Skip to main content

 

หากวัดกำลังเมืองและระยะห่างภูมิศาสตร์ นครรัฐที่ทรงพลังมักมีขีดอำนาจเข้มข้นเหนือเมืองรองที่แวดล้อมประชิด (มากกว่า เมืองที่ตั้งอยู่ห่างไกลกัน) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เมืองบริวาร (Satellite Town) มักตกอยู่ใต้เขตวงอำนาจของเมืองแม่ที่ตั้งติดกันในทางภูมิศาสตร์

หลักการนี้ ใช้อธิบายได้ทั่วไปกับโครงสร้างสัณฐานเมืองตามแถบอุษาคเนย์ ไม่ว่าจะเป็น วงนครรัฐลุ่มเจ้าพระยาหรือวงนครรัฐลุ่มอิรวดีในพม่า ทว่า หัวเมืองอีสานราวคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถือเป็นกรณียกเว้น

นับแต่ช่วงทศวรรษ 1830-1840 ลงมา ผู้ปกครองกรุงเทพได้ดำเนินนโยบายสถาปนาเมืองบริวารขึ้นตามฝั่งขวาแม่น้ำโขงเพื่อสร้างเขตควบคุมไพร่และทรัพยากรการผลิต ด้วยเชื่อว่า การผุดเมืองใหม่ รอบๆ เมืองแม่ในย่านท้องถิ่นหนึ่งๆ จะนำมาซึ่งพลังบริหารรัฐกิจที่สามารถตอบสนองความต้องการส่วนกลาง โดยเฉพาะการระดมพลในยามสงครามหรือการดึงโภคทรัพย์เข้าศูนย์ราชธานี


แผนที่ภูมิศาสตร์การเมืองในภาคอีสานและลุ่มน้ำโขงระหว่างช่วงศตวรรษที่ 1830-1840 ซึ่งแสดงเมืองแม่และเมืองบริวาร อาทิ นครพนมซึ่งมีเมืองขึ้นอย่างเมืองเรณู อาทมาต (อาจสามารถ) และอุเทน เมืองมุกดาหาร ซึ่งมีเมืองขึ้น คือ หนองสูง เมืองกาฬสินธุ์ที่่คุมเมืองบริวารในเขตลำน้ำปาวและบางส่วนของแม่น้ำชี เช่น ภูแล่นช้าง แซงบาดาล และกุฉินารายณ์ หรือ เมืองขุขันธ์ ที่มีเมืองบริวารข้ามเทือกเขาพนมดงรักอย่างเมืองมโนไพร (ที่มา: Kennon Breazeale. The Integration of the Lao States into the Thai Kingdom. PhD Thesis, Faculty of Oriental Studies, the University of Oxford, 1975)


กระบวนการประดิษฐ์เมืองบริวาร ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกลุ่มชนชั้นนำท้องถิ่นอีสาน ซึ่งมีไม่น้อยที่นอกจากจะได้ทยอยขึ้นรั้งตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองคนใหม่กันแล้ว ยังสามารถอุปถัมภ์ญาติพี่น้องตนให้เข้าไปกินตำแหน่งราชการในหลายๆ อัตรา

ทว่า บรรดานครอีสานที่ถูกผลิตขึ้นใหม่เหล่านี้กับสร้างปัญหาที่คาดไม่ถึงในเชิงภูมิศาสตร์การเมืองให้กับทางกรุงเทพ นั่นก็คือ การก่อตัวของระบบพันธมิตรและเครือข่ายจงรักภักดีของกลุ่มเมืองบริวารที่มักมีลักษณะตัดสลับโยงข้ามเมืองแม่ที่ตั้งประชิดอยู่ในท้องถิ่น หรือ พูดง่ายๆ คือ เจ้าเมืองบริวารมักไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อเจ้าเมืองแม่ที่อยู่ละแวกใกล้กัน หากแต่กลับไปถวายความภักดีต่อเมืองแม่ที่อยู่ไกลกว่า

ตัวอย่างสำคัญ คือ การตั้งเมืองอำนาจเจริญเมื่อปี ค.ศ. 1858 ซึ่งขึ้นตรงต่อเมืองแม่เขมราฐ ทั้งๆ ที่ อำนาจเจริญมีระยะทางอยู่ใกล้กับเมืองอุบลและเมืองยโสธรมากกว่า หรือ สถานะเมืองแม่กาฬสินธุ์ที่ควบคุมนครบริวารหลายแห่ง อาทิ กมลาไสย สหัสขันธ์ กันทรวิชัย กุฉินารายณ์ ภูแล่นช้างและแซงบาดาล ทว่า เมื่อเจ้าเมืองกมลาไสยเกิดขัดแย้งกับเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ทั้งสองเมืองต่างกลายเป็นนครรัฐคู่แข่งในเขตลุ่มน้ำปาว จนต่อมา กมลาไสยไม่ขอขึ้นตรงต่อกาฬสินธุ์ โดยหันไปสะสมกำลังอำนาจอิสระพร้อมดึงดูดให้เจ้าเมืองสหัสขันธ์ (ที่เกิดทะเลาะกับเจ้าเมืองกาฬสินธุ์เช่นกัน) หันเข้ามาแปรพักตร์ยอมสวามิภักดิ์ต่อเจ้าเมืองกมลาไสย ทั้งๆ ที่ ทั้งสองเมืองต่างตั้งอยู่ห่างกันและการเดินทางสัญจรจำเป็นต้องกระทำผ่านเขตอำนาจกาฬสินธุ์



เจ้าเมืองเขมราฐ (เขมราษฏ์) แถบอุบลราชธานี (ภาพจาก นิตยสารทางอีศาน)


โครงสร้างสัณฐานนครเช่นนี้ นอกจากจะขัดกับหลักภูมิศาสตร์การเมืองอุษาคเนย์โบราณ (โดยเฉพาะ การไหลลื่นของอำนาจเมืองบริวารที่มักถูกดึงดูดหรือวิ่งเข้าหาเมืองแม่ประชิด) ยังสร้างความสับสนคลุมเครือต่อผู้ปกครองกรุงเทพ โดยเฉพาะ กระบวนการกำหนดชั้นอำนาจหรือการแบ่งขอบดุลอาณาดินแดน (Territorial Jurisdiction) ซึ่งในพื้นที่จริง กลับมีลักษณะโยงข้ามตัดสลับวงกระดุมนครที่ตั้งประกบกันอยู่ จนทำให้เกิดกลุ่ม "Enclave” หรือ "ดินแดนแทรก” ที่ผุดตัวขึ้นท่ามกลางแนววงล้อมหรือการคั่นกลางจากเขตนครรัฐที่ทรงกำลังกว่า

จากกรณีดังกล่าว นับได้ว่า นวัตกรรมจัดการปกครองของฝ่ายกรุงเทพตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้ทำให้เกิดผลทางภูมิศาสตร์การเมืองที่ไม่ตั้งใจอันนำมาสู่แบบแผนความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ซับซ้อนระหว่างเมืองแม่กับเมืองบริวารในเขตอีสาน (รวมถึงในบางหัวเมืองทางแถบลุ่มน้ำโขง)

แต่อย่างไรก็ตาม สภาวะบิดเบี้ยวของลำดับชั้นอำนาจใต้โครงสร้างสมาพันธ์นครรัฐแบบหลวมๆ เช่นนี้ ก็ได้ค่อยๆ ถูกปรับเปลี่ยนแก้ไขผ่านกระบวนการรวมศูนย์อำนาจและการจัดกลุ่มจังหวัด-อำเภอที่เกิดขึ้นเป็นจริงเป็นจังในสมัยรัชกาลที่ห้าและรัชกาลที่หก โดยเฉพาะการจัดเขตภูมิศาสตร์การเมืองใหม่ผ่านนโยบายยุบเมืองบริวารหรือการปรับแปลงเมืองแม่และเมืองบริวารในภาคอีสานให้กลายเป็นหน่วยระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ที่ถูกปกครองจากส่วนกลางในลักษณะที่ลดหลั่นเป็นชั้นๆ หรือถูกโยงติดกับศูนย์อำนาจแม่ข่ายที่ชัดเจนเป็นเอกภาพขึ้น

หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่ง หากพิจารณาแนววงกระดุมเมืองใต้เขตจังหวัดหนึ่งๆ อดีตเมืองแม่มักจะถูกแปลงสถานะขึ้นเป็นอำเภอเมืองหรืออำเภอสำคัญ ส่วนเมืองบริวารมักกลายเป็นอำเภอชนบทหรือถูกยุบลงเป็นตำบล เพียงแต่ว่า หน่วยปกครองเหล่านี้ มักจะตั้งอยู่ในวงภูมิศาสตร์ที่ต่อประชิดหรือไม่ห่างไกลกันมากนักจากจุดหัวใจประจำจังหวัด (แม้จะมีบางท้องที่ที่ยังคงมีทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้หรือหันเข้าหาเขตจังหวัดอื่นอยู่บ้าง และยังมีอีกบางพื้นที่ที่ตกอยู่ใต้อธิปไตยของฝรั่งเศส จนทำให้เกิดแนวทางจัดการปกครองเมืองที่เหมือนหรือต่างจากกรอบนโยบายของรัฐสยาม/ไทย)


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค