Skip to main content
 
 
นาทีที่ผมยืนอยู่ข้างเวที ห่างจากจุดที่แสงไฟสารพัดจะสาดส่องเป็นระยะหนึ่งก้าวเต็มๆ ผ้าม่านสีดำผืนบางๆ เท่านั้นที่ทำหน้าที่กั้นระหว่างริมฝีปากของผมกับแสงไฟด้านนอก บริเวณที่ยืนอยู่นั้นปิดมืดหมด มืดสนิทจนมองไม่เห็นแม้แต่คนที่ยืนข้างๆ และความคิดความฝันของตัวเอง ระหว่างพิธีกรประกาศเรียกชื่อ หูมันอื้อไม่ได้ยินอะไรทั้งนั้น ในใจท่องแต่ประโยคแรกและประโยคที่สองเพื่อจะไม่ให้มีเสียงสั่นเมื่อออกไปยืนกลางแสงไฟ 
 
และทีมงานก็เอานิ้วมาเกี่ยวม่านสีดำผืนนั้นให้เปิดออก เป็นสัญญาณว่า ต้องก้าวออกไปแล้วสินะ ก้าวออกไปเพื่อปลดปล่อยสิ่งที่อุดตันความรู้สึกมาตลอดสองสามเดือน
 
 
แรกพบกลุ่มคนที่บุคลิกแปลกๆ
 
ย้อนกลับไปปีเศษๆ ก่อนหน้านี้ มีโทรศัพท์สายหนึ่งจากผู้ที่แนะนำตัวว่าชื่อ "อิม" หรือ "อิง" เนี่ยแหละ จำไม่ได้แน่ น้ำเสียงเหมือนเจ้าหน้าที่บริษัทเอกชน พูดจาฉะฉาน เตรียมประเด็นมาชัดเจน เป็นฝ่ายเปิดเกมรุกใส่เรา คุยกันประมาณ 20 นาที ชวนไปพูด TedxBangkok เพราะเขาสนใจเรื่อง "ความมั่นคง" โดยบอกด้วยว่า กำลังคิดอยู่ระหว่างผมกับอาจารย์ประจักษ์ เลยตอบปฏิเสธไปด้วยเหตุผลว่า คิดว่าตัวเองเด็กเกินไป ยังไม่คมพอ ขอให้ไปหาอาจารย์ประจักษ์เลย เธอวางสายไปด้วยข้อตกลงว่า จะขอโอกาสเข้ามาพูดคุยก่อน
 
หลังจากนั้นได้รับอีเมล์ว่า เขาไม่เอาเราแล้ว ก็เลยสบายใจไปเปราะหนึ่ง พร้อมกับส่งตั๋วไปดูฟรีปีที่แล้วมาให้ด้วย (แต่สุดท้ายเบี้ยว ไม่ได้ไปดู เพราะเหนื่อย)
 
ประมาณเดือนมีนาคม 2560 ได้รับโทรศัพท์อีกสายหนึ่งจากผู้ที่แนะนำตัวว่า ชื่อ "ปอ" มาจาก TedxBangkok อีกแล้ว ก็เล่าไปว่า ปีที่แล้วเพิ่งปฏิเสธไปนะ เหตุผลเดิมก็ยังอยู่ เขาอ้างว่า ตีมงานปีนี้ชื่อ Little things Mingle "เข้ากับงานที่พี่ทำอยู่มากเลยครับ" (น่าจะแปลว่า สิ่งเล็กๆ ที่ส่งแรงกระเพื่อมแบบน้ำเป็นวงๆ) ก็นัดหาวันเวลาเข้ามาคุยกัน ทันทีที่วางสาย เขาส่ง SMS มาขอบคุณ
 
ใกล้ถึงวันนัดเขา SMS มายืนยันอีกครั้ง และในวันนัดก่อนถึงเวลา เขาโทรศัพท์มายืนยันนัดอีกครั้งพร้อมแจ้งว่า จะเข้ามาคุยสามคน และจะใช้เวลาคุยประมาณ 2 ชั่วโมง ตรงเวลานัด คือ 19.00 พอดี ไม่ขาดไม่เกินแม้แต่นาทีเดียว โทรศัพท์ก็ดังขึ้นว่า พวกเขามาถึงแล้ว และทั้งสามคนก็เดินเข้ามา อีกสองคนคือ "พิ" และ "ดล" สิ่งที่ผมรู้สึก คือ คนกลุ่มนี้ไม่ธรรมดา แค่วิธีการนัดหมายก็ต่างจากการทำงานของ NGO มาก เดาเล่นๆ ว่าต้องเป็นมืออาชีพมาก เพราะ Tedx น่าจะจ้างแพง
 
ตรงกันข้าม เมื่อสามคนปรากฏตัวเข้ามา เขาแนะนำตัวและแนะนำ Tedx เขาบอกว่า ทุกคนที่ทำงานเป็นระบบอาสาสมัคร ไม่มีใครได้ค่าตอบแทน รวมถึงคนที่ไปพูดในงานก็ไม่ได้ค่าตอบแทนด้วย (เอาล่ะสิ) ทั้งสามคนมีบุคลิกของชนชั้นกลาง พอมีสตางค์ เขาแนะนำตัวว่า ทำงานบริษัทเอกชน จำไม่ได้ว่าทำอะไรบ้าง แต่ทำงานที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับการเคลื่อนไหวทางสังคม ทำงาน Tedx เป็นงานอดิเรกนอกเวลา นั่นคงเป็นสาเหตุที่บุคลิกการทำงานเป็นมืออาชีพและไม่เหมือน "คนแถวนี้" เอาเสียเลย
 
ลองถามกลับไปว่า แล้วพวกเขามาทำงานแบบนี้กันทำไม ได้รับคำตอบจากในคู่มือว่า เขาเชื่อในเรื่องความหลากหลายและการแลกเปลี่ยนไอเดีย ......
 
เขาอธิบายวิธีการทำงานของ Tedx ให้ฟัง สิ่งที่สะดุดใจมาก คือ มีตารางกำหนดการเรียบร้อย เดือนไหนต้องทำอะไรบ้าง ทุกคนที่จะพูดต้องส่งสคริปก่อน ต้องไปซ้อมรวมทั้งหมด 4 ครั้ง และซ้อมใหญ่กับเวทีจริง 1 ครั้ง มีการ dinner เพื่อทำความรู้จักกันอีก 2-3 ครั้ง บลาๆๆๆ เขาถามด้วยว่า เราพร้อมที่จะร่วมงานโดยมีเวลาให้เขาขนาดนี้ไหม อันนี้เป็นสิ่งที่รู้สึกทึ่ง คือ ปกติเวลาจะไปพูดที่ไหนเราต้องเตรียมตัวเยอะเสมอ แต่ไม่เคยเยอะขนาดนี้ และไม่รู้เลยว่า ถ้าต้องเตรียมเยอะขนาดนี้สุดท้ายผลงานจะออกมาเป็นยังไง มันต้องดีกว่าที่เตรียมตัว 3-4 ชั่วโมงตามปกติใช่ไหมนะ
 
กระบวนการเหล่านี้ น่าจะเป็นคำตอบ ถึงคุณภาพของการพูดบนเวที Ted ที่ไม่ใช่ใครจะเลียนแบบจัดคนมายืนพูดเดี่ยวๆ แล้วมันจะดีได้ทันที และโอกาสที่จะได้เรียนรู้กระบวนการเหล่านี้ คือ สิ่งที่ท้าทายมากที่สุด ที่เป็นคุณค่าในการได้ทำงานร่วมกัน 
 
เราคุยกันต่ออีกสองชั่วโมง เขาถามความคิดเห็นต่อเรื่องนั้นเรื่องนี้ เขาเตรียมที่จะมาถามหาว่า นักกฎหมายมีกุญแจอะไรที่ทำให้อ่านกฎหมายรู้เรื่อง ผมตอบไปว่า "ไม่มี" เพราะกฎหมายมันเขียนให้อ่านไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว เขาสตั๊นท์ไปหนึ่งวินาที แล้วต่อด้วยการพยายามสืบเสาะหามุมมองของผมไปเรื่อยๆ โดยผมก็ไม่รู้เขาหาอะไรอยู่บ้าง แต่สังเกตได้ว่า พอพูดบางเรื่องเขาจะก้มหน้าจดพร้อมกัน แต่พอพูดบางเรื่องเขาจะตัดบทว่า อย่างเพิ่งไปตรงนั้น ทำให้พอเลาๆ เอาได้เองว่า เขากำลังมองหา "ก้อนความคิด" ที่สมบูรณ์ในตัวเอง เช่น มีสภาพปัญหา มีข้อเท็จจริงประกอบ มีทางออก มีตัวอย่างเป็นรูปธรรมที่ทำได้จริง มีวิธีการที่ให้คนลงมือทำต่อ อะไรประมาณๆ นี้
 
เป็นการคุยที่เหนื่อยพอสมควร เหมือนกำลังโดนสอบสวนอะไรสักอย่าง พอโยนสิ่งที่เขาพอใจออกไป เขาก็ยิ้มกว้างแล้วก้มหน้าจดๆๆ ไป ขณะที่เขาสังเกตเรา เราก็สังเกตเขาไปด้วยเหมือนกัน เขายังย้ำด้วยว่า ยังไม่แน่ว่าผมจะผ่านการคัดเลือกหรือไม่ ยังไงต้องไปคุยกับทีมรวมก่อนแล้วจึงตัดสินใจอีกที
 
ก่อนสามคนที่มา "เซอร์เวย์" คนพูด จากการไป ผมคอมเม้นต์ไปว่า พวกเขาบุคลิกแปลกดี แต่ก็ท้าทายตัวผมเองดีเหมือนกันที่จะต้องทำงานกับคนแปลกๆ
 
 
เจอกับภาพรวม อะไร คือ Tedx
 
เมษายน 2560 ได้รับอีเมล์จากคนชื่อ อรรณวุฒิ เป็นภาษาอังกฤษหมดเลย ยืนยันว่า ได้รับเชิญเป็นคนพูดในงานปีนี้ พร้อมส่งเอกสารต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ ว่าด้วยคู่มือการเตรียมตัวพูด และกำหนดการนัดหมายว่า ต้องไปซ้อม ไปเจอกันเมื่อไรอย่างไรบ้าง ซึ่งดูเป็นจริงเป็นจังสุดๆ 
 
ไปเจอครั้งแรกในงานที่เขาเรียกว่า Speakers Dinner ในร้านอาหารหรูหราแห่งหนึ่งแถวเซ็นทรัลเวิล์ด (ทีมงานจ่ายค่าอาหาร เราจ่ายค่ารถเอง) เจอคนมากมาย Speaker หลายคนเดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมา "กินข้าว" ร่วมกัน ทีมงานทุกคนทำหน้าที่อย่างดีในการต้อนรับ ชวนคุยอย่างสนุกสนานเป็นกันเองเวอร์ๆ ประหนึ่งว่า รู้จักกันมานาน
 
บางคนเข้ามาคุยด้วยประโยคเปิดว่า "ดีใจมากเลยที่ได้เจอพี่ตัวจริง" บางคนเข้ามาบอกว่า "ผมอยากถามพี่มานานแล้วครับ ที่ผมเคยเห็นพี่ให้สัมภาษณ์ว่า ....." ซึ่งสำหรับท่ี่มงานก็คงไม่ใช่งานง่ายที่ต้องพยายามทำตัวเป็นมิตร เราก็เลยพยายามจะทำตัว friendly ใส่กลับไปเท่าที่ไหว ทั้งที่จริงๆ แอบรู้สึกกลัวนิดๆ และใช้พลังไปมากพอสมควร
 
ในนัดนี้ ได้เห็นหน้าหลายคนที่จะมาพูดในวันเดียวกัน แต่บางคนก็ติดธุระมาไม่ได้ เห็นหน้าทีมงานจำนวนมาก ซึ่งเขาเรียกตัวเองว่า Curator อ่านว่า คิวเรเตอร์ แปลตรงตัวว่า ภัณฑารักษ์ หรือผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ ในที่นี้ก็คือ คนที่จะมา "กำกับดูแล" เนื้อหาของคนที่พูดนั่นแหละ และได้เห็นคนทำงาน Tedx จากฝ่ายอื่นๆ เช่น คนเตรียมกิจกรรมหน้างาน คนทำสื่อ คนถ่ายภาพ ฯลฯ ส่วนใหญ่ทีมงานเป็นคนทำงานบริษัทเอกชน หรือฟรีแลนซ์ หรือคนที่ว่างงานอยู่พอดี กำลังค้นหาตัวเอง กำลังเตรียมไปเรียนต่อ ก็สมัครเข้ามาร่วมกันทำงานอะไรแบบนี้รวมแล้วหลายชีวิตมาก
 
หลังกินข้าว มีการประกาศกำหนดการชัดเจนแจ่มแจ้งว่า หลังจากนี้เรายังต้องเจอกันอีกหลายครั้งเพื่อทำอะไรบ้าง แจกหนังสือ TedX ภาษาอังกฤษให้กลับไปอ่านกันเอง 
 
 
เจอทีม Curator ของตัวเอง
 
Speaker ทุกคนจะมีทีม Curator เป็นของตัวเองสามคน แต่สามคนที่มีบุคลิกแปลกๆ ที่คุยในวันแรกเขาไม่อยากทำงานกับผมต่อ เลยมีอีกสามคนที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลผม เราเจอกันครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2560 ก่อนวันพูดจริงประมาณสามเดือน คนแรก คือ "ทศ" บุคลิกร่าเริงเยอะแยะ ทำงานประจำอยู่กับ The Matter คนที่สอง คือ "โอ" หรือ อรรณาวุฒิ ผู้ถือลิขสิทธิ์ TedxBangkok หรือเรียกได้ว่า บอสใหญ่เลยแหละที่จะเป็นคนรับผิดชอบเรื่องต่างๆ คนนี้มาเป็น Curator ดูแลการพูดของผม เพราะทีมเขามองว่า หัวข้อของผมน่าจะสุ่มเสี่ยงที่สุด (สงสารมันเหมือนกัน) คนสุดท้าย คือ "เอิร์น" ทำงานเอกชนเหมือนกัน อะไรสักอย่างเกี่ยวกับวิศวะ เอิร์นจะเป็นคนพูดน้อยที่สุดทุกครั้งในการประชุม เพราะเขาเป็นตัวแทนของคนที่ไม่รู้เรื่องสิ่งที่ผมจะพูดเลย เพื่อมาถ่วงดุลประเด็น
 
Curator แต่ละคนต้องดูแล Speaker สามคน โดยจะหมุนเวียนเปลี่ยนทีมกันไปเรื่อยๆ ไม่จับทีมสามคนที่ซ้ำกัน เพื่อไม่ให้ทีม Curator ไปกำกับการพูดของแต่ละคนให้เหมือนกันจนเกินไป
 
มีอีกคน ชื่อ "ฤกษ์" สะกดไงไม่รู้ ไม่ได้เป็น Curator ของผม แต่สนใจประเด็น จึงตามมาคุยด้วยกันหลายครั้ง
 
เราคุยกันครั้งแรกใช้เวลาประมาณสองชั่วโมงกว่าๆ วัตถุประสงค์เดียว เพื่อจะตอบว่า "จะพูดเรื่องอะไร?" จริงๆ ให้คิดเองก็ไม่ยาก น่าจะใช้เวลาประมาณ 9.35 นาที ก็คงคิดออก แต่ไม่ได้ ทีมต้องมาช่วยคิดและคอยกำกับ โดยหลักเกณฑ์ชัดๆ ที่เขาบอกตรงๆ มีอย่างเดียว คือ ต้องพูดภายใน 12 นาที (บางปีกำหนด 18 นาที แต่ปีนี้อยากลองของใหม่) แต่ขณะเดียวกันก็มีหลักเกณฑ์ลอยๆ ที่เขาไม่ยอมพูดออกมาตรงๆ แต่ผมจับเอาเองจากคำถามและข้อเสนอแนะของเขา เขากำลังมองหา Talk ที่สมบูรณ์ ซึ่งอาจจะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย ดังนีิ้
 
1. Idea worth spreading แปลว่า เป็นความคิดที่มีคุณค่าสมควรถูกส่งต่อ อันนี้คงเป็นตีมหลักของความเป็น Tedx ทั่วโลกอยู่แล้ว
2. Timeless หมายความว่า เป็นอมตะ อีกหลายปีเอามาฟังก็ไม่เก่า เพราะฉะนั้นไม่ควรพูดเรื่องปัญหาอะไรเฉพาะหน้า
3. Universal หมายความว่า คนจากทั่วโลกฟังได้ ไม่ใช่พูดเรื่องที่รู้เรื่องอยู่แต่ในบ้านตัวเอง
4. Little things mingle หมายความว่า เป็นอะไรเล็กๆ ที่คนธรรมดาฟังแล้วสามารถเอาไปทำต่อไปเลย อย่างเป็นรูปธรรม
5. ไม่หดหู่ ไม่ควรพูดแต่ปัญหาแล้วจบอย่างไม่มีทางออก ถ้าจะเสนอปัญหาควรต้องเสนอทางออกไว้ด้วย
6. มีตัวอย่างชัดเจน ว่าสิ่งที่เสนอนั้นทำได้จริง เคยมีคนทำมาแล้วเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ
7. คนเอาไปใช้อ้างอิงได้ในอนาคต หากในอนาคตเวลาเกิดดราม่าในสังคม และมีคนอ้างอิงว่าในงาน Tedx มีคนเคยพูดอะไรไว้แบบนี้ ทีมนับเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจมาก
ฯลฯ
 
เมื่อไอ้ทั้งหมดนี้ต้องพูดภายใน 12 นาที ผมก็เลยทุบโต๊ะฟันธงไปตั้งแต่วันแรกที่ประชุมกันว่า มันยากเกินไป ผมทำไม่ได้ และสุดท้ายอาจจะทำได้เพียงบ้างข้อเท่านั้น ทีมต้องเข้าใจด้วย ไม่รู้ว่าเขาผิดหวังหรือเปล่า แต่ก็แจ้งความจำนงไปเช่นนี้
 
วันนั้นเรามีหัวข้อที่เป็นตัวเลือก 4 หัวข้อ ที่ทีม Curator เองก็ดูโอเคกับมัน เขาเหมือนจะให้ผมเลือกว่าจะเอาอันไหน จากสี่ข้อ แต่ขณะเดียวกันเขาก็เสนอความคิดเห็นอย่างอ้อมๆ อยู่ตลอด สุดท้ายท่ามกลางความคิดเห็นระหว่างการประชุม ผมก็เลือกด้วยตัวเองนั่นแหละ แล้วเราก็เริ่มทำตามกำหนดการกัน โดยต้องส่งชื่อหัวข้อแบบเป๊ะๆ วันที่ 15 มิถุนายน และส่งสคริปสุดท้าย ที่เขียนออกมาเป๊ะทุกตัว 15 กรกฎาคม 
 
 
 
 
 
ซ้อมชิบหาย แต่สุดท้ายต้องทำงานกับตัวเองแล้วล่ะ
 
หลังจากประชุมครั้งแรกเสร็จ ก็เป็นจุดคิกออฟของความหมกมุ่นในหัวสมอง ตั้งแต่นั้นมาไม่มีวันไหนที่สมองปลอดโปร่งจริงๆ เลย เพราะเป็นช่วงเวลาที่ต้องทำงานกับตัวเอง คิดวนกลับไปกลับมาในหัวสมองตลอด จะขึ้นอย่างไร จะจบอย่างไร และลับ "แก่น" ของเรื่องให้มันเรียวเล็กแต่เข้าใจง่าย มีองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งข้อมูล ความรู้สึก ข้อวิเคราะห์ มุกตลกเรียกร้องความสนใจ "ภายใน 12 นาที" 
 
ช่วงเวลาแบบนี้แต่ละคนอาจจะจัดการกับมันต่างกัน เมื่อความสับสนมันกินหัวผมอยู่นานเกินไป ผมจึงตัดสินใจเขียนสคริปและลองซ้อมจับเวลาเลยตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน เพื่ออยากจะรู้ว่า ภายใน 12 นาที จะพูดเนื้อหาได้เยอะแค่ไหน จะได้ส่งหัวข้อได้ทันวันที่ 15 ไม่เช่นนั้น ถ้าส่งหัวข้อไปแล้วปรากฏว่า พอวันหลังยัดมันลง 12 นาทีไม่ได้จะเป็นเรื่องลำบากมาก
 
หลังจากนั้นก็ไปซ้อม การซ้อมของเขาจะนัดที่ co working space ย่านสยามสแควร์ เปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ โดย Speaker แต่ละคนก็จะมาซ้อมให้ดูคนละรอบ แล้วให้ Speaker คนอื่นๆ รวมทั้งทีม Curator ทุกคนช่วยกันคอมเม้นต์ เพื่อปรับให้ดีขึ้น ข้อดีหลักๆ เลยที่เห็น คือ ได้มีโอกาสรู้จักและพูดคุยกับ Speaker คนอื่นๆ กลายเป็นวงสร้างคอนเนคชั่นไป รวมทั้งทำลายความเขินระหว่างเรากับทีมงานและ Speaker คนอื่นๆ เพราะถ้าไม่เคยรู้จักหรือรู้ทางกันมาเลย ถึงวันงานคงจะยิ่งเกร็งน่าดู 
 
มีนัดซ้อมทั้งหมด 4 ครั้ง ผมเบี้ยวไปหนึ่งครั้ง อีกสามครั้งไปพรีเซ็นต์ตามที่เตรียมมาซึ่งต่างกันไม่มากเท่าไร หลายคนฟังซ้อมแล้วก็ไม่ได้คอมเม้นต์อะไรผมมาก หลายคนอาจจะไม่เข้าใจก็ได้ บางครั้งมีคนคอมเม้นต์อออกนอกประเด็นไป ซึ่งตรงนี้กลายเป็นข้อเสีย เพราะหาก Speaker คนไหนจิตไม่แข็งพอ จับแก่นของตัวเองไม่แม่นพอ ฟังคอมเม้นต์แล้วอาจจะเป๋ เฉไฉไปพอสมควร จะยิ่งทำให้เครียดว่าตกลงควรจะพูดยังไงดี เท่าที่สังเกต หลายคอมเม้นต์ที่ผมมอบให้คนอื่นไปสุดท้ายเขาก็ไม่ได้เอาไปใช้ ซึ่งเสียใจนิดหน่อย ไม่ได้เสียใจที่เขาไม่ใช้ แต่เสียใจที่ไม่รู้ตัวเองไปทำให้เขาสับสนปั่นป่วนบ้างหรือเปล่า
 
หลังซ้อม ก็ต้องหาวันนัดคุยกับทีม Curator ของตัวเองต่ออีก เพื่อประเมินว่า จะปรับตรงไหนอีกบ้าง ใช้เวลาคุยครั้งละ 2-3 ชั่วโมง เวลาประชุมกัน ทีม Curator จะไม่เคยพูดเลยว่า ตรงไหนไม่ดีอย่างไร และอยากให้ใส่อะไรเพิ่ม เขาจะใช้วิธีเสนอลอยๆ แล้วตั้งคำถาม เช่น พี่มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมกว่านี้บ้างไหม? เคยมีใครทำอย่างที่พี่ว่าแล้วสำเร็จไหม? ฯลฯ จริงๆ คุยกันด้วยประโยคแบบนี้บางครั้งก็อึดอัดและใช้เวลาไปมากกว่าการพูดตรงๆ แต่เข้าใจว่า คงมีคู่มือบอกพวกเขาว่าไม่ควรแทรกแซงโดยตรง พยายามจะใช้วิธี "มาช่วย" ซึ่งผลลัพธ์จริงๆ ก็แทรกแซงนั่นแหละ เขาก็จะโยนคำถามใส่เราเพิ่มเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังมีเวลาสำหรับการแก้ไข และจนกว่าทีม Curator จะพอใจนั่นเอง 
 
ต้องฝากให้เครดิตกับทีม Curator ของผมและคนอื่นๆ ไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ท่ามกลางท่าทีพยายามสอดแทรกอะไรทั้งหลาย ทีมไม่เคยมีท่าทีที่จะ "ตัด" หรือ "เซ็นเซอร์" สิ่งที่ผมเตรียมจะพูด เพราะเหตุผลเรื่องความปลอดภัยเลย การเซ็นเซอร์ตัวเองเกิดจากผมเป็นหลัก ทั้งที่จริงๆ จะพูดอะไรแรงกว่านี้ก็ได้ แต่ผมเลือกที่จะไม่พูดเอง ผมคิดเองว่า จะลองถอยถึงประมาณ 3-4 ก้าว เพื่อให้เวทีนี้ยังคงคุยกับคนที่ไม่เคยสนใจเรื่องที่เราทำงานมาก่อนเลยได้ และให้คนที่เห็นต่างสุดขั้วยังเปิดหูให้เสียงมันเข้าหูได้บ้าง ตรงกันข้าม ทีม Curator เองเสียอีก ที่ยุผมในการประชุมสองครั้งสุดท้ายให้ลองขยับเส้นไปได้อีก ให้ลองไปให้สุดทางอย่างที่อยากจะพูด แม้กระทั่งหากจะพูดเรื่องมาตรา 112 โดยตรง ทีมก็ไม่ขัดขวาง
 
ผลลัพธ์สคริปสุดท้ายของผม ออกมายาวเกิือบ 3 หน้า แบ่งเป็น 4 ส่วน และตั้งใจไว้ว่า แต่ละส่วนจะพูดด้วยอารมณ์ต่างกัน สคริปถูกปรับประมาณ 30% จากร่างแรก ไม่มีอะไรที่ทีม Curator ยัดเข้ามาแม้แต่ประโยคเดียว 10% ปรับจากคอมเม้นต์ที่ได้ตอนไปซ้อม ซึ่งการตัดสินใจปรับหรือไม่เป็นของเราเอง จะไม่ปรับก็ได้ แต่เราคิดแล้วว่าปรับดีกว่า 10% มาจากคนรอบตัวช่วยกันคอมเม้นต์และเราเห็นด้วย ส่วนอีก 10% ถ้าคิดเร็วๆ ก็ต้องบอกว่า เรา "เปลี่ยนด้วยตัวเอง" เพราะคิดจะเปลี่ยนเอง แต่เมื่อมองลึกๆ แล้วก็อาจจะต้องยอมรับว่า มาจากกระบวนการพูดคุยยาวนานหลายครั้งกับทีม Curator ที่เขาไม่ได้บอกให้เราเปลี่ยน แต่เขาถามเยอะแยะ จนเมื่อเราไปทำการบ้านต่อคนเดียว คิดกลับไปกลับมาแล้วเราตัดสินใจ "เปลี่ยนด้วยตัวเอง"
 
โดยสรุปรวม ผมไปซ้อมรวม 3 ครั้ง ครั้งละ 5-6 ชั่วโมง ซ้อมใหญ่กับเวทีจริง 1 ครั้ง ประชุมกับทีม 4-5 ครั้ง นั่งเขียนสคริปและปรับไปมา 2-3 ครั้ง รวมใช้เวลาอย่างเป็นรูปธรรมไปราวๆ 30 ชั่วโมงได้ ถ้ารวมเวลาในการรวบรวมข้อมูล (ซึ่งไม่ได้ใช้ครั้งเดียว) การให้น้องๆ มาช่วยกันทำสองสามคน ทำสไลด์ และวาดรูปอีก ก็น่าจะต้องบวกเพิ่มอีกประมาณ 10 ชั่วโมง รวมเป็นการเตรียมตัวประมาณ 40 ชั่วโมง สำหรับการพูด 12 นาที
 
ยังไม่รวมระยะเวลาที่ความเครียดมันมาเกาะกินหัว อุดตันความรู้สึกและความคิดสร้างสรรค์ต่อเรื่องอื่นๆ ไปเสียหมด
 
 
ปัจจัยที่ทำให้เครียด
 
ตั้งแต่ตกปากรับคำไปพูดงานนี้ ก็คิดอยู่ว่า เวทีระดับ 1,000 คน เคยผ่านมาบ้างแล้ว น่าจะเอาอยู่ แต่เอาจริงๆ มันไม่ใช่ มันเป็นอะไรที่เครียดมาก ลองนั่งลิสต์เหตุผลที่ทำให้เราเครียดก่อนถึงวันจริงได้ประมาณนี้
 
1. เวลาจำกัด 12 นาที
อันนี้เป็นเหตุผลหลักเลย เพราะการยัดทุกอย่างลงไปในเวลาจำกัดนั้นหมายความว่า ต้องไม่พลาดเลย ถ้าดันลืมสคริปแล้วแถ ดันไปสะดุด ดันข้ามอะไรสักอย่างแล้ววกกลับมา หรือดันแถมอะไรขึ้นมาสัก 10-20 วินาที ก็จะเกินเวลาได้ง่ายๆ ดังนั้นเมื่อเขียนสคริปเสร็จแล้ว พอคิดว่า จะเพิ่มอะไร ก็ต้องคิดทันทีว่าจะตัดอะไรออก แต่ละประโยคอาจจะมีความหมาย 5-10 วินาที ซึ่งสำคัญมาก มีหลายส่วนที่เติมเข้าตัดออกวนๆ ไปมาหลายรอบ บางส่วนตัดไปแล้วดึงกลับมา บางส่วนใส่เพิ่มมาแล้วก็ลบทีหลัง
 
ส่วนใหญ่เวลาซ้อมเองอยู่ที่บ้านจะไม่ค่อยจริงจัง คือ พูดในใจคนเดียว พอพูดครึ่งทาง เอ๊ะ ไม่ดี เอาใหม่ เลยจับเวลาไม่ได้จริงจังนัก แต่พอประมาณๆ ได้ว่า เฉียดฉิวอยู่ที่ 12 นาทีเนี่ยแหละ แต่การไปซ้อมรวมกันต้องลองจับเวลาจริงจัง ก็พบว่า ทำได้ 11 นาทีกว่าๆ มาตลอด โดยทีมเตือนอยู่แล้วว่า วันพูดจริง การรอเสียงปรบมือ หรือเสียงฮา อาจจะกินเวลาไปอีกทำให้เกินได้ 
 
2. กลุ่มคนดูที่หลากหลาย
เนื่องจากหัวข้อของผมเป็นเรื่องที่มีความขัดแย้งอยู่แล้ว มีคนเห็นต่างแน่ๆ การเขียนสคริปจึงต้องมุ่งซื้อใจคนที่อาจจะเห็นต่างด้วย และท่าทางลีลาการพูดก็ต้องไม่ทำให้เขาปิดกั้นการเรียนรู้ ซึ่งยากอีก ต่างจากปกติที่ขึ้นเวทีโดยคนเชิญเขาเห็นด้วยกับเราอยู่แล้วเขาถึงเชิญ การพูดบนเวที Tedx ต้องเตรียมใจและเตรียมตัวที่จะมีคนเกลียดเราทันทีที่เราพูดออกมา รวมถึงคนที่อาจจะไม่ได้เกลียดมาก แต่ก็ค้างคาใจ ไม่เห็นด้วยกับเราก็ได้ ในอีกทางหนึ่งนี่ก็เป็นเวทีใหญ่ที่มีโอกาสสื่อสารไปยังคนที่ไม่เคยสนใจเรื่องของเรามาก่อน
 
3. ทุกคนเก่งสุดๆ กันหมด
Speaker ที่มาร่วมงานแต่ละคนล้วนมีของดี บางคนพูดเก่งน้ำไหลไฟดับ บางคนเรื่องราวดราม่าจับใจ บางคนรูปประกอบสวยงามฮือฮา บางคนมีชื่อเสียงมียศตำแหน่งที่ผู้คนรอฟัง ดังนั้นจึง "ดับไม่ได้" คนฟังยูทูปอาจจะไม่รู้สึกอะไรเพราะไม่ได้ดูต่อกัน แต่สำหรับคน 1,000 ที่มาในวันงาน ถ้าพลาดจะเด่นมาก ถ้าดับก็ดับเลย จะถูกคนอื่นใช้พลังอำนาจของเขากลบทันที คนฟังจะลืมเราเสียทั้งหมด เราไม่ได้คิดจะไปแข่งกับใคร แต่เราต้องคิดหาพลังอำนาจของตัวเองที่แตกต่างจากคนอื่น โดยเฉพาะคนก่อนหน้าและคนถัดไป และฉายมันออกมาให้ได้
 
 
หมู่มวลความรู้สึกในวันจริง
 
เตรียมใจมาสามเดือนแล้วที่จะไม่ตื่นเต้น แต่ก็รู้ลึกๆ ว่า อาจจะทำไม่ได้ บอกตัวเองมาตลอด ด้วยประสบการณ์ชีวิตที่มีมาว่า เวลาตื่นเต้นต้องทำอย่างไร
 
แน่นอนว่า ทุกคนมีงานประจำหลักของตัวเอง แม้แต่ในวันซ้อมใหญ่ 4 สิงหาคม ตอนเช้าผมก็ต้องทำงานอื่น บ่ายวิ่งไปซ้อม ตอนเย็นกลับไปทำงานอื่น จะคาดหวังให้มีสมาธิกับสิ่งเดียวตลอดเวลาเป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อซ้อมใหญ่แล้วเห็นจุดบกพร่องหลายอย่างก็เลยอยากจะพยายามปรับปรุง ซึ่งในคืนสุดท้าย แม้จะบอกตัวเองว่า ถ้าจะแก้ไขอะไรยังทันในคืนนี้ แต่ด้วยภาระงานอื่น กับความเครียดที่เริ่มประดังเข้ามา เอาจริงๆ ก็ปรับปรุงอะไรได้ไม่มากนัก ทำได้ดีที่สุดแค่รวบรวมสิ่งที่เตรียมมาตลอดสามเดือน เรียบเรียงให้มันแน่น และชัด แล้วก็ข่มตานอนพักผ่อนให้ได้เท่านั้น
 
เช้าวันงาน มันเป็นเช้าที่ต้องพบเจอคนหลากหลาย แต่เอาจริงๆ ไม่อยากจะคุยกับใครเลย แม้จะเตรียมใจไว้แล้วว่า วันนี้จะต้องจัดการความรู้สึกอะไร ด้วยวิธีไหน แต่เอาจริงๆ ก็ทำไม่ค่อยได้นัก 
 
ที่ข้างเวที Speaker ก่อนหน้าสองคน ชื่อ "พี่ฉิ่ง" กำลังออกไปพูดอยู่กลางแสงไฟ ผมรู้ว่า มีเวลาอย่างน้อยยี่สิบนาทีที่จะต้องรวบรวมสมาธิครั้งสุดท้ายให้ได้ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เครียดจนท้องเสียก่อน เลยได้ไปนั่งฟังพี่ฉิ่งต่อในห้องน้ำ แต่ไม่ค่อยจะเข้าหูเท่าไร ระหว่างที่พี่ฉิ่งพูด ข้างเวทีมีผมกับ "พี่อิ๊ก" Speaker คนก่อนหน้าผม เราต่างทำสิ่งเดียวกัน คือ การเดินวนไปวนมา เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่เราไม่ทักทายกัน ต่างคนต่างเดินวนๆๆๆ ทวนสคริปของตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีก อยู่ในมุมท่ามกลางความมืดของตัวเองโดยไม่แม้แต่จะสบตากัน ประโยคแล้วประโยคเล่าที่ทวนมา 5 รอบแล้วโดยเฉพาะจุดเชื่อมรอยต่อระหว่างเนื้อหาแต่ละช่วง ยังวิ่งกลับไปกลับมาในหัว บอกตัวเองว่า จะออกไปลืมข้างหน้านั้นไม่ได้เด็ดขาด ขณะที่ "พี่โน้ส" Speaker คนหลังผม ใช้วิธีไม่มางานก่อนถึงเวลานานนัก แต่พอมาถึงแล้วก็เดินล่กลนลานไม่แพ้กัน
 
ทีมงานข้างเวทีก็น่าจะเตรียมตัวมาดีและเป็นมืออาชีพพอที่จะให้กำลังใจแค่เบาๆ และไม่ได้ชวนคุยให้เราเสียสมาธิ
 
วินาทีที่พี่อิ๊กเดินออกไป ตอนนั้นไม่ได้ฟังสิ่งที่พี่อิ๊กพูดแม้แต่ประโยคเดียว ทีมงานข้างเวทีมาติดไมค์และจับไปยืนแสตนด์บาย พวกเขาเป็นมืออาชีพพอที่จะทำงานอย่างเงียบๆ ขณะที่ในหัวผมยังคงท่องสคริปซ้ำไปซ้ำมา ผมทบทวนตัวเองกระทั่งว่า จะพูดคำว่า "สวัสดี" หรือไม่ จะไหว้หรือไม่ และจะพูดคำว่า "ขอบคุณครับ" ตอนท้ายหรือไม่ คำพวกนี้จริงๆ ไม่มีความหมายและกินเวลา
 
นาทีที่ผมยืนอยู่ข้างเวที ห่างจากจุดที่แสงไฟสารพัดจะสาดส่องเป็นระยะหนึ่งก้าวเต็มๆ ผ้าม่านสีดำผืนบางๆ เท่านั้นที่ทำหน้าที่กั้นระหว่างริมฝีปากของผมกับแสงไฟด้านนอก บริเวณที่ยืนอยู่นั้นปิดมืดหมด มืดสนิทจนมองไม่เห็นแม้แต่คนที่ยืนข้างๆ และความคิดความฝันของตัวเอง ระหว่างพิธีกรประกาศเรียกชื่อ หูมันอื้อไม่ได้ยินอะไรทั้งนั้น ในใจท่องแต่ประโยคแรกและประโยคที่สองเพื่อจะไม่ให้มีเสียงสั่นเมื่อออกไปยืนกลางแสงไฟ 
 
และทีมงานก็เอานิ้วมาเกี่ยวม่านสีดำผืนนั้นให้เปิดออก เป็นสัญญาณว่า ต้องก้าวออกไปแล้วสินะ ก้าวออกไปเพื่อปลดปล่อยสิ่งที่อุดตันความรู้สึกมาตลอดสองสามเดือน
 
แล้วก็ก้าวออกไป
 
 
 
 
เมื่อแสงไฟสาดเต็มมากลางเวที คนที่ยืนอยู่ตรงนั้นมองเห็นอะไรได้ไม่มากนัก เมื่อคนดูนั่งอยู่เต็มไปหมดพร้อมส่งเสียงตอบรับกลับมาบ้าง ไม่มาบ้าง บรรยากาศต่างกับวันซ้อมใหญ่ราวฟ้ากับเหว แต่ไม่เป็นไร ผมรับมือได้ เพราะผมท่องทุกอย่างมาอย่างดีแล้ว สคริปช่วงต้นถูกถ่ายทอดออกไปอย่างไม่ติดขัดเพราะหลังม่านดำนั้นเราเตรียมย้ำมันจนขึ้นใจ สคริปช่วงสองช่วงสาม และคำเชื่อมเข้ารอยต่อถูกบรรจง วางๆๆๆ เป็นภาษาพูดปนภาษาเขียนอย่างดีเหมือนที่ท่องมา ไม่มีแม้แต่ประโยคเดียวที่หลุดเกินออกมาจากที่เขียนเตรียมเอาไว้ และไม่มีเนื้อความส่วนใดที่ขาดหายไป
 
แม้กระทั่งจังหวะที่เสียงประกาศที่อัดไว้มันไม่ดังออกมา ทั้งที่เตรียมไว้อยากให้เป็นมุกฮาเด็ดสุด ก็ไม่ได้หวั่นไหวอะไร เพราะเตรียมมาเรียบร้อยแม้กระทั่งแผนสำรองว่า ถ้าเสียงไม่มาตรงเวลาจะแก้ปัญหาอย่างไร แล้วก็แก้ไขไป
 
เมื่อจบส่วนที่สอง ตาเหลือบมองจอมอนิเตอร์จับเวลาหนึ่งแวบ ก็พบว่า บนเวทีจริงใช้เวลามากกว่าวันซ้อมตามที่คิดไว้ 12 นาทีหมดลงแถวๆ ช่วงต้นของส่วนที่ 4 แต่ก็เตรียมใจแก้ปัญหาไว้แล้วอีกเหมือนกันว่า ต้องจะไม่สะทกสะท้านอะไร เพราะหลายคนก่อนหน้านี้พูดเกินไปมากกว่าเยอะแยะ ก็ทำใจนิ่งๆ แล้วจัดวางสคริปออกมาตามจังหวะที่คิดเอาไว้ ไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ รู้สึกเองว่าน่าจะเกินเวลาประมาณ 1 นาที ถ่ายทอดมันจนจบ โค้งหนึ่งครั้ง เดินกลับเข้าไปหลังเวที
 
นาทีนั้น ไม่รู้สึกอะไรเลย
 
ความมืดหลังเวทีมันปิดบังตัวเองออกจากทุกความรู้สึกบนใบหน้าและในหัวใจหมดสิ้น ทีมงานสามสี่คนวิ่งเข้ามาแสดงความยินดี "สุดยอดมากเลยพี่ๆๆ" แบบเดียวกับที่เห็นทำกับทุกคนเมื่อเดินออกมาจากแสงสว่าง แต่ผมกลับไม่ค่อยรู้สึกอะไร จะว่าโล่งก็ไม่ได้รู้สึกโล่งมากนัก ออกๆ จะว่างเปล่า ไม่เหมือนกับการเพิ่งได้ออกไปพูดอะไร ไม่เหมือนได้ปลดปล่อยสิ่งที่ออกมาจากความรู้สึก แม้ขณะที่พี่โน้สเดินสวนออกไปหาแสงไฟ ในหัวผมกลับยังมีสคริปของตัวเองวนๆๆ อยู่ โดยที่ไม่ได้ฟังพี่โน้สด้วยซ้ำ มันยังไม่หายไป มันยังอยู่กับเรา
 
คนที่เมื่อกี้ออกไปยืนอยู่บนเวทีแห่งนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่ตัวผม มันเป็นแค่ผลผลิตจากการกระบวนการทำงานแบบฉบับของ Tedx และการเตรียมตัวอย่างหนักตลอดสามเดือนที่ผ่านมา
 
 
ขอแสดงความนับถือ และขอขอบคุณ
 
ความตั้งใจส่วนตัวที่จะร่วมงานกับทีม TedxBangkok ได้ออกผลตามที่คาดหวังทุกประการ เบื้องต้นก็ได้รู้จักคนในทีม ไม่ว่าจะเป็น Curator ของผมทั้งสามคนรวมถึงคนอื่นๆ ที่ได้เจอกันหลายครั้ง ระบบการทำงานอีเว้นต์แบบนี้ต้องอาศัยคนเป็นจำนวนมาก ทุกคนมาทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่เห็นเลยว่า ตั้งอกตั้งใจทำกันมากๆ แม้ทางเทคนิคจะไม่ได้ออกมาสมบูรณ์แบบเหมือนที่เคยเห็นในงานอีเว้นต์เอกชนที่บัตรแพงๆ (งานนี้บัตรก็แพง) แต่ก็สมบูรณ์มากแล้วเทียบกับการที่คนทำทุกคนต่างมีภารกิจทำมาหาเลี้ยงชีพตัวเองไปด้วย
 
การได้เห็นข้างหลังฉากตั้งแต่ต้นจนจบ ก็ตอบคำถามได้ว่า ทำไมการพูดที่เวที Tedx ถึงมีคุณภาพและมี Impact ในวงเล็บ ก็ตอบคำถามได้ด้วยว่า ทำไมการจัดเวทีพูดที่อื่นแม้จะพยายามลอกเลียนอย่างไร ก็ไม่มีทางได้ผลออกมามีคุณภาพเท่าหรือใกล้เคียง ถ้าไม่ได้เตรียมตัวและทำงานหนักเป็นเวลานานเช่นเดียวกัน
 
จนจบงานแล้ว เอาจริงๆ ผมก็ยังไม่เข้าใจเท่าไรว่า คนเป็นร้อยชีวิตทำไมต้องมาทุ่มเทจัดงาน TedxBangkok โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน แถมยังมี Tedx ที่อื่นๆ อีกเป็นสิบแห่ง จัดงานกันหลายครั้งต่อปี
 
ก่อนงานทีมงานต้องนอนค้างที่โรงละครกันสองคืน เพื่อซ้อมคิว เตรียมคิว ทั้งด้านอุปกรณ์ เทคนิค และ performance ของตัวเอง หลังงาน ทีมงานก็ยังคงไม่หยุดหย่อน แต่พยายามกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวและชวนคุยเรื่องต่างๆ มีการเอาฟีดแบ็กมาแลกกันดู มีการพูดถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงาน มีการนัดกันชวนคุยอะไรกันต่อ ไม่แน่ใจว่า อันนี้อยู่ในคู่มือการทำงานของทีมด้วยหรือเปล่า แต่ก็เห็นว่า พยายามกันมากๆ
 
ในฐานะ Speaker คนหนึ่งในปี 2017 ก็ต้องขอแสดงความนับถือต่อการทำงานหนักของทีมงานทุกๆ คน ไม่ว่าสุดท้ายจะทำไปเพื่ออะไร ทำไปเพราะเชื่ออะไรก็ตาม แต่อย่างน้อยที่สุดสำหรับการจัดกิจกรรมทางสังคม การทุ่มเทจัดงานเตรียมงานอย่างหนัก การให้เวลากับมันอย่างเต็มที่ ก็เป็นตัวอย่างของการทำงานที่ดีอย่างเถียงไม่ได้ ผลของมันก็สะท้อนออกมาเป็นนามธรรมที่ไม่อาจวัดค่าได้ เป็นความรู้สึกที่ผู้มาร่วมงานจะได้กลับไป
 
เอ่ยชื่อทุกคนไม่หมดในที่นี้ และไม่รู้จะเอ่ยดีหรือเปล่า เพราะบางคนอาจจะไม่อยากปิดตัว ขอกล่าวถึงเฉพาะแค่บางคนที่เป็นโอกาสดีมากในการได้มาเจอกันผ่าน Tedx
 
พี่พาย แวน ชิน และพี่ต้า เป็นกลุ่มคนที่เจอกันวันซ้อมแล้วรู้สึกว่า เออ คนพวกนี้น่าจะพอเป็นเพื่อนกันได้ พอไล่อายุดูก็พบว่า ตามๆ กันมาไม่ห่าง กับอีกหลายคนที่ไม่ได้เจอกันเลยเพราะไม่ได้มาซ้อมด้วยกัน เพียงได้เจอผ่านๆ แค่ข้างเวทีในวันงาน แต่ก็อยากจะมีโอกาสได้รู้จักกันมากกว่านี้ คนเหล่านี้มีศักยภาพเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนจำนวนมาก การได้ร่วมงานกันผ่านๆ ก็ทำให้ผมเองตั้งคำถามกับตัวเองด้วยว่า ในการทำงานของตัวเองที่ผ่านมา ได้พยายามมากพอหรือยัง 
 
 
 
 

บล็อกของ นายกรุ้มกริ่ม

นายกรุ้มกริ่ม
            ผมเป็นอาสาสมัครมือใหม่ ที่บางอารมณ์ก็อยากทำประโยชน์เพื่อสังคมกับเขาบ้างเหมือนกัน                 ผมเริ่มต้นการทำความดีที่ชุมชนศิริอำมาตย์ เป็นชุมชนแออัดลึกลับ แฝงเร้นอยู่ข้างสนามหลวงใจกลางกรุงเทพมหานคร                 ที่นี่จะมีอาสาสมัครมากหน้าหลายตาวนเวียนกันมาไม่ซ้ำคน แบ่งปันเวลาว่างในวันหยุดสอนหนังสือให้แก่เด็กๆ ในชุมชน          …
นายกรุ้มกริ่ม
บล็อกนี้ถูกตั้งขึ้นในขณะที่เจ้าของยังไม่ได้ตั้งตัวและก็ยังไม่มีความพร้อมเท่าไร จากเดิมที่เป็นคนอ่อนหัดทางเทคโนโลยี และก็หวาดหวั่นความก้าวหน้าทุกรูปแบบที่สิ่งเข้ามาหา แต่การเลือกเป็นอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มาทำงานกับองค์กร ilaw นั้นกำลังจะทำให้ทัศนคติ และวิถีการวางตัวต่อโลกไอทีนั้นเปลี่ยนแปลงไป  ขณะข้อความนี้ถูกเขียนขึ้น ผู้เขียนกำลังอยู่ในงานอบรม "นักข่าวคุ้มครองสิทธิ" ของสบท. ซึ่งมีการสอนทำบล็อกของตัวเอง รวมถึง ทวิตเตอร์ด้วย ดังนี้ ข้อความหน้านี้ทั้งหมด จึงเป็นการทดลองครั้งแรกของผู้เขียนเอง