Skip to main content

 

"ประกาศรัฐสภา เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

ข้อ ๔ ให้ผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยแยกบัญชีรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายออกเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านตามแบบแสดงบัญชีรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย (แบบ ข.ก. ๒) ท้ายประกาศนี้”

แม้จะติดตามเรื่องการเข้าชื่อเสนอกฎหมายมาหลายปี แต่ผมเพิ่งได้เปิดอ่านประกาศข้อนี้กับตาตัวเองเมื่อไม่นานนี้เอง หลังจากต้องรับภาระรวบรวมและจัดเก็บเอกสารรายชื่อนับหมื่นๆ ที่ส่งเข้ามาเพื่อเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์

ส่วนตัวผมเองไม่มีจุดยืนชัดเจนกับการแก้ไขกฎหมายนี้ ผมไม่แน่ใจว่าการแก้ไขตามข้อเสนอชุดนี้หรือการยกเลิกทั้งมาตรา หรือการคงไว้เหมือนเดิม จะเป็นทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นได้มากกว่ากัน ที่สำคัญผมยังอยู่ฝ่ายที่ไม่เชื่อด้วยว่าวิธีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับบนได้ อาจจะเพราะ “นักการเมืองไม่เอา” “มีมือที่มองไม่เห็น” หรือ “เสียงคัดค้านดังกว่า” หรืออะไรก็แล้วแต่

ผมแค่รับรู้ปัญหาของคดีความมากมายมาเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในสังคม จึงแค่คิดว่าควรจะต้องมีใครทำอะไรสักอย่างกับเรื่องนี้ และต้องทำใหญ่ด้วย เริ่มแรกผมเองก็ไม่อยากรับงานนี้เพราะเห็นว่ามันใหญ่เกินกว่าตัวผม แต่เมื่อสุดท้ายไม่มีใครยอมรับ ผมในฐานะที่ไม่มีดีกรีปริญญาเมืองนอก หรือตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยติดตัว ก็คงพอจะทำได้แต่งานเช่นนี้จึงต้องก้มหน้ารับมาก่อน พร้อมแบกมันไว้ร่วมกับพี่ๆ เพื่อนๆ อีกหลายคน 

การรับเอกสารมาและตรวจนับนั้นไม่หนักหนาเกินไป บางครั้งก็รู้สึกดีนิดๆ ด้วยซ้ำที่ได้เห็นความตั้งใจหลากหลายรูปแบบของคนที่ส่งเอกสารมาร่วมลงชื่อ มีคนเขียนหนังสือไม่ได้เลยพิมพ์ลายนิ้วมือมา มีคนไม่มีแม็กเย็บกระดาษจึงใช้เข็มกับด้ายเย็บ มีบางบ้านส่งมาเป็นครอบครัวพ่อ-แม่-ลูก มีคนแนบทะเบียนสมรส แนบรูปถ่าย แนบสมุดประจำตัวคนพิการ บัญชีธนาคาร ฯลฯ มีคนแนบจดหมายน้อยๆ ให้กำลังใจ รวมถึงมีคนส่งเงินสดห่อกระดาษฟรอยมากับซองจดหมาย เหล่านี้ล้วนสร้างรอยยิ้มให้กับทีมงานได้ตลอดสามสี่เดือนของการทำงานรณรงค์

แต่รอยยิ้มเล็กๆ ของหน่วยรับรายชื่อปลายทางถูกขโมยไปทันที เมื่อได้เห็นประกาศข้อนั้น ประกาศรัฐสภาที่กำหนดหน้าที่ให้กับประชาชน นอกจากจะต้องรวบรวมเอกสารให้ครบแล้ว ยังต้องจัดทำบัญชีรายชื่อ เรียงแยกตามจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน โดยมีแบบฟอร์ม “ข.ก.๒” ตั้งขวางทางสิทธิการเสนอกฎหมายของประชาชนอยู่อย่างแข็งแกร่ง นั่นหมายความว่ารายชื่อและที่อยู่ทั้งหมดต้องถูก “คีย์” ลงในระบบอิเล็กทรอนิคส์เพื่อนำมาจัดเรียงตามแบบฟอร์มที่ถูกกำหนดไว้แล้ว และเป็นงานที่หนักมากทีเดียว

เราเริ่มการ “คีย์” ยกแรกด้วยอาสาสมัคร 5 คนรวมผม ทั้งหมด 3,000 รายชื่อภายใน 5 วัน .... เราทำสำเร็จ เมื่อจบยกแรกเราเชื่อว่างานนี้คงไม่ยากเกินไปนัก หลังจากพักไปร่วมเดือนเราเริ่มยกที่สองด้วยความหวังว่าจะมีแค่สองยก ยกนี้ มีอาสาสมัคร 7-8 คน 8,000 กว่ารายชื่อ ตั้งเป้าภายในสิบกว่าวัน .... 

แต่ก่อนยกที่สองจะสำเร็จ โทรศัพท์จากเครือข่ายสายอีสานดังขึ้น พร้อมกับลังขนาดใหญ่เกือบยี่สิบลังที่อัดแน่นด้วยเอกสารรายชื่อมาวางกองอยู่หน้าออฟฟิศ ผมมองดูกองลังเหล่านั้นแล้วเหลือบดูปฏิทิน เหลือเวลายี่สิบวันพอดีก่อนถึงวันที่ 29 พฤษภาคม ซึ่งเป็นกำหนดที่จะนำรายชื่อไปยื่นต่อสภา ผมเอ่ยขึ้นเบาๆ กับอ.พวงทอง ผู้ประสานงานกลางครก.112 ที่ขับรถขนลังเหล่านั้นมา

“อาจารย์ครับ บอกตรงๆ นะครับ ผมไม่แน่ใจแล้วว่าจะทันหรือเปล่า” ผมพูด

“เอานักศึกษาช่วยไหมคะ จะต้องจ้างคนหรือว่าจะต้องใช้เงินเพิ่มอีกเท่าไร?” อาจารย์พวงทองตอบ

จากการตีความเอาเอง ประโยคนี้แปลว่า “ทำให้เต็มที่ซะ ทำยังไงก็ได้ให้เสร็จให้ทัน จะเอาอะไรก็บอกมา”

“เอาครับ เอาทุกอย่าง” ผมตอบอาจารย์

เย็นนั้นผมโพสเฟซบุ๊คประกาศระดมกำลังคนจากทุกแหล่งที่มีใจ ผมบอกต่อ และบอกให้ทุกคนช่วยกันบอกต่อไปยังคนที่พอจะมีเวลาว่าง ซึ่งทุกคนก็ช่วยกันบอกต่อ ปัญหาก็คือการทำงานนี้เป็นประเด็นที่อ่อนไหวและมีความขัดแย้งสูง จึงไม่สามารถประกาศรับอาสาสมัครทั่วไปจากสาธารณะได้ แม้จะรู้ว่ามีคนพร้อมช่วยอยู่เต็มไปหมดก็ตาม เพราะคนที่จะเข้ามารู้ระบบการจัดเก็บเอกสารภายในก็ควรต้องไว้ใจกันได้ระดับหนึ่ง 

ยกที่สามเริ่มขึ้นด้วยการเปิดลังเอกสารทั้งหมดออกมา พลิกทีละหน้าเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง แยกจังหวัด และนับจำนวน เพื่อรอการคีย์ข้อมูลลงบัญชีรายชื่อตามแบบฟอร์ม “ข.ก.๒” เฉพาะกระบวนการนี้ใช้เวลาไปสามวันเต็ม ใช้แรงอาสาสมัครหลายสิบคน บางคนมาบ่ายกลับเย็น บางคนทำทั้งวัน บางคนทำกะดึกหลังเลิกงานถึงตีหนึ่ง แต่คนทำงานส่วนกลางต้องทำตลอดทุกกะ 

ทำงานแบบฝืนสังขารนิดๆ กันสามวัน เรานับรายชื่อที่สมบูรณ์ได้ 19,311 รายชื่อซึ่งต้องคีย์ให้เสร็จภายในสิบกว่าวันที่เหลือ จากสถิติที่สังเกตได้คนธรรมดาหนึ่งคนทำแบบไม่ฝืนสังขารจะคีย์ได้สองร้อยกว่าชื่อต่อวัน ถ้าฝืนก็ได้สามร้อย คนที่ไม่ค่อยคล่องอาจจะได้น้อยกว่านั้น คนที่ฝีมือไม่ธรรมดาจริงๆ ก็อาจได้มากกว่า

อาสาสมัครจากยกที่หนึ่งและยกที่สองยังคงขะมักเขม้นเมื่อระฆังของยกที่สามดังขึ้น แต่งานนั่ง “คีย์” รายชื่อหน้าคอมพิวเตอร์นั้นน่าเบื่อ ปวดหลัง ปวดตา ปวดนิ้ว และปวดหัว ไม่มีใครสามารถทำได้ต่อเนื่องตลอดทั้งวันและทุกวัน จึงต้องการแรงงานจำนวนมากมาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน แรงงานที่พร้อมจะทำงานที่ทำแล้วไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ไม่ได้หน้าได้ตา ไม่ได้ฝึกฝนทักษะอะไรทั้งสิ้น ได้เพียงแค่ทำให้มันเสร็จเท่านั้น

งานจัดระบบอาสาสมัครนั้นผมพอถนัดอยู่บ้าง เพราะก่อนจะมายุ่งกับงานประเด็นเสรีภาพและการเมือง ผมเคยทำงานประสานงานอาสาสมัครมาก่อน แต่เป็นอาสาสมัครประเภทที่เชยกว่านี้ เช่น จัดกิจกรรมกับเด็กด้อยโอกาส ทาสีโรงเรียน อาสาน้ำท่วม เป็นต้น ผมรู้ดีว่าอาสาสมัครนั้นมี “ใจ” มาอย่างเดียวอย่างอื่นไม่มีเลย ความต่อเนื่อง ความถูกต้องแม่นยำ ความเชี่ยวชาญ นั้นอย่าได้เรียกร้อง แต่ต้องสนุกสนานกับงานและการพบปะผู้คนใหม่ๆ ให้ได้

เพียงแค่การบอกกันปากต่อปาก และเฟซบุ๊คส่วนตัวของผม ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มแกะกล่องออกมานับ เริ่มคีย์ จนมาถึงวันที่ผมนั่งเขียนบันทึกฉบับนี้ ไม่มีวันไหนเลยที่ไม่มีอาสาสมัครโผล่มาที่ออฟฟิศ อาสาสมัครส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา หรือนักศึกษาที่เพิ่งจบชวนเพื่อนต่อๆ กัน บางคนก็ทำงานแล้วแต่สนใจประเด็น112 บางคนทำงานในประเด็นนี้โดยตรงจึงเข้าใจความสำคัญของมัน ความยากเล็กน้อย คือ ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าวันไหนจะมีใครมาช่วยบ้างหรือจะไม่มีใครมา เนื่องจากประกาศไปว่าจะทำทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง วันอาทิตย์ตั้งใจจะนอนอยู่บ้านก็มีคนมา ตกค่ำๆ เตรียมเก็บของแล้วก็มีคนเปิดประตูเข้ามาช่วยอีก 

ผู้คนมากหน้าหลายตาที่แวะเวียนกันเข้ามาผมพยายามจำชื่อให้ได้ทุกคน หรืออย่างน้อยก็จำหน้าให้ได้ ลองนั่งนับๆ ดูไม่รวมคนที่ทำงานออฟฟิศแถวนี้อยู่แล้ว นับคนที่เดินเข้ามาช่วยงานตั้งแต่ยกที่หนึ่งจนถึงวันนี้ได้ 56 คน ทำให้ออฟฟิศนี้ไม่เคยเหงา ไม่เคยเงียบ ในอีกแง่หนึ่งก็คือไม่เคยสงบเลยจริงๆ แต่ก็อบอุ่นดีเพราะสัมผัสได้ว่าทุกคนที่มาช่วยกันนั้น เป็นคนที่เข้าใจปัญหาและเลือกก้าวออกมาลงมือทำอะไรสักอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเดินไปข้างหน้าดีกว่านั่งตัดพ้อบ่นด่ากันผ่านโซเชี่ยวเน็ตเวิร์ก ผมเรียกบรรยากาศแบบนี้ว่า “อุ่นหนาฝาคั่ง” 

บางคนมาวันเดียวแล้วไม่ได้มาอีกเลย บางคนมาทำไม่กี่ชั่วโมงก็รีบกลับ บางคนมาแล้วกลับมาอีกหลายครั้งจนเป็นอาสาสมัครประจำที่สามารถฝากฝังงานได้ บางคนนั่งคีย์จนกลายเป็นมืออาชีพ บางคนก็นอนที่ออฟฟิศตื่นมาก็ทำเลยทำเสร็จก็นอน บางคนมาแล้วพูดมากกว่าทำ (แต่ก็ยังดีที่ทำบ้าง) แต่อาสาสมัครส่วนใหญ่มาแล้วนั่งทำมากกว่าพูด ก้มหน้าก้มตาพิมพ์ไปเงียบๆ ชวนคุยอะไรก็ไม่ค่อยคุย

 

ผมคุยกับน้องสองคนที่เพิ่งสอบติดเข้ามหาวิทยาลัยปีหนึ่งได้หมาดๆ 

“รู้หรือเปล่าเนี่ย ว่าที่มาช่วยนี่เป็นกฎหมายเรื่องอะไร” เป็นคำถามที่ผมต้องถามทุกคนที่มาช่วยงาน เพื่อความมั่นใจ

“รู้สิคะ ว่าเป็นเรื่อง 112” น้องตอบ

“แล้วไม่กลัวเหรอ”

“ก็ ... ไม่นะ ทำไมต้องกลัวล่ะ” น้องตอบ ขณะที่มือยังพิมพ์รายชื่อ ตาจ้องหน้าคอม ไม่มองหน้าผม

 

“พี่... วันนี้ผมมาวันสุดท้ายแล้วนะ เพราะอาทิตย์หน้าผมเปิดเทอม ผมไม่ว่างแล้ว” น้องอาสาสมัครคนหนึ่งที่มาช่วยได้ 4 วันแล้วบอกกับผม

“อ้อ โอเค ขอบคุณมากนะที่มา พี่ก็คงทำไปเรื่อยๆ ยังงี้แหละ” ผมตอบ

“แล้ว ... พี่คิดว่าพี่จะเสร็จทันไหม” น้องถามต่อ

“ก็ยังไม่แน่ใจนะ ถ้าวันสุดท้ายพี่ไปเปิดตู้ปณ.112 แล้วจดหมายเข้ามาอีกเยอะ ก็อาจจะเหนื่อยหน่อย แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะยังมีคนบอกจะมาช่วยอยู่อีก อย่างแย่วันที่ 28 พี่ก็คงไม่ได้นอนกัน เพราะจะไปยื่นวันที่ 29” ผมอธิบายแผนการที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า

“โอเคพี่ งั้น พุธ พฤหัส ศุกร์ ผมมาอีกก็แล้วกัน” น้องตอบทันที 

“อ้าว ... เหรอ??” แม้จะเข้าใจยากหน่อย แต่น้องก็มาอีกในวันพุธจริง และก็พาเพื่อนมาช่วยเพิ่มอีกด้วย

 

“พี่ว่าพอยื่นเข้าไปแล้วมันจะผ่านได้จริงๆ เหรอ” น้องคนหนึ่งถามขึ้น

“ไม่ผ่านหรอก แต่ก็ไม่รู้ว่ะ” ผมอาจจะตอบตรงเกินไป เพราะผมกับน้องคนนี้รู้จักกันมาก่อน

“ผมก็ว่างั้นเหมือนกันนะพี่” น้องก็แสดงความเห็นเช่นกัน แต่มือยังคงพิมพ์ต่อไป

จากบทสนทนานี้ จึงนำไปสู่คำถามซ้ำๆ ที่ผมจะลองโยนใส่อาสาสมัครคนอื่นๆ อีก 

“คิดว่าที่ทำอยู่นี่จะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ได้จริงหรือเปล่า?” ผมถามอาสาสมัครหลายๆ คน

“ไม่ครับ” น้องกลุ่มหนึ่งที่มาช่วยประจำตอบชัดเจน

“คิดว่าเข้าไปแล้วก็คงจะถูกดอง” พี่ที่มาต่อเนื่องตั้งแต่ยกที่สองตอบ

“ผมไม่รู้อ่ะครับ พวกนั้นเค้าบอกแล้วนิ ว่าเค้าจะไม่แก้” น้องที่มานั่งทำได้แปบเดียวตอบ

“ก็ ... ได้ทำก็ดีแล้วมั้ง” น้องนักศึกษาฝึกงาน ตอบแบบงงๆ

“มันอาจจะถูกเปลี่ยนเป็นร่างอีกอย่างเลยก็ได้ แต่ก็ถ้าไม่ทำแล้วจะได้พูดถึงเรื่องนี้เหรอ” พี่อาสาสมัครที่นอนออฟฟิศเฝ้ากองรายชื่อตอบ

“นี่เป็นการเสนอเพื่อให้ไม่ผ่านอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ?” น้องในออฟฟิศผมแสดงความเห็นบ้าง

“หนูไม่รู้ หนูแค่เห็นพี่ต้องการคนช่วย หนูก็มาช่วยพี่” อันนี้มาจากปากน้องที่ผมรู้จักและลากมาช่วย

คำตอบหลากหลายหลุดออกมาใน "โรงงานนรก" เพื่อ "เสรีภาพ" ท่ามกลางกองกระดาษมหึมาที่เรียงรายรอบโต๊ะในห้องประชุม 

 

อาสาสมัครทำกิจกรรมเด็ก กับอาสาสมัครคีย์รายชื่อเสนอกฎหมายที่มีผลทางการเมือง มีหลายอย่างที่คล้ายกัน คือ ความสด ความใส ใจที่ทุ่มเทอาสา ความกระหายที่จะเรียนรู้ ความไม่คงเส้นคงวา และความมุ่งมั่นแบบไม่แคร์หน้าอินหน้าพรม แต่ก็มีบางอย่างที่แตกต่างกันอยู่บ้าง คือ อาสาสมัครทำกิจกรรมเด็กทำงานโดยไม่มีความขัดแย้ง ไม่ต้องตอบคำถามสังคม คนทำงานอาสาสมัครกับเด็กมักจะกลับบ้านด้วยความอิ่มเอมใจ เพราะรู้ว่าวันหนึ่งๆ ได้ทำสิ่งดีดีให้กับสังคมและผลดีนั้นเกิดขึ้นแล้วเป็นรอยยิ้มเสียงหัวเราะของเด็กๆ ในวันนั้นเอง พวกเขาจึงยังมีแรงจูงใจให้ตื่นขึ้นมาทำงานอาสาต่อไปได้ทุกวัน

แต่อาสาสมัครคีย์รายชื่อ ไม่เคยเห็นรอยยิ้ม หรือดอกผลอะไรที่งอกงามขึ้นจากการทำงานของตัวเองเลย พวกเขามีเพียง “ความเชื่อ” เท่านั้น ความเชื่อบนความขัดแย้งที่คนพร้อมจะฆ่าฟันกัน ความเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังเลือกนั้นถูกต้องกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ความเชื่อขณะที่ตาจ้องตารางเอ็กซ์เซลและหวังว่ากระดาษกองสูงจะค่อยๆ ลดระดับลง ซึ่งต้องเป็นความเชื่อที่แข็งแกร่งมากทีเดียว ขณะที่รู้ทั้งรู้อยู่แล้วว่ารายชื่อที่ส่งไปทั้งหมดอาจถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลไร้สาระจากผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าประชาชน แต่พวกเขาก็ยังคงก้มหน้าก้มตาไม่ลุกไปไหน และยังย้อนกลับมาในวันรุ่งขึ้นได้อีกและวันถัดไปได้อีก

 

จะมีสักกี่วัน และจะมีสักกี่คน ที่ก้มหน้าก้มตาลงมือทำอะไร ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าปลายทางอาจจะไม่ได้สำเร็จออกดอกออกผล

ก็คงมีอย่างน้อยยี่สิบวัน และ 56 คน ที่มีความเชื่อมากพอจะลงมือนั่ง “คีย์” เกือบ 20,000 รายชื่อนี้เอง 

ผมขอคารวะ แด่อาสาสมัคร “นักคีย์” ทุกคน

 

ไม่ว่าหลังวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 ผู้แทนในรัฐสภากับฝ่ายรอยัลลิสต์จะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับการเสนอแก้ไขมาตรา 112 โดยประชาชนกว่า 30,000 คน ตราบใดที่ “มนุษย์” ยังคงไว้ซึ่งความกล้าหาญมากพอที่จะลงมือทำงานไปตามสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าดีกว่า แม้งานนั้นจะน่าเบื่อหรือดูไร้ค่าสักเพียงใดก็ตาม ผมก็ขอวาดหวังว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่แม้จะใหญ่กว่ามาตรา 112 สักเพียงใด ก็ย่อมจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ... ในสักวัน

 

 

 

  

 

บล็อกของ นายกรุ้มกริ่ม

นายกรุ้มกริ่ม
            ผมเป็นอาสาสมัครมือใหม่ ที่บางอารมณ์ก็อยากทำประโยชน์เพื่อสังคมกับเขาบ้างเหมือนกัน                 ผมเริ่มต้นการทำความดีที่ชุมชนศิริอำมาตย์ เป็นชุมชนแออัดลึกลับ แฝงเร้นอยู่ข้างสนามหลวงใจกลางกรุงเทพมหานคร                 ที่นี่จะมีอาสาสมัครมากหน้าหลายตาวนเวียนกันมาไม่ซ้ำคน แบ่งปันเวลาว่างในวันหยุดสอนหนังสือให้แก่เด็กๆ ในชุมชน          …
นายกรุ้มกริ่ม
บล็อกนี้ถูกตั้งขึ้นในขณะที่เจ้าของยังไม่ได้ตั้งตัวและก็ยังไม่มีความพร้อมเท่าไร จากเดิมที่เป็นคนอ่อนหัดทางเทคโนโลยี และก็หวาดหวั่นความก้าวหน้าทุกรูปแบบที่สิ่งเข้ามาหา แต่การเลือกเป็นอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มาทำงานกับองค์กร ilaw นั้นกำลังจะทำให้ทัศนคติ และวิถีการวางตัวต่อโลกไอทีนั้นเปลี่ยนแปลงไป  ขณะข้อความนี้ถูกเขียนขึ้น ผู้เขียนกำลังอยู่ในงานอบรม "นักข่าวคุ้มครองสิทธิ" ของสบท. ซึ่งมีการสอนทำบล็อกของตัวเอง รวมถึง ทวิตเตอร์ด้วย ดังนี้ ข้อความหน้านี้ทั้งหมด จึงเป็นการทดลองครั้งแรกของผู้เขียนเอง