Skip to main content

ผ่านไปเกิน 3 ปีแล้ว สำหรับรัฐประหารโดยพลเอกประยุทธ์ ผมไม่มีมุมวิเคราะห์มากมายอะไร นอกเสียจากย้อนรำลึกถึง "Conjuncture" ซึ่งคือ จุดหัวเลี้ยวหัวต่อหรือจุดผนึกเหตุการณ์ที่ส่งผลสะเทือนต่อชีวิตการเมืองของผู้คนในรัฐและสังคม

เมื่อใดก็ตามที่ Conjuncture ถืออุบัติขึ้น เราอาจสัมผัสได้ทั้งความเปลี่ยนแปลง (Change) และความสืบเนื่อง (Continuity) อันเป็นผลจากการตกตะกอนสะสมของเหตุปัจจัยที่ฝังรากลึกในพัฒนาการประวัติศาสตร์ (ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการระเบิดตัวของจุดบรรจบเหตุการณ์หนึ่งๆ)

ในกัมพูชา มี "Conjuncture" ถึง 4 ครั้ง ในรอบยี่สิบกว่าปี ได้แก่ การขับไล่รัฐบาลเจ้านโรดมสีหนุในปี ค.ศ. 1970 การเถลิงอำนาจของระบอบเขมรแดงในปี 1975 การบุกพนมเปญของเวียดนามพร้อมสถาปนาระบอบเฮงสัมรินราวปี 1978-79 และ การเปลี่ยนผ่านการเมืองผ่านบทบาทสหประชาชาติในปี 1992-93 ทั้ง 4 เหตุการณ์ แสดงการเชื่อมโยงเหตุผลที่ร้อยเรียงประสานกัน กล่าวคือ ถ้าไม่มีการล้มรัฐบาลสีหนุ ก็ไม่มีการขับไล่กวาดล้างพวกเวียดนามโดย รัฐบาลพอลพต ซึ่งชักนำให้เวียดนามตัดสินใจบุกกัมพูชา และหากไม่มีการรุกจากเวียดนาม อาเซียนและสหประชาชาติก็คงไม่แทรกแซงวิกฤติกัมพูชาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทว่า ไม่ว่าเหตุการณ์จะลากยาวเกินยี่สิบปีและส่งผลกระทบต่อชีวิตการเมืองกัมพูชาลึกซึ้งซักเพียงใด ทุกๆ เหตุการณ์ล้วนเกี่ยวเนื่องกับการโลดแล่นการเมืองของบุคคลๆ เดียว นั่นก็คือ เจ้านโรดมสีหนุ

ในเมียนมา การประท้วงของมหาชนเมื่อปี ค.ศ. 1988 และการเลือกตั้งที่จบลงด้วยชัยชนะของนางซูจีในปี 1990 ถือเป็นสองจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่ส่งผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐและสังคมเมียนมา กระนั้น พลังทั้งสองจุดบรรจบ ก็ถูกปิดกั้นแช่แข็งด้วยอีกสองมหาเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในปีเดียวกัน นั่นคือ การยึดอำนาจโดยกองทัพเมื่อปี 1988 และการล้มกระดานเลือกตั้งปี 1990 ซึ่งเสริมอายุให้คณะเสนาธิปัตย์ปกครองรัฐสืบไปอีกเกือบยี่สิบปี หรือพูดง่ายๆ คือ แรงขับของกระบวนการปฏิวัติประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ถูกแช่แข็งไว้ด้วยกำลังรัฐประหารและระบอบอำนาจนิยม ทว่า สิ่งเหล่านี้ก็มิได้หมายความว่า เหตุการณ์ 8888 และ การเลือกตั้ง 1990 จะไม่มีพลังอะไรเลยที่ส่งทอดความสืบเนื่องมาสู่แบบแผนการเมืองเมียนมายุคล่าสุด เพราะท้ายที่สุด แม้จะรอไปอีกราวยี่สิบปี รัฐบาลทหารก็ผ่อนคลายความเข้มงวดระบอบเผด็จการลงโดยจัดให้มีการเลือกตั้ง และขยายเสรีภาพการเมืองผ่านระบอบใหม่ที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัยที่กำลังจะเบ่งบาน"

สำหรับไทย แค่ราวๆ 15-16 ปีที่ผ่านมา อาจตัดแบ่งจุดหัวเลี้ยวหัวต่อคร่าวๆ ออกเป็น 4 ส่วนหลัก ได้แก่ การสถาปนาอำนาจของระบอบทักษิณนับแต่คราชนะศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2001 (พ.ศ. 2544) การรัฐประหาร คมช. ในปี 2006 (2549) การประท้วงของมวลมหาประชาชนและการรัฐประหาร คสช. ซึ่งเกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน คือในปี 2014 (2557)

ทั้งสี่จุดบรรจบแสดงความสัมพันธ์เชิงเหตุผล (Causal Relationship) ที่สะท้อนทั้งความเปลี่ยนแปลงและความสืบเนื่อง นั่นคือ การขยายอำนาจของรัฐบาลทักษิณ ผ่าน "Majoritatian Democracy" ในโครงสร้างสภา ถือเป็น "Big Change" ที่เปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทย หากแต่นำไปสู่การเคลื่อนไหวนอกสภาของกลุ่มอำนาจเก่า ทว่า ทั้งความไม่พอใจระบอบทักษิณของคนจำนวนหนึ่งที่ตกตะกอนสะสมมาช่วงเวลาหนึ่ง กอปรกับจุดบอดบางส่วนในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลไทยรักไทย ได้ก่อให้เกิดสภาวะสุกงอมจนกลายเป็นเงื่อนไขพอเพียงที่ผลักให้ คมช. ตัดสินใจทำรัฐประหาร แต่หลังจากนั้น การเมืองเสื้อสีก็ก่อตัวขึ้นอีกพร้อมการสับเปลี่ยนรัฐบาลแต่ละค่ายแบบรวดเร็ว กระทั่ง การประท้วงของ กปปส. ที่โจมตีจุดบอด รัฐบาลเพื่อไทยในการบริหารราชการแผ่นดินสุกงอมจนได้ที่ ผลที่ตามมา คือ รัฐประหารและการสถาปนาระบอบอำนาจนิยมผ่านแผงควบคุม คสช.


ที่มา: สถาบันพระปกเกล้า

ถึงจุดนี้ ก็พอเห็น "Causal Interplay" ได้ชัดเจนขึ้น โดยในทุกๆ conjuncture จะพบเห็นการละเล่นแบบเดิมๆ เสมอ นั่นคือ รัฐบาลเสียงข้างมากมีจุดแข็งผ่านการเลือกตั้ง แต่ก็มีจุดบอดผ่านการคอรัปชั่นและความอ่อนแรงในการบริหารจัดการม็อบ ซึ่งเปิดช่องให้ทหารสามารถทำรัฐประหารได้สำเร็จ อนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการปะทุของจุดหัวเลี้ยวหัวต่อหรือเหตุสะสมที่ทำให้เกิด conjuncture ตัวแสดงหลักที่มีความสืบเนื่องตลอด คือ คุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งส่วนหนึ่ง คงเป็นเพราะ "Big Change" ที่คุณทักษิณทำไว้เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว และ "Continuity" ที่คุณทักษิณต้องการหล่อเลี้ยงสืบสานไว้ แต่ถ้าหันมาดูทางฟากกองทัพ รัฐประหาร คมช. ก็สร้างทั้งความเปลี่ยนแปลงและความสืบเนื่องให้กับรัฐประหาร คสช. ในแง่ที่ว่าหากคิดจะยึดอำนาจเหมือนเมื่อปี ค.ศ. 2006 แล้ว ก็จำเป็นต้องลดบทบาทฝ่ายปฏิปักษ์ให้เต็มที่เพื่อมิให้รัฐประหารที่ทำลงไปเกิดอ่อนแรงในการลดพลังฝ่ายตรงข้าม

เมืองไทยตอนนี้ อาจกำลังเตรียมเดินทางไปสู่จุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะมีผลต่อชีวิตการเมืองของรัฐและสังคมอีกครั้ง ดูเหมือน คสช. มีจุดหมายที่จะขจัด Causal Interplay แบบเดิมๆ ให้สิ้นซากลง แล้วสถาปนาระบอบการเมืองที่ถึงแม้จะมีการเลือกตั้ง แต่ชนชั้นนำทหารยังสามารถแทรกตัวเข้าไปมีอิทธิพลในกลไกบริหารปกครองรัฐ ซึ่งในทางรัฐศาสตร์ ถือเป็นระบอบการเมืองพันทางแบบเทาๆ หรือที่เรียกกันว่า "Hybrid Regime in Grey Zone"

ทว่า แผนยุทธศาสตร์การเมืองนี้ อาจเผชิญกับ scenario อย่างน้อย 2 แบบ กล่าวคือ

1. ถ้ามี conjunctures อื่น แทรกเข้ามาระหว่างแผนโรดแมป คสช. เช่น วิกฤติเศรษฐกิจและความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อนโยบายบางอย่างของรัฐบาลหรือการขยายตัวของสงคราม/ความขัดแย้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค น่าคิดต่อว่า ระบอบการเมืองไทยที่เป็นอยู่จะหันเหเข้าจุดใด เช่น การเร่งถอนตัวกลับเข้ากรมกองของทหารหากเกิดปัญหาบานปลายทางเศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะ หรือการคงพลังอำนาจนิยมไว้พร้อมบทบาทที่พุ่งสูงขึ้นของกองทัพในการป้องกันประเทศ (สำหรับกรณีหลัง) หรือถ้ารัฐไทยต้องเผชิญกับทั้งสองจุดหักเห หรือเจอ conjunctures อื่นที่คาดไม่ถึงพร้อมๆ กัน น่าลุ้นต่อว่า คสช. จะเลือกแนวทางไหน (แต่ที่แน่ชัด คือ จะมีตัวแสดงหรือขั้วอำนาจอื่นเพิ่มเข้ามาในกระบวนกำหนดทางเลือกของ คสช. อันเป็นผลจากพลังรุนแรงในจุดบรรจบของเหตุการณ์ที่พุ่งสูงขึ้น)

2. ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนยุทธศาสตร์ที่ คสช. วางไว้ รัฐไทยก็คงต้องอยู่กับระบอบอำนาจนิยมทหารไปซักพักหนึ่ง (1-2 ปี....20 ปี ?) จนแม้เมื่อ คสช. กดปุ่มจัดกระบวนการเลือกตั้งและตั้ง รัฐบาลใหม่ ระบอบการเมืองลูกผสมที่พลังเผด็จการอยู่ปะปนกับพลังประชาธิปไตยเหมือนกับในเมียนมาและกัมพูชาระยะเปลี่ยนผ่าน หรือแม้กระทั่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยบางช่วงก็ถูกสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการ

ทว่า ในช่วงแรกของระบอบดังกล่าว ดูเหมือนว่าส่วนผสมของอำนาจนิยมจะมีพลังเข้มข้นกว่าประชาธิปไตยหรืออาจใกล้เคียงกัน แต่ไม่มีทางเจือจางเบาบางกว่าแน่นอน

อันที่จริง Paul Pierson (2004) ในงานเขียนเรื่อง "Politics in Time" ได้วิเคราะห์รูปแบบการเปลี่ยนผ่านตามวิถีเวลาไว้หลายลักษณะ เช่น การเปรียบการเมืองเป็นเหมือนดั่งแผ่นดินไหวซึ่งเหตุสะสมมักใช้เวลานานในการฝังตัว แต่เมื่อถึงจุดอิ่มตัวแล้ว เหตุสะสมเหล่านั้นจะกระตุ้นให้เกิดการปะทุตัวของ Conjuncture หรือ จุดผนึกเหตุการณ์หนึ่งๆ หรือ การเปรียบการเมืองกับการก่อตัวของพายุทอร์นาโดซึ่งเหตุฉับพลันระยะสั้นได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ผลลัพธ์ที่ว่ามักแสดงออกมาในช่วงเวลาสั้นๆ พร้อมทิ้งความผันผวนระส่ำระส่ายไว้หลังการสลายตัวของลูกพายุ

ฉะนั้น สิ่งที่น่าคิดต่อ คือ Conjuncture ในเมืองไทยที่กำลังมาถึง จะมีวิถีการปะทุตัวอย่างไร เช่น ความไม่พอใจระบอบการเมืองที่เป็นอยู่ของประชาชนและการบริหารนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลที่ตกตะกอนสะสมมาซักระยะ อาจระเบิดตัวออกมาเป็นพลังประท้วงที่ทรงอานุภาพ แต่แล้วพลังประชาชนกลับถูกกดปราบหรือทอนกำลังด้วยอำนาจเผด็จการหรืออำนาจอื่นจนต้องสลายตัวไป หรืออาจมีเหตุฉับพลันบางอย่างก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงการเมืองครั้งใหม่ หากแต่กระบวนการเปลี่ยนผ่านก็เกิดขึ้นสั้นๆ และเต็มไปด้วยความผันผวนจนเกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง

หรือว่า การเมืองไทยช่วงนี้ อาจไม่มีเค้าลางแห่งการปรากฏตัวของ Conjuncture ที่ทรงฤทธานุภาพ เพราะตัวแปรเชิงสาเหตุหลายส่วนยังคงได้ประโยชน์จากโครงสร้างระบอบการเมืองปัจจุบัน ดังนั้น มันจึงไม่มีพลังพอเพียงในการสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งก็ทำให้วิถีการเมืองไทยอาจเทียบเคียงได้กับปรากฏการณ์โลกร้อน ที่มนุษย์เป็นทั้งผู้บริโภคและคายของเสียออกสู่ระบบนิเวศน์การเมือง กระนั้น ความร้อนที่เพิ่มขึ้นทีละเล็กละน้อยก็มิได้สร้างไฟสะทกสะท้านอะไรต่อการเปลี่ยนแปลงแบบแผนพฤติกรรมมนุษย์อย่างรวดเร็วนัก จนกระทั่ง ภัยคุกคามในหลายๆ มิติได้รวมตัวกันจนสร้างอันตรายที่รุนแรงต่อวิถีมนุษย์ เมื่อนั้น มนุษย์จึงเตรียมรวมตัวกันเพื่อขจัดภัยคุกคาม ทว่า ก็ต้องใช้เวลาอีกมากและมิอาจเห็นเค้าลางแห่งความสำเร็จในกระบวนการแก้ไขปัญหาในเร็ววัน เพราะถือเป็นการโต้ตอบจุดหักเหประวัติศาสตร์ที่สายจนเกินไป


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค