Skip to main content

 

การลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งจบลงด้วยการออกเสียงเห็นชอบทั้งในส่วนของร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง (ที่เพิ่มอำนาจให้ ส.ว.เฉพาะกาลมีบทบาทเลือกนายกรัฐมนตรีตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ) นับเป็นจุดหักเหประวัติศาสตร์ที่สะท้อนตัวตนรัฐไทยได้อย่างคมชัด ปริศนาที่น่าคิดต่อ คือ ผลคะแนนตามภูมิภาคแสดงให้เห็นจุดเด่นหรือลักษณะพิเศษของรัฐไทยในแง่มุมใดได้บ้าง

แม้การไขปริศนาดังกล่าวจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ความพยายามจำแนกกลุ่มหรือจัดประเภทหน่วยการเมืองอย่างเป็นระบบระเบียบ อาจช่วยเผยจุดเด่นเกี่ยวกับดินแดน ชาติพันธุ์ ฐานอำนาจ และอุดมการณ์การเมืองซึ่งประกอบสร้างขึ้นมาหรือปะติดปะต่อเข้าด้วยกันจนมีผลต่อการออกเสียงลงประชามติของประชาชนตามภาคต่างๆ อย่างล้ำลึก

ในบทความนี้ ผู้เขียนมีสมมุติฐานหลักว่า ผลคะแนนประชามติล่าสุด คือ ภาพแสดงกายารัฐไทยยุคเปลี่ยนผ่านที่ถูกผ่าออกเป็น 4 เขตหลัก ได้แก่

1. เขตประเทศไทยแท้ที่ยึดอุดมการณ์และรูปอำนาจแบบอนุรักษนิยมซึ่งเต็มไปด้วยประชากรที่สนับสนุนทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ครอบคลุมทั้งกรุงเทพมหานคร ไปจนถึงจังหวัดส่วนใหญ่ในภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคใต้ และบางส่วนของภาคอีสาน

2. เขตประเทศไทยแท้ที่ถือวิถีประชานิยมหรือไม่ได้ยกย่องแนวคิดประเพณีนิยมมากนัก ซึ่งได้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเดียวกันกับประเภทแรก หรือมีต้นวงศ์ทางชาติพันธุ์เดียวกัน ทว่า กลับไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง

3. เขตประเทศไทยผสมที่ประชาชนมีระบบคิดค่อนมาทางอนุรักษนิยม เช่น บางจังหวัดในภาคเหนือและภาคอีสาน ที่มีองค์ประกอบทางภูมิศาสตร์และชาติพันธุ์คล้ายคลึงกับจังหวัดส่วนใหญ่ที่ล้อมประชิด หากแต่ก็ตัดสินใจยอมรับแนวคิดอนุรักษนิยม/รัฐนิยม พร้อมสนับสนุนทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง หรือสนับสนุนประเด็นหนึ่งประเด็นใดเป็นการเฉพาะ และ

4. เขตประเทศไทยผสมที่ประกอบด้วยระบบแนวคิดแบบประชานิยม ซึ่งได้แก่หลายจังหวัดในภาคเหนือ ภาคอีสาน ตลอดจน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่ลงคะแนนคัดค้านทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง

ผู้เขียนเชื่อว่า โครงร่างสัณฐานรัฐไทยที่แบ่งออกเป็น 4 ก๊ก หรือจตุรบริเวณเช่นนี้ ย่อมท้าทายคณะผู้ปกครอง ไม่ว่าจะเป็น คสช. หรือรัฐบาลใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องมีความเพียรพยายามในการออกแบบนวัตกรรมปกครองรัฐหรือดำเนินนโยบายสาธารณะที่สามารถตอบสนองอัตลักษณ์หรือความต้องการของประชาชนจากทั้ง 4 เขต

สำหรับอุปกรณ์วิเคราะห์เพื่อสนับสนุนข้อสมมุติฐานดังกล่าว คือ การประดิษฐ์ชุดจำแนกประเภท (Typology) แบบพอสังเขปเพื่อสร้างมุมมองที่คมชัดขึ้นเกี่ยวกับการชำแหละกายารัฐไทย โดยประกอบด้วย 2 มิติหลัก และ 4 มิติย่อย ดังนี้

1. มิติเชิงดินแดน-ประชากร ที่เน้นการมองรูปสัณฐานรัฐไทยผ่านขอบดินแดนประเพณีทางประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ซึ่งอาจมีผลต่อวัฒนธรรมการเมืองของประชาชนในแต่ละภาค โดยสามารถแบ่งแยกย่อยออกเป็น 2 พื้นที่หลัก คือ

1.1 เขตแกน-ไทยแท้ : ครอบคลุมกรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคอีสานบางจังหวัด โดยเฉพาะนครราชสีมาและพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคใต้ บริเวณนี้ถือเป็นถิ่นฐานหลักของชาวสยามแต่ครั้งโบราณกาลซึ่งมีลักษณะผสมปนเปทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น เขมร มอญ จีน พร้อมกันนั้นขันธสีมานี้ยังเคยเป็นดินแดนหัวใจของอาณาจักรจารีตโบราณอย่างสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ตัวอย่างเด่นชัด คือ สภาวะเกาะกลุ่มของหน่วยการเมืองหลังยุคล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาที่แบ่งออกเป็น 5 ชุมนุมหลัก ได้แก่ ชุมนุมพระยาตาก, ชุมนุมเจ้าเมืองพิษณุโลก, ชุมนุมเจ้าพระฝาง, ชุมนุมเจ้าพิมาย และชุมนุมพระปลัดเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งชุมนุมเหล่านี้ล้วนมีเขตอิทธิพลครอบคลุมจังหวัดทั้งหมดในเมืองไทย ยกเว้นดินแดนส่วนใหญ่ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และ 3 จังหวัดภาคใต้ (โดยประชาชนในเขตนี้มักเป็นกลุ่มที่ลงคะแนนสนับสนุนทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง)

1.2 เขตขอบ-ไทยผสม : ครอบคลุมพื้นที่ริมขอบส่วนใหญ่ในภาคเหนือและภาคอีสานซึ่งมีลักษณะเป็นทั้งเขตหุบเขาและเขตที่ราบสูงอันเป็นถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ยวน-ลาว นอกจากนั้นยังรวมถึงดินแดนห่างไกลภาคใต้ที่ตั้งประชิดกับโลกมลายู ขันธสีมาดังกล่าวเคยเป็นศูนย์กลางหรือเคยตกอยู่ใต้อิทธิพลของอาณาจักรล้านนา ล้านช้าง และปัตตานีมาก่อน ซึ่งมีลักษณะเป็นรัฐจารีตกึ่งอิสระที่เพิ่งถูกผนวกเข้ามาอยู่ในเขตสยามหรือดินแดนไทยแท้ผ่านกระบวนการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5

2. มิติเชิงอำนาจ-อุดมการณ์ ที่เน้นการมองโครงสร้างรัฐไทยผ่านการขยายอิทธิพลของชนชั้นนำและขั้วการเมืองต่างๆ เช่น ทหาร พรรคการเมือง และองค์กรมวลชนปฏิวัติ พร้อมกันนั้นมิตินี้ยังพิจารณาถึงความแตกต่างเชิงอุดมการณ์ โดยเฉพาะอนุรักษนิยมกับประชานิยม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการวิเคราะห์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยการหลอมรวมอุดมการณ์การเมืองกับเขตอิทธิพลชนชั้นนำเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดเขตแยกย่อยอีก 2 แบบ คือ

2.1 เขตอนุรักษนิยม : ครอบคลุมกรุงเทพฯ ตลอดจนพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคใต้ และบางส่วนของภาคอีสานอย่างนครราชสีมา บริเวณนี้ถือเป็นฐานอำนาจเข้มข้นของคณะเสนาธิปัตย์ เช่น หน่วยกำลังรบและหน่วยทหารรักษาพระองค์ที่สำคัญกลุ่มต่างๆ ตัวอย่างเช่น เขตทหารเรือในจังหวัดชายทะเลตะวันออก กองพลทหารราบที่ 9 จ.กาญจนบุรี หรือฐานกำลังของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทางแถบนครราชสีมาและปราจีนบุรี ขณะเดียวกันเขตอนุรักษนิยมยังหมายถึงฐานคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ ตลอดจนเขตภาคีของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยและมวลมหาประชาชนใต้การนำของ กปปส. สำหรับในแง่อุดมการณ์ ทั้งชนชั้นนำที่ถือครองอำนาจและประชาชนในพื้นที่ มักให้ความสำคัญกับการปกป้องสถาบัน รวมถึงการเชิดชูวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของประเทศซึ่งมีรากมาจากอารยธรรมกลุ่มชนในเขตแกนไทยแท้ โดยเฉพาะทางแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา นอกจากนั้นกลุ่มดังกล่าวยังมีความเป็นรัฐนิยมหรือชาตินิยมในระดับสูง โดยเฉพาะการขจัดนักการเมืองทุจริตเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ชาติ หรือการมองเหตุการณ์ทะเลาะเบาะแว้งทางการเมืองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงชาติ

2.2 เขตประชานิยม : ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ บริเวณนี้คือฐานอำนาจของพรรคเพื่อไทย นปช. หรือกลุ่มก่อความไม่สงบทางแถบปัตตานี ยะลา นราธิวาส ส่วนในแง่อุดมการณ์หรือแนวคิดทางการเมือง ประชาชนในย่านดังกล่าวมักชื่นชอบนโยบายประชานิยมซึ่งได้รับการผลักดันอย่างจริงจังในสมัยรัฐบาลทักษิณโดยเน้นการผันงบประมาณและผลประโยชน์ไปถึงมือชาวบ้านในลักษณะที่จับต้องได้ พร้อมมีกิจกรรมที่มุ่งสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลกับชนชั้นล่าง แต่ในอีกมุมหนึ่ง คำว่าประชานิยมในที่นี้อาจหมายรวมไปถึงระบบความคิดที่ให้คุณค่าและความเท่าเทียมกันแก่ประชาชนทั่วไป พร้อมแผ่คลุมไปถึงหลักการกระจายอำนาจเพื่อรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นของกลุ่มชน ฉะนั้น เขตประชานิยมจึงครอบคลุมทั้งกลุ่มคนภาคเหนือ ภาคอีสานที่ชื่นชอบนโยบายประชานิยม กลุ่มคนทั้งที่ใช่และไม่ใช่คนเสื้อแดง (ซึ่งอาจมีทั้งชาวเหนือ ชาวอีสาน หรือประชาชนจากภาคอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยและต่างประเทศ) ตลอดจนประชาชนใน 3 จังหวัดภาคใต้ที่ให้ความสำคัญกับการดำรงภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมกลุ่มชนที่มีลักษณะเป็นแบบมลายูท้องถิ่น (ดูภาพประกอบ)


แผนที่แสดงขอบสัณฐานของดินแดนแกนใน-ไทย/สยามแท้หลังยุคล่มสลายของรัฐอยุธยา แผนที่ 2 แสดงหน่วยชาติพันธุ์ในเมืองไทย เช่น ไทย/สยามแท้/เขมร/มอญ ทางแถบภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ หรือ ยวน/ลาว ทางแถบภาคเหนือและภาคอีสาน แผนที่ 3 แสดงผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ในปี พ.ศ.2554 และแผนที่ 4 แสดงผลการลงคะแนนประชามติรับ/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด (ที่มา:ดัดแปลงจากวิกิพีเดีย)

จากการนำมิติทางดินแดน-ประชากร และมิติทางอำนาจ-อุดมการณ์มาผสมผสานเจือปนกัน ผลผลิตที่ได้ คือ รูปแบบกลุ่มจังหวัดที่สามารถแบ่งสังเขปออกเป็น 4 ชนิดหลัก ได้แก่

1. เขตแกนไทยแท้แบบอนุรักษนิยม ซึ่งหมายถึงดินแดนส่วนใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคอีสานบางส่วน โดยถือเป็นเขตประชากรไทยแท้ที่รับวัฒนธรรมจากอาณาจักรแกนกลางเก่าแก่ในทางประวัติศาสตร์ รวมถึงเป็นเขตที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลเหนียวแน่นของบรรดาชนชั้นนำทหาร พรรคประชาธิปัตย์ และ กปปส. หรือแม้กระทั่งกลุ่มชนชั้นกลาง-ชนชั้นกระฎุมพีเชื้อสายจีนในเขตกรุงเทพฯและท้องที่ภาคกลาง โดยภาคีดังกล่าวมักมีระบบคิดแบบอนุรักษนิยม รัฐนิยม และชาตินิยม หรือแม้กระทั่งชนชั้นนิยมและศูนย์กลางนิยม เป็นตัวตั้ง

2. เขตแกนไทยแท้แบบประชานิยม ซึ่งมีขอบเขตทางดินแดน-ชาติพันธุ์เหมือนกับประเภทแรก ทว่า ประชาชนในย่านดังกล่าวกลับมีระบบความคิดที่เอนเอียงมาทางประชานิยม อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนคะแนนเสียงประชามติที่ตกเป็นรองประเภทแรก จึงทำให้กลุ่มคนในภาคีนี้มีสภาพเป็นเงาที่ซ่อนตัวซ้อนทับอยู่ใต้โครงสร้างดินแดนแรกอีกต่อหนึ่ง

3. เขตขอบไทยผสมแบบอนุรักษนิยม ซึ่งครอบคลุมบางจังหวัดในภาคเหนือและภาคอีสาน หากแต่กลุ่มจังหวัดเหล่านี้กลับมีลักษณะพิเศษจนทำให้การลงคะแนนเสียงมีการเบี่ยงเบนไปจากกลุ่มจังหวัดข้างเคียง อาทิ แม่ฮ่องสอนที่มีโครงสร้างวัฒนธรรมประชากรแบบไทใหญ่ กะเหรี่ยง และยางแดง ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มยวน-ลาว ทางแถบเชียงใหม่และเชียงราย รวมถึงมีสภาพเป็นฐานอำนาจของพรรคประชาธิปัตย์และหน่วยทหารที่มีบทบาทต่อการป้องกันประเทศและพัฒนาชายแดน ขณะที่ จ.บุรีรัมย์คือเขตประชากรที่มีชาติพันธุ์และวัฒนธรรมแบบเขมรพร้อมมีสภาพเป็นฐานคะแนนตระกูลชิดชอบซึ่งทำให้เกิดลักษณะที่แตกต่างไปจากเขตลาวหรือเขตประชานิยมทักษิณตามย่านจังหวัดอีสานอื่นๆ

4. เขตขอบไทยผสมแบบประชานิยม  ซึ่งครอบคลุมหลายจังหวัดในภาคเหนือ ภาคอีสาน และ 3 จังหวัดภาคใต้ (ส่วนใหญ่มักมีระยะห่างไกลจากกรุงเทพฯ) โดยถือเป็นเขตประชากรยวน-ลาว-มลายู ที่ตั้งอยู่ตรงแกนนอกในพัฒนาการประวัติศาสตร์ สำหรับภาคเหนือและภาคอีสานมักตกอยู่ใต้เขตอิทธิพลเข้มข้นของพรรคเพื่อไทย และ นปช. จนทำให้มีระบบความคิดแบบประชานิยมที่สวนทางกับสารัตถะส่วนใหญ่ในร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนการลงคะแนนเสียงของ 3 จังหวัดภาคใต้อาจสัมพันธ์กับมาตรการปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา รวมถึงการคงโครงสร้างรัฐเดี่ยวรวมศูนย์ที่ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด หรืออาจจะสัมพันธ์กับกลุ่มมวลชนที่ไม่พอใจการปฏิบัติงานของทหารไทยในพื้นที่จนทำให้เกิดกระแสต่อต้านอำนาจ คสช. (ดูตารางประกอบ)

กล่าวโดยสรุป การจัดประเภทกายารัฐออกเป็น 4 แบบหลักโดยอาศัยเกณฑ์ดินแดน ชาติพันธุ์ เขตอำนาจ และอุดมการณ์ นับเป็นนวัตกรรมบูรณาการเชิงวิชาการที่ผู้เขียนต้องการชี้ชวนให้สังคมไทยหันมาร่วมกันพิเคราะห์ว่าตกลงแล้ว เมืองไทยระยะเปลี่ยนผ่าน (โดยเฉพาะในช่วงระหว่างและหลังการลงประชามติ) คือ รัฐประเภทใดกันแน่

คำตอบที่ได้ อาจอธิบายสั้นๆ ในลักษณะที่ว่า รัฐไทยรุ่นปัจจุบัน คือ “รัฐจตุรเขต” หรือ “รัฐจตุรขันธ์” ที่ประกอบไปด้วย 4 ภูมิหลักซึ่งผันแปรไปตามองคภาพพื้นฐานที่แม้จะมีความแตกต่างกันในเชิงโครงสร้าง หรือผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ ตามแต่วาระและโอกาส หากแต่ขอบขันธ์เหล่านี้ก็ยังคงรวมร่างปะติดปะต่อประคับประคองเข้าด้วยกันจนดำรงสภาพเป็นรัฐอธิปไตยอิสระสืบมาจนถึงทุกวันนี้


ดุลยภาค ปรีชารัชช

เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนออนไลน์
 

บล็อกของ ดุลยภาค