สารภาพตรงๆว่าผมยังติดใจกับคำว่าคนเสื้อแดงต้องก้าวข้ามสีเสื้อหรือการก้าวข้ามตัวบุคคล
ไม่ปฏิเสธว่าข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอเพื่อการสร้างแนวร่วมจำนวนมากเพื่อต่อสู้กับเผด็จการทหารหรืออย่างน้อยก็เพื่อผลักดันทหารให้กลับเข้ากรมกอง
แต่ปัญหาของคำว่า"ก้าวข้าม"ก็ยังมี ถ้าสีแดงเป็นแค่สีเสื้อการจะถอดมันออก โยนมันทิ้ง เดินก้าวข้ามหรือจะเหยียบย่ำอย่างไรมันก็คงไม่ยาก แต่ถ้าสีแดงหมายถึงจิตใจของคนรักประชาธิปไตย ปกป้องสิทธิเสียงของตนเอง มันจะก้าวข้ามได้อย่างไร? และก้าวข้ามไปสู่อะไร?
เราจะก้าวข้ามคนเสื้อแดงที่ถูกยิงตาย หรือคนเสื้อแดงถูกจำขังอยู่ในเรือนจำได้อย่างไร ?
หากต้องการให้คนเสื้อแดงก้าวข้ามนักการเมือง ก้าวข้ามแกนนำและองค์กรนำที่พวกท่านคิดว่าซูเอี๋ย เกี้ยเซิยะ นำพาการต่อสู้ได้ไม่ถึงอกถึงใจ แล้วจะให้ประชาชนก้าวข้ามสิ่งที่พวกท่านคิดว่าเป็นเศษขยะพวกนี้ไปสู่อะไร? เอาแบบเป็นรูปธรรมนะ ขอร้อง!
ผมคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมือง องค์กรนำ กับมวลชน มันมีลักษณะของการพึ่งพา พูดแบบเลวร้ายว่าเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน ผมคิดว่าส่วนน้อยมากๆที่จะมองนักการเมืองหรือแกนนำเป็นเทวดา มองแบบเป็นญาติเชื้อนี่อาจจะมี
อย่างหนึ่งที่พวกเขาเหมือนกันก็คือ พวกเขาเป็นพวกสัมฤทธิผลนิยมเหมือนๆกัน
ผมกล้ายืนยันว่าไม่มีใครเข้าใจชาวบ้านได้ดีเท่านักการเมือง นักการเมืองที่ถูกคนชั้นกลางด่าถูกโขกสับอยู่ทุกวันนี้นี่แหละ
ดังนั้นข้อเสนอให้ก้าวข้ามนักการเมือง นปช. และทำแนวร่วมกับคนชั้นกลางสีอื่นๆ จึงเป็นข้อเสนอที่ไม่น่าจะมีผลกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก และไม่สามารถที่จะดึงให้มวลชนส่วนใหญ่ออกมาร่วมต่อสู้ พูดง่ายๆก็คือ มวลชนคงไม่ซื้อไอเดียนี้
ไม่ได้เจตนาขัดคอใคร เพียงแต่ไม่อยากให้วาทกรรม "ก้าวข้าม" ไปลดทอนรายละเอียดและพลังทางการเมืองที่ได้สั่งสมไว้ด้วยชีวิตของคนจำนวนไม่น้อย และอยากให้ระวังว่าอย่าให้วาทกรรมนี้ถูกหยิบฉวยไปใช้อย่างสามานย์โดยกลุ่มคนที่อาจไม่เคยลงทุนหรือสูญเสียอะไรเลย
สุดท้าย ผมอยากให้ลองทบทวนพลวัตรการเมืองการต้านรัฐประหาร 19 กันยา ระหว่างกลุ่ม 19 กันยา ต้านรัฐประหาร และ กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ดูเผื่อว่าจะสามารถก้าวข้ามอะไรได้บ้าง
ปล. ขายของหน่อย ปาฐกถา นิธิ เอียวศรีวงศ์: "คนไทยที่ไม่เคยอยู่กับระบอบประชาธิปไตยเลยคือ ชนชั้นกลาง"