Skip to main content

 

แม้สหรัฐอเมริกาจะได้ "ทรัมป์" ขึ้นมาเป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่จนเกิดคำถามตามมามากมายว่า ท้ายที่สุดแล้วสหรัฐจะดำเนินท่าทีทางการทูตอย่างไรต่อเวทีโลก ทว่า ผู้เขียนกลับเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าทรัปม์หรือคลินตันหรือต่อให้ใครก็ตามที่ขึ้นมากุมบังเหียนปกครองสหรัฐ แผนมหายุทธศาสตร์ หรือ "Grand Strategy" เพื่อรั้งตำแหน่งเอกอภิมหาอำนาจโลก (Supreme Power) ก็ยังคงมีอิทธิพลต่อการกำหนดและดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐสืบไป

เคล็ดลับที่ซ่อนอยู่ในพฤติกรรมการทูตสหรัฐ คือ หลักวิชาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ซึ่งเกิดจากการผสมผสานระหว่างวิชาภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์และการทหาร โดยวิชานี้เคยสำแดงฤทธานุภาพอย่างเด่นชัดตั้งแต่ยุคต้นสงครามเย็นไปจนถึงยุคล่มสลายของสหภาพโซเวียต

การขับเคี่ยวระหว่างสหรัฐกับโซเวียตล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยทฤษฏีภูมิรัฐศาสตร์โลกระหว่างสองสำนัก ได้แก่

1. ทฤษฏีดินแดนหัวใจ หรือ Heartland ที่ถูกคิดค้นโดย Mackinder นักภูมิศาสตร์ชื่อดัง มีสาระสำคัญอยู่ที่การยึดกุมแผ่นดินพื้นทวีปยูเรเซีย (ยุโรปบวกเอเชีย) เพื่อครองเกาะโลก โดยรัฐที่ต้องการขยายแสนยานุภาพเป็นเจ้าโลกนั้น (World Hegemon) จำเป็นต้องเคลื่อนกำลังทหารพร้อมอำนาจเศรษฐกิจเพื่อรั้งตรึงยุโรปตะวันออก หรือแม้กระทั่งเอเชียกลาง-ตะวันออกกลาง ทั้งนี้เพื่อเป็นการปักหมุดแกนหมุน (Pivot) สำหรับโบกสะบัดกำลังจากย่านพื้นทวีปตอนในเข้าสู่ดินแดนพื้นสมุทร หรือพูดง่ายๆ คือ ต้องมีการขยายกำลังจากบกลงสู่ทะเล

ทฤษฏีดินแดนหัวใจ ถูกผู้นำและนักยุทธศาสตร์โซเวียตนำไปประยุกต์ใช้จนมีผลต่อทิศทางนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงสหภาพโซเวียต เช่น การครอบครองยุโรปตะวันออก โดยถือเป็นการเล่นเกมภูมิรัฐศาสตร์เพื่อส่งเสริมให้โซเวียตเถลิงตำแหน่งเจ้าโลก

2. ทฤษฏีดินแดนริมขอบ หรือ Rimland ที่ถูกคิดค้นโดย Spykman อดีตอาจารย์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเยล มีสาระหลักอยู่ที่กิจกรรมปิดล้อมการขยายตัวของเขตหัวใจโซเวียตผ่านการครอบครองดินแดนริมขอบที่ล้อมประชิดดินแดนหัวใจจากแนวชายฝั่งทะเล ซึ่งอาณาบริเวณริมขอบโลก ได้แก่ ชายฝั่งยุโรปตะวันตก พื้นที่บางส่วนในตะวันออกกลางและเขตมรสุมเอเชีย เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนญี่ปุ่นและคาบสมุทรเกาหลี โดยหากรัฐใดสามารถขยายสมุทรานุภาพ (Oceanic Power) ในการสร้างฐานทัพเรือลอยน้ำเพื่อครอบครองย่านริมขอบทั้งหมด รัฐนั้นก็ประสบความสำเร็จในการทอนกำลังรัฐหัวใจ

ทฤษฏีนี้ ถูกผู้นำและนักยุทธศาสตร์สหรัฐนำไปใช้เพื่อเป็นทฤษฏีแก้สำหรับปิดล้อมแผ่นดินหัวใจที่เป็นเขตอิทธิพลโซเวียตรวมถึงนำไปใช้เป็นแนวคิดหลักในการดำเนินนโยบายตรึงคอมมิวนิสต์ให้อยู่กับที่ หรือที่เรียกกันว่า "Containment Policy"

เกมบี้โลกผ่านวิชาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสองมหาอำนาจได้เกิดการงัดข้อชักกะเย่อกันเข้มข้นจนส่งผลสะเทือนต่อภูมิทัศน์การเมืองโลกอย่างล้ำลึก อย่างไรก็ตาม สหรัฐก็โชคดีที่มีแกรนด์มาสเตอร์ภูมิรัฐศาสตร์ อย่าง ซบิกนิว เบรซซินสกี้ (Zbigniew Brzezinski) อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสมัยประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งทฤษฏี Rimland และ Heartland โดยเขาสัมผัสได้ถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของยูเรเซีย (Eurasia) ในฐานะ "อัครมหาทวีป” (Megacontinent) ที่เกาะกุมทั้งทวีปยุโรปและเอเชีย จนในที่สุด เบรซซินสกี้ได้วางแผนเข้าตีจุดหัวใจยูเรเซีย อันได้แก่ อัฟกานิสถาน (ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นแกนรอยต่อที่เปราะบางสำหรับการตอกหมุดแผ่นดินหัวใจ) โดยเบรซซินสกี้ได้พยายามต่อล่อให้โซเวียตติดหล่มสงครามอัฟกานิสถานระยะยาวจนค่อยๆ ย่นระย่อหมดเรี่ยวแรงไปในที่สุด พร้อมใช้กำลังทะเลจากฐานริมขอบเข้าก่อกวนโซเวียตตามจุดอื่นๆ ซึ่งถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จักรวรรดิโซเวียตล่มสลาย จนทำให้สหรัฐรุกทะยานขึ้นมาแทนที่ในฐานะเอกอภิมหาอำนาจโลกยุคหลังสงครามเย็น

จากมรดกภูมิรัฐศาสตร์ที่นำแสดงมา (ซึ่งมีลักษณะสืบเนื่องจากยุคต้นสงครามเย็นจนถึงยุคหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา) จึงปฏิเสธมิได้ว่า ประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐอเมริกาพร้อมทีมที่ปรึกษาด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ จะยังคงสภาพเป็นฟันเฟืองหลักที่นำพลังวิชาภูมิรัฐศาสตร์ (ที่เคยสร้างแรงสะเทือนต่อประวัติศาสตร์การทูตโลกในอดีต) เข้าไปใช้ขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศของสหรัฐเพื่อรั้งตำแหน่งเอกอภิมหาอำนาจโลกสืบไป ไม่ว่าจะเป็น การคงหรือเพิ่มฐานทัพเรือตามรัฐริมทะเลต่างๆ หรือ การติดตั้งฐานยิงขีปนาวุธเพื่อสร้างวงล้อมบีบกระชับรัสเซียหรือแม้กระทั่งจีนซึ่งมีเขตพื้นทวีปตอนในที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของย่าน Heartland

ขณะเดียวกัน นโยบายปักหมุดเอเชีย (Pivot of Asia) ของรัฐบาลโอบามา ก็แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างทฤษฏีริมขอบกับทฤษฏีหัวใจ โดยคำว่าแกนหมุนหรือเดือยหมุน (Pivot) ถือเป็นศัพท์เทคนิคการทูตที่ได้รับอิทธิพลจากหลักคิดของ Mackinder ในบทความอันลือเลื่องเกี่ยวกับทฤษฏี Hearland ของเขาซึ่งใช้ชื่อว่า "The Geographical Pivot of History" (ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1904 โดย the Royal Geographical Society) แต่ขณะเดียวกัน พฤติกรรมการขยายอำนาจสหรัฐเพื่อปักหมุดเอเชีย ก็ล้วนกระทำกันบนพื้นที่รัฐชายทะเลแทบทั้งสิ้น เช่น อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เวียดนาม เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นดินแดนริมขอบตามหลักคิด Spykman และถือเป็นการใช้พื้นที่วงเดือยชายทะเลเป็นฐานกระโจนยุทธศาสตร์ (Strategic Springboard) เพื่อเจาะทะลวงเข้าเขตหัวใจพื้นทวีปอีกต่อหนึ่ง

ฉะนั้นแล้ว อนาคตการเมืองระหว่างประเทศใต้การคืบคลานเข้ามาของศักราชทรัมป์ ส่วนหนึ่ง คงหนีไม่พ้นคำถามอันคมคายที่ว่า "ทรัมป์และทีมที่ปรึกษาด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ จะแสดงให้ชาวโลกเห็นว่าพวกเขามีความเจนจัดช่ำชองในการเป็นแกรนด์มาสเตอร์แห่งภูมิรัฐศาสตร์โลก ได้มากน้อยเพียงใด" ซึ่งถือเป็นคำถามที่สอดคล้องสัมพันธ์กับประเพณีทางยุทธศาสตร์ของรัฐที่ได้ชื่อว่าเป็น "องค์เอกอัครอภิมหาอำนาจโลกยุคหลังสงครามเย็น"


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

บล็อกของ ดุลยภาค