้อยเพียงไร ก่อนประกาศคำขวัญ 3 ไม่ ในการจัดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ เพราะในเมื่อ นปช. ตัดสินใจรณรงค์เรื่องประชามติกันแล้ว ก็คงปฏิเสธไม่ได้ที่บรรดาแกนนำรวมถึงแนวร่วม นปช. จะต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเหมาะสมเกี่ยวกับเรื่องลงประชามติในประเทศที่ตนกำลังอ้างถึงอยู่ ซึ่งก็คือพม่า หรือ เมียนมาร่วมสมัย ที่มีประสบการณ์ในเรื่องประชามติที่ไม่ค่อยจะสดใสมากนัก

แกนนำ นปช. ประกาศว่า คำว่า “ไม่ล้ม” กินความถึง ไม่ล้มประชามติ คำว่า “ไม่โกง” คือไม่โกงประชามติ และคำว่า “ไม่อายพม่า” สื่อถึงประชาชนออกมาใช้สิทธิประชามติอย่างชนิดที่ไม่ให้อายคนพม่า

ผมไม่แน่ใจจริงๆ ว่า นปช. นำกรณีพม่าเข้ามาใส่ในสโลแกนประชามติในเมืองไทย มันจะประสบปัญหาเรื่องการตีความเชิงเปรียบเทียบหรือไม่ เพราะตามหลักรัฐศาสตร์พื้นฐานและตามลักษณะการเมืองการปกครองพม่าร่วมสมัย คำว่า 'ประชามติ' กับ 'การเลือกตั้ง' มีความแตกต่างกันอยู่ โดยหากสโลแกนนี้ถูกใช้เผยแพร่หรือถูกรายงานผลออกสู่ประเทศพม่า/เมียนมา มากขึ้น นปช. จะหาคำอธิบายสโลแกนนี้ต่อรัฐและสังคมพม่าอย่างไร ในเมื่อพม่ามี Operational Path และ Outcome เกี่ยวกับการลงประชามติที่แตกต่างจากการเลือกตั้งรอบล่าสุด และอาจจะสวนทางกับเป้าหมายการเคลื่อนไหวเรื่องประชามติของ นปช.ด้วยซ้ำ (ซึ่งผมคิดว่า นปช. น่าจะเอาเหตุการณ์เลือกตั้งล่าสุดในพม่าที่คนพม่าออกมาทุ่มคะแนนเลือกนางซูจีเข้ามาสื่อถึงสภาวะที่คนไทยต้อง 'ไม่อายพม่า' หากแต่สิ่งนี้กลับสะท้อนถึงข้อบกพร่องในเรื่อง Political Message และถือเป็นคนละประเด็นกับเรื่องประชามติ ซึ่งผมจะได้อธิบายในส่วนถัดไป)

ขณะเดียวกัน ผมคิดว่าการใช้วาทกรรมการเมืองเปรียบเทียบโดยละเลยการตรีกตรองถึงเงื่อนไขที่เกิดขึ้นจริงในรัฐคู่เทียบ นอกจากจะนำมาซึ่งปัญหากระทบกระทั่งกับคู่กรณีศึกษาในบางประเด็นแล้ว ยังอาจมีผลต่อยุทธศาสตร์/ยุทธวิธีการเคลื่อนไหวของ นปช. ในอนาคต ซึ่งถือเป็นรอยโหว่อันเกิดจากการก่อรูปสัณฐานที่บิดเบี้ยวของความคิด หรือ Concept Misformation (Giovanni Sartori: 1970) ตั้งแต่แรกเริ่ม และด้วยเหตุนี้นี่เอง ผมจึงตัดสินใจเขียนบทความฉบับนี้เพื่อสะกัดปัญหาอันเกิดจากความไม่ชัดเจนในกระบวนการสื่อสารทางการเมืองที่อาจส่งผลต่อทั้งการเมืองภายในและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ถ้านับการลงประชามติในพม่าที่ร่วมสมัยจริงๆ โดยไม่นำมาเจือปนกับการเลือกตั้งที่คึกคักของชาวพม่าล่าสุดเมื่อช่วงปลายปี ค.ศ.2015 ถือกันว่า การลงประชามติพม่าเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2008 คือ วันที่ 10 พฤษภาคม ทั่วประเทศ และ 24 พฤษภาคม เฉพาะพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนนาร์กีส (จริงๆ แล้ว พม่าเคยมีแผนทำประชามติอีกครั้งเมื่อช่วงกลางปี 2015 ซึ่งเน้นการแก้ไขคุณสมบัติเพื่อให้นางซูจี สามารถขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ ทว่า แผนดังกล่าวกลับล้มเหลวและต้องเลื่อนออกไปเพราะได้รับการคัดค้านจากทหารพม่าในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ดังนั้น จึงถือได้ว่า ช่วงกลางปี ค.ศ. 2008 คือ การลงประชามติเพียงครั้งเดียวในพลวัตการเมืองพม่าร่วมสมัย

อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปถึงช่วงรณรงค์ประชามติเมื่อปี 2008 คนพม่าจำนวนมิน้อย กลับรู้สึกไม่สบายใจและออกมาต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับ 2008 ที่ถูกร่างขึ้นใต้อำนาจ คสช.พม่า หรือ สภาพัฒนาและสันติภาพแห่งรัฐ (SPDC) แต่ท้ายที่สุด รัฐบาลทหารพม่า ก็จัดให้มีการลงประชามติเพื่อให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อเบิกทางไปสู่กระบวนการเลือกตั้ง (ที่จัดขึ้นในช่วงปลายปี 2010) พร้อมการสถาปนารัฐบาลกึ่งพลเรือนกึ่งทหารชุดใหม่ ช่วงต้นปี 2011 ภายใต้สโลแกน "ประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัยที่กำลังจะเบ่งบาน"

ฉะนั้น จึงกล่าวสั้นๆได้ว่า ประชามติในพม่า ไม่ล้ม เพราะทหารเป็นผู้ผลักดันกระบวนการเพื่อเนรมิตระบอบการเมืองลูกผสมแบบเผด็จการจำแลงในคราบประชาธิปไตย (Democratically Disguised Dictatorship)

หากแต่ประชามติในพม่าช่วงนั้น ก็ได้รับการกล่าวถึงกันหนาหูว่าเต็มไปด้วยกลโกงสารพัดชนิด เช่น การให้เจ้าหน้าที่ทหาร/ตัวแทนรัฐ ยืนประกบหีบลงคะแนนเพื่อกำกับผู้ใช้สิทธิให้โหวต "Yes" หรือการให้ผู้ใช้สิทธิส่วนหนึ่งลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญแทนญาติพี่น้องที่มีชื่อตกหล่นในทะเบียนราษฏร

จนสุดท้าย แม้จะมีการให้ตัวเลขจากทางการว่ามีประชาชนพม่าออกมาลงคะแนนโหวต "Yes" จำนวนมาก แต่ควันหลงเรื่องกลโกงและกระแสต่อต้านรัฐธรรมนูญที่ยังตกอยู่ใต้อิทธิพลกองทัพ ก็ยังมีปรากฏให้เห็นเป็นระลอกตลอดช่วงต้นสมัยบริหารราชการแผ่นดินของประชาธิบดีเต็งเส่ง จนกระทั่งมาสู่การเลือกตั้งล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้ว ที่ นาง ออง ซาน ซูจี ชนะเลือกตั้งถล่มทลายพร้อมกุมพลังในการตั้งรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่

จากกรณีดังกล่าว คำถามที่น่าสนใจในมุมมองผม มีอย่างน้อย 2 ประการ คือ

1. พี่น้อง นปช. เข้าใจหรือสื่อความเรื่องประชามติว่าต้องไม่อายพม่า ในหนทางหรือแง่มุมใด ซึ่งถ้าเหมารวมๆ ถึงบรรยากาศที่คนพม่าออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งล่าสุด ก็พอจะเข้าใจได้ แต่นั่น คือ การเลือกตั้ง ไม่ใช่การลงประชามติ (แม้จะมีขั้นตอนที่ต่อเนื่องกันอยู่บ้าง) และถือเป็นการเลือกตั้งใต้รัฐธรรมนูญฉบับร่างทรงทหารด้วยซ้ำ (ซึ่งยังมิสามารถแก้ไขมาตราสำคัญๆ ได้ เช่น การห้ามนางซูจีขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี หรือ การลดสัดส่วนตัวแทนทหารร้อยละ 25 ในโครงสร้างสภานิติบัญญัติ)

หรือ ถ้ากลุ่ม นปช. หมายถึง การที่คนพม่าออกมาใช้สิทธิลงประชามติเมื่อปี ค.ศ. 2008 ซึ่งเต็มไปด้วยแนวทางที่ไม่ชอบมาพากลและมีประชาชนจำนวนมิน้อยที่ถูกบังคับให้ออกไปใช้สิทธิโดยรัฐบาลทหารพม่า หรือถ้าคนพม่าส่วนหนึ่งเกิดเข้าใจขึ้นมาจริงๆ ว่า นปช. กำลังสื่อถึงเหตุการณ์ที่คนพม่าออกมาลงประชามติใต้การกำกับของรัฐบาลทหาร ก็เท่ากับว่า ทีมงาน นปช. มีความบกพร่องหรือพลาดพลั้งในเรื่องการรณรงค์แนวคิด/กิจกรรมการเมือง (ที่ควรชัดเจน ไม่สับสน) เพราะนอกจากจะมีข้อคลาดเคลื่อนจากความเปลี่ยนแปลงในพม่าแล้ว ยังมีลักษณะบกพร่องจนทำให้เกิดสภาวะ "Concept Misformation" ในทางการเมือง

2. ตกลงพี่น้อง นปช. ยอมรับข้อดีหรือจุดเด่นของประชาธิปไตยแบบพม่าเช่นนั้นหรือ เส้นทางพัฒนาประชาธิปไตยในพม่า เป็นตัวแบบที่ทรงพลังที่สุดต่อเส้นทางการพัฒนาประชาธิปไตยในไทยอย่างนั้นหรือ (ถึงขนาดนำประสบการณ์ของพม่ามาใส่ในคำขวัญ) พม่ามีรัฐธรรมนูญที่ถูกต่อต้านโดยนางอองซาน ซูจี และกลุ่มนิยมประชาธิปไตยแบบเข้มข้นต่อเนื่อง แต่สุดท้าย ระบอบการเมืองพม่าก็เปิดช่องให้มีการเลือกตั้งพร้อมการก่อรูปของสถาบันการเมืองใหม่ที่ขึ้นมาแทนที่โครงสร้างรัฐทหารบกแบบเก่าของพลเอกอาวุโสตานฉ่วย พม่าจึงมีระบอบการเมืองลูกผสม (Hybrid Regime) ที่ปล่อยให้เกิดบรรยากาศปฏิรูปประชาธิปไตยที่มากขึ้น หากแต่พลังเผด็จการก็ยังคงสามารถจำแลงแปลงกายลงมาสิงสถิตอยู่ใต้โครงสร้างสถาปัตยกรรมการเมืองใหม่ได้อย่างแนบเนียนและมั่นคง ทว่า ในที่สุด ก็ด้วยประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัยสไตล์พม่า แบบนี้มิใช่หรือ ที่กลับเปิดช่องให้ประชาชนพม่าสามารถทุ่มคะแนนเลือกนางซูจีขึ้นมาผงาดเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ได้สมใจ (ทั้งๆ ที่นางซูจี ก็เคยต่อต้านรูปการปกครองในรัฐธรรมนูญพม่าอย่างชัดเจน หากแต่ก็ยอมเข้าไปอยู่ในกระบวนการต่อรองอำนาจกับฝ่ายทหารหลังเลือกตั้ง และไม่ว่าชัยชนะของเธอนั้น จะเป็นผลที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจจากการออกแบบรัฐโดยชนชั้นนำทหารพม่าก็ตามที) หรือถ้าพูดอีกทางหนึ่ง ตกลง นปช. จะยอมรับให้ คสช. เป็นผู้กำหนดโครงสร้างระบอบการเมืองลูกผสมที่ฝ่ายอำนาจนิยมยังสามารถแทรกตัวเข้าอยู่ในกลไกการปกครองก่อน แล้วจากนั้นจึงค่อยออกมาเสี่ยงดวงผ่านพลังประชาชนในสนามเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ก็ยังไม่มีใครสามารถทำนายประเมินฉากทัศน์ได้อย่างชัดแจ้งว่า เมืองไทยจะมีจุดหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองหรือมีผู้นำทางการเมืองที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลังเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในพม่า

นอกเหนือจากข้อสงสัยของผมในเบื้องต้น สิ่งที่น่าขบคิดต่อ คือ ถ้า นปช. ประดิษฐ์คำขวัญ 3 ไม่ โดยเอาตัวแบบประสบการณ์ในพม่าเข้ามาเปรียบเทียบหรือผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสโลแกนรณรงค์ (ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็คือ ประชามติที่ถูกกำกับบังคับผ่านอำนาจปกครองของรัฐบาลทหาร ตลอดจน คสช. หรือรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยในบ้านเราเอง ก็มีโรดแม็บ และกระบวนการที่คล้ายๆ กับแนวทางของพม่าอยู่ไม่น้อย) นั่นก็เท่ากับว่า จุดยืนในการพัฒนาประชาธิปไตยจากฝั่ง นปช. ก็ไม่ต่างอะไรจากการสนับสนุนสิ่งที่ คสช. กำลังดำเนินการอยู่กรายๆ (ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง) และเผลอๆ ก็อาจช่วยกระตุ้นผลลัพธ์การเมืองที่ไม่ตั้งใจ จนอาจนำไปสู่การโหวต Yes เพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ทั้งนี้เนื่องจากโครงการประชามติในไทย มี Operational Path ที่คล้ายคลึงกับการลงประชามติเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในพม่าสมัยปลายรัฐบาลทหารตานฉ่วย และไม่มีใครที่สามารถให้หลักประกันได้ว่าเมืองไทยจะมีเงื่อนไขที่สร้างจุดหักเหทางการเมืองได้เหมือนดังในพม่า หรือต่อให้มีจริงๆ รัฐไทยคงต้องตกอยู่ใต้ระบอบการเมืองลูกผสมระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยคล้ายๆ กับพม่าอยู่ดี ซึ่งนับว่าผิดหัวผิดฝาจากแนวคิดเคลื่อนไหวประชาธิปไตยของฝ่าย นปช. อยู่ไม่น้อย

ในอีกทางหนึ่ง ผมมองว่า ความผิดพลาดหรือความไม่ชัดเจนของทีมยุทธศาสตร์ นปช. ส่วนหนึ่ง อาจเกิดจากการพยายามนำการเลือกตั้งในพม่ารอบล่าสุดเข้าไปกระตุ้นความกระตือรือร้นทางการเมืองของมวลชนชาวไทย ทั้งๆ ที่ ในบริบทการเมืองพม่าร่วมสมัย การเลือกตั้งรอบล่าสุดกับการลงประชามติ ถือเป็นคนละประเด็นกัน และมีสภาวะแวดล้อมหรือพัฒนาการทางการเมืองที่แตกต่างกันอยู่ โดยเราไม่สามารถตัดทอนละเลยความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพม่าได้ แล้วหันมาเน้นที่สถานการณ์ในบ้านเราเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้เพราะ นปช. ได้ตัดสินใจหยิบยืมประสบการณ์จากพม่าเข้ามาเป็นส่วนควบของโครงการรณรงค์ประชามติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อนึ่ง แม้คุณจตุพรจะแสดงออกถึงความรู้สึกชื่นชมต่อคนพม่าที่ออกมาเทคะแนนให้นางซูจีเพื่อต่อสู้กับอิทธิพลการเมืองของกองทัพ แต่นั่น คือ การ Insert การเลือกตั้งพม่าเข้าไปอยู่ในหมวดหมู่เดียวกันกับกิจกรรมรณรงค์ประชามติของไทยที่เอาเข้าจริงๆ Theme หลักๆ (ซึ่งก็คือประชามติ) กลับดันไปสอดคล้องกับการลงประชามติในพม่าเมื่อปี 2008 อันถือเป็น Political Transition ที่ถูกออกแบบโดยทหารพม่าตามแผนโรดแม็บ ดังนัั้น หากยึดตามความถูกต้องเที่ยงตรงของกระบวนการทางประวัติศาสตร์ (Historical Process) ก็เท่ากับว่า แกนนำ นปช. กำลังนำ Political Events ในบ้านเรา เข้าไปรับอานิสงส์จากกระแสเลือกตั้งในพม่ารอบล่าสุด ทั้งๆ ที่ ขั้นตอนที่เป็นอยู่ในเมืองไทยปัจจุบัน คือ การเตรียมทำประชามติรับ/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้น จึงค่อยเข้าสู่การเลือกตั้งและตั้งรัฐบาลใหม่ในภายหลัง ซึ่งจัดอยู่ในขั้นตอนหรือประเดียวเดียวกันกับพม่าเมื่อช่วงปี ค.ศ. 2008 หรือ ย้อนหลังไปเกือบ 8 ปีที่แล้ว โดยต่อให้แกนนำจะนึกได้ว่า ชาว นปช. คงไม่หลงประเด็นไปให้ความสำคัญกับการลงประชามติในพม่ามากกว่าการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เพราะผ่านมาถึง 8 ปีแล้ว แต่ทว่า 8 ปี ของการเมืองพม่ากลับเต็มไปด้วย Historical Sequences ที่รวดเร็ว เร่งถี่ และร่วมสมัย แถมเรื่องการเลือกตั้งกับเรื่องประชามติในพม่ายังมีเส้นทางปฏิบัติการที่แตกต่างกันพอสมควร โดยเฉพาะการลงประชามติในพม่าที่ดันไปมีบรรยากาศและแผนยุทธศาสตร์จากชนชั้นปกครองที่คล้ายๆ กับแผนลงประชามติของ คสช.ในเมืองไทย

ฉะนั้น แนวทางการเคลื่อนไหวของ นปช. ในเรื่อง 'ไม่อายพม่า'  จึงถือเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการนำวาทกรรมการเมืองเปรียบเทียบแบบผิดเงื่อนไขหรือผิดหัวผิดฝาเข้าไปใช้ในกระบวนการสื่อสารทางการเมือง รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อความรับรู้ของคนพม่าที่มองการเลือกตั้งกับการลงประชามติในเงื่อนไขและบริบทที่แตกต่างกัน (นี่ยังไม่นับควันหลงอื่นๆ ที่เริ่มก่อตัวขึ้น เช่น นักข่าวพม่าส่วนหนึ่งที่ไม่ค่อยเข้าใจว่า คำว่าไม่โกง ของ นปช. หมายถึงว่าคนพม่าเป็นคนขี้โกงหรือไม่ หรือว่าใครกันแน่ที่โกง ระหว่างคนพม่าที่รักประชาธิปไตยกับทหารพม่า)

สุดท้ายนี้ ผมกราบขออภัยแกนนำ นปช. ด้วยสำหรับบทความชิ้นนี้ ผมไม่มีเจตนาอื่นใด นอกเสียจากแสดงความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์เพื่อตักเตือนยับยั้งกระบวนการสื่อสารการเมืองที่ผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนไปจากข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการเมืองร่วมสมัยในพม่า ซึ่งมีตัวแปรหรือสารัตถะที่ซับซ้อน ดังนั้น การรณรงค์ชี้ทางมวลชน จึงควรยืนอยู่บนฐานของข้อมูลการวิเคราะห์ที่ประณีต ไม่หลงทาง และยึดโยงอยู่กับลักษณะการเมืองที่เป็นจริงในประเทศคู่เทียบ ยิ่งถ้าเป็นประเทศเพื่อนบ้านด้วยแล้ว ยิ่งต้องมีการพิจารณาพินิจพิเคราะห์กันอย่างละเมียดเพื่อป้องกันสภาวะเข้าใจผิดกระทบกระทั่งกันในอนาคต

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์อัครพงษ์ ค่ำคูณ สหายวิชาการที่เคยโพสต์แบบกระชับๆ ในลักษณะที่ว่า ไม่เห็นด้วยกับสโลแกนรณรงค์นี้เท่าไหร่ เพราะพม่าก็มีเอกลักษณ์หรือปัญหาเฉพาะของเขา ไทยก็มีปัญหาเฉพาะของเรา การแก้ปัญหาจึงควรดูที่ต้นรากหรือโครงสร้างในบ้านเราเป็นตัวตั้ง ส่วนการใช้ประสบการณ์ในเพื่อนบ้านเพื่อกระตุ้นการพัฒนาการเมืองในบ้านเรา ผมคิดว่า เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้บ้างในบางประเด็นและถือเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพียงแต่ต้องไม่ลืมการตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนและจัดประเภทข้อมูลให้อยู่ในหมวดหมู่ที่ถูกต้องเหมาะสมก่อนที่จะนำมาเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในบ้านเรา

เพราะมิฉะนั้น สังคมก็จะจมดิ่งอยู่กับวัฏจักรที่เรียกว่า "Concept Misformation" ซึ่งถือเป็นปัญหาหมักหมมที่ตกค้างอยู่ในเมืองไทยมานมนานกาเล

 


ดุลยภาค ปรีชารัชช


หมายเหตุ:

บทความนี้ได้รับการปรับปรุงแก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2559 ตามเวลาท้องถิ่นในมลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยยึดตามเนื้อหาหลักๆ ของบทความที่ผู้เขียนเคยโพสต์ลงบนแฟนเพจก่อนหน้า

ทั้งนี้ผู้เขียนต้องกล่าวขออภัยทาง นปช. ด้วย หากผู้เขียนไม่มีความเข้าใจที่ถ่องแท้เกี่ยวกับแนวคิดหรือแนวทางการเคลื่อนไหวของ นปช. อย่างพอเพียง แต่ในเมื่อสโลแกน 'ไม่อายพม่า' ของ นปช. เริ่มเผยแพร่เข้าสู่สังคมในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงกล่มนักวิชาการ ชนชั้นปกครอง และประชาชนหลากหลายความคิด มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้เขียนซึ่งเป็นนักวิชาการซึ่งเฝ้าติดตามสถานการณ์การเมืองพม่ามาพอสมควร และกำลังรู้สึกว่าตนเริ่มได้รับการสื่อสารที่คลุมเครือและไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่จากตัวสโลแกนของ นปช. จะอาจเกิดความสงสัยใคร่รู้ขึ้นมาจนต้องตัดสินใจออกมาเขียนบทความนี้เพื่อสะท้อนความไม่เข้าใจหรือความคลุมเครือที่มีต่อที่มาคำขวัญรณรงค์ของ นปช. และก็เพื่อเป็นการเปิดทางให้ นปช. ได้สร้างคำอธิบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดหมวดหมู่เปรียบเทียบระหว่างไทยกับพม่าในกรณีการลงประชามติให้มีความกระจ่างชัดก่อนที่กิจกรรมรณรงค์ประชามติของ นปช. จะแพร่หลายไปสู่คนไทยหรือคนพม่าในระดับที่กว้างขวางขึ้น ผมจึงมีความจำเป็นที่ต้องออกมาตั้งคำถามเพื่อป้องกันปัญหาเข้าใจผิดหรือการรับ Political Message ที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงที่ดำรงอยู่

อันที่จริงแล้ว ถ้า นปช. กำลังรณรงค์เรื่องการใช้สิทธิเลือกตั้ง แล้วเอาพลังลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของคนพม่ารอบล่าสุดเข้ามาเทียบ มันก็คงไม่มีปัญหาการตีความที่คลุมเครืออะไร แต่ในเมื่อ Theme การรณรงค์กลับเป็นเรื่องประชามติ แต่แกนนำ นปช. กลับนำประสบการณ์เลือกตั้งในพม่าหรือการต่อสู้ของคนพม่าผ่านสมรภูมิเลือกตั้งรอบล่าสุดเข้าไปใส่หรือสร้างจุดเน้นในคำขวัญ มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญปัญหาทั้งในเรื่องของการจัด  Category ในทางการเมืองเปรียบเทียบที่เป็นคนละประเภทกันและในเรื่องเงื่อนไข/สารัตถะของประชามติ/การเลือกตั้งในพม่า ที่มีความแตกต่างกันอยู่ จนผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ว่า นปช. จะหาคำอธิบายต่อคนพม่าอย่างไร ซึ่งคงมีไม่น้อยที่อาจจะคิดหรือรู้สึกเหมือนผม คือ ไม่เข้าใจการเมือง หรือ Political Agenda ของนปช. อย่างลึกซึ้ง แต่ก็หลีกไม่พ้นที่ต้องหันมาตั้งคำถามกับ นปช. เพราะได้รับผลกระทบจากการอ้างอิงคำขวัญของ นปช. จนทำให้เกิดลูกศรทิ่มแทงกลับไปกลับมาเหมือนกันว่า แม้นผม หรือชาวพม่า ตลอดจนนักวิชาการและคนไทยหลากหลายความคิดจำนวนหนึ่ง อาจจะไม่เข้าใจการเมือง นปช. ในระดับที่ลุ่มลึก แต่เอาเข้าจริงๆ นปช. รู้ซึ้งเรื่องการเมืองพม่า การเมืองเปรียบเทียบและผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มากน้อยแค่ไหน  และในเมื่อพี่น้อง นปช. ตลอดจนตัวผมและคนไทยกลุ่มอีกๆ อีกจำนวนมิน้อย อาจกำลังพิจารณาตัดสินใจเอาพลังชีวิตของตนเองและครอบครัวเข้าไปร่วมชะตากรรมเคลื่อนไหวการเมืองที่ นปช. กำลังรณรงค์อยู่ หรือ กำลังจับตาดูวิถีการเคลื่อนไหวของ นปช. ว่าตั้งอยู่บนความเที่ยงตรงถูกต้องของข้อมูลและมีประสิทธิภาพในกระบวนการสื่อสารประชาสัมพันธ์แค่ไหน คนเหล่านั้นก็ควรมีสิทธิตั้งคำถามเพื่อรับรู้ถึงข้อเท็จจริง และนั่นก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมของ นปช. เช่นกัน ที่จะต้องรับเรื่องเหล่านี้ไว้พิจารณาเพื่อหาทางอธิบายหรือแก้ไขปรับปรุงแนวยุทธศาสตร์การเมืองสืบต่อไป