Skip to main content
 

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

กลุ่มประกายไฟ

           

"รัฐสวัสดิการ เป็นระบบที่อยู่ตรงข้ามกับระบบทุนนิยมทั้งทางปฏิบัติและตรรกะ แต่ระบบทุนนิยมจะดำรงอยู่ไม่ได้หากปราศจากรัฐสวัสดิการ"

วอลเตอร์ คอร์ปี

 

ทำไมต้องสังคมนิยมประชาธิปไตย?

 

สำหรับฝ่ายซ้ายทั่วไปอาจตั้งข้อสงสัยกับหัวข้อ ว่าสังคมนิยมมันต้องเป็นประชาธิปไตยในตัวอยู่แล้วมิใช่หรือ  แล้วทำไมต้องมีประชาธิปไตยต่อท้าย มันมีด้วยหรือ สังคมนิยมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย....เพื่อความเข้าใจตรงกัน...การใช้คำว่าสังคมนิยมประชาธิปไตย(Socialism Democracy)ในที่นี้เพื่อเป็นภาพสะท้อนระบบเศรษฐกิจสังคมที่เราสามารถจินตนาการถึงได้ในบริบทปัจจุบัน ที่ก้าวหน้ากว่ารัฐอุตสาหกรรมทั่วไปในยุโรปตะวันตก ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า สังคมประชาธิปไตย(Social Democracy) พูดง่ายๆคือแบบหลังเป็นรัฐทุนนิยมประชาธิปไตยทั่วไปที่มีฐานคติการอยู่ร่วมกันระหว่างชนชั้นดังนั้น รัฐจึงมีหน้าที่ในการจัดการกับความไม่เท่าเทียมต่างๆในสังคมเพื่อ ให้สังคมสามารถอยู่รอดด้วยกันได้ (ดังที่ได้เสนอไปในบทความว่าด้วยการปฏิรูปการเมืองของลัทธิแก้) ขณะที่อย่างแรก-สังคมนิยมประชาธิปไตยที่เราจะพูดถึงคือระบบเศรษฐกิจการเมืองที่มองสังคมอยู่บนฐานของความขัดแย้งทางชนชั้น และรัฐของชนชั้นล่าง(ซึ่งพรรคการเมืองของผู้ใช้แรงงานอาจชนะการเลือกตั้งในระบบรัฐสภา) ต้องจัดสรรผลประโยชน์ให้ชนชั้นล่างซึ่งเป็น คนส่วนใหญ่ในสังคมมากที่สุด มีการต่อสู้ทางชนชั้นตลอดเวลา.....และแม้ประชาชนยังกินดีอยู่ดีก็ยังมีสำนึกผลประโยชน์ทางชนชั้นสูงและรัฐบาลไม่ว่าพรรคซ้ายหรือขวาก็มิอาจที่จะลดทอนผลประโยชน์ทางชนชั้นได้ ประเทศที่มีแนวทางใกล้เคียงกับแนวคิดนี้ ที่พอจะจัดได้ก็เช่น สวีเดน เดนมาร์ค ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ โดยเฉพาะสวีเดนที่ไม่มีทรัพยากรน้ำมัน หรือทรัพยากรธรรมชาติอะไรมากมายเช่นประเทศเพื่อนบ้าน คงมีแต่อุตสาหกรรม และเกษตรเท่านั้น (ซึ่งไทยยังมีโรงงานและพื้นที่การเกษตรมากกว่าแน่นอน)  แต่ก็ยังคงความเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยอย่างเหนียวแน่น และเมื่อการจัดวัดคุณภาพชีวิตประชากรประเทศกลุ่มนี้ก็ติดอันดับต้นๆทุกครั้งไป

 

สาเหตุที่เราจำเป็นต้องพูดถึงแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย....คงไม่พ้นเรื่องการประกาศ6มาตรการฉุกเฉิน6เดือนของรัฐบาลเพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชนในภาวะน้ำมันแพง อันประกอบด้วย 1.มาตรการลดภาษีน้ำสรรพสามิตน้ำมันทั้งดีเซล ก๊าซโซฮอลล์ ทั้ง 91 และ 95 2.มาตรการชะลอปรับราคาก๊าซหุงต้ม 3.มาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือน 4.ลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าของครัวเรือน 5.มาตรการลดค่าเดินทางรถโดยสารประจำทาง และ6.มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถไฟชั้น 3  แม้จะมีข้อถกเถียงว่ามีสาระเป็นไปในลักษณะประชานิยมเพื่อซื้อสียงประชาชนล่วงหน้าจากกลุ่มพันธมิตร แต่สำหรับภาคประชาชนแล้วนี่คือโอกาสที่เราต้องผลักดันหลักคิดอะไรบางอย่างเพื่อโหนกระแส 6มาตรการ6เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อสามและข้อสี่ ซึ่งมีลักษณะเป็นประเด็นทางชนชั้นอย่างชัดเจน ที่ยกเลิกการเก็บค่าน้ำ-ไฟสำหรับผู้ที่ใช้น้ำไฟ-น้อยไม่ถึงกำหนด รวมถึงการโดยสารรถโดยสารไม่ปรับอากาศฟรี (แม้จะแปลกๆที่ฟรีคันเว้นคัน)

 

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะชื่นชม กับนโยบายเหล่านี้ เราอาจตั้งคำถามต่อไปอีกได้ว่า รัฐบาลพลังประชาชน มีแนวโน้มที่จะพัฒนาไทยสู่ สังคมประชาธิปไตย สังคมนิยมประชาธิปไตย หรือกระทั่งสร้างรัฐสวัสดิการได้หรือไม่? ...คำถามนี้เป็นคำถามใหญ่ พรรคไทยรักไทย(พลังประชาชน) ทำให้แปลกใจได้เสมอ กับนโยบายสวัสดิการสังคมต่างๆ แต่ประเด็นสำคัญที่เราต้องเน้นย้ำถึงตรรกะในการชื่นชมนโยบายเหล่านี้ของเรา ว่ามันไม่ใช่เกิดจากความใจดีมีเมตตาของรัฐบาล....อาจจะฟังดูมองแบบกลไกลแต่ก็สามารถอธิบายได้ว่า นโยบายต่างๆเป็นภาพสะท้อนความขัดแย้งทางชนชั้นที่มีอยู่ในสังคมทั้งเปิดเผยและซ่อนเร้น  รัฐบาลนายทุนไม่โง่ขนาดที่จะไม่รู้ว่าสภาพทุกวันนี้วิกฤติมาก ค่าครองชีพที่สูงขึ้นกว่าร้อยละ40 ไม่มีทางให้ชนชั้นล่างยอมจำนนกับระบบได้อย่างมีความสุข

 

6 มาตรการฉุกเฉินสู่รัฐสวัสดิการ?

 

มีข้อถกเถียง เสมอว่านโยบายดังกล่าวจะยั่งยืนยาวนานแค่ไหน   เราจำเป็นต้องเน้นย้ำว่าการจัดสวัสดิการต้องดีขึ้นและไม่สามารถที่จะยกเลิกได้ ปัญหาอยู่ที่งบประมาณของรัฐบาล...ซึ่งตรงนี้สามารถตอบคำถามได้ว่า รัฐบาลพลังประชาชน คงไม่สามารถพัฒนาสู่ สังคมประชาธิปไตย หรือสังคมนิยมประชาธิปไตยอย่างแน่นอน เพราะไม่มีนโยบายใดที่จะไปสะกิดขนหน้าแข้งของนายทุน งบประมาณการจัดการต่างๆย่อมมีจำกัดอย่างแน่นอน  เส้นทางที่เป็นไปได้คือ การจัดสวัสดิการแบบเครือข่ายปลอดภัยทางสังคม(Social Safety Net) ซึ่งภาคประชาชนส่วนหนึ่งพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลก็พยายามสนับสนุนเพราะ จัดการได้ง่ายกว่า...และไม่กระทบต่อชนชั้นนายทุน เพราะงบประมาณยังคงเป็นเศษเนื้อที่พวกเขาโยนให้ แค่มีการจัดการที่เป็นระบบมากขึ้นเท่านั้นเอง

 

 

 

ภาพการ์ตูนล้อการลดการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า

 

ปัญหาทางการคลังต้องแก้ไข ด้วยการเก็บภาษีมรดกและภาษีอัตราก้าวหน้า....เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดกันมามากแล้ว แต่เพื่อการขยายวงของการถกเถียงให้กว้างขวางขึ้น...เราจำเป็นต้องเข้าใจตรรกะของวิธีการคิดของการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ในแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่ง คนส่วนใหญ่ของประเทศจะได้ประโยชน์ มีผลสำรวจพบว่าถ้าไทยเก็บภาษีเงินได้อัตราก้าวหน้า ถึงร้อยละ50 จะมีผู้ได้รับประโยชน์ถึงร้อยละ62ของประชากรประเทศ-ซึ่งคนกลุ่มนี้คือผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม ยังไม่นับรวมผู้ที่จ่ายภาษีเพิ่ม แต่ได้รับผลประโยชน์ด้านความมั่นคงที่ตนไม่เคยได้รับ สำหรับเมืองไทยผู้ที่เสียประโยชน์เป็นเพียงส่วนน้อยนิดของประเทศซึ่งชีวิตมั่นคงด้วยการสะสมทุนรุ่นต่อรุ่นและไม่ประสบปัญหาเดือดร้อนยามเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ....พูดง่ายๆคือถ้ามีการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า....ผู้ที่มีรายได้ ต่ำกว่า2หมื่นบาทอาจไม่ต้องเสียภาษีด้วยซ้ำ เพราะเท่านี้พวกเขาก็แทบไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพแล้วด้วย แต่เราควรไปเก็บภาษีจากบรรษัทยักษ์ใหญ่ ผู้บริหารCEOต่างๆ หรือหากเราคิดด้วยฐานของชนชั้นนายทุน การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าสร้างรัฐสวัสดิการก็ไม่ได้เป็นอะไรที่เลวร้ายเสมอไป พวกเขาสามารถออกจากบ้านกำแพงสูงได้โดยไม่ต้องระวังเรื่องอาชญากรรม แม้แต่กับบรรษัทยักษ์ใหญ่เอง ก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำประกันบริษัทเอกชนให้พนักงานได้ รัฐสวัสดิการจะเป็นการลดความกดดันของผู้ประกอบการจากการประท้วงของผู้ใช้แรงงาน เพราะชนชั้นแรงงานที่รวมตัวกันข้ามสถานประกอบการในกลุ่มวิชาชีพเดียวกันก็จะไปกดดันเรียกร้องกับรัฐบาลเอง

เป็นไปได้แค่ไหน?

 

เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยกเมฆขึ้นมา  สวีเดนและประเทศแทบสแกนดิเนเวีย เป็นกลุ่มประเทศที่มีบรรยากาศน่าลงทุนที่สุดในโลกทั้งๆที่มีภาษีสูงอันดับต้นๆของโลก เราลองคิดภาพดูถ้าเราสามารถใช้จุดเปลี่ยนจาก 6มาตรการ6เดือนของรัฐบาลผลักดันให้เกิดการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า และพัฒนาสวัสดิการให้ก้าวไกลมากกว่าแค่6มาตรการ เช่นรถเมล์ของรัฐบาลควรจะฟรีทุกสาย และในสายที่รถเอกชนร่วมบริการ รัฐบาลก็ควรจัดบริการเพิ่มขึ้น เรื่องน้ำมันและพลังงานควรเข้าไปควบคุม ปตท หรือบริษัทกลั่นน้ำมันต่างๆ  รวมถึงรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่แปรรูป รวมถึงมหาวิทยาลัย ต้องโอนกลับมาเป็นของรัฐอีกครั้ง ค่าแรงขั้นต่ำควรกำหนดลอยตัวตามค่าครองชีพ-เช่นราคาน้ำมันเพื่อให้สอดคล้องกับการดำรงชีพอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี และขยายสวัสดิการทุกอย่างให้รอบด้าน

 

ทุกวันนี้เราเสียงบประมาณประเทศไปด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่องเช่น งบประมาณด้านทหารและความมั่นคง งบประมาณด้านการรณรงค์ของฝ่ายจารีตนิยม ของกระทรวงวัฒนธรรม เงินเดือนของนักการเมืองมากมายมหาศาล ทั้งสส. และสว. และแม้กระทั่ง ค่าใช้จ่ายให้ ชนชั้นอภิสิทธิ์ในสังคมที่เปล่าประโยชน์ไม่ว่าจะมองจากมุมมองของฝ่ายซ้ายหรือขวาที่คิดแล้วร้อยละ3ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ  เมื่อพิจารณากลุ่มประเทศสังคมนิยมประชาธิปไตย  เราจะพบว่านักการเมืองของประเทศเหล่านั้นมีเงินเดือนมากกว่าพนักงานไปรษณีย์อยู่ไม่กี่เท่า ซึ่งตรงข้ามกับเมืองไทยปัจจุบันโดยสิ้นเชิง

จาก 6 มาตรการ เราจะพบหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แต่แม้กระนั้น ในฝ่ายเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ก็ยังออกมาสนับสนุนและพูดว่า นโยบายดังกล่าวออกมาช้าเกินไป ซึ่งตรงนี้จะตรงกับหลักคิดของ วอลเตอร์ คอร์ปี นักวิชาการด้านแรงงาน ที่ว่า รัฐสวัสดิการเป็นระบบที่อยู่ตรงข้ามกับระบบทุนนิยมแต่ระบบทุนนิยมต้องการการมีอยู่ของรัฐสวัสดิการ เพราะสามารถแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อได้ แต่จากข้อสัมภาษณ์ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็ทำให้เราต้องระมัดระวัง เพราะพวกเขาบอกว่าเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เพราะค่าใช้จ่ายไม่มากเกินไป ซึ่งเราต้องเน้นย้ำต่อไปว่าเราไม่สามารถพอพอใจกับเศษเนื้อเหล่านี้แน่นอน

งานเขียน จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ยังคงสามารถอธิบายถึงสิ่งที่เราควรเรียกร้องได้ดี....เราจำเป็นต้องตั้งคำถามต่อเหล่าชนชั้นปกครอง ต่อไปว่าแล้วเหตุใดเราจะมีชีวิตแบบนั้นไม่ได้ มองกลับไปที่เหล่าประเทศสังคมนิยมประชาธิปไตยอีกครั้ง ลองคิดดูถ้าวันหนึ่งประเทศของเราเป็นอย่างนั้น เราไม่ต้องดิ้นรนจนสิ้นลมหายใจ เช่นปัจจุบัน เราไม่ต้องไปหารายได้เสริม ดิ้นรนกับชีวิต เพราะเราก็ไม่รู้จะทำไปทำไม ด้วยเหตุผลคือรัฐจัดสรรคุณภาพชีวิตที่ดีให้เราอยู่แล้ว การหาเงินมามากก็นำสู่การเสียภาษีมาก  แต่ไม่ได้หมายความว่า ทำให้คนขาดแรงจูงใจในการทำงาน เราพบว่า แรงงานในสวีเดน กว่า ร้อยละ26 ทำงานโดยไม่มีเงินเดือน ...ในฐานะอาสาสมัคร มูลนิธิ และหน่วยงานสาธารณะในชุมชน

เพียงแค่มองพื้นที่อื่นที่เราไม่คุ้นเคยไม่รู้จักมากมายมากไปกว่าคำบอกเล่าและตัวหนังสือ มันจะดีแค่ไหนถ้าประเทศของเรา....สถานที่ที่เราผูกพันและคุ้นเคยเป็นอย่างนั้นบ้าง ....เมื่อไรที่เราจะเปลี่ยนจากสัตว์(ที่แก่งแย่งแข่งขัน) สู่การเป็นมนุษย์ (ที่โอบอุ้มกัน) เสียที

โดยสรุปแล้ว 6 มาตรการฉุกเฉินเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องผลักดันให้ก้าวหน้าขึ้นไป สร้างพื้นที่ถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ขยายมากขึ้น ก้าวหน้ามากขึ้น และทำลายมายาภาพที่ชนชั้นนายทุนสร้างขึ้นมา....สังคมนิยมประชาธิปไตย ...รัฐสวัสดิการ....ไม่ไกลขนาดที่เป็นไปไม่ได้

...................

เอกสารอ้างอิง

1.สุรพล ปธานวนิช นโยบายสังคม : เส้นทางสู่รัฐสวัสดิการ กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547

 

2.ไมเออร์, โทมัส อนาคตของสังคมประชาธิปไตย = The future of social democracy นนทบุรี : เอส. บี. คอนซัลติ้ง, 2550

 

3.คณะทำงานการกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สวัสดิการพื้นฐาน (Social Safety Net) : รากฐานความเป็นธรรมทางรายได้ : สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,กรุงเทพฯ 2550

 

4.Samuelsson, Kurt From great power to welfare state : 300 years of Swedish social development London : Allen & Unwin, 1972

 

5.หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท  รัฐบาลผลัก6 มาตรการรับมือวิกฤตน้ำมัน นักวิชาการชี้ใช้เงินซื้อประชาชน http://www.prachatai.com/05web/th/home/12856 16/7/2551

 

บล็อกของ ประกายไฟ

ประกายไฟ
รายการประกายTalk โดย DJ Bus กับ ป้าอุ๊ ภรรยาอากง SMS (23-05-2012) แขกรับเชิญ ป้าอุ๊ ภรรยา ของ อากง SMS หรือ นายอำพล ทีสามีเป็นผู้ต้องขังคดี ม.112 และเสียชีวิตในคุกเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
ประกายไฟ
รายการประกาย Talk โดย DJ Bus กับ สมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) 16-05-2012 แขกรับเชิญ สมบัติ บุญงามอนงค์ (ชื่อเล่น: หนูหริ่ง, หรือนามแฝงที่ใช้ในอินเตอร์เน็ท: บ.ก.ลายจุด) แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง พิธีกรร่วมรายการ: DJ.Bus @KonthaiUK ประเด็น การปั่นกระแส"แพงทั้งแผ่นดิน"กับการกดชีวิตอากงให้ถูก
ประกายไฟ
รายการประกาย Talk โดย DJ Bus "วันกรรมกรสากล" 02-05-2012 แขกรับเชิญ คุณ พัชนี คำหนัก ผู้ประสานงานโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย  
ประกายไฟ
เสวนาหัวข้อ "วิวัฒนาการรัฐทุนนิยมไทย" วิทยากร เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ณัฐพล ใจจริง. อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา เก่งกิจ กิติเรียงลาภ กลุ่มประกายไฟ ดำเนินรายการโดย วีรนันท์ ฮวดศรี กลุ่มประกายไฟ
ประกายไฟ
เสวนาหัวข้อ “New Social Media กับการเคลื่อนไหวทางเมืองไทย” วิทยากร อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต เทวฤทธิ์ มณีฉาย กลุ่มประกายไฟ ดำเนินรายการโดย ปาลิดา ประการะโพธิ์ กลุ่มประกายไฟ ( วันเสาร์ที่ 28 ม.ค.55)   
ประกายไฟ
วันเสาร์ที่ 28 ม.ค.55 มาร์กซิสม์ 101 A ว่าด้วยทฤษฎีมาร์กซิสม์ เบื้องต้น บรรยาย เพื่อให้ความรู้พื้นฐาน มาร์กซิสต์   วิทยากร พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการ ณัชชา ตินตานนท์ กลุ่มประกายไฟ  
ประกายไฟ
  บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี ประเทศสหรัฐอเมริกา เสียงดนตรีแห่งทาสผิวดำได้ถือกำเนิดขึ้นในตอนปลายศตวรรษที่ 19 พร้อมๆกับสถานภาพของคนผิวดำซึ่งมีสถานะ เป็นเพียงเป้าหมายของการทำให้ผู้อื่นเป็นปัจเจกชน เนื่องจากการเป็นเสรีชนและเสรีภาพในอเมริกานั้นต้องเป็นปัจเจกชนที่มีทรัพย์สินส่วนตัวและต้องเป็นพลเมืองผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง  แต่ในความเป็นจริงทาสผิวดำเป็นเพียงทรัพย์สินของนายทาส เป็นเครื่องมือของการผลิต ซึ่งส่งผลให้นายทาสเป็นปัจเจกชน คนผิวดำ จึงไม่มีศักยภาพที่จะสร้างหรือทำให้เสรีภาพแบบอเมริกันเป็นคุณสมบัติของตนเอง แม้ว่าคนผิวดำจะมีส่วนร่วมในการปฏิวัติอเมริกา…
ประกายไฟ
  "แม้แต่นายทาสยังต้องหาเลี้ยงทาส แต่ในระบบทุนนิยม ลูกจ้างต้องเป็นผู้หาเลี้ยงนายจ้าง" ทิพรดา ตากดำรงศ์กุลท่ามกลางข้อเสนอที่มากมาย ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมือง ความล้มเหลวของระบบตัวแทน อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ความขัดแย้งวุ่นวายของการเมืองไทย เมื่อคิดถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่คอยอยู่ข้างหน้าแล้ว ข้อเสนอเกี่ยวกับต้นตอปัญหา วิธีการแก้ ผุดออกมาเป็นดอกเห็ด เป็นเรื่องของประสบการณ์ของผู้ที่อ้างตนว่าเข้าใจในปัญหาอย่างลึกซึ้ง หรือนักวิชาการต่างๆที่พยายามอธิบายด้วยนามธรรมที่ไร้ความหมาย หรือะไรที่ดูซับซ้อน บทความชิ้นนี้จึงมุ่งชี้ชวนใหเห็นว่า…
ประกายไฟ
แถลงการณ์"การเมืองใหม่ต้องเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง ระบบลูกขุนลดงบประมาณทหาร และสร้างรัฐสวัสดิการ"ณ  อนุสรณ์สถาน ญาติวีรชน 14 ตุลาวันอาทิตย์ที่  28 กันยายน 2551 ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เสนอ "การเมืองใหม่" โดยอ้างว่าเป็นผู้จุดประกายการปฏิรูปการเมืองผ่าทางตัน "การเมืองแบบเก่า" ที่เต็มไปด้วยนักการเมืองซื้อเสียง การคอร์รัปชั่นกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็น "เจ้าภาพ" เพื่อการสร้างประชาธิปไตย เพราะการเคลื่อนไหวและเป้าหมายของกลุ่มพันธมิตรฯที่ผ่านมาล้วนลดบทบาทและไม่เชื่อมั่นในอำนาจและความคิดของประชาชนคนธรรมดา…
ประกายไฟ
  แถลงการณ์ของกลุ่มผู้ใช้แรงงานและกลุ่มพันธมิตรนิสิตนักศึกษาต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้1 กันยายน 2551จากเหตุการณ์การชุมนุมยืดเยื้อและความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการปะทะกันระหว่างรัฐบาลพรรคพลังประชาชน และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงเวลาที่ผ่านมาอันเป็นความขัดแย้งทางการเมืองของฝ่ายชนชั้นนายทุน มิใช่การต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของชนชั้นล่างอย่างแท้จริง กลุ่มผู้ใช้แรงงานและกลุ่มพันธมิตรนิสิตนักศึกษาที่ลงนามในแถลงการณ์ฉบับนี้มีความคิดเห็นและข้อเรียกร้องต่อสังคม ดังต่อไปนี้1. เราคัดค้านการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ…