พระราชอาณาจักรสยามกับพลังรุกคืบแห่ง ‘โทรรัฐ’

The Kingdom of Siam and the Advanced Power of ‘Tele-State’

การแปลงสัณฐานรัฐสยามเข้าสู่สภาวะสมัยใหม่ล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและกุศโลบายหลากหลายรูปแบบ เช่น การประดิษฐ์แผนที่เพื่อสำแดงอธิปไตยผ่านเส้นเขตแดน และการบูรณาการรัฐผ่านระบบสื่อสารคมนาคม ไม่ว่าจะเป็น ถนน ทางรถไฟ หรือแม้กระทั่งไปรษณีย์ โทรเลข

ต่อกรณีดังกล่าว ผมพบแผนที่รัฐสยามซึ่งแสดงตำบลที่ตั้งที่ทำการไปรษณีย์-โทรเลข ภายในห้องทำงานส่วนตัวของศาสตราจารย์ "ทักษ์ เฉลิมเตียรณ" อดีตผู้อำนวยการโครงการอุษาคเนย์ศึกษา มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา (ต้นร่างแผนที่จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2458 / ค.ศ.1915 ซึ่งตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี) โดยอาจารย์ทักษ์ได้สำเนาแผนที่นี้มาจากห้องสมุดมหาวิทยาลัยคอร์แนล ซึ่งคาดว่าคลังสะสมแผนที่สยามจำนวนมากเช่นนี้น่าจะเกิดจากการจัดเก็บนำเข้าของ David Wyatt ปรมาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ไทยประจำมหาวิทยาลัยคอร์แนล

ทักษ์ ได้อธิบายให้ผมเพิ่มเติมว่า แผนที่นี้น่าจะถูกผลิตขึ้นโดยกรมแผนที่ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานราชการที่ช่วยสะท้อนภาวะทันสมัยของรัฐสยามในขณะนั้น

รูปสัณฐานแผนที่ประกอบด้วยเส้นพรมแดนสามเส้นหลัก ได้แก่
1. เส้นพรมแดนมณฑลซึ่งเป็นเขตบริหารปกครองดินแดนส่วนภูมิภาค
2. เส้นพรมแดนรัฐสยามปี พ.ศ.2458 และ
3. เส้นพรมแดนรัฐสยามก่อนปี พ.ศ.2458 (ที่รวมเอาดินแดนที่เคยสูญเสียไปให้กับจักรวรรดิฝรั่งเศส/อังกฤษ โดยทักษ์มองว่าเส้นพรมแดนประเภทสุดท้ายนี้ เกิดจากจินตนาการของฝ่ายผู้ปกครองสยามเสียมากกว่า)

ขณะเดียวกัน ทักษ์ยังเห็นว่า การแสดงตำแหน่งที่ตั้งสถานีไปรษณีย์-โทรเลขบนแผนที่ ถือเป็นกรณีที่น่าสนใจ ทั้งนี้เนื่องจากพระบรมฉายาลักษณ์ของพระราชาในฐานะองค์อธิปัตย์เหนือรัฐ (ที่ปรากฏอยู่บนผืนแสตมป์) สามารถสื่อให้เห็นถึงอัตลักษณ์และการบูรณาการชาติได้ กอปรกับสมรรถนะการรับส่งข้อมูลข่าวสารแบบฉับไวและเป็นอิสระจากการควบคุมต่างประเทศยังเผยให้เห็นถึงสัญญะแห่งความทันสมัยของรัฐสยามในช่วงเวลานั้น

สำหรับผม แผนที่ทักษ์ฉบับนี้ ถือเป็นอุปกรณ์วิเคราะห์ที่สะท้อนพลังรุกคืบของโครงข่ายโทรรัฐ (Tele-State) บนราชอาณาจักรสยามอย่างมีนัยสำคัญ การขยายอำนาจของรัฐบาลกรุงเทพเพื่อควบรวมกระชับดินแดน นอกเหนือจากการปั้นนวัตกรรมแผนที่วิทยาและการส่งกำลังบำรุงผ่านผิวถนนและรางรถไฟแล้ว การติดต่อสื่อสารผ่านจดหมายและการแปลงรหัสโทรเลข ยังถือเป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างสมรรถนะรัฐสยามผ่านกระบวนการบูรณการรัฐชาติที่มีลักษณะทันสมัยและสะดวกสบายขึ้น

ทว่า กิจกรรมแปลงรูปโทรรัฐนับแต่ช่วงรัชกาลที่ห้าจนถึงรัชกาลที่หก ก็มิสามารถที่จะแยกขาดออกจากการผลิตแผนที่และการขยายโครงข่ายถนน-ทางรถไฟได้เด็ดขาด โดยสังเกตว่า การวางสายโทรเลขจะมีลักษณะคู่ขนานกันไปกับสายถนนและทางรถไฟ ขณะที่ ศูนย์ไปรษณีย์และชุมทางโทรเลขมักกระจุกตัวอยู่แถบเมืองเอกประจำเขตแดนมณฑลต่างๆ เช่น โคราช (มณฑลนครราชสีมา) อุดรธานี (มณฑลอุดร) และเชียงใหม่ (มณฑลพายัพ) ซึ่งนับได้ว่าพลังรุกคืบโทรรัฐ สัมพันธ์กับกระบวนการรวมศูนย์อำนาจและการสร้างรัฐให้ทันสมัยของราชอาณาจักรสยาม

กระนั้น หากตั้งต้นไปที่การก่อรูปของระเบียบอำนาจโทรรัฐยุคก่อนปีพุทธศักราช 2458 ก็พบเห็นร่องรอยการคืบคลานแผ่ขยายอิทธิพลของสยามเข้าไปในดินแดนเพื่อนบ้านหรือเขตขุนเขาป่าทึบอื่นๆ ที่อำนาจรัฐบาลกรุงเทพแผ่ไปไม่ถึง เช่น การโยงสายโทรเลขจากเชียงใหม่เข้าแม่ฮ่องสอนเพื่อเพิ่มอำนาจติดต่อควบคุมเขตสาละวิน หรือการสร้างสายโทรเลขในปี พ.ศ.2426 ซึ่งถือเป็นลวดเหล็กอาบสังกะสีสายแรกจากกรุงเทพ ผ่านปราจีนบุรี อรัญประเทศ เข้าศรีโสภณและคลองกำปงปลักในเขตจังหวัดพระตะบองซึ่งสมัยนั้นยังเป็นเขตอิทธิพลสยาม (พร้อมขยายเชื่อมต่อกับสายโทรเลขอินโดจีนที่ไซ่ง่อน ซึ่งถือเป็นสายแรกที่ติดต่อกับต่างประเทศ)

นอกจากนั้น ยังมีการขยายเส้นทางโทรเลขในปี พ.ศ.2440 โดยวางสายจากตาก เข้าไปยังแม่สอดเพื่อโยงเข้ากอระเร็ก มะละแหม่งและย่างกุ้งของอาณานิคมอังกฤษในพม่า (ที่มาของชื่อตำบลท่าสายลวดในเขตแม่สอด ก็มาจากการโยงสายโทรเลขข้ามแม่น้ำเมยในสมัยนั้น) ขณะเดียวกัน ราวๆ ปี พ.ศ.2440-2441 ยังมีการสร้างทางโทรเลขจากกรุงเทพฯ เพชรบุรี ชุมพร ทุ่งสง หาดใหญ่ และสงขลา พร้อมขยายสายย่อจากสงขลาเข้าไปยังไทรบุรี (สมัยนั้นยังเป็นของสยาม) เพื่อเชื่อมต่อกับสายโทรเลขอังกฤษในปีนังและสิงคโปร์

จากลำดับขั้นที่นำแสดงมา จึงพออนุมานได้ว่า การเพิ่มขนาดกิจกรรมโทรรัฐ คือ ความพยายามของรัฐบาลกรุงเทพในการแผ่แสนยานุภาพเข้าไปยังหัวเมืองห่างไกลหรือแม้กระทั่งหัวเมืองขึ้นใต้ระบอบอาณานิคมฝรั่งที่สยามเคยพอมีอิทธิพลอยู่บ้าง (ทั้งในช่วงก่อนและระหว่างที่สยามต้องปราชัยในศึกแย่งชิงดินแดนกับฝรั่งเศสและอังกฤษ) ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มพูนพลังติดต่อสื่อสารระหว่างหัวเมือง อันจะมีผลต่อการสนับสนุนขีดอำนาจทางการปกครองสยามเหนือดินแดนบริวารต่างๆ ซึ่งแม้ท้ายที่สุด สยามจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบต่อจักรวรรดิฝรั่ง หากแต่สยามก็ยังคงความได้เปรียบในการกระชับดินแดนผ่านพลังรุกคืบโทรรัฐที่เดินสายคู่ขนานไปกับนวัตกรรมสมัยใหม่อื่นๆ เช่น ถนน ทางรถไฟ และแผนที่

ฉะนั้น แผนที่แสดงตำบลไปรษณีย์และโทรเลข ฉบับปี พ.ศ.2458 จึงเป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นว่ามรดกแห่งกำลังโทรรัฐยุคก่อนหน้าล้วนถูกสืบสายตกทอดลงมาจนสำแดงกายาออกมาในรูปแบบพระราชอาณาจักรสยามยุคใหม่ที่มีความกระชับ เป็นปึกแผ่นและทันสมัยขึ้น ซึ่งเมื่อนำสัญลักษณ์องค์อธิปัตย์และอัตลักษณ์ชาติผ่านผืนอากรแสตมป์ เข้าไปหลอมรวมกับพลังคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของระบบโทรเลข เมื่อนั้น "รัฐราชาธิราชแบบสมาพันธรัฐหลวมๆ ตามโลกจารีตประเพณี" หรือ "Traditional Empire with Loosely Confederal Polities" จึงค่อยๆแปลงโฉมเปลี่ยนร่างเข้าสู่ "รัฐราชอาณาจักรแบบเอกรัฐรวมศูนย์ตามโลกสมัยใหม่” หรือ "Modern Kingdom with Centralized Unitary State”

ซึ่งนับได้ว่า การก่อรูปของรัฐสยามยุคใหม่ ล้วนเป็นผลส่วนหนึ่งจากพลังโทรรัฐที่เคลื่อนตัวมาพร้อมกับกระบวนการ "Modernization" ที่ถูกกระตุ้นผลักดันจากลัทธิล่าอาณานิคมฝรั่งและความพยายามกระชับอำนาจของรัฐบาลกรุงเทพอีกต่อหนึ่ง

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

(ผมขอกราบขอบพระคุณอาจารย์ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ที่เอื้อเฟื้อแผนที่พร้อมอนุญาตให้ผมนำแผนที่นี้ไปใช้เผยแพร่ต่อผู้อ่านผ่านช่องทาง facebook พร้อมกันนั้น อาจารย์ทักษ์ยังกรุณาให้ความเห็นและมุมมองที่เป็นประโยชน์เพื่อประกอบการเขียนบทความนี้ รวมถึงดูแลช่วยเหลือผมเป็นอย่างดีเมื่อครั้งที่ผมเดินทางไปรับตำแหน่ง Visiting Fellow ประจำโครงการอุษาคเนย์ศึกษา มหาวิทยาลัยคอร์แนล )