Skip to main content

 

ฟรานซิส การ์นิเยร์ (Francis Garnier) คือ นายทหารเรือและนักแผนที่วิทยาฝรั่งเศสผู้เจนจัดช่ำชองในการสำรวจอินโดจีน จนสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับชนชั้นนำกรุงเทพฯ โดยเฉพาะการวางกลยุทธ์แข่งขันถ่วงดุลอำนาจกับสยามบนลุ่มน้ำโขง

กระทรวงทหารเรือและอาณานิคมฝรั่งเศสพร้อมด้วยกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสได้เคยจัดให้มีกิจกรรมสำรวจแม่น้ำโขงขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1867 (พ.ศ.2410) โดยคณะเดินทางชุดใหญ่ซึ่งใช้ชื่อว่า "la monomanie du mekong" อันมี ฟรานซิส การ์นิเยร์ (ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นนายทหารผู้บ้าคลั่งแม่น้ำโขงตัวจริง) เป็นหนึ่งในผู้นำคณะสำรวจ ได้ทิ้งมรดกอันยิ่งใหญ่ให้กับความรุ่งเรืองโจนทะยานของจักรวรรดิฝรั่งเศส นั่นก็คือ แผนที่อินโดจีน ที่มีคุณูปการยิ่งต่อการวางเกมมหายุทธศาสตร์ (Grand Strategy) เพื่อครอบครองยื้อแย่งรัฐพื้นเมือง พร้อมเอื้อประโยชน์ต่อกองทัพฝรั่งเศสในสัประยุทธ์ต่อกรกับรัฐเจ้าพ่อท้องถิ่นอย่างสยาม

จากการสอบทานโครงสร้างสัณฐานภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Configuration) ที่ปรากฏอยู่บนแผนที่การ์นิเยร์ ผมมีความเห็นว่า แผนที่ฉบับนี้ นอกจากจะเป็นกุญแจสำคัญที่ไขชัยชนะให้ฝรั่งเศสกุมแผ่นดินอินโดจีนได้เต็มพิกัดแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพที่ชาญฉลาดทั้งในทางรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์และธรรมชาติวิทยาของนักยุทธศาสตร์ฝรั่งเศส กล่าวคือ การ์นิเยร์ ได้ประดิษฐ์นวัตกรรมภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ทั้งเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ (International Boundary) และเส้นรอยเลื่อนตอนใน (Internal Fault Line) เพื่อใช้ตรึงกายาสยาม (Siamese Geo-Body) โดยแบ่งเส้นประดิษฐ์ออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่

1. เส้นสีแดง - แสดงแนวแม่น้ำโขงและเส้นทางการค้า-เดินทัพสายสำคัญ เช่น จากโพธิสัตว์ เสียมราฐ ศรีสะเกษ อุบล เข้า จำปาศักดิ์

2. เส้นสีเหลือง - แสดงสันเขา สันปันน้ำ และสายภู ตามเทือกเขาสำคัญต่างๆ ได้แก่ เทือกเขาแดนลาว ถนนธงชัย หลวงพระบาง ตะนาวศรี รวมถึงแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ที่ลากลงดงพญาไฟ พร้อมหักขวาเชื่อมหาพนมดงรักและตัดลงใต้สู่เขาบรรทัด จนทำให้เกิดจุดแบ่งภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างสยาม กับ อีสาน สยาม กับ กัมพูชา รวมถึงระหว่างที่ลุ่มต่ำภาคกลางกับที่ราบสูงอีสาน

3. เส้นสีน้ำเงิน - แสดงแนวแม่น้ำระหว่างประเทศสายอื่นๆ คือ แม่น้ำเมย-สาละวิน แม่น้ำสาย และแม่น้ำเหืองซึ่งมีลักษณะโค้งตวัดเชื่อมต่อกับแนวแม่น้ำโขงและรอยต่อระหว่างเทือกเขาเพชรบูรณ์กับเทือกเขาหลวงพระบาง

จากการนำเส้นสีทั้งสามประเภทมาวางประกบกันบนบริบทของการสัประยุทธ์แย่งชิงหัวเมืองลาว-เขมร ระหว่างฝ่ายสยามกับฝ่ายฝรั่งเศส พร้อมเกมแข่งขันล่าเมืองขึ้นระหว่างจักรวรรดิอังกฤษกับจักรวรรดิฝรั่งเศส ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ภูมิสัณฐานใหม่ของรัฐสยามที่วิวัฒน์ไปสู่รูปขวานทองเหมือนดั่งเช่นปัจจุบัน

ทว่า แม้นวัตกรรมภูมิรัฐศาสตร์เช่นนี้ จะทำให้เกิดเส้นแบ่งแดนระหว่างประเทศที่ชัดเจน หากแต่เส้นรอยเลื่อนตอนในที่ผ่ากั้นระหว่างเขตลุ่มต่ำสยามแท้กับเขตที่ราบสูงอีสาน เช่น เขาเพชรบูรณ์-ผืนป่าดงพญาไฟ (ซึ่งถูกประดิษฐ์โดยคณะสำรวจการ์เนเยร์) กลับค่อยๆ แปลงสัณฐานจากเส้นกันชนประวัติศาสตร์ที่ฝรั่งเศสเคยใช้ต่อรองกับอังกฤษในการแบ่งเขตอิทธิพลเหนือสยาม เข้าสู่ เส้นกั้นภูมิศาสตร์ระหว่างกลุ่มจังหวัดในเขตภาคกลางกับภาคอีสาน ซึ่งถือเป็นหน่วยภูมิศาสตร์การเมืองใหม่ที่ประกอบสร้างขึ้นเป็นรัฐสยาม/ไทยยุคปลาย/หลังล่าอาณานิคมฝรั่ง โดยถือกันว่า การสถาปนากระบวนการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่กรุงเทพผ่านระบบมณฑลเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ห้าและการจัดตั้งจังหวัดในสมัยรัชกาลที่หก ตลอดจน การสร้างสายเชื่อมโยงคมนาคมเช่นทางรถไฟสมัยรัชกาลที่ห้า กับ ถนนมิตรภาพในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการสลายเครื่องกีดขวางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างกรุงเทพกับอีสาน จนส่งผลให้เกิดกระบวนการบูรณาการข้ามเส้นรอยเลื่อนระหว่างดินแดนแกนในกับดินแดนแกนนอก

ท้ายที่สุด คงมิเกินเลยนัก หากกล่าวว่า แผนที่อินโดจีนฝรั่งเศสของการ์นิเยร์ โดยเฉพาะใน Section ที่ครอบคลุมเขตภูมิศาสตร์สำคัญในสยาม อีสาน ลาว และ กัมพูชา ถือเป็นนวัตกรรมแผนที่วิทยาที่สะท้อนมหายุทธศาสตร์ฝรั่งเศสในการครอบครองดินแดนอาณานิคมจนมีผลอย่างล้ำลึกต่อชะตาชีวิตรัฐพื้นเมือง ไม่เว้นแม้แต่อาณาจักรสยาม ซึ่งการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์อาณาเขตล้วนได้รับผลกระทบอย่างยิ่งงยวดจากกลยุทธ์ภูมิรัฐศาสตร์ฝรั่งเศส


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

หมายเหตุ: ผู้อ่านอาจสามารถแกะรอยภูมิสถานตลอดจนนามท้องถิ่นของเมืองและลุ่มน้ำต่างๆ บนแผนที่การ์นิเยร์ ได้อย่างเพลิดเพลิน

อย่างไรก็ตาม แม้แผนที่ดังกล่าวจะสะท้อนความแม่นย้ำช่ำชองของนักยุทธศาสตร์ฝรั่งเศสที่พยายามสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติวิทยาบนรัฐพื้นเมืองเอเชียอาคเนย์ ทว่า ผู้เขียน ก็พบทั้งความเที่ยงตรงและความคลาดเคลื่อนในตำแหน่งภูมิศาสตร์บางประการที่อยากจะชี้ชวนให้ผู้อ่านได้ขบคิดต่อ เช่น

1. พื้นที่อีสานเหนือที่อยู่ระหว่างแนวเทือกเขาภูพานกับแม่น้ำโขง ซึ่งประกอบด้วยเมืองหรือชุมชนสำคัญ อาทิ หนองคาย ท่าบ่อ โพนพิสัย หนองหาน (สกลนคร) และอาทมาตร (ซึ่งน่าจะเป็นตำบลอาจสามารถในเขตนครพนมที่เป็นถิ่นฐานของชาวแสก) รวมถึงพื้นที่ใกล้เขตเทือกเขาเพชรบูรณ์ที่ประกอบด้วยเมืองสำคัญอย่างเลย โดยตลอดทั่วเขตภาคพื้นอีสานเหนือนั้น น่าคิดต่อว่า ทำไมแม่น้ำเหืองจึงมีความสำคัญในมุมมองนักยุทธศาสตร์ฝรั่งเศสและทำไมแนวเทือกเขาภูพานถึงไม่ถูกลงสีเหลืองเฉกเช่นเดียวกับเขาสำคัญอื่นๆ (ฝรั่งเศสมีแผนยุทธศาสตร์หรือเล็งเห็นนัยยะอะไรในการขับเน้นความสำคัญของหน่วยภูมิศาสตร์หนึ่ง แต่ลดหรือคงนัยสำคัญของอีกเขตภูมิศาสตร์หนึ่ง)

2. แม่น้ำสำคัญในภาคอีสาน คือ แม่น้ำมูลกับแม่น้ำชี หากแต่การ์นิเยร์ ได้ลงตำแหน่งจุดบรรจบของลำน้ำทั้งสองคลาดเคลื่อนไป คือ ระบุจุดสบอยู่ตรงบริเวณรอยต่อระหว่างสุรินทร์กับศรีสะเกษ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว จุดนับพบระหว่างน้ำชีกับน้ำมูล คือตรงบ้านขอนไม้ยูง เขตวารินชำราบ เมืองอุบลราชธานี ฉะนั้น คำถาม คือ เกิดอะไรขึ้นกับความผิดพลาดดังกล่าว หรือ ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับหน่วยภูมิศาสตร์อื่น เช่น สันปันน้ำ มากกว่า จุดสบลำน้ำใหญ่ และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เขตภูมิประเทศย่านใดของภาคอีสานที่มีนัยสำคัญต่อยุทธศาสตร์อินโดจีนฝรั่งเศส

แค่แผนที่ฉบับเดียว ก็ทิ้งทั้งปริศนาที่มีผลต่อการบ่มเพาะภูมิปัญญา พร้อมส่งผลสะเทือนต่อประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและอธิปไตยของระบบรัฐบนเวทีนานาชาติ

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค