“บิลลี่” อาจจะหายไปในช่องว่างระหว่างความเข้าใจ

17 เมษายน 2557 เป็นวันสุดท้ายที่มีบุคคลอ้างว่าว่าพบเห็นนาย “บิลลี่” หรือพอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่เคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องสิทธิที่ทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หรือบางคนนิยามว่าเขาคือ “นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน” 
การหายตัวไปของคนคนหนึ่งที่ตั้งตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามกับการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐไม่อาจทำให้นอนหลับพักผ่อนอย่างสบายใจได้ แม้จะไม่เคยรู้จักอะไรกันมาก่อนเลยก็ตาม เพราะเหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นกับเราหรือใครก็ได้ เมื่อไรก็ได้
 
12 พฤษภาคม 2557 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ผู้ต้องสงสัยหมายเลข 1 จากสายตาของสังคม ขึ้นให้การต่อศาลจังหวัดเพชรบุรีเป็นนัดที่สอง ฟังเรื่องราวจากปากของนายชัยวัฒน์ พบว่าให้การได้ตรงกันอย่างสม่ำเสมอ ต่อสื่อมวลชน ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และต่อศาล
 
ข้อเท็จจริงจากปากนายชัยวัฒน์ ที่พูดตรงกันทุกครั้ง ลองสรุปๆ มาคร่าวๆ เพื่อการจดจำ และมองหาเงื่อนงำต่างๆ 
 
ข้อเท็จจริงส่วนที่พอจะเชื่อกันได้
17 เมษายน 2557 ช่วงบ่าย หลังกลับจากไปเตรียมงานรับเสด็จฯ นายชัยวัฒน์ ได้รับแจ้งทางวิทยุว่ามีการควบคุมตัวชาวบ้านที่ทำผิดกฎหมาย คือ การเอาน้ำผึ้งป่าออกมาขาย อยู่ที่ด่านมะเร็ว นายชัยวัฒน์พร้อมลูกน้องสามคน และนักศึกษาฝึกงานสองคนบนรถประจำตำแหน่งจึงเดินทางไปที่ด่านมะเร็ว เพื่อรับตัวมาสอบสวน เมื่อไปถึงด่านมะเร็วเจอตัวบิลลี่พร้อมน้ำผึ้งห้าขวดจึงให้นายบิลลี่ขึ้นรถเพื่อจะเอาตัวไปสอบสวนและเปรียบเทียบปรับที่ที่ทำการอุทยาน และเอารถมอเตอร์ไซค์ สีเหลือง-ดำ ขึ้นรถไปด้วย เนื่องจากฝนตกจึงให้นักศึกษาฝึกงานทั้งสองคนไปรถอีกคันนึงของหัวหน้าด่านที่ชื่อ นายเกษม
 
ขณะเดินทางออกจากด่านมะเร็ว มีนายกฤษณพงษ์ เป็นคนขับรถ นายชัยวัฒน์นั่งข้างหน้า นายบุญแทนนั่งข้างหลังคนขับ และนายบิลลี่นั่งข้างหลังด้านซ้าย โดยนายไพฑูรย์ นั่งท้ายกระบะคอยจับรถมอเตอร์ไซค์ของบิลลี่
 
ข้อเท็จจริงที่เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง
เมื่อคนทั้งห้าเดินทางมาใกล้ถึงแยกหนองมะค่า เวลาเย็นๆ ประมาณห้าโมงกว่า นายชัยวัฒน์คุยกับนายบิลลี่แล้วได้ความว่ามีน้ำผึ้งแค่ 5 ขวด เห็นว่าไม่ใช่ความผิดร้ายแรงจึงจอดรถ เมื่อไปจับกระเป๋าเป้ดู เห็นว่าเบา จึงเชื่อว่าไม่มีน้ำผึ้งอยู่ในนั้นอีก และปล่อยตัวนายบิลลี่ พร้อมรถมอเตอร์ไซค์ ณ จุดนั้น
 
นายชัยวัฒน์อ้างว่าหลังจากนั้นทั้งสี่คนก็เลี้ยวขวาที่แยกหนองมะค่า เดินทางไปยังบ้านพักเพื่อไปตรวจงานการจัดเลี้ยงที่สั่งให้ลูกน้องเตรียมงานไว้ เมื่อไปถึงบ้านพักพบลูกน้องอีกสองคน ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงหลังจากตรวจงานเสร็จ ก็เดินทางต่อไปยังที่ทำการอุทยานเพื่อไปเอาโทรศัพท์มือถือที่ฝากไว้กับลูกน้องอีกคนที่อุทยาน
 
ข้อเท็จจริงที่นายชัยวัฒน์อ้างขึ้น
หลังจากปล่อยตัวบิลลี่ประมาณ 10 นาที รถคันที่สองที่มีนักศึกษาฝึกงานสองคนนั่งอยู่ได้แล่นมาถึงแยกหนองมะค่าแล้วเลี้ยวซ้ายไปประมาณ 1-2 กิโลเมตร นักศึกษาฝึกงานสองคนเล่าว่าเห็นนายบิลลี่ขี่รถมอเตอร์ไซค์อยู่บริเวณนั้น  ถัดจากจุดนั้นไปมีร้านค้าชื่อร้าน “เจ๊อมร” ซึ่งมีกล้องวงจรปิดติดอยู่ด้านหน้า จับภาพรถมอเตอร์ไซค์วิ่งผ่านไปได้ในเวลาไม่กี่นาทีถัดจากช่วงเวลาที่ปล่อยตัวนายบิลลี่ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้เก็บภาพมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งผ่านในช่วงเวลานั้นไปแล้ว
ถัดจากร้านเจ๊อมรประมาณ 4 กิโลเมตร บริเวณหน้าวัดแก่งกระจาน มีเด็กผู้หญิงอายุ 13 ปี คนหนึ่งบอกกันคุณครูว่าช่วงเย็นวันนั้นเห็น “ลุงบิลลี่” ขับรถมอเตอร์ไซค์ผ่านไป 
 
เวลาประมาณ 20.00 กล้องที่ร้านเจ๊อมร จับภาพรถของนายชัยวัฒน์ขับจากบ้านพักของตัวเองกลับไปที่ทำการอุทยานได้ เป็นหลักฐานระบุที่อยู่ของตัวเองตามที่นายชัยวัฒน์กล่าวอ้าง
 
        
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
(วาดแผนที่เองแบบง่ายๆ ไม่ได้สัดส่วน)
 
 
เงื่อนปมที่ไม่มีคำตอบ
1. ช่วงเวลาระหว่างที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวนายบิลลี่เดินทางจากด่านมะเร็วมายังจุดที่อ้างว่าได้ปล่อยตัวนายบิลลี่ใกล้แยกหนองมะค่านั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง พวกเขาพูดคุยกันเฉพาะเรื่องน้ำผึ้งและได้ปล่อยตัวไปแล้วจริงหรือไม่ ซึ่งเงื่อนปมนี้อาจจะเห็นรอยต่อที่ชัดเจนขึ้น เมื่อนายกฤษณพงษ์ นายบุญแทน และนายไพฑูรย์ จะขึ้นให้การต่อศาลในวันที่ 2 มิถุนายน 2557
 
2. สมมติว่าได้ปล่อยตัวจริงตามที่กล่าวอ้าง นายชัยวัฒน์เดินทางกลับไปที่บ้านพักเพื่อตรวจงานจริงหรือไม่ แล้วนายบิลลี่เลี้ยวซ้ายมุ่งหน้าไปทางที่ทำการอุทยานจริงหรือไม่ สมมติว่าพยานทั้งนักศึกษาฝึกงาน เด็กหญิงอายุ 13 ปี ไม่ได้โกหก และภาพในกล้องวงจรปิดเป็นรถของนายบิลลี่จริง เกิดอะไรขึ้นในช่วงระยะทาง 3-4 กิโลเมตร จากหน้าวัด จุดสุดท้ายที่เด็กหญิงเห็นนายบิลลี่ ไปจนถึงที่ทำการอุทยาน ซึ่งคาดหมายได้ว่าจะต้องมีเจ้าหน้าที่และนักท่องเที่ยวอยู่จำนวนมาก
 
ช่องว่างระหว่างนั้น
การหายตัวไปของ “บิลลี่” เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันร้ายแรงซึ่งเป็นยอดภูเขาน้ำแข็งของปมความขัดแย้งเท่านั้น ปัญหาระหว่างชาวกะเหรี่ยงบวกเอ็นจีโอสายสิทธิมนุษยชน กับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานภายใต้การนำของชัยวัฒน์บวกความชอบธรรมในการรักษาผืนป่า มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานแล้ว เท่าที่พอจะทราบและสรุปได้ ก็พอจะมีว่า 
 
          1. ขับไล่ชาวบ้านออกจากป่า เป็นข้อพิพาทคลาสสิกในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย ชาวบ้านอยู่อาศัยกับป่ามาก่อนการประกาศเขตอุทยาน เมื่อประกาศเขตอุทยานชาวบ้านจึงมีความผิดฐานบุกรุกป่า และเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ นายชัยวัฒน์มองว่าอุทยานพยายามประนีประนอมมาตลอด ไม่เคยไล่ออกจากพื้นที่ เคยแต่ไปพูดคุยและเชิญให้ออกมาอยู่นอกเขตอุทยาน แต่ชาวบ้านมองว่าถูกขับไล่ออกจากถิ่นฐานดั้งเดิม
          2. กรณีเผาบ้านและยุ้งเก็บพืชผล กันยายน 2554 ชาวกะเหรี่ยงร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเผาทำลายบ้านและยุ้งเก็บพืชผลของพวกเขา เพื่อต้องการไล่ไม่ให้พวกเขาอยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่ป่าในอุทยาน ซึ่งพวกเขายืนยันว่าอยู่อาศัยมาก่อนตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ขณะที่นายชัยวัฒน์ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าเป็นการเผาเพิงพักที่ใช้ตากกัญชา เพื่อการปราบปรามยาเสพย์ติด ต่อมาชาวบ้านนำโดย “ปู่คออี้” ด้วยการประสานงานของ “บิลลี่” ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อศาลปกครอง และศาลปกครองมีนัดไต่สวนวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 โดยเดิมทีบิลลี่จะเป็นแกนนำพาชาวบ้านมาให้การ และจะเป็นล่ามในศาลด้วย
          3. กรณีจ้างวานฆ่า “อ.ป๊อด” หลังเหตุการณ์เผาไม่นาน นายทัศน์กมล โอบอ้อม หรืออ. ป๊อด อดีตผู้สมัครส.ส.เพื่อไทย จ.เพชรบุรี แกนนำเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชาวกะเหรี่ยง ถูกลอบยิง ตำรวจออกหมายจับนายชัยวัฒน์ข้อหาจ้างวานฆ่า คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
          4. กรณีช้างตายปริศนา ต้นปี 2555 พบช้างตายปริศนาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตำรวจออกหมายจับรองหัวหน้าอุทยานและเจ้าหน้าที่อีก 4 คน ขณะที่มีชาวกะเหรี่ยงสองคนถูกจับ รับสารภาพ และศาลพิพากษาจำคุกแล้ว ชาวบ้านสงสัยหัวหน้าอุทยานมีส่วนรู้เห็นด้วย ส่วนนายชัยวัฒน์กล่าวหาชาวบ้านว่าทำแบบนี้เป็นประจำ
          5. กรณีตัดเถาวัลย์ กันยายน 2553 นายชัยวัฒน์เดินหน้าโครงกาตัดเถาวัลย์ในป่าแก่งกระจาน อ้างว่าเถาวัลย์ขึ้นมากผิดปกติ กระทบต่อระบบนิเวศน์ ขณะที่ชาวบ้านโดยรอบอุทยานพร้อมอ.ป๊อดก็ออกมาคัดค้านพร้อมตั้งข้อสงสัยผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว และรีสอร์ทที่เกี่ยวข้องกับนายชัยวัฒน์
          6. กรณีใช้มาตรา 112 พฤษภาคม 2555 หลังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกมติขอให้นายชัยวัฒน์ทบทวนโครงการตัดเถาวัลย์ โครงการปลูกพืชอาหารให้ช้าง และการผนวกพื้นที่ป่า เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม นายชัยวัฒน์ยกขบวนเจ้าหน้าที่ตบเท้าเข้าแจ้งความเอาผิด นพ.นิรันดร์พิทักษ์ วัชระ และนายสุรพงษ์ กองจันทึก ฐานสนับสนุนการตัดไม้ทำลายป่า ปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นกลาง และหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จากการสั่งให้ยกเลิกโครงการพระราชดำริ
          7. กะเหรี่ยง หรือ กะหร่าง ในสถานการณ์ความขัดแย้งชัยวัฒน์จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเสมอว่า กลุ่มคนที่เจ้าหน้าที่อุทยานพยายามผลักดันออกไม่ใช่ “กะเหรี่ยง” แต่เป็น “กะหร่าง” ที่อพยพเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน (พม่า) ไม่ใช่คนที่อยู่อาศัยดั้งเดิม ขณะที่ชาวบ้านและเอ็นจีโอสายสิทธิเชื่อว่า “กะหร่าง” นั้นไม่มีจริง แต่เป็นคำใหม่ที่นายชัยวัฒน์พยายามสร้างวาทะกรรมและความชอบธรรมในการขับไล่
 
หลังพิงจุดยืนของตัวเองอย่างเหนียวแน่น
วันที่ 12 พฤษภาคม ในห้องพิจารณาคดี ระหว่างการไต่สวนนายชัยวัฒน์มีมุมที่น่าสนใจควรค่าแก่การนำมาเล่าต่อ ท่ามกลางบรรยากาศที่ตึงเครียด ผู้พิพากษาพักการพิจารณาแล้วเดินออกจากห้องไปประมาณ 15 นาที ทันทีที่ผู้พิพากษาลงจากบัลลังก์ นายชัยวัฒน์ก็หันมาพูดกับทนายความทันที
 
“พูดแบบคนมีจิตสำนึกนะ เรามาช่วยกันหาบิลลี่ดีกว่า ไม่ใช่มาถามอะไรที่มันไม่ได้อะไรขึ้นมา”
 
“ผมก็โกรธนะ ไม่ใช่ไม่โกรธ ที่ทำกับผมแบบนี้ สร้างสถานการณ์กับผม” ที่ผ่านมาชัยวัฒน์ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนมาตลอดว่าการหายตัวไปของบิลลี่เป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อเอาเขาออกจากตำแหน่ง โดยกลุ่มเอ็นจีโอสายสิทธิมนุษยชน ในวงเล็บ “ที่จะทำลายป่า”
 
นายชัยวัฒน์บอกว่า รู้สึกน้อยใจ “ปู่คออี้” เพราะตอนที่ลูกสาวมานั่งคุกเข่าขอร้องให้เอา ฮ. ไปรับตัวปู่คออี้ลงมาจากเขาเพื่อไปรักษาตา ก็ได้ส่ง ฮ. ไปช่วยเหลือลงมา แต่วันนี้ปู่คออี้กลับมาเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเขา ชัยวัฒน์ระบายอารมณ์อย่างต่อเนื่องไปสักพักทนายก็ไม่สบตา ไม่อยากคุยต่อ ชัยวัฒน์ก็หันมาพูดกับผู้เข้าสังเกตการณ์ที่มากันเต็มห้องในวันนั้น แล้วสาธยายต่ออย่างไม่หยุดยั้ง
 
นายชัยวัฒน์เปิดรูปถ่ายต่างๆ ที่เตรียมใส่แฟ้มมาเป็นอย่างดีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ เปิดรูปถ่ายต้นกัญชาในไร่ของชาวบ้าน เปิดรูปป่าที่ถูกเผา ภูเขาหัวโล้น ซากช้าง กวาง เสื้อโคร่ง และสัตว์อื่นๆ ที่อ้างว่าชาวบ้านเป็นคนล่า อธิบายว่าตนไม่เคยจับกุมใครฐานบุกรุกป่าเลย คนที่ยังอยู่ตอนนี้ไม่ใช่คนที่ตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมแต่เป็นคนที่อพยพมาจากที่อื่น บางช่วงก็กล่าวหาว่ามีขบวนการจะมาทำลายตน และระบายเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องที่เห็นได้ชัดว่านายชัยวัฒน์อึดอัดอย่างสุดๆ
 
นายชัยวัฒน์เองก็กำลังถือความเชื่ออะไรบางอย่าง และมีความเจ็บแค้นอยู่ไม่ใช่น้อย ลำพังการทำเพื่อผลประโยชน์อย่างเดียว คงไม่ผลักให้คนคนหนึ่งต้องเปิดหน้าแลกทุกเวทีขนาดนี้
 
ต่างกับบิลลี่และคนอื่นๆ เล็กน้อย ตรงที่นายชัยวัฒน์นั้นถืออำนาจรัฐ และทรัพยากรต่างๆ ที่รัฐจัดหามาเพื่อการต่อสู้ตามแนวทางของเขา
 
 
          ความจริงยังไม่ปรากฏว่าการหายตัวไปของบิลลี่เกี่ยวข้องกับชัยวัฒน์หรือไม่ ความจริงยังไม่ปรากฏว่าใครฆ่าอ.ป๊อด เช่นเดียวกับ เรื่องเถาวัลย์ เรื่องการเผา เรื่องช้างตาย และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง แต่ความขัดแย้งนั้นปรากฏชัดเจนกว่ามาก
 
วันนี้ “บิลลี่” หายตัวไป เขาอาจจะตกหายลงไปในช่องว่างระหว่างความไม่เข้าใจของชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่อุทยานที่มีมาต่อเนื่องยาวนาน ช่องว่างระหว่างความไม่เข้าใจของการรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมกับการรักษาผืนป่าและการพัฒนาของโลกสมัยใหม่ ช่องว่างระหว่างความดีที่ต่างฝ่ายต่างยึดถือ 
 
บิลลี่คงไม่ใช่ “นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน” คนเดียวที่ทุ่มเททำงาน ต่อสู้ ฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคต่างๆ ยืนขึ้นจ้องตากับความขัดแย้ง คงมีคนอีกนับไม่ถ้วนในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยและโลกใบนี้ ที่ทำงานหนักไม่แพ้บิลลี่ และมีความเสี่ยงที่วันหนึ่งข้างหน้าจะต้องหายตัวไปเหมือนบิลลี่อีกเช่นกัน เพียงแต่วันนี้เรายังไม่ได้รู้จักกับพวกเขา
 
กระบวนการตามหาตัวบิลลี่ และตามหาตัวผู้ร้าย ยังคงเดินหน้าต่อไปด้วยการทำงานหนักของคนอีกจำนวนมาก
 
หากเราไม่อยากเห็นใครต้องหายตัวไปแบบบิลลี่อีก สิ่งที่พอจะทำได้ คือ ต้องช่วยกันลดพื้นที่ว่างระหว่างความไม่เข้าใจเหล่านี้ ให้อย่างน้อยมันก็ไม่กว้างจนคนทั้งคนจะตกหลกไปได้อีก
 
ถ้าวันหนึ่งมนุษย์ช่วยกันชำแหละปมปัญหาไปจนสามารถค้นพบวิธีสมานรอยแยกทั้งหลายได้แล้ว บางทีเราอาจจะพบ “บิลลี่” และคนอีกหลายคนที่หายไประหว่างทางนั้นก็ได้ 
 
 
 
 

เด็กหนุ่มในอพาร์ทเม้นต์

 
ชั้น 10 ของอพาร์ทเม้นต์แห่งหนึ่ง 

เด็กหนุ่มอายุ 18 ปี นั่งเล่นคอมพิวเตอร์อยู่คนเดียวบนชั้นนั้น

เด็กหนุ่มเพิ่งเข้าเรียนปี 1 ที่มหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดัง แต่วันนี้เขาขี้เกียจไปเรียน จึงนั่งเล่นคอม แชทคุยกับสาวๆ อยู่ที่บ้าน