Skip to main content

 

 

พรุ่งนี้ #ลงประชามติ เชื่อว่าเกือบทุกคนคงตัดสินใจไว้แล้วนะครับ แต่ก็ยังอยากเขียนมาคุยด้วย โดยเฉพาะอยากคุยกับเพื่อนๆ บนเฟซบุ๊กที่ปกติไม่ได้สนใจติดตามการเมืองใกล้ชิด ไม่ได้ปักใจชอบหรือไม่ชอบใครมาก่อนมากนัก
 
หากคนที่รู้จักผมมาบ้าง ก็จะรู้ว่าผมเองก็โตมากับการชุมนุมไล่ทักษิณ ตอนปี 48-49 และเป็นมวลชนเข้าร่วมชุมนุมต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในปี 56 ผมไม่เคยกากบาทให้พรรคของทักษิณเลยแม้แต่ครั้งเดียวไม่ว่าจะพรรคชื่ออะไร ที่สำคัญ คือ จริงๆ ผมไม่เคยชอบให้ตัวเองไปยุ่งเกี่ยว ไปวิเคราะห์ หรือไปอินกับเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองมากนัก มันเหนื่อย ชอบทำกิจกรรมอะไรน่ารักๆ มากกว่า แต่ชีวิตก็พัดพามาจนถึงวันนี้ที่ต้องมาศึกษาเรื่องพวกนี้เป็นอาชีพหลักจนได้
 
เชื่อว่า คงมีหลายคน ตั้งใจจะไปโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลว่าศึกษาแล้ว ช่างน้ำหนักแล้ว ร่างนี้มันดีจริงๆ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมยังไม่เคยได้ยินเสียงคนเหล่านั้นเลย ถ้ามีอยู่จริงก็ลองแสดงตัวแลกเปลี่ยนกันได้
 
แต่ที่สังเกตเห็นหลายคน จะไปโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ ก็เพราะ 1. เชื่อมั่นในรัฐบาลประยุทธ์ ว่ายังไงก็ดีกว่านักการเมืองหน้าเดิม 2. ต้องการต่อสู้ให้ถึงที่สุดกับนักการเมืองเพื่อไทย (หรือทักษิณ) หรือที่เรียกว่า ต้องการจะ "ปราบโกง" นักการเมือง 
 
แน่นอนว่า ทุกคนมีสิทธิเลือกและช่างน้ำหนักเอง แต่ก็ยังอยากคุยด้วยสั้นๆ ว่า ผมขอช่างน้ำหนักในกรณีนี้ต่างไป ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านได้เราก็ต้องหวังให้มันอยู่ยาว การคิดจะสู้กับศัตรูบางกลุ่มด้วยรัฐธรรมนูญ สำหรับผมเป็นการใช้เครื่องมือที่ไม่เหมาะสมเหมือนกับการเผาบ้านเพื่อไล่หนูเพราะมันจะไปกระทบเรื่องอื่นๆ ด้วย เป็นการคิดแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างแท้จริง ไม่ได้สร้างระบบที่สังคมจะอยู่ร่วมกันได้กับคนที่รักทักษิณจริงๆ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากและยังไงก็เปลี่ยนความคิดเขาไม่ได้ ผมจึงให้น้ำหนักกับแนวคิดแบบนี้น้อย
 
สำหรับกลุ่มคนที่ NO Vote หรือจะไม่ไปออกเสียงเลย เพราะเห็นว่ากระบวนการจนมาถึงการออกเสียงครั้งนี้มีปัญหาตั้งแต่ต้น และมีปัญหาทุกขั้นตอน ในมุมผมก็ขอบอกว่า หลักการของกลุ่มนี้ถูกต้อง ไม่มีอะไรที่ต้องโต้แย้งด้วย เพราะไม่ว่าผลประชามติจะออกมาอย่างไร ประชามตินี้ก็จะเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของ คสช. เท่านั้น เพียงแต่นาทีนี้ทุกคนต้องเลือก "ช่างน้ำหนัก" ระหว่างทฤษฎี กับทางปฏิบัติ คนที่เห็นค่าของการยึดมั่นในทฤษฎีก็ย่อมยืนยันต่อไป ผมเองเลือกมาใช้ชีวิต NGO ทำงานนั่นนี่ ไม่ชอบเป็นนักวิชาการ หรือนักกิจกรรมเคลื่อนไหว เพราะชอบทำงานภาคปฎิบัติมากกว่าภาคทฤษฎีเป็นนิสัย วันนี้จึงช่างน้ำหนักแล้วขอเลือกเดินไปเข้าคูหาพรุ่งนี้ครับ
 
______________
 
เหตุผลว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ดีอย่างไร แบบเป็นหลักวิชาการ ทีมงานได้ช่วยกันระดมสมองกลั่นเอาเฉพาะส่วนยอดออกมาได้ยาวสามหน้าแล้ว เลยจะไม่เขียนซ้ำ ลองดูได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4227
 
สิ่งที่จะเขียนหลังจากนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวเพิ่มเติมที่จะ Vote NO ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนอะไรแบบนี้ไว้ แต่เป็นการ "มโน" ต่อเติมขึ้นมาเองของผม ใครที่ประเมินเป็นอย่างอื่นแล้วไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่นี้ไม่ใช่การ #บิดเบือน เพราะไม่ได้กำลังพูดถึงเนื้อหาของร่างฯ เป็นจินตนาการของผมเอง ทั้งนั้น โปรดพิจารณาดู
 
1
หากรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ คงได้เลือกตั้งกันปลายปี 60 หรืออาจจะถูกข้ออ้างต่างๆ ขยับเป็นต้นปี 61 ระหว่างนี้ มีชัยและคณะจะเขียนกฎหมายลูก 10 ฉบับ ไปในทิศทางที่เขาอยากไป ซึ่งเราไม่มีสิทธิโหวตแล้ว คสช. จะเขียนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเราไม่มีสิทธิให้ความเห็นชอบแล้ว มาตรา 44 และประกาศคำสั่ง คสช. จะมีอยู่ต่อไป ระหว่างนี้ คสช. ทำอะไรก็จะไม่มีทางผิดไปตลอด จนกว่าเขาจะไป
 
2
เมื่อได้เลือกตั้ง คนที่เคยเลือกเพื่อไทยก็ยังจะเลือกเพื่อไทยอยู่ ผมอาจจะยังไม่เลือก ส่วนคนที่อาจจะเคยชอบเพื่อไทยนิดหน่อยก็มีแนวโน้มจะเทไปเลือกเพื่อไทยมากขึ้น เพราะผลงานทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของคสช. และการปราบปรามคนเห็นต่างอย่างไม่ชอบธรรม การบีบให้คนเสื้อแดงเป็นเหยื่อของความขัดแย้งที่น่าเห็นใจ และพรรคประชาธิปัตย์เองก็แตกเละเทะมาตั้งแต่กปปส. จนยกนี้ ไม่มีจุดขายอะไรให้คนเลือกแล้ว แถมสมาชิก 111 คนที่เคยโดนแบน เช่น จาตุรนต์ สุดารัตน์ พวกนี้ก็จะกลับมาลงเลือกตั้งได้แล้ว คนจะเลือกเพื่อไทยเยอะขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา
 
3
แต่เนื่องจากระบบเลือกตั้งที่วางไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ แบบที่ไม่มีที่ไหนในโลก หากเพื่อไทยได้ส.ส.เขตเกิน 150 คน จาก 350 เขต แล้ว (ซึ่งจะได้แน่ๆ) เพื่อไทยจะไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์เลย ถ้าพรรคเนวิน ชาติไทย ประชาธิปัตย์ ชูวิทย์ พลังชล ฯลฯ รวมกันได้ส.ส. 101 คน (ซึ่งก็น่าจะได้แน่ๆ ) เพื่อไทยก็จะได้ ส.ส.อย่างมากที่สุด 249 คน ซึ่งเป็นส.ส.เขตทั้งหมด ปาร์ตี้ลิสต์จะไม่ได้เลย พรรคอื่นๆ จะแชร์ปาร์ตี้ลิสต์กันไปจนมีพรรคกลางๆ หลายพรรค แต่เพื่อไทยก็ยังน่าจะเป็นพรรคที่มี ส.ส. มากที่สุดอยู่ดี
 
4
ขณะที่เราก็จะมี ส.ว. 250 คนมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้งหมด ซึ่งรวมที่นั่งแล้ว ส.ว. มีมากกว่า ส.ส. เพื่อไทย
 
ถ้าคำถามพ่วงผ่านประชามติด้วย ส.ว. จะมีสิทธิเลือกนายกฯ ด้วย ส.ว. ของคสช. จะเป็นเสียงที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ที่สุดในสภา ที่จะโหวตเลือกนายกฯ และ ส.ว. จะไม่เลือกคนจากเพื่อไทยเป็นนายกฯ ทั้งที่พรรคนี้ได้ที่นั่งส.ส.มากที่สุด  
 
6
คนที่โหวตเลือกเพื่อไทยมาก็จะรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมอีก และกระแสการต่อต้านนายกฯ ที่ส.ว. เลือกมา ก็จะแรงขึ้นมากๆ การชุมนุมของคนเสื้อแดงเพื่อสนับสนุนให้เพื่อไทยได้เป็นนายกจะรุนแรงมาก และจะได้รับความชอบธรรมมากขึ้น คนที่ความคิดเห็นกลางๆ มีเหตุมีผลจะเข้าร่วมมากขึ้น ผมก็จะเข้าร่วมด้วย แต่หากเห็นว่าแกนนำบนเวทีทำตัวบางอย่างที่ไม่ดี ผมก็อาจเข้าร่วมเวทีย่อยหรือร่วมจัดเวทีย่อยคู่ขนาน แต่เป้าหมายเดียวกัน
 
7
เมื่อมีวิกฤติ คนเห็นต่างกันในการเลือกนายกฯ ด้วยการตัดสินใจร่วมกันของส.ส.และส.ว. ก็ "อาจจะ" อัญเชิญคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่ง อ่า... จะเป็นใครนะ คนที่เคยเป็นนายกแล้วบ้านเมืองไม่มีการประท้วงได้ จะมีใครบ้างนะ??
 
8
มโนต่อว่า ปัญหายังไม่จบแค่นั้น กลไกที่เรียกกันว่า "ปราบโกง" ก็จะทำงาน ส.ว. จะเข้าชื่อกันยื่นให้ศาลวินิจฉัยว่านักการเมืองเพื่อไทยหลายคนขาดคุณสมบัติ องค์กรอิสระที่แต่งตั้งมาจากที่เดียวกันก็จะพร้อมใจทำงานอย่างแข็งขันส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ลักษณะคล้ายกับตอนที่บอกว่า การเป็นพิธีกรของสมัครทีวีถือเป็น "ลูกจ้าง" กลไก "ยุทธศาสตร์ชาติ" และ "มาตรฐานจริยธรรม" ซึ่งวันนี้เรายังไม่เห็นหน้าตาเลย ก็จะทำงานเพื่อเอาคนจากเพื่อไทยออกจากสภาทีละคนๆ ซึ่งกลไกเหล่านี้มาจากรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านประชามติมาโดยการปิดกั้นสารพัด พรรคเพื่อไทยและสาวกก็เลยจะมีความชอบธรรมมากขึ้นอีกที่จะไม่ยอมรับผลจากกลไกเหล่านี้
 
เมื่อต่อสู้ในสภาไม่ได้ และถูกกลไกต่างๆ ขัดขวาง เพื่อไทยและคนเสื้อแดงก็จะลงถนนมากขึ้น ด้วยเหตุผลสนับสนุนมากมายที่เกิดจากรัฐธรรมนูญไม่ชอบธรรม ส่งผลให้การต่อสู้บนท้องถนนได้รับความชอบธรรมมากขึ้น ทั้งจากผู้เฝ้าดูที่ยังไม่เลือกข้างในสังคม และต่างชาติ เสื้อแดงบนถนนจะมีฐานะเป็นนักต่อสู้เพื่อหลักการประชาธิปไตยที่กำลังถูกรังแกมากขึ้นเรื่อยๆ (ซึ่งปัจจุบันฐานะนั้นก็มีอยู่แล้ว) แต่เนื่องจากในสภากลไกได้ออกแบบให้ คสช. สามารถกุมอำนาจได้โดยเบ็ดเสร็จแล้ว ก็ไม่มีเหตุอะไรที่ คสช. จะยอมแพ้ให้กับการชุมนุมบนถนน 
 
10 
เนื่องจากรัฐธรรมนูญบอกด้วยว่า ให้ประกาศ คสช. ที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง ให้ทหารมีอำนาจจับกุม สอบสวนคดีการเมือง ให้ศาลทหารตัดสินคดีการเมือง ฯลฯ เหล่านี้ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ทหารก็จะเข้ามามีบทบาทปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างหนักต่อไป
 
11
จะเกิดความรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
 
 
เขียนเองหดหู่เอง.... ผม Vote No นะครับ
 
ถ้า No ชนะ เรายังมีโอกาสบ้างที่จะได้โอกาสร่างรัฐธรรมนูญที่ดีกว่านี้ ได้อนาคตที่ดีกว่านี้ หรืออาจจะไม่ได้ก็ได้ แต่พอมโนเห็นภาพที่เขียนมาข้างบนแล้ว ในฐานะที่ยังมีชีวิตมีลมหายใจอยู่ ถ้าจะไม่ลงมือทำอะไรเลยแล้วปล่อยให้มันมีโอกาสเกิดขึ้น คงทำใจไม่ได้ ยังไงต้องไม่รับไว้ก่อน ถ้าหยุดร่างนี้ได้แล้วค่อยมาเหนื่อยกันยกใหม่อีกหลายยกว่าจะเอาอะไรมาแทน
 
ด้วยความหวังว่าวันที่ดีกว่ายังมีอยู่ข้างหน้า
 
 
 
 

บล็อกของ นายกรุ้มกริ่ม

นายกรุ้มกริ่ม
มาเยือนจังหวัดอุดรธานีครั้งแรกในชีวิต เป็นอีกครั้งที่หลับบนรถทัวร์มาตลอดคืนอันแสนจะธรรมดา ยิ่งเดินทางแบบนี้บ่อยขึ้น ก็ยิ่งเคยชิน ถึงแอร์จะหนาว อาหารจะห่วย ก็ไม่สะทกสะท้านใดๆ ทั้งสิ้น ลงรถทัวร์ได้ไม่นาน เพื่อที่เป็นอาจารย์อยู่ที่นี่ก็มารับที่บขส. ยังไม่ทันรู้จักตัวเมืองให้ถ้วนทั่ว ประสบการณ์ใหม่ๆ ก็มายืนรออยู่ข้างหน้าอีกแล้ว
นายกรุ้มกริ่ม
           
นายกรุ้มกริ่ม
                ใต้ฟ้าผืนนี้ ... คงมี ผู้คน หลากหลาย เรื่องราว แฝงเร้น มากมาย เกิดแก่ เจ็บตาย ไขว่คว้า หากัน
นายกรุ้มกริ่ม
  อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นเมืองท่ามกลางหุบเขา มีเสน่ห์เล็กๆ ในแบบของตัวเอง แม่สอดไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แต่มีคนแวะเวียนมาเยอะเพราะแม่สอดเป็นประตูผ่านแดนไปยังเมืองเมียววดีของพม่า
นายกรุ้มกริ่ม
เมื่อ "ผม" อ้าปากเรียกหา "สิทธิเสรีภาพ"
นายกรุ้มกริ่ม
      ยามเช้าใกล้รุ่งของตัวอำเภอแม่สะเรียงมีเพียงความเงียบสงัด ไร้วี่แววของรถราและผู้คน ไฟถนนสีส้มส่องผ่านม่านหมอกที่ลงหนาจัดคอยช่วยให้จิตใจของผู้มาเยือนอบอุ่นขึ้นได้บ้างบนทางสายเล็กๆ ที่ไม่รู้ว่าจะนำไปสู่สถานที่แบบใด   ผมลงจากรถทัวร์สาย กรุงเทพ - แม่ฮ่องสอนตอนตีห้าเศษ ด้วยอาการงัวเงีย งุนงง กับเป้ 1 ใบ เต้นท์ 1 หลัง เพื่อน 1 คน หลังนั่งสัปหงกตั้งแต่ออกจากหมอชิตมาตอนห้าโมงเย็น จุดหมายปลายทางที่จะไปให้ถึงคือ "งานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่8" บนดอยไหนสักดอยในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ไม่รู้ว่าไกลแค่ไหน ไม่รู้ว่ามันคืองานอะไร และไม่รู้ว่าตัวเองจะไปทำอะไร  …
นายกรุ้มกริ่ม
               สิงหาคม 2550 นักศึกษามหาวิทยาลัย 12 ชีวิต ชาย6 หญิง6 กลั้นน้ำตายิ้มให้กับโรงเรียนประถมเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง ขณะที่กระโดดขึ้นท้ายรถกระบะแล่นจากไป                    ในระยะเวลา 9 วัน พวกเขาได้อุทิศทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเนรมิตห้องเก็บของเก่าๆ ให้เป็นห้องสมุดสำหรับเด็กที่มีตัวการ์ตูนสดใส และหนังสือใหม่แกะล่องจำนวนมาก ความประทับใจ รอยยิ้ม คราบน้ำตา วันที่เหน็ดเหนื่อย และเวลาแห่งความสนุกสนาน…
นายกรุ้มกริ่ม
              “The productive forces of material life conditions the social, political and intellectual life process in general. It is not the consciousness of men that determines their being, but, on the contrary, their social being that determines their consciousness” Karl Marx Preface to A Contribution to the Critique of Political Economy     ถ้าหากปรัชญาของคาร์ล มาร์กซ์ ยังพอมีส่วนถูกอยู่บ้าง คนที่มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมอันประกอบด้วยวัตถุทางรูปธรรมแบบหนึ่งๆ จะไม่สามารถแยกแยะ(Determine) ความถูกผิดดีงามทางศีลธรรม (…