Skip to main content

Victor Lieberman นักประวัติศาสตร์อุษาคเนย์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนได้ผลิตชุดแผนที่เพื่อเปรียบเทียบขนาดและขอบเขตของหน่วยการเมืองไตเอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยแบ่งออกเป็น 2 ยุคหลัก ได้แก่

1. ค.ศ.1340 ที่ผืนแผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เต็มไปด้วยการก่อตัวของกลุ่มนครเมืองไตกึ่งอิสระอันกว้างใหญ่ไพศาล ทั้งในเขตลุ่มน้ำอิระวดี ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และคาบสมุทรมลายูตอนบน โดยถือเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างยุคเลื่อมของรัฐสุโขทัยกับยุคก่อตัวเรืองอำนาจของอยุธยาและล้านช้าง

ถือกันว่า บรรดาหัวเมืองของคนที่พูดภาษาตระกูลไต/ไท ต่างแตกกระจัดกระจายออกเป็นกลุ่มสมาพันธรัฐหรือวงนครกึ่งอิสระ เช่น แสนหวี เชียงตุง น่าน เวียงจันทน์ พิษณุโลก สุพรรณบุรี นครศรีธรรมราช โดยมีเพียง เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย เชียงแสน ที่อยู่ใต้อิทธิพลบางส่วนของรัฐพม่า-ไทใหญ่ หลังยุคล่มของพุกาม ขณะที่ลพบุรียังคงตกอยู่ใต้วงปกครองของรัฐเขมรพระนคร

2. ค.ศ.1540 ที่ผืนแผ่นดินเอเชียอาคเนย์เต็มไปด้วยการก่อตัวของอาณาจักรคนไตยุคใหม่ที่ทรงพลานุภาพมากขึ้น โดยมีเพียงแค่กลุ่มหัวเมืองไตทางแถบที่ราบสูงฉานและลุ่มอิระวดีตอนบนของพม่า ที่มีลักษณะเป็นเขตนครรัฐกึ่งอิสระ ในขณะที่ รัฐเมืองไตอื่นๆ ได้เริ่มถูกบูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรที่เข้มแข็งกว่า อย่าง ตองอู อยุธยา และล้านช้าง

โดยในยุคนี้ถือได้ว่าเขตลุ่มเจ้าพระยาส่วนใหญ่ได้แปลงสภาพเป็นทั้งแกนอารยธรรมและแกนอำนาจของรัฐอยุธยา ขณะที่เขตลุ่มน้ำโขงแถบที่ราบเวียงจันทน์ได้แปลงสภาพเป็นฐานอำนาจแห่งอาณาจักรล้านช้างร่มขาว

กระนั้น ยังคงปรากฏหน่วยการเมืองของคนไตบางกลุ่ม ที่ดำรงสภาพเป็นจุดทับซ้อนระหว่างรัฐมหาอำนาจเมืองไตต่างๆ เช่น หัวเมืองภาคอีสาน (ของไทย) ที่อาณาเขตบางส่วนตกอยู่ใต้อิทธิพลของทั้งล้านช้างและอยุธยา ส่วนรัฐเมืองไตในเขตล้านนานั้น กลับเต็มไปด้วยการแข่งขันแย่งชิงอำนาจระหว่างล้านช้าง อยุธยา และอาณาจักรตองอูของพม่า

กล่าวโดยสรุป แผนที่การก่อรูปรัฐเมืองไตของ Lieberman ถือเป็น Model ที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงแบบแผนทางการเมืองการปกครองและขอบเขตปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐจารีตเมืองไต ในช่วงเวลา 200 ปี (นับจาก ค.ศ.1340-1540) ซึ่งก็จบลงด้วยการหดตัวของสมาพันธรัฐเมืองไตกึ่งอิสระที่ค่อยๆ ถูกผนวกกลืนกลายเข้าไปอยู่ในอาณาจักรยุคใหม่ที่ทรงแสนยานุภาพมากกว่า

ซึ่งแม้คณะผู้ปกครองและไพร่ฟ้าบางส่วนในขอบขัณฑสีมาของอาณาจักรเหล่านี้ จะยังคงประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไต/ไท หากแต่ในระยะต่อมานั้น อาณาจักรไตใหม่บางส่วนได้ถูกหลอมรวมให้เข้าไปอยู่ในกระบวนการผลิตประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบรวมศูนย์ รวมถึงกระบวนการสร้างชาติของรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคใหม่ เช่น รัฐไทย รัฐพม่า รัฐลาว หรือ รัฐญวน

ผลกระทบที่ตามมา คือ อัตลักษณ์และพลังอำนาจของเมืองไต ที่พร่ามัวเสื่อมถอยลง พร้อมถูกข่มหรือถูกดัดแปลงสารัตถะให้เข้ากับจิตสำนึกแห่งความเป็นไทย ความเป็นพม่า ฯลฯ

จนทำให้ท้ายที่สุด โลกเมืองไตในทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการเมือง กลับกลายเป็นชุดความรู้ที่มีลักษณะกระท่อนกระแท่น กระจัดกระจายและเต็มไปด้วยปริศนาที่จะต้องมีการเฟ้นหาคำตอบกันอยู่อีกมาก


ดุลยภาค ปรีชารัชช

*บทความนี้ปรับปรุงจากงานชิ้นเดิมของผู้เขียนซึ่งเคยนำเสนอใน "ประชาไท บล็อกกาซีน" วันที่ 29 มิถุนายน 2558

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค