Skip to main content

วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ถือเป็นจุดแตกหัก (Breaking Point) ที่ส่งผลต่อการสูญเสียอำนาจสยามเหนือรัฐประเทศราช จนเป็นที่มาของมโนทัศน์เสียดินแดนในประวัติศาสตร์ชาติไทย

ตัวแปรพลิกผัน คือ การสู้รบระหว่างทหารเรือสยามที่ป้อมพระจุลจอมเกล้ากับเรือรบฝรั่งเศสที่บุกเข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อข่มขู่กดดันสยามผ่านนโยบายการทูตเรือปืน (Gunboat Diplomacy) การสู้รบกินเวลาเพียงแค่ 30 กว่านาที ทว่า ผลการยุทธ์กลับส่งผลต่อขีดอำนาจรัฐและปฏิสัมพันธ์ระหว่างสยามกับเพื่อนบ้านเป็นเวลานานถึง 124 ปี

เหตุผลการสร้างป้อมพระจุลฯ เกิดจากแรงขับทางภูมิยุทธศาสตร์ (Geo-Strategy) กล่าวคือ ภัยคุกคามจากลัทธิจักรวรรดิในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการแผ่แสนยานุภาพของฝรั่งเศสในอินโดจีน ส่งผลให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริปรับปรุงระบบป้อมปราการทางน้ำเพื่อกันการโจมตีจากเรือรบฝรั่ง แม้ว่าป้อมบนสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สองถึงรัชกาลที่สี่ จะรวมกันได้กว่า 20 ป้อม แต่ก็ยังเป็นป้อมแบบโบราณที่ติดตั้งปืนใหญ่รุ่นเก่า รวมถึงธรรมเนียมยุทธนาวีทัพสยามที่มักใช้โซ่ขึงปิดช่องน้ำสกัดการเคลื่อนที่ของเรือรบอริราช ก็มีแนวโน้มว่าจะใช้ไม่ได้ผลกับเรือกำปั่นฝรั่งหรือเรือกลไฟซึ่งเคลื่อนที่เร็วด้วยพลังถ่านหินแทนพลังงานลม ฉะนั้น การสร้างป้อมรุ่นใหม่สกัดทัพเรือข้าศึกไว้ตั้งแต่เขตปากอ่าว จึงเป็นแผนยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันอธิปไตยสยาม

ในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ห้าที่มีถึงคณะเสนาบดีเกี่ยวกับการตั้งป้อมพระจุลฯ ได้แสดงถึงพระราชปณิธานในการตั้งชื่อป้อมตามนามพระเจ้าแผ่นดิน โดยยกเอาป้อมวิลเลียมของอังกฤษที่เมืองกัลกัตตา (บนปากแม่น้ำฮูกลี่ เขตเบงกอลตะวันตกในอินเดีย) มาเป็นกรณีศึกษา

สำหรับโครงสร้างป้อมมีลักษณะเป็นกรอบหกเหลี่ยม โดยเทสิ่งปลูกสร้างยุทธศาสตร์เอาไว้ด้านเหนือของป้อมที่ประชิดปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งประกอบด้วยหลุมปืนใหญ่จำนวน 7 หลุม ตลอดจนช่องลำเลียงพล ห้องเก็บยุทธสัมภาระและบ่อเก็บน้ำจืด บริเวณด้านข้างหลุมปืนคือที่สังเกตการณ์ข้าศึก ซึ่งอยู่สูงกว่าหลุมปืน สำหรับปืนประจำป้อม ได้แก่ ปืนเสือหมอบหรือปืนใหญ่อาร์มสตรอง ซึ่งเป็นปืนใหญ่ขนาด 152/32 มม. สร้างโดยบริษัท เซอร์ ดับบลิวจี อาร์มสตอง (Sir W.G. Armstrong) ปัจจุบัน คือ บริษัท วิคเกอร์ อาร์มสตรอง เอ็นจิเนียริ่ง ประเทศอังกฤษ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อด้วยทรัพย์สินส่วนพระองค์ จำนวน 10 กระบอก (ติดตั้งที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าจำนวน 7 กระบอก และติดตั้งที่ป้อมผีเสื้อสมุทรอีก 3 กระบอก) ลักษณะเด่นคือการยกตัวของปืนขณะทำการยิงซึ่งเมื่อยิงไปแล้วปืนจะหมอบลง จึงเป็นที่มาของชื่อปืนเสือหมอบ โดยในวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 ปืนเหล่านี้ก็ได้ใช้ต่อสู้กับกองเรือฝรั่งเศสรวมถึงยังเป็นปืนใหญ่บรรทุกท้ายรุ่นแรกที่มีใช้ในกองทัพเรือ

ทว่า แม้ป้อมพระจุลฯ จะถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้ต่อกรกับกองทัพเจ้าอาณานิคมฝรั่ง แต่ท้ายที่สุด เรือรบฝรั่งเศสก็สามารถผ่าแนวป้องกันที่ปากน้ำและเข้าทอดสมออยู่หน้าสถานฑูตฝรั่งเศส ซึ่งทำให้เกิดวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 ขึ้น แม้ทัพสยามจะเตรียมปราการเหล็กที่ทันสมัยไว้รับศึก หากแต่ระบบปฏิบัติการก็ยังตกเป็นรองฝรั่งเศส เช่น ปืนรบของฝ่ายสยามที่ยิงราว 1 นัด ต่อ 5 นาที ขณะที่ปืนบนเรือรบฝรั่งเศสยิงได้ราว 400 นัด ต่อ 1 นาที หรือแม้กระทั่งข้อบกพร่องเรื่องภาษาที่การยิงปืนเสือหมอบในป้อมพระจุลฯ ต้องใช้ล่ามสื่อสารกับกลุ่มครูฝึกชาวเดนมาร์ก ซึ่งก็ทำให้เกิดความล่าช้าในระบบควบคุมสั่งการ

กระนั้นก็ดี แม้จะมีข้อบกพร่องทางเทคนิคและสมรรถนะยุทโธปกรณ์จนทำให้สยามต้องดำเนินนโยบายผ่อนปรนตามแรงกดดันฝรั่งเศส ทว่า การก่อตัวของป้อมพระจุลฯ นับเป็นนวัตกรรมทางทหารซึ่งสะท้อนวิถีการปรับตัวที่ค่อนข้างกระตือรือร้นของสยามเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามฝรั่งและเตรียมบูรณาการดินแดนผ่านภารกิจสร้างรัฐให้ทันสมัย


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

บล็อกของ ดุลยภาค