รบเถิด ! อภิสิทธิ์
โดย มุสิกะตะวัน
กี่วัน กี่คืนแล้ว ! อภิสิทธิ์
แผ่นดินต้องมืดมิดทั้งแปดด้าน
ระเบิดป่วนผสมม็อบอันธพาล
กฎมารอยู่เหนือกฎหมายน่าอายนัก
กี่คำ กี่ครั้งแล้ว ที่ประกาศ
คนในชาติรอช่วยด้วยใจรัก
แอบแบ่งใจแอบเชียร์กลัวเสียหลัก
แม้อกหักก็ยังเชียร์ไม่เสียใจ
แต่ตอนนี้ ไม่ไหวแล้ว พระเจ้า !!! ข้า
คนชั่วช้าก่อการร้ายเพื่อนายใหญ่
ยึดกรุงเทพฯ ขึงพืด ประเทศไทย
พร้อมใส่ร้ายหมายล้มองค์สยมภู
รบเถิด ! อภิสิทธิ์
ทุกชีวิตจักยืนเคียงเพียงหยัดสู้
ล้มอันธพาลป่วนเมืองที่เฟื่องฟู
นำบ้านเมืองคืนสู่เนื้อนาบุญ
รบเถิด ! อภิสิทธิ์
ก่อนมวลมิตรจะอิดหนาไม่มาหนุน
ก่อนสังคมไม่ช่วยเหลือมาเกื้อคุณ
ก่อนต้นทุนจะไม่พอขอทำงาน
รบเถิด ! อภิสิทธิ์
ไม่ต้องอิทธิฤทธิ์อภินิหาร
แค่ประสานรวมพลล้มหมู่มาร
โลกจะพร้อมอภิบาลช่วยท่านเอง
ภราดร-ภาพ
๗ เมษายน ๒๕๕๓
(ที่มา: http://www.oknation.net/blog/mataharee/2010/04/07/entry-1)
หากมองผ่านๆบทกวีชิ้นนี้อาจจะดูไม่มีอะไรน่าสนใจนัก แม้ว่าผู้เขียนจะพยายามใช้วิธีการนำเสนอแบบเดียวกับบทสนทนาบนรถศึกระหว่างกฤษณะ (นารายณ์อวตาร) ผู้ทำหน้าที่สารถีกับอรชุนหนึ่งในผู้นำของราชวงศ์ปาณฑพ จนเป็นเหตุให้อรชุนตัดสินใจที่จะส่งมอบความตายผ่านลูกศรให้กับญาติพี่น้องหรือแม้กระทั่งผู้ประศาสน์ความรู้ที่ยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพวกตน (หาอ่านได้ในบทภควัทคีตาแห่ง มหากาพย์มหาภารตยุทธ )
สิ่งที่เป็นที่น่าสนใจจากบทกวีชิ้นนี้ได้แก่สถานะทางการเมืองของผู้เขียนบทความและช่วงเวลาที่เผยแพร่บทความ ช่วงเวลาที่เผยแพร่บทความชิ้นนี้ (7เมษายน 2553) เป็นช่วงเวลา3วันก่อนที่จะเกิดความรุนแรงอย่างเต็มรูปแบบในครั้งแรกกับคนเสื้อแดงในวันที่ 10 เมษายน 2553 เมื่อรัฐบาลได้ตัดสินใจใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามและรถหุ้มเกราะเข้าประทะกับผู้ชุมนุมบริเวณโดยรอบถนนราชดำเนิน จนเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงทยอยต่อเนื่องกันมาจนถึงการล้อมปราบผูุ้ชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม2553 ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นถึง 91คน ผู้บาดเจ็บพิการนับพันคน ผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐทั้งที่ถูกจับกุมดำเนินคดีและหลบหนีอยู่นับพันคน
และอีกในทางหนึ่ง"มุสิกะตะวัน"เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นนามปากกาของผู้ที่เรียกตัวว่าเป็นผู้นำภาคประชาชน เป็นอนุกรรมการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หลายชุด และยังมีตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) คนปัจจุบัน ซึ่งได้แก่นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด
จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าการแสดงจุดยืนทางการเมืองผ่านบทกวีดังกล่าวเป็นการออกใบอนุญาตให้มีการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้ชุมนุม นปช.โดยผู้ที่สถาปนาตัวเองเป็นนักประชาธิปไตย
สิ่งที่ดูเหมือนว่าจะสอดคล้องกันระหว่างเหตุการณ์สงครามที่ทุ่งกุรุเกษตรและการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลกับคนเสื้อแดงในช่วงมีนาคม-พฤษภาคมที่ผ่านมาก็คือ หลังจากที่ กฤษณะได้ให้คำแนะนำต่ออรชุน และสุริยันต์ได้ให้คำแนะนำต่อ อภิสิทธิ์ก็คือ ศรของอรชุนได้ถูกปล่อยออกจากแล่งเข้าปลิดชีพพี่น้องราชวงศ์เการพ ในขณะเดียวกันกระสุนสงครามก็ได้พุ่งออกจากปากกระบอกปืนของเจ้าหน้าที่รัฐเข้าปลิดชีวิตประชาชนผู้ชุมนุมเสื้อแดง
แต่สิ่งที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงก็คือ คุณอภิสิทธิ์คงจะไม่มีทางที่จะมองเห็นได้แน่ๆว่าคุณสุริยันต์เป็นเทพองค์ใดอวตารมา หรือแม้ว่าคุณอภิสิทธิ์ต้องการคนขับรถคนใหม่ก็คงจะไม่มีใบหน้าของคุณสุริยันต์อยู่ในจินตภาพของเขาอยู่ดี
และสิ่งที่เป็นที่น่าเศร้าอย่างยิ่งก็คือความหมายของคำว่า"ภราดร-ภาพ"ที่ถูกวางมาไว้ในส่วนท้ายบทความได้ถูกคุณสุริยันต์ลดค่าลงเป็นเพียงคำหวานที่สื่อความภักดีไปถึงนายกรัฐมนตรีเท่านั้นเอง
สุดท้ายสิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากกรณีนี้ก็คือแม้ว่ามหากาพย์บทนี้จะยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตามแต่ก็ไม่ได้ทำให้มนุษย์บางคนโฉดเขลาน้อยลงเลย
----------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ: ผู้อ่านสามารถศึกษาลีลาการเขียนที่ลุ่มลึกของนักสิทธิมนุษยชนและนักประชาธิปไตยท่านนี้ได้ที่
http://www.oknation.net/blog/mataharee/
หรือลีลาการกล่าวปราศรัยอย่างดุเด็ดเผ็ดมันได้ที่
http://www.oknation.net/blog/mataharee/video/34303
รายชื่อของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ( ครป.) ชุดปัจจุบัน
http://www.prachatai3.info/journal/2010/07/30279