Skip to main content

           

            ปี 2550 อายุ 20 ปี

วันจันทร์ตอนเช้า ช่วงเวลาที่โรงพยาบาลวุ่นวายที่สุด ณ ลานผู้ป่วยนอก (โอพีดี) โรงพยาบาลเด็ก ขณะที่เด็กๆ กับผู้ปกครองจำนวนมากนั่งๆ ยืนๆ ชะเง้อคอ เข้าคิวรอตรวจ หนุ่มสาวกลุ่มเล็กๆ 8-10 คน ในชุดเสื้อสีชมพู คือ ผมและเพื่อนในนามกลุ่มอิสระเพาะรัก จะแบกกีต้าร์หนึ่งตัวและอุปกรณ์ เดินแทรกฝูงชนที่ต่อแถวยาวเหยียด มานั่งลงกับพื้นที่จัดไว้สำหรับให้เด็กวิ่งเล่น ข้างๆ มีลำโพงตัวเล็กๆ ตั้งอยู่ 1 ตัว แล้วแหกปากเรียกร้องความสนใจ
หลังจากได้คุยกับพี่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ซึ่งต้องการให้เกิดกิจกรรมขึ้นบริเวณนี้บ่อยๆ เพื่อให้เด็กๆ ที่มาโรงพยาบาลรู้สึกไม่เครียด ไม่กลัวโรงพยาบาล ให้ผู้ปกครองไม่เบื่อ และคาดหมายไว้โดยทฤษฎีว่า ดนตรีที่มีจังหวะจะช่วยเยียวยาอาการป่วยจากภายในได้ เรียกภาษาหรูๆ ว่า “กิจกรรมดนตรีบำบัด”
“อยากให้มายืนเล่นกันแถวๆ นี้ เหมือนที่ชอบเล่นกันตามจตุจักร ตามอนุเสาวรีย์ฯน่ะค่ะ” นี่คือถ้อยคำที่พยาบาลฝ่ายกิจกรรมจิตอาสามอบโจทย์ให้เรา
“แต่ ... ผมแค่พอเล่นได้ มันไม่เพราะ แล้วก็ไม่ได้ซ้อมนะครับ”
“ไม่เป็นไรค่ะ เล่นยังไงก็ได้ แค่ให้มีดนตรีสนุกๆ ก็พอ”
เธอหารู้ไม่ว่า ไอ้คำว่า “ไม่เป็นไร” ของเธอ สำหรับผมกับเพื่อนแล้วมัน “ไม่เป็นไร” จริงๆ เพราะกีตาร์ 1 ตัว หรือบางวัน 2 ตัว ไม่เคยซ้อมแม้แต่ครั้งเดียว บางวันก็เสียงเพี้ยน บางวันสายไฟมีปัญหา บางวันมีเครื่องเคาะ บางวันไม่มี หลายครั้งที่นักร้องกับนักดนตรีเพิ่งรู้จักชื่อกันก่อนเล่น บางครั้งโชคดีหน่อยก็ได้เพื่อนที่เป็นนักร้องเสียงดีมาช่วยกัน แต่บางครั้งหาใครไม่ได้ ก็ดำน้ำกันเอง ผิดทั้งโน้ต ผิดทั้งเนื้อ ผิดทั้งคีย์ บางทีก็เล่นไม่จบเพลง แม้จะเล่นไปล่มไปบ้างก็มองหน้ากันหัวเราะกันเอง เพราะตลอดทางเราทำไปเพื่อให้เกิดบรรยากาศสนุกสนานขึ้นในโรงพยาบาลเท่านั้น และเราก็ทำเท่าที่ความสามารถของเราจะมี
จากครั้งแรกมีกีต้าร์สองตัว แถมด้วยกระดาษแจกให้เด็กๆ มานั่งระบายสี ต่อมาก็เพิ่มกิจกรรมแจกลูกโป่งที่บิดเป็นรูปสัตว์ ซึ่งแรกๆ ก็ทำไม่เป็น อาศัยครูพักลักจำกันตลอด มีการใส่ชุดตัวมาสค็อต และพัฒนาจนเกิดกิจกรรมละครหุ่นมือขึ้น ซึ่งแน่นอน เป็นละครแบบที่ไม่ได้ซ้อม เล่นกันด้วยสัญชาติญาณ ทั้งหมดล้วนอาศัยความหน้าหนาหน้าทน ใช้ความสดใส ไร้เดียงสา แบบวัยรุ่น ที่มากันเป็นกลุ่มๆ ทำกิจกรรมน่ารักๆ กับเด็กตัวเล็กๆ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะทำอะไรไป ผลที่ออกมาก็ดีทั้งนั้น เป็นภาพกิจกรรมที่ช่วยให้โรงพยาบาลที่วุ่นวายอยู่แล้ว วุ่นวายเพิ่มขึ้นไปอีกแต่เป็นในแบบที่มีรอยยิ้มบ้าง
ผมและเพื่อนตื่นแต่เช้า ใส่เสื้อสีชมพูสดใส หอบข้าวของไปทำกิจกรรมอย่างนี้อยู่ประมาณสามสิบครั้งเห็นจะได้ ก่อนที่ผมจะจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย เมื่อน้องรุ่นถัดไปต้องย้ายไปเรียนที่รังสิตทั้งหมด การเดินทางไม่สะดวก กิจกรรมจึงนี้ก็ค่อยๆ ร้างราไป
ระหว่างทางมีคำชื่นชมมากมาย จากทั้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หมอ พยาบาล คนขายน้ำ รปภ. พี่ๆ ฝ่ายเทคนิคที่ผมต้องคอยเดินไปขอยืมลำโพง กระทั่งคนขับแท็กซี่ที่ผมนั่งกลับบ้าน มีคำทักทาย ถามไถ่ คำชื่นชมจากผู้ปกครองของเด็ก บางคนก็ซื้อน้ำ ซื้อขนมมาให้ มีรอยยิ้ม เสียงหัวเราะจากเด็กหลายร้อยคนเคยมาวิ่งมาเล่นด้วย รับแจกลูกโป่ง โหวกเหวกโวยวาย และแยกย้ายกันกลับบ้านไป อาสาสมัครรุ่นสูงวัยที่มาช่วยงานวัดความดันคนไข้อยู่หลายปีชมพวกเราอยู่เสมอว่า
“ต้องหวังพึ่งเด็กๆ รุ่นใหม่นี่แหละ จะให้ป้าไปทำอะไรแบบนี้ก็ไม่ไหวแล้ว....”
 
 
    
 
 
5 ธันวาคม 2550 อายุ ยี่สิบ เข้าใกล้ยี่สิบเอ็ด
 
            ผมเบียดเสียดผู้คนเข้ามายังสนามหญ้าภายในพระบรมมหาราชวังซึ่งขณะนี้มีคนใส่เสื้อเหลืองมารอเฝ้ารับเสด็จอยู่เต็มพื้นที่ หลายวันก่อนใครก็ไม่รู้โทร.มาบอกว่า ผมได้รับการคัดเลือกให้เป็น 100 คนดีที่ทำความดีเพื่อในหลวง ซึ่งที่จริงผมไม่ได้ภูมิใจกับเกียรติยศนี้เท่าไร เพราะไม่เชื่อว่าตัวเองเป็นคนดี โดยเฉพาะคนดีประเภท 100 คนของประเทศยิ่งเป็นไปไม่ได้ใหญ่ ลังเลอยู่หลายวันว่าไม่อยากจะมารับเกียรตินี้ แต่เมื่อเพื่อนที่อยู่ต่างจังหวัดบอกว่าจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาร่วมงานฉลองครั้งนี้โดยเฉพาะ ผมซึ่งมีบ้านอยู่ห่างจากวัดพระแก้วในระยะเดินเท้าได้สบายๆ จึงรู้สึกผิดกับตัวเองหากตัดสินใจนอนตื่นสายอยู่กับบ้าน
            เมื่อเห็นหน้าค่าตาอีก 99 คนที่เหลือก็เข้าใจเลยว่า ผมอาจจะไม่ใช่คนดีอะไรที่ไหน แต่ที่หลุดเข้ามากับเขาได้ คงเพราะอายุยังน้อย เมื่อเทียบกับลุงๆ ป้าๆ เหล่าคนดีระดับประเทศที่ดูจะรุ่นราวคราวพ่อผมทั้งนั้น บางคนก็พี่พ่อ บางคนก็น้องพ่อ ปนๆ อยู่ด้วยกัน
            ผมเปิดบทสนทนากับคนกลุ่มนี้ไม่ค่อยเก่งเท่าไร จึงยืนหลบๆ แดดอยู่ในมุมของตัวเองเสียมาก พอช่วงบ่ายผู้จัดงานพาเราไปหาที่นั่งคุย และให้เราจับกลุ่มเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงกิจกรรมที่ทำ ลุงคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเขาเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอะไรสักอย่าง ซึ่งเกษียณมาหลายปีแล้ว หลังเกษียณได้เป็นเจ้าภาพทำกฐินใหญ่หลายแห่ง ซึ่งทำกฐินแต่ละครั้งอาศัยเพื่อนพ้อง คนรู้จัก ช่วยกันหาเงิน หารถ หาคนมากมาย ที่ทำมาได้ก็เพราะมีฐาน เป็นคนกว้างขวางมาตั้งแต่สมัยอยู่ในตำแหน่ง    
ลุงคนที่สองเล่าให้ฟังว่า ลุงได้รับคัดเลือกมาเพราะปกติลุงชอบทำโรงทานเป็นกิจวัตร ผมจำรายละเอียดไม่ได้มากนัก แต่รู้ว่าลุงเป็นคนที่ใจบุญ ทำโรงทานเลี้ยงอาหารคนอื่นมาเป็นสิบปีแล้ว เวลาทำก็ไม่ได้ออกเงินเท่านั้น แต่ลงแรง พาเพื่อนฝูง ครอบครัว มาทำอาหาร ตักอาหารแจกด้วยตัวเอง
ลุงคนที่สามเป็นเกษตรกร ฐานะยากจน ไม่มีความรู้ แต่ทำงานอนุรักษ์ป่าอยู่บ้านเกิดของตัวเอง ลุงคนที่สี่ชอบเลี้ยงสัตว์ เวลาว่างจะนำสัตว์เลี้ยง คือ สุนัขและนก ออกตระเวนสร้างรอยยิ้มให้กับคนที่กำลังทุกข์ร้อน ลุงคนที่ห้าเป็นแค่คนขับรถเมล์ แต่ซื่อสัตย์ ขยันขันแข็ง เก็บเงินส่งลูกเรียนจนจบปริญญาเอก เคยเก็บของที่ผู้โดยสารลืมทิ้งไว้ส่งคืนเจ้าของ
            “อายุเท่าไรเนี่ยหนุ่ม” ลุงคนที่สองถามผม
            “ยี่สิบสองครับ” ผมตอบไป ทั้งที่จริงๆ ยังไม่ถึง แต่อยากให้ดูมีภูมิฐานบ้าง
            “ฮะ?” ลุงเบิกตาจ้องหน้าผม “โห อายุแค่นี้ทำไมเก่งจัง?”
            “แหะๆ ครับ” ผมรับทันที นึกในใจอยู่ว่า ... ลุงยังไม่รู้เลยว่าผมทำอะไร
มันไม่ใช่เรื่องเก่งหรือไม่เก่งเลยผมก็แค่เด็กทำกิจกรรมคนหนึ่งที่ทำกิจกรรมแบบเด็กๆ ส่วนลุงก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่มีฐานะ มีบริวาร มีเพื่อนฝูง ลุงก็ทำในแบบของลุง ผมก็ทำในแบบของผม มันเทียบกันไม่ได้ ใครมีอะไรก็ให้อันนั้น จะให้ผมไปทำอย่างลุงผมก็ทำไม่ได้ ทุกคนก็แค่ทำในบทบาทของตัวเอง ก็เท่านั้นเอง
           
            ขณะนั่งคุยกันในกลุ่มย่อย ผู้จัดงานเดินแวะมาทักทายกลุ่มของผมและกล่าวชมเชยว่า นี่คือวงคุยในฝัน มีองค์ประกอบที่ถูกต้องครบ คือ มีคนเฒ่าคนแก่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน และมีคนหนุ่มนั่งฟังอยู่ด้วย
            “นี่คือเหตุผลที่กูได้มาที่นี่จริงๆ สินะ ... มานั่งให้วงคุยมันสมบูรณ์” เป็นข้อคิดของผมในวันนั้น
 
 
 
ปี 2551 อายุยี่สิบสองแล้ว
 
จบปริญญาตรีแล้ว แต่ยังไม่ได้หางานทำ เพราะครอบครัวบอกให้ตั้งหน้าตั้งตาอ่านหนังสือสอบเนติบัณฑิตให้ได้ก่อน ในระหว่างหนึ่งปีที่น่าเบื่อ ผมจึงยังได้ทำงานอาสาสมัครอยู่ ผมย้อนรอยกลับไปยังถิ่นฐานที่เคยทำกิจกรรมมาแต่เดิม คือ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ศูนย์ชุมชนวัดดวงแข หลังสถานีรถไฟหัวลำโพง
แรกเดินเข้าไปตั้งใจจะถามว่ามีอะไรให้ช่วยทำบ้าง เพราะผมเป็นแค่นักศึกษาจบใหม่ ไม่มีความรู้ คิดไม่ออกว่าจะต้องทำอะไรถึงจะดีต่อเด็กๆ และสังคม พี่เจ้าหน้าที่บอกว่า ปัญหาหลักในชุมชนตอนนี้คือเด็กติดเกมส์ เด็กของที่นี่ส่วนใหญ่ก็อยู่ช่วงประถมปลาย วัยกำลังซน ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่มีประจำแค่สองคน กับอาสาสมัครผู้ปกครองอีกสองคน วิ่งไล่จับเด็กกันไม่ทัน เด็กๆ ก็เห็นหน้าจนเบื่อแล้ว ไอเดียที่จะชวนเด็กๆ ทำนู่นทำนี่ก็ใช้ไปจนหมดแล้ว พอเด็กมาที่มูลนิธิไม่มีอะไรใหม่ๆ ก็หนีไปเข้าร้านเกมส์หมด จึงอยากให้ช่วยกันคิดหากิจกรรมมาให้เด็กทำในเวลาว่าง จะได้ดึงเด็กออกจากเกมส์
จากที่จะมาขอให้พี่เค้าคิดแล้วให้เราทำ เค้ากลับมาขอให้เราช่วยคิดให้ด้วย ผมในวันนั้นนั่งงง มองหน้ากับเพื่อน ปรึกษากันอยู่พักใหญ่ แล้วก็เดินหน้าผุดโครงการจัดกิจกรรมขึ้นทุกวันเสาร์ตอนบ่าย ระดมสรรพกำลังจากเพื่อนๆ ที่ยังไม่ทำงานเหมือนกัน และจากน้องๆ ในมหาวิทยาลัย
ทุกๆ วันเสาร์จะมีกิจกรรมให้น้องเลือกมากมาย มีชวนน้องเตะบอล ทำโกลล์ฟุตบอล เล่นดนตรี อ่านนิทาน สอนภาษาไทย วิ่งไล่จับ กิจกรรมศิลปะประดิษฐ์ดูจะหลากหลายมากที่สุด มีทั้ง วาดรูประบายสี ทำสมุดทำมือ ร้อยลูกปัด ทำหน้ากากการ์ตูน ฯลฯ เรียกว่าขุดเอาไอเดียและทักษะทั้งหมดของอาสาสมัครทุกคนออกมาใช้ เพื่อให้เด็กๆ ที่มาจะมีสิทธิเลือกเองได้ว่าวันเสาร์ไหนอยากร่วมในกิจกรรมอะไร ส่วนที่ขาดไม่ได้แต่ละครั้งก็คือเล่นเกมส์แบบเด็กๆ ร้องเพลง สันทนาการ หาเกมส์ที่พากันวิ่งๆ หน่อย แล้วให้เต้นเพลงไก่ย่างประกอบเสียงกลอง แค่นี้ก็สนุกสนานได้แล้ว
เราจัดกิจกรรมลักษณะนี้อยู่ประมาณสิบกว่าครั้ง แต่ละครั้งต้องใช้อาสาสมัคร 15-20 คนถึงจะทำให้กิจกรรมสนุก คุมเด็กอยู่ มีคนคอยตามเอาใจเด็ก คอยแยกเวลาทะเลาะกัน คอยโอ๋เวลาร้องไห้ พี่คนไหนที่ไปหลายครั้งน้องจำได้ก็จะกลายเป็นขวัญใจ ยิ่งคนที่นำเล่นเกมส์อาจจะเหนื่อย เจ็บคอเพราะใช้เสียงมากเป็นพิเศษ แต่น้องๆ ก็จะรัก บางครั้งคนไปน้อย เตรียมการไม่ดี คนที่ไปก็จะเหนื่อยลิ้นห้อย แทบจะเดินลากขากลับบ้าน
วันไหนที่ไปถึงแล้วเด็กๆ มาน้อย พอตีกลองร้องรำ ส่งเสียงเอะอะสักพัก น้องๆ ที่อยู่ในชุมชนได้ยินเสียงก็จะค่อยๆ ทยอยเดินมาสมทบกันมากขึ้นๆ พี่เจ้าหน้าที่บอกว่า เวลามีคนนอกมาเด็กๆ จะคึกคักเป็นพิเศษ
“ยิ่งเป็นพี่ๆ นักศึกษา หนุ่มๆ สาวๆ ที่วัยใกล้กันหน่อย น้องก็จะสนุก เพราะเหมือนมาเป็นเพื่อนเล่นกับเค้า” ถ้อยคำผูกมัดที่ทำให้ผูกพันกันไปนาน
ผม เพื่อนๆ และ น้องๆ คิดกิจกรรมมาหลากหลาย เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เท่าที่หัวสมองแบบเด็กๆ จะมี จนเมื่อมหาวิทยาลัยเปิดภาคเรียน และเข้าใกล้ช่วงสอบ คนช่วยลดลง ความถี่ก็ค่อยๆ ลดลงบ้าง แต่ยังไม่เลิกไปเสียทีเดียว พักหลังๆ รุ่นน้องที่เรียนอยู่ยังคงระดมกำลังกันไปทำความสะอาดสถานที่ ทาสีกำแพง จัดงานวันปีใหม่ และงานวันเด็กอยู่ไม่ขาด
 
 
      
 
 
 
            ปี 2552 อายุเข้ายี่สิบสาม
 
            ผมเริ่มทำงานแล้ว ได้งานในโครงการเล็กๆ ของมูลนิธิแห่งหนึ่ง เป็นงานสื่อสารรณรงค์ประเด็นกฎหมายกับสังคมผ่านโลกอินเทอร์เน็ต เพราะเรียนจบกฎหมายมาก็ขอให้ได้ใช้หัวสมองบ้าง แต่กระนั้นกิจกรรมแบบเดิมๆ ก็ยังไม่หายไปไหน
            ศูนย์การเรียนรู้จั่นเจริญ เป็นห้องสมุด สนามเด็กเล่น และลานกีฬาขนาดเล็ก ตั้งอยู่ย่านติวานนท์ สร้างขึ้นจากผู้ใหญ่ใจดีควักทุนส่วนตัวลงขันกัน เพื่อให้เด็กๆ และคนในชุมชนได้มาใช้เป็นพื้นที่พักผ่อน ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ เรียนรู้ มีผู้ใหญ่อายุระดับเจ็ดสิบกว่าออกทุนไว้ และมีผู้ใหญ่อายุระดับหกสิบเศษ 2-3 คนคอยช่วยกันดูแล
            ผมถูกพี่จากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กเรียกให้เข้ามาที่นี่ คุณป้าผู้ดูแลบอกว่าศูนย์การเรียนรู้จั่นเจริญเปิดมาได้สักพักแต่ยังไม่มีคนรู้จัก จึงไม่ค่อยมีคนมาใช้ มีเพียงเด็กประถมกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งเข้ามาวิ่งเล่นกันตอนเย็นๆ และคุณป้าผู้ดูแลก็ให้โจทย์คล้ายๆ เดิมมาให้ผมช่วยลงสมองลงแรงอีกครั้ง
            “ทำให้ที่นี่สนุก มีชีวิตชีวา ให้เด็กๆ มาเล่น มาเรียนรู้ แบบมีประโยชน์”
            ผมขุดเพื่อนๆ น้องๆ ที่เคยร่วมงานกันในกิจกรรมเก่าๆ กลับมาอีกครั้ง จัดโครงการสอนพิเศษ ดนตรีสากลวันพฤหัสหลังเลิกเรียน ฟุตซอลวันเสาร์ วาดรูปวันอาทิตย์ และอื่นๆ เช่น ศิลปะประดิษฐ์ เทควันโด้ สอนเต้น กิจกรรมนักอ่าน ก็ตามมาเท่าที่มีคนพอจะสอนได้ ความรู้ความสามารถมีไม่มาก สอนเด็กไปก็เรียนเองไปด้วย สอนกันแบบเรียนๆ เล่นๆ เน้นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ให้เด็กมีกิจกรรมเสริมนอกเวลา ให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากสถานที่ร่วมกัน
            เวลาสอนเด็กเตะบอลเราก็เตะด้วย สอนเด็กเล่นกีต้าร์บางทีก็เปิดหนังสือดูไปพร้อมๆ กัน ทำตัวเป็นพี่บ้าง เป็นเพื่อนบ้าง นอกห้องเรียนก็พาวิ่งเล่น ประสาเด็กๆ กันบ้าง ไม่ได้เป็นครูอย่างเดียว อยู่กันแบบคุยเล่นหัวได้ แซวกันได้ เกทับ บลั๊ฟกันเป็นธรรมดา แต่ถ้าเยอะเกินไปก็ตบหัวสั่งสอนกันได้ แม้เวลาลงรถแท็กซี่แต่ละครั้ง เด็กๆ จะวิ่งกรูเข้ามาหาเรียกผมว่า “คูๆๆ” แต่ในใจมันก็คงคิดว่าพี่คนนี้มาพามันวิ่งเล่นอีกแล้ว คุณป้าคนดูแลศูนย์ฯ ก็ชอบใจบอกอีกว่า
“เด็กๆ เค้ามีความสุขค่ะ ถามหาแต่ว่าเมื่อไรครูจะมา เค้าคงดีใจที่มีคนวัยใกล้ๆ กันมาพาเล่น” พูดอย่างนี้สงสัยตอนผมไม่อยู่ป้างคงรับลูกกับเด็กๆ ไม่ทัน
 
            16 มกราคม 2553 วันครบรอบหนึ่งปีการก่อตั้งศูนย์ฯ มีกิจกรรมใหญ่ มีเวที เครื่องเสียง เกมส์ แข่งกีฬา เลี้ยงอาหาร ผมระดมเพื่อนๆ น้องๆ มาช่วยกันสักยี่สิบกว่าคน ผลของการเตรียมการไม่ดี ทำให้ตลอดงานวันนั้นผมต้องวิ่งไปวิ่งมา ยกโต๊ะ ยกเก้าอี้ ยกน้ำแข็ง ต้อนรับแขก ตัดป้ายชื่อ ปูเสื่อ เล่นดนตรี เตรียมการแสดง แจกของรางวัล เป็นโฆษกเองบ้าง ในในพื้นที่เล็กๆ ประมาณ 300 ตารางเมตร ผมวิ่งวนไปวนมาเพื่อประสานงานต่างๆ รวมกันทั้งวันน่าจะเป็นระยะทางสัก 10 กิโลได้ พอจบการแข่งขันฟุตซอล เก็บเต้นท์ เก็บโต๊ะ ทำความสะอาดเสร็จ ก็แทบจะลงไปนอนแผ่กับพื้น งานอย่างนี้ต้องใช้พลังมากจริงๆ ... และผมก็รู้สึกว่าเรี่ยวแรงมันไม่ได้ฟิตเปรี๊ยะเหมือนก่อนสักเท่าไร
 
            หลังจบงานผมได้นั่งคุยกับน้องคนหนึ่งที่มาช่วยงาน
            “ที่มาทำอย่างงี้อยู่ นี่พี่ทำงานจริงจังแล้วหรือยังคะ?”
            “ทำแล้วครับ” ผมตอบ
            “ทำอะไรเหรอคะ?” น้องยังถามต่อ
            ผมก็เล่าให้ฟังไปตามความเป็นจริง กับงานเขียนบทความลงเว็บไซต์เล็กๆ ของผม
            “เป็นงานเพื่อสังคมเหรอคะ แล้วเมื่อไรพี่จะเริ่มทำงานจริงๆ จังๆ กับเค้าบ้าง?”
            “งานเพื่อสังคมก็เป็นงานจริงจังได้ มันไม่จริงจังตรงไหน!” ผมตอบทั้งหัวเราะ แต่โกรธอยู่ในใจ
 

        

 

 

            เมษายน 2553 ยี่สิบสี่แล้ว


            ผมเดินทางไปกับรายการมดคันไฟ เพื่อถ่ายทำรายการที่จังหวัดเลย รายการมดคันไฟเป็นรายการสารคดีที่นำเสนอเรื่องของกลุ่มวัยรุ่น ที่ทำกิจกรรมอาสาสมัครเพื่อสังคม โดยถ่ายทอดให้สนุกสนานมีสาระ ด้วยความเชื่อในพลังอันมหาศาลของคนหนุ่มสาว ว่าแม้จะเป็นแค่คนตัวเล็กๆ แต่เวลาตั้งใจทำอะไรจริงแล้วเจ็บจี๊ดมาก เหมือนกับมดคันไฟ ผมเองก็เชื่อในเรื่องพลังของวัยรุ่นนั้นเช่นกัน จึงได้เข้ามาทำงานนี้

มาเที่ยวนี้จะเป็นการทำรายการตอนที่เกือบๆ ยี่สิบของผมเอง ซึ่งมาไกลทั้งทีจึงถ่ายซะสองตอน เป็นเรื่องราวดีดีของเด็กสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นเด็กมัธยมปลาย ในหมู่บ้านเดียวกัน 15-20 คน มารวมตัวกันในงานบุญเผวต เอาของเหลือใช้มาจัดเป็นเกมส์เพื่อช่วยเจ้าอาวาสหาเงินเข้าวัดสำหรับสร้างหอระฆัง กลุ่มที่สองเป็นเด็กจากหลายสถาบันการศึกษา หลายหมู่บ้านประมาณ 10 คนที่ตระเวนเก็บข้อมูลในจังหวัดเลย เอามาทำเป็นสกู๊ปออกอากาศทางวิทยุชุมชน และเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น โดยครั้งนี้ผมได้ติดตามพวกน้องๆ ลงพื้นที่ที่มีการทำเหมืองแร่ และเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
            ตลอด 5 วัน ผมนั่งมองดูน้องสองกลุ่มทำงานอย่างขยันขันแข็ง ใช้ทั้งหัวสมอง ความคิดสร้างสรรค์อันเต็มเปี่ยม ความสดใสตามประสาวัยรุ่นที่ทำให้งานออกมาดูสนุกสนานมีชีวิตชีวา ใช้พลังกายพลังใจมหาศาลที่กลั่นออกมาอย่างไม่มีวันหมด น้องกลุ่มแรกต้องเตรียมของถึงเที่ยงคืน และตื่นมาช่วยงานบุญตั้งแต่ตีสาม พอช่วงสายไปทำเกมส์หาเงิน ตกบ่ายเอาตัวเองไปเล่นเป็นสาวน้อยตกน้ำ เย็นเก็บของ เสร็จเรียบร้อยถึงได้กินข้าว กลุ่มที่สองก็แบกกล้อง แบกขาตั้ง แบกไมค์ เดินฝ่าเปลวแดด ลุยป่า 3 กิโลเมตร เข้าไปยังพื้นที่ผลกระทบ ทั้งเด็กผู้หญิง เด็กผู้ชาย อายุแค่ 15-16 ปี ถอดรองเท้าถลกขากางเกงลุยน้ำที่เต็มไปด้วยจอกแหนและวัชพืช เพื่อไปเก็บภาพน้ำเสียที่ไหลติ๋งๆ ออกมาจากท่อ ผลงานของน้องๆ เหล่านี้เป็นประโยชน์กับผู้อื่นอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่คนทำไม่เคยได้รับอะไรตอบแทน
            สำหรับผมเอง ผมจำได้ สมัยก่อน งานอย่างนี้เรียกว่า “สนุก”
            ผมจำได้ สมัยทำกิจกรรมแรกๆ ตอนที่ไอเดียพลุ่งพล่าน และไฟข้างในมันร้อนจนอยากจะระเบิดออกมา พาเอาเรี่ยวแรงวิ่งมาจากไหนก็ไม่รู้
            ผมจำได้ สมัยยังเรียนอยู่ เวลารวมกลุ่มกับเพื่อนหลายๆ คน ไม่ว่าอะไรยากแค่ไหนเราก็จะทำให้ได้
 
            “ตีนกาขึ้นแล้วนะแก!” ผู้กำกับรายการบอกผม
            “หัดทาคงทาครีมอะไรบ้าง นี่มันรายการวัยรุ่น ถ้าแก่แล้วไม่ให้ทำแล้วนะเว่ย” ผมโดนบ่นแกมหยอกเล่น
            จริงๆ ผมมีตีนกามาตั้งนานแล้ว มันไม่ใช่ตัวบ่งอายุสักเท่าไร ผมไม่คิดว่าการทาครีมหรือไม่จะเป็นสาระสำคัญเท่าไรด้วย แต่ผมนึกได้ว่ารายการตอนแรกที่ผมทำ กลุ่มคนที่ทำกิจกรรมมีทั้งอายุเท่าผมบ้าง แก่กว่าบ้าง เด็กกว่าบ้าง บางตอนที่เคยทำ คนที่ผมสัมภาษณ์ก็อายุมากกว่าผม แต่มาวันนี้กลุ่มวัยรุ่นที่ทำกิจกรรมทั้งสองกลุ่ม รวมแล้วยี่สิบกว่าคน เรียกผมว่า “พี่” ได้เต็มปากเต็มคำทุกคน ยิ่งเมื่อนึกถึงเวลาที่รายการจัดกิจกรรมและจะเปิดรับสมัครอาสาสมัครเข้ามาเป็น “มดคันไฟ” ก็จะรับเฉพาะอายุ 15-25 ปีเท่านั้น มากกว่านี้ไม่รับ ซึ่งตัวผมเองนั้นใกล้หลุดจากคอนเซ็ปท์เข้าไปทุกที

 

             มกราคม 2554 อีกนิดเดียวจะเบญจเพศ

 
            ชีวิตการทำงานเริ่มหนักหนาแบบเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น รับเงินเดือนประจำ รับงานพาร์ตไทม์บ้าง มีเรื่องให้ต้องคิดมากมาย แต่ก็ยังไม่วายถูกตามตัวจากกิจกรรมเก่าๆ คราวนี้หันมาเข้าทางศาสนามากขึ้น
โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดมหาธาตุ เปิดสอนพุทธศาสนาให้เด็กมาต่อเนื่องหลายสิบปี เป็นความคิดเห็นของพระอาจารย์ผู้อำนวยการที่มองว่าการเรียนแบบนี้กำลังเดินถอยหลัง เพราะการเรียนศาสนานั้นน่าเบื่อ ไม่เหมาะกับยุคสมัย เด็กมาแล้วไม่สนุก ก็ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ได้อะไรกลับไป สักวันหนึ่งก็จะไม่มีเด็กอยากมาเรียน
            โจทย์ของผมก็เป็นอันเดิมอีกแล้ว “ทำกิจกรรม ให้เด็กสนุกสนาน” กลุ่มเป้าหมายก็เป็นกลุ่มเดิม เด็กชั้นประถม วัยที่วุ่นวายที่สุดและพร้อมจะเรียนรู้มากที่สุด กิจกรรมโดยรวมก็ใช้ทักษะไม่ต่างจากเดิมเท่าไรนัก คือ ยิ้มเข้าไว้ให้เด็กรัก โวยวายบ้าง ยิงมุขบ้าง ไม่ทำตัวเป็นคุณครูเจ้าระเบียบ บรรดาเกมส์เก่าๆ ก็ขุดออกมาใช้ได้ แต่งานนี้อาจจะยากขึ้นบ้าง เพราะต้องสอดแทรกเรื่องหลักธรรมคำสอนที่ผมไม่ค่อยถนัดนักเข้าไปด้วย ดังนั้น นอกจากเพื่อนนักกิจกรรมเฮฮากลุ่มเดิมแล้ว ผมจึงชวนครูอาสารุ่นราวคราวน้าที่ผมเคารพท่านหนึ่งมาช่วยงานนี้ด้วย เธอมีประสบการณ์สอนหนังสือเด็กๆ ในชุมชนแออัดทุกวันอาทิตย์มาเกือบสิบปีแล้ว และที่สำคัญเธอสนใจศึกษาพุทธศาสนาอยู่เป็นทุนเดิมจนไปศึกษาเป็นนักธรรม
            “พี่ช่วยได้นะคะ ให้พี่ช่วยคิดกิจกรรมก็ได้ แต่ว่าพี่คงช่วยได้แค่เนื้อหา ยังไงทุกครั้งต้องพึ่งน้องๆ มาเป็นตัวหลักนะคะ เพราะทำกิจกรรมกับเด็กๆ แบบนี้ต้องให้คนวัยใกล้ๆ กันมาเป็นคนนำกิจกรรมมันถึงจะสนุกนะคะ” ครูอาสาท่านนี้กล่าว
            “....แหะๆ ครับ” ผมยิ้ม แบบไม่สบตา
            ไม่ผิดหรอกครับที่คิดอย่างนั้น แต่ผมถูกคาดหวังด้วยวิธีคิดแบบเดียวกันนี้มาเป็นเวลาอย่างน้อยห้าปีแล้วนะครับ อีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ผมก็จะเข้ายี่สิบห้าแล้ว เด็กๆ ที่ไปสอนอายุแค่ 10 ขวบเท่านั้น มันจะเรียกว่าวัยใกล้กันไปอีกได้ขนาดไหนกันเชียว คนอายุยี่สิบห้าหลายคน “ทำงานจริงๆ จังๆ” แต่งงานมีลูกเป็นของตัวเองกันไปแล้ว
            ความสด ความใส ไอเดียสร้างสรรค์ ความตลกกี๊บก๊าบของผมมันก็ต้องหดลงเรื่อยๆ ไปตามวัน เดือน ปี ของมันบ้าง บางทีผมก็อยากทำงานที่ใช้สมองบ้าง ใช้ความรู้บ้าง ใช้ประสบการณ์บ้างอะไรบ้าง จะให้ทำแต่กิจกรรมเฮฮาตลอดไปก็คงไม่ไหว หรือทำไปมันก็ไม่มีพลังเท่ากับแต่ก่อน

           
                                

              หากความเชื่อในพลังสร้างสรรค์ของวัย รุ่นแบบ “มดคันไฟ” นั้นเป็นความจริง มันไม่มีทางมีผมคนเดียวหรอกที่จะต้องแบกรับกิจกรรมแบบนี้ตลอดไป พื้นที่แบบนี้ควรจะต้องให้เป็นของวัยรุ่น ที่ “รุ่น” จริงๆ กว่าผมบ้าง วัยที่พร้อมจะปลดปล่อยเอาพลังอันนั้นออกมาได้อย่างเต็มที่ยังสถานที่และเวลา ที่มีคนต้องการ ... ซึ่งยังมีอีกมากมาย


........................

 

วันไหนไม่รู้ ปีไหนไม่รู้ อายุเท่าไรจำไม่ได้
 
            น้องคนหนึ่งที่คอยมาเป็นอาสาสมัครช่วยงานกิจกรรมกับผมมาตลอด ถามผมขึ้นแบบที่เธอสงสัยจริงๆ
            “ทำไมพี่ไม่ไปเรียนต่อให้สูงๆ ทำงานเก็บเงินให้ได้เยอะๆ หาความมั่นคงให้ได้ก่อน แล้วค่อยมาทำงานเพื่อสังคมล่ะคะแบบนั้นมันจะไม่ดีกว่าเหรอคะ?”
            เป็นคำถามที่ผมไม่เคยคาดหวังจากเพื่อนร่วมทาง
“ถ้าคิดอย่างนั้น แล้วไอ้งานที่ผ่านมาทั้งหมดนี่ใครจะทำล่ะ?” ผมตอบทั้งหัวเราะ แต่เศร้าอยู่ในใจ
 
            การทำเพื่อคนอื่น หรือเพื่อสังคม น่าจะมีไม่จำกัดรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในฐานะไหน เหมือนกับลุงคนดีหลายคนที่ผมเคยได้พบ คุณป้าใจดีที่สร้างศูนย์การเรียนรู้จั่นเจริญ อาสาสมัครสูงวัยที่โรงพยาบาลเด็ก พี่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล พี่เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก อาสาสมัครผู้ปกครอง ครูอาสาที่เคารพของผม พระอาจารย์ที่ทำงานอย่างแข็งขัน เพื่อนๆ ที่ร่วมทางกันมาตลอด และน้องๆ มดคันไฟอีกจำนวนมาก ทุกคนต่างตั้งหน้าตั้งตาเล่นบทบาทของตัวเอง ที่แม้จะแตกต่างกัน แต่ก็ทำเท่าที่สามารถจะทำได้
ทุกหนทุกแห่งยังต้องการแรงคน แรงสมองอีกมากในสารพัดรูปแบบ เพื่อพากันเดินไปข้างหน้าให้ได้ งานบางอย่างต้องการทุน ต้องการประสบการณ์ คงต้องพึ่งผู้ใหญ่ ขณะที่งานบางอย่างต้องการความสดใสสนุกสนาน คนรุ่นใหม่ก็ต้องรับหน้าที่นี้ ในชีวิตหนึ่งๆ จึงมีอะไรให้ต้องทำตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ฐานะอะไร หรืออายุเท่าไรก็ตาม
ในวันนี้และวันข้างหน้าผมเองจะออกเดินไปตามทางของคนในวัยตัวเอง ผมอาจจะทำกิจกรรมแบบเด็กอยู่ได้บ้าง เท่าที่ยังนึกสนุก ขณะเดียวกันก็จะทำในบทบาทของคนที่โตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ
            ส่วนงานสร้างความสนุกสนานให้เด็กๆ กับบรรดางานที่เคยทำมาทั้งหลายแล้วนั้น ผมมีความหวังเสมอว่าคนรุ่นใหม่ที่มีพลังสร้างสรรค์มากกว่าผม พร้อมอยู่แล้วที่จะมารับหน้าที่เหล่านี้แทน

 



 



 
 
 
 
 
 
 
 

*หมายเหตุ*
วันเวลา ตีนกา และความหวัง พิมพ์เป็นเล่มเล็กๆ สำหรับแจกแล้ว ตั้งใจจะให้กับรุ่นน้องบางคนที่รู้จักกัน
เขียนขึ้นในช่วงวันหยุดปีใหม่ ขึ้นปี 2554 เสมือนช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของชีวิตที่ผมตัดสินใจจะเบางานกิจกรรมอาสาสมัครเยาวชน และให้เวลากับงานในสายกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น
 
 

 

บล็อกของ นายกรุ้มกริ่ม

นายกรุ้มกริ่ม
มาเยือนจังหวัดอุดรธานีครั้งแรกในชีวิต เป็นอีกครั้งที่หลับบนรถทัวร์มาตลอดคืนอันแสนจะธรรมดา ยิ่งเดินทางแบบนี้บ่อยขึ้น ก็ยิ่งเคยชิน ถึงแอร์จะหนาว อาหารจะห่วย ก็ไม่สะทกสะท้านใดๆ ทั้งสิ้น ลงรถทัวร์ได้ไม่นาน เพื่อที่เป็นอาจารย์อยู่ที่นี่ก็มารับที่บขส. ยังไม่ทันรู้จักตัวเมืองให้ถ้วนทั่ว ประสบการณ์ใหม่ๆ ก็มายืนรออยู่ข้างหน้าอีกแล้ว
นายกรุ้มกริ่ม
           
นายกรุ้มกริ่ม
                ใต้ฟ้าผืนนี้ ... คงมี ผู้คน หลากหลาย เรื่องราว แฝงเร้น มากมาย เกิดแก่ เจ็บตาย ไขว่คว้า หากัน
นายกรุ้มกริ่ม
  อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นเมืองท่ามกลางหุบเขา มีเสน่ห์เล็กๆ ในแบบของตัวเอง แม่สอดไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แต่มีคนแวะเวียนมาเยอะเพราะแม่สอดเป็นประตูผ่านแดนไปยังเมืองเมียววดีของพม่า
นายกรุ้มกริ่ม
เมื่อ "ผม" อ้าปากเรียกหา "สิทธิเสรีภาพ"
นายกรุ้มกริ่ม
      ยามเช้าใกล้รุ่งของตัวอำเภอแม่สะเรียงมีเพียงความเงียบสงัด ไร้วี่แววของรถราและผู้คน ไฟถนนสีส้มส่องผ่านม่านหมอกที่ลงหนาจัดคอยช่วยให้จิตใจของผู้มาเยือนอบอุ่นขึ้นได้บ้างบนทางสายเล็กๆ ที่ไม่รู้ว่าจะนำไปสู่สถานที่แบบใด   ผมลงจากรถทัวร์สาย กรุงเทพ - แม่ฮ่องสอนตอนตีห้าเศษ ด้วยอาการงัวเงีย งุนงง กับเป้ 1 ใบ เต้นท์ 1 หลัง เพื่อน 1 คน หลังนั่งสัปหงกตั้งแต่ออกจากหมอชิตมาตอนห้าโมงเย็น จุดหมายปลายทางที่จะไปให้ถึงคือ "งานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่8" บนดอยไหนสักดอยในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ไม่รู้ว่าไกลแค่ไหน ไม่รู้ว่ามันคืองานอะไร และไม่รู้ว่าตัวเองจะไปทำอะไร  …
นายกรุ้มกริ่ม
               สิงหาคม 2550 นักศึกษามหาวิทยาลัย 12 ชีวิต ชาย6 หญิง6 กลั้นน้ำตายิ้มให้กับโรงเรียนประถมเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง ขณะที่กระโดดขึ้นท้ายรถกระบะแล่นจากไป                    ในระยะเวลา 9 วัน พวกเขาได้อุทิศทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเนรมิตห้องเก็บของเก่าๆ ให้เป็นห้องสมุดสำหรับเด็กที่มีตัวการ์ตูนสดใส และหนังสือใหม่แกะล่องจำนวนมาก ความประทับใจ รอยยิ้ม คราบน้ำตา วันที่เหน็ดเหนื่อย และเวลาแห่งความสนุกสนาน…
นายกรุ้มกริ่ม
              “The productive forces of material life conditions the social, political and intellectual life process in general. It is not the consciousness of men that determines their being, but, on the contrary, their social being that determines their consciousness” Karl Marx Preface to A Contribution to the Critique of Political Economy     ถ้าหากปรัชญาของคาร์ล มาร์กซ์ ยังพอมีส่วนถูกอยู่บ้าง คนที่มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมอันประกอบด้วยวัตถุทางรูปธรรมแบบหนึ่งๆ จะไม่สามารถแยกแยะ(Determine) ความถูกผิดดีงามทางศีลธรรม (…