Skip to main content

            ผมเป็นอาสาสมัครมือใหม่ ที่บางอารมณ์ก็อยากทำประโยชน์เพื่อสังคมกับเขาบ้างเหมือนกัน

                ผมเริ่มต้นการทำความดีที่ชุมชนศิริอำมาตย์ เป็นชุมชนแออัดลึกลับ แฝงเร้นอยู่ข้างสนามหลวงใจกลางกรุงเทพมหานคร
                ที่นี่จะมีอาสาสมัครมากหน้าหลายตาวนเวียนกันมาไม่ซ้ำคน แบ่งปันเวลาว่างในวันหยุดสอนหนังสือให้แก่เด็กๆ ในชุมชน
                เราใช้พื้นที่ข้างถนนเล็กๆ กับโต๊ะขายก๋วยเตี๋ยว 3-4 ตัว ตั้งเป็นโรงเรียนขึ้นในทุกเช้าของวันอาทิตย์ และผมก็แวะเวียนมาเป็นส่วนหนึ่งบ้างตามโอกาสที่มี
                แต่วันนี้ไม่ใช่วันอาทิตย์ที่ดีนักสำหรับผม นาฬิกาปลุกทำงานเมื่อเวลาแปดโมงตรง ทั้งที่เมื่อคืนกว่าผมจะนอนก็ตีสามแล้ว ผมชั่งใจอยู่ชั่วอึดใจหนึ่ง “วันนี้คงไม่เหมาะกับการทำความดีกระมัง” ผมคิด...
                เกือบสิบโมงแล้วผมรู้สึกตัวขึ้นอีกครั้ง ล้างหน้าแปรงฟันเสร็จแล้วก็ไม่มีอะไรทำที่ดีไปกว่าการนอนดูทีวีให้หมดวันหนึ่งๆไป “หรือจะไปดีวะ?” ผมคิด แล้วก็กระวีกระวาดแต่งตัวออกจากบ้านไปทั้งที่ยังไม่ได้กินอะไร
 
                ณ สถานที่นัดหมาย สหายจำนวนหนึ่งมาถึงก่อนผมนานแล้ว พร้อมกับคำพูดสนุกสนานเชิงตำหนิ ถึงความตรงต่อเวลาของผม “มาก็โดนด่า มาทำไมวะกู?” ผมคิด
                การมาสายทำให้ผมไม่มีอำนาจในการเจรจาต่อรอง ผมเริ่มทำตัวเป็นประโยชน์ทันทีโดยการหยิบแบบฝึกหัดไปแจกน้องๆและเดินทักทายผู้คน
                มีน้องคนหนึ่ง ชื่อว่า หนึ่ง มีน้องชื่อสองและสาม เป็นเด็กที่เพิ่งมาเรียนที่โรงเรียนข้างถนนแห่งนี้เป็นครั้งที่สอง ซึ่งครั้งแรกผมได้เป็นคนสอนน้องเขียน ก.ไก่ถึง ฮ.นกฮูกด้วยตัวเอง น้องหนึ่งเข้ามาทักทายผมด้วยการจับมือและนั่งตักทันที “ได้เหยื่อแล้วเว่ย” ผมคิด “สอนน้องหนึ่งก็ได้จะได้ไม่ดูอู้จนเกินไป”
                เดาเอาว่าน้องคงจำผมได้อยู่ และวันนี้ครูอาสาก็มากันน้อย คงดูแลไม่ทั่วถึง น้องไม่รู้จะหาใครก็เลยรีบรี่มาหาผมก่อน
 
                แสงแดดช่วงสายไม่ได้เกรงใจคนที่แค่อยากทำอะไรดีดีบ้างเลยแม้แต่น้อย วันนี้ร่มผ้าใบคันใหญ่ที่เคยคุ้มแดดให้ก็กลับกางไม่ได้เพราะลมแรงเกินไปอีก “ไอ้ลมบ้า มากันไม่หยุดเล้ย” ผมคิด
                ผมร้อนมาก แต่น้องหนึ่งนั้นไม่ ยังคงตั้งใจทำแบบฝึกหัดโยงเส้นจับคู่ต่อไป แผ่นแล้วแผ่นเล่า “ไม่ร้อนบ้างหรือไงวะ?” ผมคิด และผมก็ได้คำตอบเมื่อมีน้องอีกคนมาชวนน้องหนึ่งไปเซเว่น แต่น้องหนึ่งบอกว่า “ไม่เอา เรียนดีกว่า สนุก” “เหรอวะ?” ผมคิด
                ไม่เพียงอุปสรรคจากแสงแดดเท่านั้น ความหิวทั้งข้าวและน้ำ กับความง่วงก็คงยังรุมเร้าผมอยู่ทุกขณะ “คิดผิดเป่าวะเนี่ย...กู?” ผมคิด
 
                เที่ยงตรง ดวงตะวันแกร่งกล้ามากขึ้น ส่วนผมก็หลบตัวเองเข้ามาอยู่ใต้เงาของร่มไม้ เด็กส่วนใหญ่กลับไปแล้ว น้องหนึ่งกำลังเก็บกระดาษแบบฝึกหัดทุกใบที่ตัวเองทำเพื่อเอากลับบ้านไปให้แม่ดู
                น้องหนึ่งเป็นเด็กตัวเล็กๆ อยู่แค่ ป.1  กำลังจะจูงมือน้องสาวที่เพิ่งเข้าอนุบาล เดินกลับบ้านกันสองคน“อะไรจะน่ารักขนาดนี้?”“คงดีกว่านั่งร้อนๆอยู่ตรงนี้มั้ง?” ผมคิด ก่อนอาสาตัวเดินไปส่งน้องที่บ้าน
                น้องหนึ่งยื่นมือมาจับมือผมแล้วกำเอาไว้แน่น ผมเลยยื่นมืออีกข้างไปจับมือของน้องสอง “น่าจะมีคนถ่ายรูปจากข้างหลังให้จัง” ผมคิด
 
กองขยะและของใช้เก่าๆ กับคนน่ากลัวๆ นั่งอยู่ตรงทางเดินปากซอยเข้าบ้านของน้อง บ้านเรือนของคนละแวกนี้สร้างขึ้นจากการปะติดปะต่อขอถุงกระสอบทราย แผ่นไม้กระดานผุๆ และป้ายโฆษณาเก่าๆ  ทางเดินรกและเฉอะแฉะดูไม่น่าไว้วางใจ “เข้าไปดีไหมเนี่ย?” ผมคิด
ขณะที่น้องจูงมือเดินนำ ผมก็ต้องกลั้นใจเดินตาม เดินผ่านคนจรจัดที่ดูเพี้ยนๆ คนหนึ่งไป เค้าก็จดจ้องผมไม่ละสายตา เดินผ่านกองขยะพันปี ผ่านน้ำครำกลิ่นเหม็นๆไป ผมต้องเดินเขย่งเท้าเพราะกลับรองเท้าเปื้อนกลัวจะไปเหยียบเข้า
บนเศษเหล็กเก่าๆ ที่ถูกใช้เป็นม้านั่ง มีหญิงสาวผอมบางท่าทางใจดีอุ้มเด็กเล็กๆ คนหนึ่งอยู่ คือคุณแม่กับน้องสามที่เฝ้ารอการกลับมาของเด็กน้อยทั้งสองคนอยู่นั่นเอง สายตาอันอบอุ่นมองตรงมายังเด็กน้อย พร้อมกับปากบอก “ขอบคุณคุณพี่นะคะที่มาส่ง” น้องสองวิ่งรี่เข้าไปกอดคุณแม่ น้องหนึ่งดึงมือผมให้ก้มลงไป และโอบเข้าสวมกอดรอบคอผมก่อนจากลา
“ภาพแบบนี้ไม่ควรอยู่คู่กับฉากหลังแบบนี้” ผมคิด
ไหว้ลาคุณแม่แสนดี โบกมือบ๊ายบายเด็กๆ ถอนหายใจยาวๆ เดินย้อนกลับออกมา คนเพี้ยนคนเมื่อกี้ฉีกยิ้มให้ผมมุมปากกว้างถึงใบหู จนมองเห็นฟันดำๆ ที่ไม่ได้รับการทำความสะอาด “แหม...คุณครูมาส่งนักเรียนเหรอครับ” พี่ชายหน้าเข้มที่ซ่อมมอเตอร์ไซค์อยู่หันมายิ้มกว้างให้อีกคน “ให้น้องเขากลับเองก็ได้นะคร้าบ...”
 
เพียงหนึ่งก้าวที่พ้นออกจากปากซอยนั้น สายลมวูบใหญ่พัดเข้ามาต้องตัวผม ผมหลับตาปี๋ก้มหน้าหลบฝุ่นละอองที่อาจตามมา คำถามของผมทั้งหมดในวันนี้ได้รับคำตอบแล้วในวินาทีนั้นเอง
 
 
นายกรุ้มกริ่ม
แห่งกลุ่มอิสระเพาะรัก
 
 
 
 
 
 
 
 
เขียนขึ้นประมาณสิงหาคม 2550 ตามคำขอของน้องๆไม้ขีดไฟ ในหัวข้อเพียงเสี้ยวอารมณ์
ไม่เคยตีพิมพ์

บล็อกของ นายกรุ้มกริ่ม

นายกรุ้มกริ่ม
มาเยือนจังหวัดอุดรธานีครั้งแรกในชีวิต เป็นอีกครั้งที่หลับบนรถทัวร์มาตลอดคืนอันแสนจะธรรมดา ยิ่งเดินทางแบบนี้บ่อยขึ้น ก็ยิ่งเคยชิน ถึงแอร์จะหนาว อาหารจะห่วย ก็ไม่สะทกสะท้านใดๆ ทั้งสิ้น ลงรถทัวร์ได้ไม่นาน เพื่อที่เป็นอาจารย์อยู่ที่นี่ก็มารับที่บขส. ยังไม่ทันรู้จักตัวเมืองให้ถ้วนทั่ว ประสบการณ์ใหม่ๆ ก็มายืนรออยู่ข้างหน้าอีกแล้ว
นายกรุ้มกริ่ม
           
นายกรุ้มกริ่ม
                ใต้ฟ้าผืนนี้ ... คงมี ผู้คน หลากหลาย เรื่องราว แฝงเร้น มากมาย เกิดแก่ เจ็บตาย ไขว่คว้า หากัน
นายกรุ้มกริ่ม
  อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นเมืองท่ามกลางหุบเขา มีเสน่ห์เล็กๆ ในแบบของตัวเอง แม่สอดไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แต่มีคนแวะเวียนมาเยอะเพราะแม่สอดเป็นประตูผ่านแดนไปยังเมืองเมียววดีของพม่า
นายกรุ้มกริ่ม
เมื่อ "ผม" อ้าปากเรียกหา "สิทธิเสรีภาพ"
นายกรุ้มกริ่ม
      ยามเช้าใกล้รุ่งของตัวอำเภอแม่สะเรียงมีเพียงความเงียบสงัด ไร้วี่แววของรถราและผู้คน ไฟถนนสีส้มส่องผ่านม่านหมอกที่ลงหนาจัดคอยช่วยให้จิตใจของผู้มาเยือนอบอุ่นขึ้นได้บ้างบนทางสายเล็กๆ ที่ไม่รู้ว่าจะนำไปสู่สถานที่แบบใด   ผมลงจากรถทัวร์สาย กรุงเทพ - แม่ฮ่องสอนตอนตีห้าเศษ ด้วยอาการงัวเงีย งุนงง กับเป้ 1 ใบ เต้นท์ 1 หลัง เพื่อน 1 คน หลังนั่งสัปหงกตั้งแต่ออกจากหมอชิตมาตอนห้าโมงเย็น จุดหมายปลายทางที่จะไปให้ถึงคือ "งานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่8" บนดอยไหนสักดอยในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ไม่รู้ว่าไกลแค่ไหน ไม่รู้ว่ามันคืองานอะไร และไม่รู้ว่าตัวเองจะไปทำอะไร  …
นายกรุ้มกริ่ม
               สิงหาคม 2550 นักศึกษามหาวิทยาลัย 12 ชีวิต ชาย6 หญิง6 กลั้นน้ำตายิ้มให้กับโรงเรียนประถมเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง ขณะที่กระโดดขึ้นท้ายรถกระบะแล่นจากไป                    ในระยะเวลา 9 วัน พวกเขาได้อุทิศทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเนรมิตห้องเก็บของเก่าๆ ให้เป็นห้องสมุดสำหรับเด็กที่มีตัวการ์ตูนสดใส และหนังสือใหม่แกะล่องจำนวนมาก ความประทับใจ รอยยิ้ม คราบน้ำตา วันที่เหน็ดเหนื่อย และเวลาแห่งความสนุกสนาน…
นายกรุ้มกริ่ม
              “The productive forces of material life conditions the social, political and intellectual life process in general. It is not the consciousness of men that determines their being, but, on the contrary, their social being that determines their consciousness” Karl Marx Preface to A Contribution to the Critique of Political Economy     ถ้าหากปรัชญาของคาร์ล มาร์กซ์ ยังพอมีส่วนถูกอยู่บ้าง คนที่มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมอันประกอบด้วยวัตถุทางรูปธรรมแบบหนึ่งๆ จะไม่สามารถแยกแยะ(Determine) ความถูกผิดดีงามทางศีลธรรม (…