Skip to main content

            ผมเป็นอาสาสมัครมือใหม่ ที่บางอารมณ์ก็อยากทำประโยชน์เพื่อสังคมกับเขาบ้างเหมือนกัน

                ผมเริ่มต้นการทำความดีที่ชุมชนศิริอำมาตย์ เป็นชุมชนแออัดลึกลับ แฝงเร้นอยู่ข้างสนามหลวงใจกลางกรุงเทพมหานคร
                ที่นี่จะมีอาสาสมัครมากหน้าหลายตาวนเวียนกันมาไม่ซ้ำคน แบ่งปันเวลาว่างในวันหยุดสอนหนังสือให้แก่เด็กๆ ในชุมชน
                เราใช้พื้นที่ข้างถนนเล็กๆ กับโต๊ะขายก๋วยเตี๋ยว 3-4 ตัว ตั้งเป็นโรงเรียนขึ้นในทุกเช้าของวันอาทิตย์ และผมก็แวะเวียนมาเป็นส่วนหนึ่งบ้างตามโอกาสที่มี
                แต่วันนี้ไม่ใช่วันอาทิตย์ที่ดีนักสำหรับผม นาฬิกาปลุกทำงานเมื่อเวลาแปดโมงตรง ทั้งที่เมื่อคืนกว่าผมจะนอนก็ตีสามแล้ว ผมชั่งใจอยู่ชั่วอึดใจหนึ่ง “วันนี้คงไม่เหมาะกับการทำความดีกระมัง” ผมคิด...
                เกือบสิบโมงแล้วผมรู้สึกตัวขึ้นอีกครั้ง ล้างหน้าแปรงฟันเสร็จแล้วก็ไม่มีอะไรทำที่ดีไปกว่าการนอนดูทีวีให้หมดวันหนึ่งๆไป “หรือจะไปดีวะ?” ผมคิด แล้วก็กระวีกระวาดแต่งตัวออกจากบ้านไปทั้งที่ยังไม่ได้กินอะไร
 
                ณ สถานที่นัดหมาย สหายจำนวนหนึ่งมาถึงก่อนผมนานแล้ว พร้อมกับคำพูดสนุกสนานเชิงตำหนิ ถึงความตรงต่อเวลาของผม “มาก็โดนด่า มาทำไมวะกู?” ผมคิด
                การมาสายทำให้ผมไม่มีอำนาจในการเจรจาต่อรอง ผมเริ่มทำตัวเป็นประโยชน์ทันทีโดยการหยิบแบบฝึกหัดไปแจกน้องๆและเดินทักทายผู้คน
                มีน้องคนหนึ่ง ชื่อว่า หนึ่ง มีน้องชื่อสองและสาม เป็นเด็กที่เพิ่งมาเรียนที่โรงเรียนข้างถนนแห่งนี้เป็นครั้งที่สอง ซึ่งครั้งแรกผมได้เป็นคนสอนน้องเขียน ก.ไก่ถึง ฮ.นกฮูกด้วยตัวเอง น้องหนึ่งเข้ามาทักทายผมด้วยการจับมือและนั่งตักทันที “ได้เหยื่อแล้วเว่ย” ผมคิด “สอนน้องหนึ่งก็ได้จะได้ไม่ดูอู้จนเกินไป”
                เดาเอาว่าน้องคงจำผมได้อยู่ และวันนี้ครูอาสาก็มากันน้อย คงดูแลไม่ทั่วถึง น้องไม่รู้จะหาใครก็เลยรีบรี่มาหาผมก่อน
 
                แสงแดดช่วงสายไม่ได้เกรงใจคนที่แค่อยากทำอะไรดีดีบ้างเลยแม้แต่น้อย วันนี้ร่มผ้าใบคันใหญ่ที่เคยคุ้มแดดให้ก็กลับกางไม่ได้เพราะลมแรงเกินไปอีก “ไอ้ลมบ้า มากันไม่หยุดเล้ย” ผมคิด
                ผมร้อนมาก แต่น้องหนึ่งนั้นไม่ ยังคงตั้งใจทำแบบฝึกหัดโยงเส้นจับคู่ต่อไป แผ่นแล้วแผ่นเล่า “ไม่ร้อนบ้างหรือไงวะ?” ผมคิด และผมก็ได้คำตอบเมื่อมีน้องอีกคนมาชวนน้องหนึ่งไปเซเว่น แต่น้องหนึ่งบอกว่า “ไม่เอา เรียนดีกว่า สนุก” “เหรอวะ?” ผมคิด
                ไม่เพียงอุปสรรคจากแสงแดดเท่านั้น ความหิวทั้งข้าวและน้ำ กับความง่วงก็คงยังรุมเร้าผมอยู่ทุกขณะ “คิดผิดเป่าวะเนี่ย...กู?” ผมคิด
 
                เที่ยงตรง ดวงตะวันแกร่งกล้ามากขึ้น ส่วนผมก็หลบตัวเองเข้ามาอยู่ใต้เงาของร่มไม้ เด็กส่วนใหญ่กลับไปแล้ว น้องหนึ่งกำลังเก็บกระดาษแบบฝึกหัดทุกใบที่ตัวเองทำเพื่อเอากลับบ้านไปให้แม่ดู
                น้องหนึ่งเป็นเด็กตัวเล็กๆ อยู่แค่ ป.1  กำลังจะจูงมือน้องสาวที่เพิ่งเข้าอนุบาล เดินกลับบ้านกันสองคน“อะไรจะน่ารักขนาดนี้?”“คงดีกว่านั่งร้อนๆอยู่ตรงนี้มั้ง?” ผมคิด ก่อนอาสาตัวเดินไปส่งน้องที่บ้าน
                น้องหนึ่งยื่นมือมาจับมือผมแล้วกำเอาไว้แน่น ผมเลยยื่นมืออีกข้างไปจับมือของน้องสอง “น่าจะมีคนถ่ายรูปจากข้างหลังให้จัง” ผมคิด
 
กองขยะและของใช้เก่าๆ กับคนน่ากลัวๆ นั่งอยู่ตรงทางเดินปากซอยเข้าบ้านของน้อง บ้านเรือนของคนละแวกนี้สร้างขึ้นจากการปะติดปะต่อขอถุงกระสอบทราย แผ่นไม้กระดานผุๆ และป้ายโฆษณาเก่าๆ  ทางเดินรกและเฉอะแฉะดูไม่น่าไว้วางใจ “เข้าไปดีไหมเนี่ย?” ผมคิด
ขณะที่น้องจูงมือเดินนำ ผมก็ต้องกลั้นใจเดินตาม เดินผ่านคนจรจัดที่ดูเพี้ยนๆ คนหนึ่งไป เค้าก็จดจ้องผมไม่ละสายตา เดินผ่านกองขยะพันปี ผ่านน้ำครำกลิ่นเหม็นๆไป ผมต้องเดินเขย่งเท้าเพราะกลับรองเท้าเปื้อนกลัวจะไปเหยียบเข้า
บนเศษเหล็กเก่าๆ ที่ถูกใช้เป็นม้านั่ง มีหญิงสาวผอมบางท่าทางใจดีอุ้มเด็กเล็กๆ คนหนึ่งอยู่ คือคุณแม่กับน้องสามที่เฝ้ารอการกลับมาของเด็กน้อยทั้งสองคนอยู่นั่นเอง สายตาอันอบอุ่นมองตรงมายังเด็กน้อย พร้อมกับปากบอก “ขอบคุณคุณพี่นะคะที่มาส่ง” น้องสองวิ่งรี่เข้าไปกอดคุณแม่ น้องหนึ่งดึงมือผมให้ก้มลงไป และโอบเข้าสวมกอดรอบคอผมก่อนจากลา
“ภาพแบบนี้ไม่ควรอยู่คู่กับฉากหลังแบบนี้” ผมคิด
ไหว้ลาคุณแม่แสนดี โบกมือบ๊ายบายเด็กๆ ถอนหายใจยาวๆ เดินย้อนกลับออกมา คนเพี้ยนคนเมื่อกี้ฉีกยิ้มให้ผมมุมปากกว้างถึงใบหู จนมองเห็นฟันดำๆ ที่ไม่ได้รับการทำความสะอาด “แหม...คุณครูมาส่งนักเรียนเหรอครับ” พี่ชายหน้าเข้มที่ซ่อมมอเตอร์ไซค์อยู่หันมายิ้มกว้างให้อีกคน “ให้น้องเขากลับเองก็ได้นะคร้าบ...”
 
เพียงหนึ่งก้าวที่พ้นออกจากปากซอยนั้น สายลมวูบใหญ่พัดเข้ามาต้องตัวผม ผมหลับตาปี๋ก้มหน้าหลบฝุ่นละอองที่อาจตามมา คำถามของผมทั้งหมดในวันนี้ได้รับคำตอบแล้วในวินาทีนั้นเอง
 
 
นายกรุ้มกริ่ม
แห่งกลุ่มอิสระเพาะรัก
 
 
 
 
 
 
 
 
เขียนขึ้นประมาณสิงหาคม 2550 ตามคำขอของน้องๆไม้ขีดไฟ ในหัวข้อเพียงเสี้ยวอารมณ์
ไม่เคยตีพิมพ์

บล็อกของ นายกรุ้มกริ่ม

นายกรุ้มกริ่ม
  นาทีที่ผมยืนอยู่ข้างเวที ห่างจากจุดที่แสงไฟสารพัดจะสาดส่องเป็นระยะหนึ่งก้าวเต็มๆ ผ้าม่านสีดำผืนบางๆ เท่านั้นที่ทำหน้าที่กั้นระหว่างริมฝีปากของผมกับแสงไฟด้านนอก บริเวณที่ยืนอยู่นั้นปิดมืดหมด มืดสนิทจนมองไม่เห็นแม้แต่คนที่ยืนข้างๆ และความคิดความฝันของตัวเอง ระหว่
นายกรุ้มกริ่ม
  
นายกรุ้มกริ่ม
 ชั้น 10 ของอพาร์ทเม้นต์แห่งหนึ่ง เด็กหนุ่มอายุ 18 ปี นั่งเล่นคอมพิวเตอร์อยู่คนเดียวบนชั้นนั้นเด็กหนุ่มเพิ่งเข้าเรียนปี 1 ที่มหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดัง แต่วันนี้เขาขี้เกียจไปเรียน จึงนั่งเล่นคอม แชทคุยกับสาวๆ อยู่ที่บ้าน
นายกรุ้มกริ่ม
เห็นด้วยกับไอเดียคสช.
นายกรุ้มกริ่ม
 พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาวส่องฟากฟ้าเด่นพราวไกลแสนไกล 22 พฤษภาคม 2558 วันคร
นายกรุ้มกริ่ม
ผมไม่เคยได้ยินชื่อของ “คฑาวุธ” มาก่อนเลย จนกระทั่งวันที่ 10 มิถุนายน 2557  ในเช้าวันที่กำลังยุ่งเหยิงอยู่กับจำนวนคนถูกเรียกและถูกจับโดยคสช.
นายกรุ้มกริ่ม
 ยุคสมัยแห่งความหวาดกลัวการรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นการยึดอำนาจท่ามกลางบรรยากาศที่ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองอย่างสูงสุด จึงคาดหมายได้ว่าแรงต้านจากประชาชนฝ่ายป
นายกรุ้มกริ่ม
17 เมษายน 2557 เป็นวันสุดท้ายที่มีบุคคลอ้างว่าว่าพบเห็นนาย “บิลลี่” หรือพอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่เคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องสิทธิที่ทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หรือบางคนนิยามว่าเขาคือ “นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน” การหายตัวไปของคนคนหนึ่งที่ตั้งตัวเป็นฝ่
นายกรุ้มกริ่ม
ผมได้ยินชื่อลุงครั้งแรกตามสื่อ ได้อ่านเรื่องราวผ่านๆ ดูคลิปของลุง แต่ไม่ได้ตั้งใจดูนัก ผมได้ยินว่าลุงเป็นนักแปล และเป็นนักเขียนด้วย โดนคดี 112 แต่ไม่รู้ว่าลุงทำอะไร ผมได้ยินคนตั้งฉายาลุงว่า "กึ่งบ้ากึ่งอัจฉริยะ" ผม
นายกรุ้มกริ่ม
 มาเยือนเมือง “สตูล สะอาด สงบ” เป็นครั้งที่สอง หลังจากเมื่อปีกว่าๆ ที่แล้วติดสอยห้อยตามเพื่อน NGO มาดูกิจกรรม “สัญญาประชาคม” ที่คนสตูลร่วมกันแสดงพลังคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา แต่ครั้งนี้สดใสกว่าเดิม มาร่วมเป็นพี่เลี้ยงในกิจกรรมที่อาจารย์พานักศึกษาจากม.ทักษิณ มาลง