Skip to main content

ในหนังสือเรื่อง "ราชอาณาจักรลาวล้านช้าง: ความรุ่งโรจน์และความเสื่อม" เขียนโดย มาร์ติน สจ๊วต-ฟอกซ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องลาว มีการทำแผนที่จำลองเส้นทางเดินทัพของเจ้าอนุวงศ์และเส้นทางตีโต้จากราชสำนักกรุงเทพ

มยุรี และเผยผัน เหง้าสีวัทน์ นักประวัติศาสตร์ลาวได้เรียกแผนการกองทัพเวียงจันทน์ครั้งนี้ว่า "ยุทธศาสตร์สามง่าม" หรือ "Three-Pronged Strategy" ซึ่งหมายถึง การปลดแอกลาวผ่านสามกลยุทธ์หลัก คือ 1.การส่งกลับครัวลาวที่สยามเคยกวาดต้อนมา เช่น ที่สระบุรี 2. การสร้างเอกภาพภายในหัวเมืองลาว และ 3. การรับความช่วยเหลือจากพันธมิตรเพื่อโจมตีสยาม ซึ่งมีทั้งล้านนา เวียดนาม หรือการประเมินด้านการข่าวเกี่ยวกับการรุกสยามโดยอังกฤษ

ส่วนเส้นทางเดินทัพ ในแผนที่ได้จัดแบ่งคร่าวๆ ออกเป็นสี่ส่วนหลัก คือ 1. จากเวียงจันทน์เข้าตีหล่มสัก-สระบุรี 2. จากเวียงจันทน์บุกทะลวงหนองบัวลำภู ทะลุโคราชและล่วงเข้าสระบุรี 3. จากเวียงจันทน์เข้าสกลนคร กาฬสินธุ์ และ 4. จากจำปาศักดิ์ ตีอุบล-สุวรรณภูมิ

สำหรับทัพสยามแบ่งออกเป็นสี่ส่วนเช่นกัน ได้แก่ 1. จากกรุงเทพบุกตีหล่มสัก-เวียงจันทน์ 2. จากกรุงเทพเข้าโคราชแล้วขึ้นเหนือตีค่ายลาวที่หนองบัวลำภูจนจรดเวียงจันทน์ 3. จากโคราชบุกขึ้นตีร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และ 4. จากพระตะบองเข้าอุบล

เรื่องศึกเจ้าอนุวงศ์มีการวิเคราะห์ออกไปหลากหลายแนวทาง รวมถึงมีหลักฐานประวัติศาสตร์ที่ให้ภาพรายละเอียดรายชื่อเมืองรายทางหรือสมรภูมิรบแยกย่อยที่แตกต่างกันออกไป แถมยังมีกรณีเปรียบเทียบที่น่าสนใจในบริบทอุษาคเนย์ เช่น ศึกพระนเรศวรรบพม่า ซึ่งเกี่ยวพันกับกลยุทธ์เทครัวและพันธมิตรชาติพันธุ์อย่างมอญกับไทใหญ่

แต่ถ้าจะว่ากันตามภาษารัฐศาสตร์การทูต ต้องถือว่า เจ้าอนุวงศ์เล่นเกมกระพริบตาแบบเฉียดตาย (Brinkmanship Game) ซึ่งในบริบทนี้ ขอแปลว่าเป็นการเปิดสงครามแบบกล้าได้กล้าเสีย ใช้การรุกที่น่าหวาดเสียวและลากลึกสุดปากเหวเพื่อให้ศัตรูยอมจำนนชะงักงัน ซึ่งความสำเร็จหรือความล้มเหลวของเกมเสี่ยงภัยแบบนี้ย่อมเปลี่ยนชะตาชีวิตราชอาณาจักรล้านช้างแบบฉับพลันและหนักหน่วงสุดๆ (พูดแบบง่ายๆ คือ ไม่รุ่งก็ร่วง) ส่วนฝ่ายกรุงเทพก็เล่นเกมโต้กลับ (Retaliation) ที่ดูรุกหนักรวดเร็วและก็ลากลึกไปจนถึงการเข้าตีนครเวียงจันทน์ในท้ายที่สุด

จึงนับเป็นศึกที่ส่งอิทธิพลใหญ่หลวงต่อความเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์และการเมือง รวมถึงต่อวิถีอำนาจทางเศรษฐกิจ-ประชากรตั้งแต่เขตลุ่มน้ำโขง ชี มูล จนถึงลุ่มน้ำป่าสักและแม้แต่ลุ่มน้ำซองแกแขวงเมืองพระตะบอง แต่กระนั้นก็ดี ศึกเจ้าอนุวงศ์ ก็นับเป็นมหาสงครามที่ทรงคุณค่ายิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ทหารในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พื้นทวีปยุคก่อนอาณานิคม


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

บล็อกของ ดุลยภาค