Skip to main content

ช่วงนี้ ผมอ่านหนังสือของ Anthony Reid เรื่อง To Nation By Revolution: Indonesia in the 20th Century ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2011 โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์

Reid คือ นักประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ชื่อดังและผู้เชี่ยวชาญด้านอินโดนีเซียศึกษา โดยเฉพาะอาณาบริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ผลงานอันลือเลื่องของเขา ได้แก่ Southeast Asia in the Age of Commerce. c. 1450-1680 (2 vols., 1988-1993) และ An Indonesian Frontier: Acehnese and Other Histories of Sumatra (2004)

สำหรับหนังสือเรื่อง "To Nation By Revolution" ซึ่งว่าด้วยเรื่องการสร้างชาติอินโดนีเซียผ่านเส้นทางปฏิวัติในช่วงศตวรรษที่ 20 ประกอบด้วย 12 บทหลักที่ตั้งอยู่บนสมมุติฐานของ Reid ที่ว่า "อินโดนีเซียก้าวเข้าสู่ชุมชนรัฐประชาชาติสมัยใหม่ผ่านงานปฏิวัติทางการเมือง ทว่า ผลลัพธ์จากพลังปฏิวัติกลับมิใช่การถือกำเนิดของระบอบคอมมิวนิสต์เหมือนในกรณีของจีนและเวียดนาม หากแต่กลับเน้นไปที่การสถาปนาระบบรัฐเดี่ยวที่มีเอกภาพ ส่วนความฝันอันเรืองรองของนักปฏิวัติส่วนใหญ่ที่เน้นการสร้างเสรีภาพและความเท่าเทียมกันทางชนชั้น ก็ยังคงค้างเติ่งและไม่บรรลุเป้าหมายมาถึงปัจจุบันหากพิจารณาจากเส้นทางปฏิวัติในอินโดนีเซีย"

อันที่จริง ข้อโต้เถียงของ Reid ก็มิได้อธิบายแนวคิดเชิงวิชาการที่แปลกใหม่อะไรนัก หากมองจากข้อเท็จจริงที่ว่าทั้งจีนและเวียดนามซึ่งมีประวัติศาสตร์การปฏิวัติที่รุนแรงทรงพลัง ก็สร้างผลลัพธ์ทางการเมืองเป็นระบบเอกรัฐ (Unitary State) หรือ ระบบรัฐเดี่ยวรวมศูนย์ซึ่งเป็นรูปการปกครองที่อยู่ประเภทเดียวกันกับอินโดนีเซียยุคหลังเอกราช ส่วนงานเขียนของสองปรมาจารย์จากสำนักคอร์แนลอย่าง Kahin เรื่อง Nationalism and Revolution in Indonesia (1952) กับ Anderson เรื่อง Java in a Time of Revolution : Occupation and Resistance, 1944-1946 (1972) ก็นำเสนอข้อสรุปหลายๆอย่างที่ไม่ต่างจากงานชิ้นล่าสุดของ Reid มากนัก เช่น ข้อถกเถียงของ Kahin ที่มองไปที่องค์ประกอบของชนชั้นนำปฏิวัติอินโดนีเซีย ซึ่งมีทั้งพวกผู้นำมุสลิมและพวกคอมมิวนิสต์ ที่แบ่งแยกย่อยออกเป็นกลุ่มมุสลิมสาย "modernism" กับ "fundamentalism" และ พวกคอมมิวนิสต์สายประชาธิปไตยสังคมนิยมหัวก้าวหน้ากับสายสตาลินที่โน้มเอียงไปในแนวดั้งเดิม ขณะที่ข้อถกเถียงของ Anderson เอง ที่เน้นศึกษาพื้นที่เกาะชวา ก็ให้แนวมองที่ไม่แตกต่างจาก Reid เช่นกัน โดยเฉพาะลักษณะการปฏิวัติในอินโดนีเซียที่ต่างจากการปฏิวัติชนชั้นในโลกคอมมิวนิสต์สากล หากแต่ได้นำพาอินโดนีเซียไปสู่ชุมชนรัฐชาติสมัยใหม่ที่ถูกบูรณาการกันอย่างมีเอกภาพ

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า หนังสือของ Reid เล่มนี้มีเนื้อหาตอนหนึ่งที่ Kahin และ Anderson ไม่ได้เน้นย้ำมากนัก นั่นก็คือ เส้นทางปฏิวัติที่รุนแรงในอินโดนีเซียมีผลต่อการปฏิเสธระบบสหพันธรัฐนิยม (Federalism) ซึ่งผู้เขียนได้นำอินโดนีเซียไปเปรียบเทียบกับรัฐเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย โดยพบว่า เส้นทางเรียกร้องเอกราชของมาเลเซียซึ่งเน้นการเจรจาประนีประนอมแบบค่อยเป็นค่อยไปผ่านวิวัฒนาการทางการเมือง กับ เส้นทางเอกราชอินโดนีเซียที่เน้นการต่อสู้ประหัตประหารที่รุนแรงผ่านกระบวนการปฏิวัติ ล้วนมีผลต่อการก่อรูปของระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ในมาเลเซีย ระบบสหพันธรัฐได้ถูกสถาปนาขึ้นผ่านการแบ่งปันอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลมลรัฐ พร้อมปล่อยให้มีการดำรงอยู่ของสถาบันสุลต่าน ขณะที่ในอินโดนีเซีย บรรดาวีรบุรุษผู้ปลดแอกอาณานิคมได้ปฏิเสธระบบสหพันธรัฐและใช้พลังปลุกเร้าอันรุนแรงของกระบวนการปฏิวัติชาตินิยม เข้าสถาปนาระบบรัฐเดี่ยวรวมศูนย์เพื่อสร้างเอกภาพและประดิษฐ์ชาติอินโดนีเซียใหม่ที่เป็นหนึ่งเดียว แบ่งแยกมิได้

อันที่จริง ในวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1949 เนเธอร์แลนด์ได้โอนอำนาจอธิปไตยจาก "Dutch East Indies" ไปสู่รัฐอินโดนีเซียช่วงเปลี่ยนผ่านเอกราช ซึ่งถูกเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า "สาธารณรัฐแห่งสหรัฐอินโดนีเซีย" หรือ "The Republic of the United States of Indonesia/Republic Indonesia Serikat" ซึ่งใช้ตัวย่อว่า RUSI หรือ RIS โดยถือเป็นการปกครองที่เข้าข่ายสหพันธรัฐ เนื่องจากมีรัฐบาลและรัฐสภาสองระดับ พร้อมมีรัฐธรรมนูญระบุการแบ่งปันอำนาจระหว่างส่วนกลางกับส่วนมลรัฐ นอกจากนั้น ยังมีการก่อตัวของสภาตัวแทนประชาชนที่มีผู้แทน 50 คนจากส่วนกลางและอีก 100 คนจากมลรัฐแยกย่อยต่างๆ ทว่า สหพันธรัฐอินโดนีเซีย ก็มีอายุน้อยกว่า 1 ปีเศษ และถูกแทนที่ด้วยสาธารณรัฐอินโดนีเซียในรูปแบบเอกรัฐซึ่งถูกใช้เป็นแบบแผนปกครองรัฐหมู่เกาะตั้งแต่ยุคซูการ์โน ซูฮาร์โต จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

เหตุผลหนึ่งเกิดจากมุมมองของเส้นทางปฏิวัติอินโดนีเซียที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและการปะทะทางการเมืองจนไม่เหลือที่ว่างสำหรับวัฒนธรรมประนีประนอมแบบค่อยเป็นค่อยไปเหมือนกรณีมาเลเซียในช่วงเปลี่ยนผ่านเอกราช ขณะเดียวกัน ด้วยการต่อสู้ที่บ้าระห่ำกับกองทัพเนเธอร์แลนด์ ได้ทำให้นักปฏิวัติอินโดนีเซียเกิดหวาดระแวงว่าระบบสหพันธรัฐซึ่งถูกนำเสนอโดยเจ้าอาณานิคมดัตซ์ จะซ่อนกลลวงเพื่อบั่นเซาะเอกภาพของรัฐหมู่เกาะแห่งนี้ ฉะนั้น ขณะที่แนวคิดเอกรัฐนิยม (unitaianism) ถูกตีความว่ามีค่าใกล้เคียงกับเอกภาพและความสามัคคี แนวคิดสหพันธรัฐนิยม (federalism) กลับถูกมองว่ามีความสัมพันธ์แนบแน่นกับการแบ่งแยกดินแดนและความระส่ำระส่ายแห่งรัฐ

จากหลักคิดดังกล่าว ดูเหมือนว่า "เอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย"ในจินตกรรมของรัฐภาคพื้นสมุทร จะถูกอัดฉีดไปด้วยพลังเอกรัฐนิยมที่ถูกกระตุ้นด้วยมรดกแห่งลัทธิปฏิวัติอยู่เป็นปฐม ซึ่งก็ทำให้ประวัติศาสตร์อินโดนีเซียยุคหลังเอกราชเต็มไปด้วยความพยายามที่จะโยกอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางที่เกาะชวาในระดับเข้มข้นพร้อมเต็มไปด้วยการใช้กำลังเข้ากดปราบดินแดนชายขอบที่มักจบลงด้วยอาชญากรรมแห่งรัฐอยู่เสมอ

ท้ายที่สุด ผมคิดว่า สาระเรื่องเส้นทางปฏิวัติกับการปฏิเสธสหพันธรัฐในอินโดนีเซียของ Reid ได้ให้มุมมองที่แปลกใหม่เกี่ยวกับการก่อรูปของรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคเรียกร้องเอกราช ซึ่งก็ทำให้งานเขียนของ Reid ชิ้นนี้ ยังครองความโดดเด่นในแง่เทคนิควิทยาเปรียบเทียบ และก็คงไม่สร้างความผิดหวังต่อท่านผู้อ่านมากนัก ซึ่งน่าเชื่อว่า หากใครก็ตามที่ได้อ่านงานเขียนของทั้ง Kahin, Anderson, และ Reid แบบครบเครื่องเจาะลึกเอาจริงเอาจัง ก็คงกลายเป็นกูรูด้านประวัติศาสตร์การเมืองแห่งแดนอิเหนาที่หาตัวจับได้ยากเป็นแน่แท้


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

 

 

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค