Skip to main content

แนวมองที่น่าสนใจในวิชาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และวิชาภูมิศาสตร์การเมือง (Political Geography) คือ การวิเคราะห์รูปร่างรัฐอันสัมพันธ์กับพลังอำนาจชาติตลอดจนการช่วงชิงพื้นที่ภายในรัฐ

ในแผนที่ซึ่งประดิษฐ์โดยนักภูมิศาสตร์ เช่น Jean Paul Rodrigue และ Frank Jacobs ได้แสดงให้เห็นถึง "ภููมิสัณฐานวิทยา" หรือ "โครงร่างดินแดน" (Territorial Morphology) ที่ใช้อธิบายจุดอ่อน-จุดแข็งของรัฐต่างๆ ในเขตเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รูปร่างรัฐที่พบเห็นกันทั่วไปในเอเชีย ได้แก่

1. Compact State หรือ รัฐกระชับ/กะทัดรัด ซึ่งหมายถึง รัฐที่มีรูปร่างเกือบเป็นวงกลมหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยมีข่ายระยะทางที่วัดจากแกนกลางไปยังขอบชายแดนตามทิศต่างๆ ในอัตราส่วนที่ไม่แตกต่างกันนัก อาทิ จีน ไต้หวัน และ กัมพูชา

2. Elongated State หรือ รัฐคอขวด/ยาวเรียว หมายถึง รัฐที่วัดระยะทางจากเหนือลงใต้ได้ยาวไกลกว่าระยะทางจากตะวันตกไปตะวันออกอยู่หลายเท่าตัว เช่น เวียดนาม และ ลาว

3. Prorupted State หรือ รัฐกระชับผสมยาวเรียว หมายถึง รัฐที่พื้นที่ส่วนบนมีขนาดกะทัดรัดรอบทิศทาง แต่ส่วนล่างกลับมีรูปทรงยาวเรียวบอบบาง เช่น ไทย และ เมียนมา

4. Fragmented State หรือ รัฐกระจัดกระจาย ซึ่งดินแดนผืนหลักถูกสะบั้นแตกกระจายออกเป็นสองหรือหลายส่วน เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

จริงแล้ว สัณฐานรัฐมักมีผลต่อเอกภาพชาติและพลังอำนาจรัฐบนเวทีระหว่างประเทศ อาทิ การใช้เส้นขนานที่ 17 สร้างเขตปลอดทหารที่แบ่งเวียดนามออกเป็นรัฐทางเหนือกับรัฐทางใต้ ซึ่งสะท้อนสภาพเปราะบางทางยุทธศาสตร์ของรัฐคอขวด/ยาวเรียว หรือ รูปร่างรัฐแบบกระจัดกระจายที่ประกอบสร้างขึ้นเป็นหมู่เกาะอินโดนีเซียอันสลับซ้อนซึ่งก็มีผลต่อสัมพันธภาพเชิงอำนาจระหว่างแกนกลางที่เกาะชวากับดินแดนรอบนอกอย่างอาเจะห์และติมอร์ตะวันออก

อนึ่ง ในแต่ละรัฐ ยังสามารถตัดแบ่งออกเป็นมลรัฐ หรือแม้กระทั่งจังหวัดและอำเภอ ซึ่งกำลังของหน่วยดินแดนระดับภาคและท้องถิ่นเหล่านี้ สามารถวิเคราะห์ได้ผ่านหลักสัณฐานวิทยา อาทิ รัฐฉานในเมียนมาที่เป็นรัฐกระชับมีแผ่นดินติดต่อกันเป็นผืนเดียว โดยมีเมืองหลักสามแห่ง คือ ลาเสี้ยว ตองจีและเชียงตุง กุมดินแดนทางเหนือ ทางใต้และทางตะวันออก หรือ รูปทรงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีลักษณะคอขวดจนมีสภาพเป็นจุดคับขันยุทธศาสตร์ที่มีผลต่อการเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯกับภาคใต้

รูปร่างรัฐ ก็เทียบเคียงได้กับรูปร่างสัตว์และพืช ซึ่งเป็นภายวิภาคพื้นฐานทางชีววิทยา โดยจุดอ่อนและจุดแข็งของรูปทรงอวัยวะแต่ละส่วน ย่อมมีผลต่อการเติบโตและแตกดับของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น ขณะเดียวกัน แม้จะมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงภายในรัฐ หากแต่ดินแดนซึ่งรวมถึงรูปทรงทางภูมิศาสตร์ นับเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่ชัดเจนที่สุดในกระบวนการบูรณาการรัฐ (State Integration)

ฉะนั้น การที่นักปกครองและประชาชนมองรัฐของตนโดยปราศจากความปราดเปรื่องทางภูมิรัฐศาสตร์ จึงถือเป็นเค้าลางหายนะที่ส่งผลล้ำลึกต่อการเสื่อมถอยแห่งพลังอำนาจรัฐ ซึ่งก็ย่อมสร้างผลพวงต่อเสถียรภาพระบอบการเมืองและความมั่นคงมั่งคั่งของประชากรอีกต่อหนึ่ง


ดุลยภาค ปรีชารัชช
 

บล็อกของ ดุลยภาค