24 มีนาคม 2556...
ผมเห็นบทความ จม.จากดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ถึงนกแอร์ว่า ด้วย “ไม้เท้า” และ “อาวุธ” ในเว็บ prasong.com แล้วรู้สึกสนใจ
จินตนาการไปก่อนเลยว่ามันน่าจะเป็นประเด็นต่อเนื่องจากวิวาทะอันลือลั่นระหว่าง"ไม้เท้ากับกระดูกสันหลัง" ในกรณีของ เสด็จพ่อสมศักดิ์ กับ ส.ศิวรักษ์ ผู้เรียกตัวเองเป็นปัญญาชนสยาม ในประเด็นสถาบันกษัตริย์กับสังคไทย จนเป็นเหตุให้พระบารมีถล่ม ภิญโญ ไตรสุริยะธรรมา จนกระเด็นออกจากTPBS อย่างรวดเร็ว
คลิ๊กเข้าไปอ่าน ปรากฏว่าไม่ใช่ แต่เป็นจดหมายร้องเรียนถึงผู้บริหารสายการบินนกแอร์ จากเหตุการณ์ขลุกขลักในการเดินทางโดยสายการบินของชัยวัฒน์กับแอร์โฮสเตจ ในประเด็นเรื่องระเบียบสายการบินกับที่ไว้ไม้เท้าของผู้โดยสาร
สำหรับผมคนที่ยังเดินทางด้วยรถ บขส.ปอ.2 อยู่ คงให้ความเห็นได้ไม่มาก แต่เมื่อดูจากเหตุการณ์แล้วมันก็ไม่ได้เลวร้ายนักเมื่อเปรียบเทียบกับชาวบ้านร้านตลาดได้รับการปฏิบัติจากพนักงานขับรถหรือพนักงานเก็บค่าโดยสาร
แต่ประเด็นที่ผมสนใจก็คือ ประเด็นแค่ที่เก็บไม้เท้าของนักวิชาการท่านนี้เป็นเหตุให้ถึงกับต้องมี จม.ร้องเรียนถึงผู้บริหารสายการบินเลยหรือ? ถึงขนาดที่ต้องให้เว็บข่าวเจาะระดับคุณภาพต้องนำมาเผยแพร่เลยหรือ ?
.............
วันนี้... อีกไม่ถึงเดือนก็จะครบรอบ สามปีเหตุการณ์ยิงกันสนั่นเมือง 10 เมษายน 2553 มีคนตาย27คน
ถัดจากนั้นอีกเดือนเดียวมีคนตายจากการสลายการชุมนุมในช่วงเดือนพฤษภามีคนตายในเหตุการณ์อีก65คน
วันชัย รักสงวนศิลป์ ชายชาวอุดรถูกจับในเหตุการณ์วันที่19 พฤษภาคมที่ จ.อุดรธานี กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปอย่างล่าช้า วันชัยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว วันชัยเสียชีวิตในเรือนจำเมื่อเดือนธันวาคม 2555
ปี 2551 ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ถูกจับด้วย กม.อาญา ม.112 กว่า5ปีแล้ว คดียังไม่สิ้่นสุด ดาไม่เคยได้รับสิทธิในการประกันตัว
สมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการ ถูกจับเมื่อ 30 เมษายน 2554 อีกเดือนเศษจะครบสองปี สมยศได้เดินทางไปสืบพยานแทบจะทุกภาคทั่วประเทศ สมยศไม่เคยได้สิทธิประกัน
หรือ"อากง" อำพล ตั้งนพกุล (61ปี) ด้วยข้อกล่าวหาเดียวกันชายสูงวัยเสียชีวิตในเรือนจำ โดยไม่มีโอกาสได้ร่ำลาครอบครัวและคนที่ตนรัก
ไม่มีจดหมายอุทธรณ์ถึงผู้มีอำนาจในการกำหนดชะตาชีวิตและเสรีภาพของเหยื่อข้างต้น จากนักวิชาการ และนักสันติวิธีนามอุโฆษท่านนี้
จดหมายจากดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ถึง นกแอร์…. 16 มีนาคม 2556 ผมชื่อ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2556 ตอนเย็นเดินทางด้วยสายการบินนกแอร์เที่ยวบิน DD 7113 จากหาดใหญ่มาสนามบินดอนเมือง กรุงเทพฯ ระยะนี้ผมต้องเดินทางต่างประเทศหลายแห่ง แต่เนื่องจากเข่าซ้ายมีปัญหาเล็กน้อย จึงต้องอาศัยไม้เท้าพยุงร่างไม่ให้เจ็บจนเกินจะทน เมื่อขึ้นเครื่องผมก็พับไม้เท้าและเก็บไว้ในที่เก็บสัมภาระด้านหน้าที่นั่ง เวลาประมาณ 18.15 น.ขณะที่นั่งในเครื่อง (ที่นั่งเลขที่ 46 H )ก่อนจะออกเดินทาง พนักงานของนกแอร์คนหนึ่ง เข้ามาแล้วบอกผมโดยสุภาพว่า ให้นำไม้เท้าไปไว้ในที่เก็บสัมภาระเหนือศีรษะ ผมตรวจดูแล้วไม่เห็นว่า ไม้เท้าที่พับเรียบร้อยนั้นกีดขวางอะไรในเครื่อง จึงถามเธอว่าที่ให้ทำเช่นนั้นเพราะเหตุใด เธอตอบว่า”เพราะไม้เท้าใช้เป็นอาวุธได้” และขอให้ผม “ให้ความร่วมมือ”ด้วยการนำไม้เท้าไปไว้ในที่ที่เธอบอก ซึ่งผมทำตามในที่สุดด้วยความประหลาดใจและไม่พอใจปะปนกัน และเมื่อคิดดูเห็นว่า นกแอร์มีปัญหาบางประการที่คุณพาทีควรต้องให้ความสนใจดังนี้ 1. การระบุว่า “ไม้เท้าพยุงร่าง”ของคนที่มีปัญหาอย่างผมหรือคนพิการเป็น “อาวุธ”นั้น ออกจะประหลาด เพราะถ้ากล่าวเช่นนี้ ในฐานะคนสอนวิชาด้านความรุนแรงและสันติวิธี คงต้องเรียนว่า ปากกาที่ผู้โดยสารพกกันแทบทุกคน หรือแม้จนถุงพลาสติก ก็ใช้เป็นอาวุธทำร้ายคนให้เจ็บให้ตายได้ทั้งนั้นถ้ารู้วิธี 2. ถ้าเชื่อว่า “ไม้เท้าพยุงร่าง”เป็นอาวุธจริง ผมไม่เห็นเหตุผลของการให้นำไม้เท้าไปไว้ในที่เก็บสัมภาระด้านบนว่า จะลดทอนภัยอันตรายจากไม้เท้าและเจ้าของไม้เท้าอะไรได้มากนัก ยิ่งกว่านั้นยังอาจเอื้อให้ผู้อื่นที่”คิดร้าย”นำสิ่งที่เธอเห็นว่า”เป็นอาวุธได้”ไปใช้ตามปรารถนาของตนได้ง่ายขึ้น วิธีที่ถูกคือ ขอนำไม้เท้าไปเก็บไว้ที่อื่น (เหมือนสายการบินที่ดีขอนำเสื้อนอกของผู้โดยสารไปเก็บให้ไม่ว่าจะเป็นในชั้นธุรกิจหรือชั้นประหยัด) และนำมาคืนให้ผู้โดยสารเมื่อเครื่องลงจอดเรียบร้อยแล้ว 3. ผมเพิ่งกลับมาจากกรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐฯเมื่อเช้ามืดของวันที่ 14 มีนาคม โดยเดินทางจากสนามบินดัลเลส มายังนาริตะ และจากญี่ปุ่นเดินทางเข้าประเทศไทย ด้วยสายการบิน United และตลอดทางทั้งขาไป (เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2556) และขากลับดังกล่าว ผมก็ถือไม้เท้าพยุงกายผ่านการตรวจสัมภาระที่สนามบินทุกแห่งที่ผ่าน และนำไม้เท้าขึ้นเครื่องเดินทางมาโดยไม่มีใครเห็นว่า”ไม้เท้าเป็นอาวุธ”อย่างใด (คงไม่ต้องกล่าวว่า การตรวจตราในเรื่องอาวุธและความปลอดภัยทั้งที่สหรัฐฯและญี่ปุ่นนั้นเข้มข้นเพียงไร) ยิ่งกว่านั้นในเที่ยวการเดินทางก่อนหน้านี้ ที่ผมเดินทางด้วยสายการบิน Austrian Airlines ไปและกลับยังกรุงเวียนนาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 และ นาโกญ่าประเทศญี่ปุ่นด้วยการบินไทยในเดือนเดียวกัน ผมก็ถือไม้เท้าขึ้นเครื่องบินตลอดมาโดยไม่มีปัญหาใดๆ 4.ที่สำคัญยิ่งกว่าการไม่มีปัญหาใดๆ คือวิธีที่พนักงานบนสายการบินต่างๆที่ผมเอ่ยชื่อมาทั้งหมด ปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อผมตลอดทุกการเดินทาง คือทุกคนที่พบ ยกเว้นในกรณีของนกแอร์ ล้วนแต่กุลีกุจอให้ความช่วยเหลือ ตั้งแต่ภาคพื้นดิน (เช่นถามว่าจะใช้รถเข็นหรือไม่) หรือเมื่อขึ้นเครื่องก็อำนวยความสะดวกให้อย่างดีเยี่ยม ไม่เลือกสัญชาติและเชื้อชาติของพนักงานเลย 5. ผมไม่แน่ใจว่าที่ “ไม้เท้าเป็นอาวุธ” นั้นเป็นปัญหาที่เกิดกับ”ไม้เท้า” หรือเป็นปัญหาที่”คนถือไม้เท้า”ซึ่งคือตัวผม ถ้าเป็นอย่างแรกผมเห็นว่า นกแอร์คงมีปัญหากับคนเดินทางที่ใช้บริการของคุณที่มีปัญหาอย่างผมหรือเป็นผู้พิการที่ต้องใช้ไม้เท้าทุกคนโดยเฉพาะในเรื่องสิทธิของคนเหล่านี้ แต่ถ้ากรณีเป็นอย่างหลัง ผมคิดว่านกแอร์มีปัญหายิ่งกว่านั้น เพราะคงเป็นอคติบางอย่างที่เห็นว่า บุคคลบางประเภทโดยเชื้อชาติ หรือ ลักษณะตามธรรมชาติเป็นปัญหาตั้งแต่ต้น (ไม่ใช่พฤติกรรมเช่นอาการมึนเมา) เรื่องหลังนี้ร้ายแรงและสำหรับสายการบินที่ทำหน้าที่บริการผู้คนหลากหลายจากทุกมุมโลก ท่าทีเช่นนี้คงเป็นสิ่งที่ประชาคมโลกในปัจจุบันรับไม่ได้ และใครที่ทำธุรกิจเช่นนี้ก็ไม่น่าจะเห็นดีเห็นงามตามไปด้วยได้ ผมเขียนจดหมายนี้ถึงคุณพาทีโดยตรง เพราะแม้ไม่รู้จักคุณแต่เห็นว่า แนวทางการบริหารของคุณน่าสนใจและคงรับฟังข้อคิดความเห็นต่างๆได้ คำตอบและแนวทางของคุณน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผมและลูกค้าอื่นๆในอนาคตของคุณตัดสินใจได้ว่า ควรจะบินกับนกแอร์ต่อไปหรือไม่เพราะเหตุใด
|
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: จม.จากดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ถึงนกแอร์ว่า ด้วย “ไม้เท้า” และ “อาวุธ”