อินโดจีนยุคเรียกร้องเอกราชจนถึงปลายสงครามเย็น จัดเป็นเขตภูมิศาสตร์การเมืองที่เร่งเร้าบีบบังคับให้บรรดาชนชั้นนำต่างปรับตัวตามบริบทแวดล้อมซึ่งมักผันแปรตามลักษณะโครงสร้างอำนาจรัฐ อาทิ การสร้างรัฐเพื่อรองรับขั้วอำนาจที่หลากหลายหรือการปฏิวัติเพื่อตีทลายระเบียบการเมืองเก่าแล้วหันมาสถาปนาอุดมการณ์ใหม่ ซึ่งมีผลยิ่งยวดต่อการเปลี่ยนแปลงของรัฐและสังคม
สำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านแนววิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบ (Comparative Politics) อาจสามารถพรรณนารายละเอียดหรือจำแนกลักษณะชนชั้นนำที่สัมพันธ์กับโครงสร้างรัฐได้หลายรูปแบบ
ในกรณีเวียดนาม การแข่งขันการเมืองโลกระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ทำให้ดินแดนแห่งนี้ถูกตัดแบ่งสะบั้นออกเป็น “รัฐเวียดนามเหนือ” กับ “รัฐเวียดนามใต้”
ในรัฐทางเหนือ อำนาจการปกครองสูงสุดถูกผูกขาดโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีทั้งการแผ่อำนาจครอบครองมวลชนในเขตชนบทโดยมีหมู่บ้านเป็นหน่วยการเมืองพื้นฐาน หรือการที่พรรคเป็นทั้งองค์กรจัดตั้งรัฐบาลในการบริหารประเทศและเป็นทั้งผู้ทรงอิทธิพลในการสรรหาแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพ
ส่วนในแง่ชนชั้นนำ การปฏิวัติส่งแรงกระทบถึงโครงสร้างการเมืองจนทำให้นักชาตินิยมและนักปฏิวัติผู้ช่ำชองอย่างโฮจิมินห์กลายเป็นวีรบุรุษผู้ทรงอิทธิพลต่อกระบวนการสร้างชาติ กระนั้น การครองอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำอื่นๆ ที่มาจากพรรคคอมมิวนิสต์และกองทัพ ได้ทำให้การบริหารบ้านเมืองเป็นอันมากต้องกระทำผ่านการต่อรองผลประโยชน์ภายในคณะกรรมาธิการต่างๆ
โฮจิมินห์
สำหรับรัฐทางใต้ แม้การลงจากอำนาจของจักรพรรดิเบาได๋ จะนำมาซึ่งจุดจบของโลกราชาธิปไตยในเวียดนาม หากแต่การเรืองอำนาจของโง ดินห์ เดียม ได้เผยให้เห็นถึงการสยายปีกของลัทธิอัตตาธิปไตยที่ได้รับการโอบอุ้มจากสหรัฐอเมริกา จนกล่าวได้ว่า การทำสงครามของสหรัฐโดยมีเวียดนามใต้เป็นฐานยุทธศาสตร์ ได้ทำให้ดินแดนแห่งนี้ กลายเป็นรัฐที่ตกอยู่ใต้ระบอบคณาธิปไตยทหารมาอย่างต่อเนื่อง ดังเห็นได้จากการเถลิงอำนาจของเหล่าชนชั้นนำในไซ่ง่อนหลังการถึงแก่อสัญกรรมของโง ดินห์ เดียม ซึ่งล้วนเต็มไปด้วยนักการทหารผู้ฝักใฝ่สหรัฐอเมริกา
ในกรณีของรัฐลาว โครงสร้างอำนาจเก่าในยุคก่อนอาณานิคมซึ่งเต็มไปด้วยการแตกกระจายของศูนย์อำนาจแยกย่อย บวกกับปฏิสัมพันธ์ที่มีต่ออิทธิพลต่างชาติอย่างไทย เวียดนาม ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต ได้ช่วยขัดแต่งให้ภูมิทัศน์การเมืองลาวเต็มไปด้วยความซับซ้อน หากแต่ก็มีเอกลักษณ์อย่างน่าประหลาด โดยเป็นที่แน่นอนว่า ชนชั้นสูงชาวลาวส่วนใหญ่มักเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลเจ้าอันเก่าแก่และข้าราชสำนักจำปาศักดิ์ เวียงจันทน์ หลวงพระบาง และในช่วงเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราช กลุ่มอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้ก็ได้ครอบครองตำแหน่งสำคัญๆ ในโครงสร้างการเมือง
ธงชาติของราชอาณาจักรลาว ยุคหลังได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี 1949 ราชอาณาจักรลาว ดำรงอยู่ระหว่างปี 1953 จนถึงวันที่ 2 ธันวาคม 1975 เมื่อพรรคประชาชนปฏิวัติลาว สถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม สงครามกลางเมืองอันเกิดจากการแย่งชิงอำนาจของชนชั้นนำและการแทรกแซงจากกองกำลังต่างชาติในช่วงสงครามเย็น ได้ส่งผลให้เกิดการก่อตัวของผู้นำคนอื่นๆ ที่มีพื้นเพมาจากสามัญชน โดยเฉพาะไกรสร พรหมวิหาร แกนนำขบวนการปะเทดลาว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามเหนือและสหภาพโซเวียต จนท้ายที่สุด การขับเคี่ยวแย่งชิงอิทธิพลระหว่างมุ้งการเมืองต่างๆ ได้ปิดฉากลงในปี ค.ศ.1975 เมื่อชนชั้นนำจากขบวนการคอมมิวนิสต์ประเทดลาว สามารถยึดอำนาจ พร้อมสถาปนา “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” และเข้าปกครองสาธารณรัฐแห่งนี้อย่างสมบูรณ์
ในกัมพูชา เจ้านโรดมสีหนุทรงตระหนักว่า เมื่อมีเอกราชแล้ว จำเป็นที่ต้องมีโครงสร้างการเมืองใหม่ โดยต้องเป็นโครงสร้างที่สามารถธำรงรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ พร้อมเปิดช่องให้มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อทำให้กษัตริย์สามารถเชื่อมประสานกับประชาชนได้แนบสนิท ผลที่ตามมา คือ การประกาศสละราชสมบัติของเจ้าสีหนุในปี ค.ศ.1955 เพื่อสร้างความมั่นใจว่าพระองค์จะสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเมืองผ่านการจัดตั้งพรรค “สังคมราษฏร์นิยม” เพื่อเป็นสะพานให้พระองค์เข้าไปสัมผัสกับมวลชนผ่านวิถีการเมืองภาคสนามอย่างแท้จริง
เจ้านโรดมสีหนุ ครองราชย์ครั้งที่ 1 ระหว่าง 25 เม.ย.1941 - 2 มี.ค.1955 ครั้งที่ 2 ระหว่าง 24 ก.ย.1993 - 7 ต.ค.2004
กระนั้น การแทรกแซงจากมหาอำนาจเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในกัมพูชา กลับส่งผลให้การดำเนินนโยบายการเมืองและการต่างประเทศของกษัตริย์สีหนุต้องสะดุดหันเหอยู่เป็นระยะ พร้อมเปิดโอกาสให้เหล่าบรรดาผู้นำที่มีพื้นเพมาจากสามัญชน ก้าวทะยานขึ้นสู่ตำแหน่งชนชั้นนำแห่งอำนาจ ดังกรณีนายพลลอนนอลที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาในการทำรัฐประหารโค่นล้มอำนาจเจ้าสีหนุ หรือกรณีพอลพตที่ประสบความสำเร็จในการสถาปนาระบอบเขมรแดง
อินโดจีน คือ เขตภูมิศาสตร์การเมืองที่เต็มไปด้วยการหมุนเวียนชนชั้นนำ (Elite Circulation) และประวัติศาสตร์การต่อสู้อันน่าระทึกใจ อนึ่ง เมื่อรัฐเหล่านี้ต่างบรรลุภารกิจในการสถาปนารัฐเอกราชสมัยใหม่แล้ว เหล่าบรรดาสถาปนิกผู้สร้างรัฐก็กลับมีสายสัมพันธ์ข้ามพรมแดนที่แนบแน่นสืบเนื่อง ซึ่งถือเป็นรอยประทับประวัติศาสตร์ (Historical Imprint) ที่ฝังรากลึกตั้งแต่ยุคอินโดจีนฝรั่งเศส หรืออาจสืบสวนไปไกลได้ถึงระบอบการเมืองยุคก่อนอาณานิคม
ดุลยภาค ปรีชารัชช
เอกสารประกอบการเรียบเรียง:
ดุลยภาค ปรีชารัชช. เอกสารประกอบการสอนวิชา อศ 417 ชนชั้นนำและอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. ภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2555 โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะ ศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
หย่ง มุน ฉง. “โครงสร้างทางการเมืองของรัฐเอกราช” ใน นิโคลาส ทาร์ลิ่ง (บรรณาธิการ). ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับเคมบริดจ์ เล่มสี่ จากสงครามโลกครั้งที่สองถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2552.